พระโพธิสัตว์ปรารภถึงบารมี ๑๐ ทัศ1
๑. ทานบารมี
สุเมธดาบสนั้นกระทำการตกลงอย่างนี้ว่า เราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน เพื่อที่จะใคร่ครวญถึงธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า จึงคิดว่าธรรมอันกระทำให้เป็นพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนหนอ อยู่เบื้องบนหรือเบื้องล่าง หรืออยู่ในทิศใหญ่และทิศน้อย เมื่อคิดค้นธรรมธาตุทั้งสิ้นไปโดยลำดับ ก็ได้เห็นทานบารมีข้อที่ ๑ ที่พระโพธิสัตว์แต่เก่าก่อนทั้งหลาย ถือปฎิบัติเป็นประจำจึงกล่าวสอนตนอย่างนี้ว่า
ดูก่อนสุเมธบัณฑิตจำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญทานบารมีข้อแรกให้บริบูรณ์ เหมือนอย่างว่า หม้อนํ้าที่ควํ่าไว้ย่อมคายนํ้าออกหมด ไม่นำกลับเข้าไป ฉันใด ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่เหลียวแลทรัพย์ ยศ บุฅรและภรรยา หรืออวัยวะน้อยใหญ่ ให้สิ่งที่เขาต้องการอยากได้ทั้งหมด แก่ยาจกผู้มาถึง กระทำมิให้มีส่วนเหลือ จักได้นั่งที่โคนต้นโพธิ์เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นกล่าวสอนตนแล้ว จึงอธิษฐานทานบารมีข้อแรก กระทำให้มั่นแล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
เอาเถอะ เราจะเลือกเฟ้นธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ทั้งทางโน้นและทางนี้ ทั้งเบื้องบนและเบื้องล่าง ทั้งสิบทิศตลอดถึงธรรมธาตุ ครั้นเมื่อเราเลือกเฟ้นอยู่อย่างนั้น จึงได้เห็นทานบารมีข้อที่ ๑ เป็นเส้นทางใหญ่ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในกาลล่อน ประพฤติตามคลองธรรมสืบกันมาแล้ว ท่านจงสมาทานบารมีข้อที่ ๑ นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นทานบารมี
หากท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ หม้อน้ำเต็มเปี่ยม ใครผู้ใดผู้หนึ่งควํ่าปากลง น้ำย่อมไหลออกหมด น้ำย่อมไม่ขังอยู่ในหม้อนั้น แม้ฉันใด ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นยาจกไม่ว่าจะตํ่าทราม สูงส่ง และปานกลาง จงให้ทานให้หมด เหมือนหม้อน้ำที่เขาคว่ำปากลงไว้ฉะนั้น
๒. ศีลบารมี
ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสนั้นคิดว่า ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า จะไม่พึงมีประมาณเท่านี้เลย จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้เห็นศีลบารมีข้อที่ ๒ จึงได้มีความคิดอันนี้ว่า
ดูก่อนสุเมธบัณฑิตจำเดิมแต่นี้ไป แม้ศีลบารมี ท่านก็ต้องบำเพ็ญให้บริบูรณ์ เหมือนอย่างว่าธรรมดาว่าเนื้อทรายจามรี2 ไม่เห็นแก่ชีวิต รักษาเฉพาะขนหางของตนเท่านั้น ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้น จำเดิมแต่นี้ไป อย่าได้เห็นแม้แก่ชีวิต รักษาเฉพาะศีลเท่านั้น จักได้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วได้อธิษฐานศีลบารมีข้อที่ ๒ กระทำให้มั่นแล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
ความจริง พุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีประมาณเท่านี้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้อย่างอื่นอันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ ครั้งนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้นอยู่ก็ได้เห็นศีลบารมีข้อที่ ๒ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อน ๆ ถือปฏิบัติเป็นประจำ ท่านจงสมาทานศีลบารมีข้อที่ ๒ นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นศีลบารมี หากท่านปรารถนาเพื่อจะบรรลุ พระโพธิญาณ
จามรี หางคล้องติดในที่ไหนก็ตาม ปลดขนหางออกไม่ได้ ก็ยอมตายในที่นั้น แม้ฉันใด ท่านจงบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ในภูมิทั้ง ๔ จงรักษาศีลไว้ทุกเมื่อ เหมือนจามรีรักษาขนหาง ฉันนั้นเถิด
๓. เนกขัมมบารมี
ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลายจะไม่พึงมีประมาณเท่านี้เลย จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ก็ได้เห็นเนกขัมมบารมีข้อที่ ๓ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้เนกขัมมบารมีให้บริบูรณ์ เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้อยู่ในเรือนจำมาเป็นเวลานาน มิได้มีความรักใคร่ในเรือนจำนั้นเลย โดยที่แท้รำคาญอย่างเดียว ไม่อยากอยู่ ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงทำภพทั้งปวงให้เป็นเช่นกับเรือนจำ รำคาญ อยากจะพ้นไปจากภพทั้งปวง มุ่งหน้าต่อเนกขัมมะ คือการออกจากกามเท่านั้น ท่านจักได้เป็นพระพุทธเจ้าด้วยอาการอย่างนี้ แล้วได้อธิษฐานเนกขัมมบารมีข้อที่ ๓ กระทำให้มั่นแล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
ความจริง พุทธธรรมเหล่านี้จักไม่มีเพียงเท่านี้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ คราวนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นเนกขัมมบารมีข้อที่ ๓ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่ในกาลก่อน ถือปฏิบัติเป็นประจำแล้ว ท่านจงสมาทานเนกขัมมบารมี ข้อที่ ๓ นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นเนกขัมมบารมี
หากท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ บุรุษอยู่มานานในเรือนจำ ลำบากเพราะความทุกข์ มิได้ทำความยินดีให้เกิดในเรือนจำนั้น แสวงหาความพ้นออกไปอย่างเดียว ฉันใด ท่านจงเห็นภพทั้งปวงเหมือนเรือนจำ เป็นผู้มุ่งหน้าออกบวช เมื่อพ้นจากภพนั้นเถิด
๔. ปัญญาบารมี
ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลาย จะไม่พึงมีเพียงเท่านี้ จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ก็ได้เห็นปัญญาบารมีข้อที่ ๔ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า
ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้ปัญญาบารมีให้บริบูรณ์ ท่านอย่าได้ เว้นใคร ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นตํ่า ชั้นกลาง และชั้นสูง พึงเข้าไปหาบัณฑิตแม้ทั้งหมด ไต่ถามปัญหา เหมือนอย่างว่า ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ไม่ละเว้นตระกูลไร ๆ ไม่ว่าจะเป็นตระกูลชั้นตํ่าเป็นต้น เที่ยวไปบิณฑบาตตามลำดับ ได้อาหารพอยังชีพโดยพลัน ฉันใด แม้ท่านฉันนั้น เข้าไปหาบัณฑิตทั้งปวง ไต่ถามปัญหา จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานปัญญาบารมีข้อที่ ๔ กระทำให้มั่นแล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
ก็พุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีเพียงเท่านี้ เราจักเฟ้นหาธรรมแม้ข้ออื่น ๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ เราเมื่อค้นหาอยู่ในคราวนั้น ก็ได้เห็นปัญญาบารมีข้อที่ ๔ ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่ก่อน ๆ ถือปฏิบัติเป็นประจำ ท่านจงสมาทานปัญญาบารมีข้อที่ ๔ นี้ กระทำให้มั่นก่อนจงถึงความเป็นปัญญาบารมี ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ
ภิกษุเมื่อขออยู่ ไม่เว้นตระกูลตํ่า สูง และปานกลาง ย่อมได้อาหารเป็นเครื่องยังชีพ ด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด ท่านเมื่อไต่ถามชนผู้รู้อยู่ตลอดกาลทั้งปวง ถึงความเป็นปัญญาบารมี จักได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน
๕.วิริยบารมี
ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลาย จะไม่พึงมีเพียงเท่านั้น จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ได้เห็นวิริยบารมีข้อที่ ๕ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า
ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้วิริยบารมีให้บริบูรณ์ เหมือนอย่างว่า พญาราชสีห์มฤคราช เป็นผู้มีความเพียรมั่นในอิริยาบถทั้งปวง ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้น เป็นผู้มีความเพียรมั่นในอิริยาบถทั้งปวง ในภพทุกภพ เป็นผู้มีความเพียรไม่ย่อหย่อน จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานวิริยบารมีข้อที่ ๕ กระทำให้มั่นแล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
ก็พุทธธรรมทั้งหลาย จักไม่มีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเฟ้นหาธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ ครั้งนั้น เราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นวิริยบารมีข้อที่ ๕ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อนๆ ถือปฎิบัติเป็นประจำ ท่านจงสมาทานวิริยบารมีข้อที่ ๕ นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นวิริยบารมี ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ
พญาราชสีห์มฤคราช เป็นผู้มีความเพียรไม่ย่อหย่อนในการนั่ง การยืน เเละการเดิน ประคองใจในกาลทุกเมื่อแม้ฉันใด ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงประคองความเพียรไว้ให้มั่นตลอดทุกภพ ถึงความเป็นวิริยบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้
๖. ขันติบารมี
ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลาย จะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ก็ได้เห็นขันติบารมีข้อที่ ๖ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า
ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้ขันติบารมีให้บริบูรณ์ ท่านพึงเป็นผู้อดทนทั้งในการยกย่องนับถือ และในการดูถูกดูหมิ่น เหมือนอย่างว่า คนทั้งหลายทิ้งของ สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็มิได้กระทำความรัก และความขัดเคืองเพราะการกระทำอันนั้น ย่อมอด ย่อมทน ย่อมกลั้นไว้ได้ ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้อดทนได้ทั้งในการนับถือ ทั้งในการดูหมิ่น จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานขันติบารมีข้อที่ ๖ กระทำให้มั่นแล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
ก็พุทธธรรมทั้งหลายจักไม่มีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่น ๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ ในคราวนั้น เราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นขันติบารมีข้อที่ ๖ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ชั้นก่อน ๆ ถือปฏิบัติเป็นประจำ ท่านจงสมาทานขันติบารมีข้อที่ ๖ นี้ กระทำให้มั่นก่อน มีใจไม่ลังเลในขันติบารมีนั้น จักบรรลุพระสัมโพธิญาณ
ธรรมดาแผ่นดินย่อมอดกลั้นสิ่งทั้งปวง ที่เขาทิ้งลงสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ไม่กระทำการขัดเคือง เพราะการกระทำนั้น แม้ฉันใด แม้ท่าน ก็ฉันนั้นเหมือนฉัน เป็นผู้อดทนต่อการนับถือและการดูหมิ่นของคนทั้งปวง ถึงความเป็นขันติบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้
๗. สัจจบารมี
ลำดับนั้น สุเมธดาบสจึงคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลาย จะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น แล้วใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ก็ได้เห็นสัจจบารมีข้อที่ ๗ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า
ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้สัจจบารมีให้บริบูรณ์ แม้เมื่ออสนีบาตจะตกลงบนกระหม่อมก็ตาม ท่านอย่าได้กล่าวมุสาวาททั้งรู้อยู่ ด้วยอำนาจฉันทะเป็นต้น เพื่อต้องการทรัพย์เป็นต้น เหมือนอย่างว่า ธรรมดาดาวประกายพรึก ในฤดูทั้งปวง หาได้ละวิถีโคจรของตนโคจรไปในวิถีอื่นไม่ ย่อมจะโคจรไปในวิถีของตนเท่านั้น ฉันใด แม้ท่าน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อย่าได้ละสัจจะกล่าวมุสาวาทเลย จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานสัจจบารมี ข้อที่ ๗ กระทำให้มั่นแล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
ก็พุทธธรรมทั้งหลาย จะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่น ๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ คราวนั้น เราเลือกเฟ้นอยู่ก็ได้เห็นสัจจบารมีข้อที่ ๗ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อน ถือปฏิบัติเป็นประจำ ท่านจงสมาทานสัจจจารมีข้อที่ ๗ ปี กระทำให้มั่นก่อนมีคำพูดไม่เป็นสองในข้อนั้น จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้
ธรรมดาดาวประกายพรึกเป็นดุจคันชั่ง คือเที่ยงตรงในโลก พร้อมทั้งเทวโลก ไม่ว่าในสมัย ฤดู หรือปีก็ตาม ย่อมไม่โคจรและเวียนออกนอกวิถีโคจร แม้ฉันใด แม้ท่าน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ออกไปนอกทางสัจจะทั้งหลายถึงความเป็น สัจจบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้
๘. อธิษฐานบารมี
ลำดับนั้น สุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลาย จะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ก็ได้เห็นอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า
ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านจงบำเพ็ญแม้อธิษฐานบารมีให้บริบูรณ์ ท่านพึงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานที่ได้อธิษฐานไว้ เหมือนอย่างว่า ธรรมดาภูเขาถูกลมพัดในทิศทั้งปวง ไม่หวั่นไหว ไม่เขยื้อน คงตั้งอยู่ในที่ของตน ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่หวั่นไหวในการอธิษฐาน คือการตั้งใจมั่นของตน จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานซึ่งอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ กระทำให้มั่นแล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
ก็พุทธธรรมทั้งหลายจักไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่น ๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ ในคราวนั้นเราเลือกเฟ้นอยู่ก็ได้เห็น อธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อนถือปฎิบัติเป็นประจำ ท่านจงสมาทานอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ นี้ กระทำให้มั่นก่อน ท่านจงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานบารมีนั้น จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้
ภูเขาหินไม่หวั่นไหว คงตั้งอยู่ตามเดิม ไม่สะเทือนเพราะลมแรงกล้า คงตั้งอยู่ในที่ของตนเอง แม้ฉันใดแม้ท่าน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานในกาลทั้งปวง ถึงความเป็นอธิษฐานบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้
๙. เมตตาบารมี
ลำดับนั้น สุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลาย จะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ก็ได้เห็นเมตตาบารมีข้อที่ ๙ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า
ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไปท่านพึงบำเพ็ญแม้เมตตาบารมีให้บริบูรณ์ ท่านพึงเป็นผู้มีจิตเป็นอย่างเดียวกัน ทั้งในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เหมือนอย่างว่า ธรรมดานํ้าย่อมไหลแผ่ความเย็นเป็นเช่นเดียวกัน ทั้งแก่คนชั่ว ทั้งแก่คนดีฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีจิตเป็นอย่างเดียวด้วยเมตตาจิตในสัตว์ทั้งปวงอยู่ จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานเมตตาบารมีข้อที่ ๙ กระทำให้มั่นแล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
ก็พุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่น ๆ ที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ คราวนั้น เมื่อเราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นเมตตาบารมีข้อที่ ๙ ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อน ถือปฏิบัติเป็นประจำท่านจงสมาทานเมตตาบารมีข้อที่ ๙ นี้ กระทำให้มั่นก่อนจงเป็นผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนด้วยเมตตา ถ้าท่านปรารถนาเพื่อจะบรรลุพระโพธิญาณ
ธรรมดานํ้าย่อมแผ่ความเย็นไปให้คนดีและคนเลวโดยเสมอกัน ชะล้างมลทินคือธุลีออกได้ แม้ฉันใดเเม้ท่าน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญเมตตาให้สมํ่าเสมอในชนที่เกื้อกูลและไม่เกื้อกูลท่านถึงความเป็นเมตตาบารมีแล้วจักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้
๑๐. อุเบกขาบารมี
ลำดับนั้น สุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลาย จะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น จึงพิจารณาให้ยิ่งขึ้นไป ก็ได้เห็นอุเบกขาบารมีข้อที่ ๑๐ แล้วได้มีความคิดดังนี้ว่า
ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านจงบำเพ็ญแม้อุเบกขาบารมีให้บริบูรณ์ พึงวางใจเป็นกลางทั้งในสุข และทั้งในทุกข์ เหมือนอย่างว่า ธรรมดาแผ่นดิน เมื่อคนทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ย่อมทำใจเป็นกลางอยู่ ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนฉัน วางใจเป็นกลางอยู่ในสุขและทุกข์ ก็จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานอุเบกขาบารมีข้อที่ ๑๐ กระทำให้มั่นแล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
ก็พุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้นธรรมแท้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ คราวนั้น เราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นอุเบกขาบารมีข้อที่ ๑๐ ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อน ถือปฏิบัติเป็นประจำท่านจงสมาทานอุเบกขาบารมีข้อที่ ๑๐ นี้ กระทำให้มั่นก่อน ท่านเป็นผู้มั่นคงประดุจตราชู จักบรรลุพระสัมโพธิญาณ
ธรรมดาแผ่นดินย่อมวางเฉย ในของไม่สะอาดและของสะอาดที่คนทิ้งลง เว้นจากความโกรธและความยินดีทั้งสองนั้น ฉันใดเเม้ท่าน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเป็นประดุจตาชั่งในสุขและทุกข์ในกาลทุกเมื่อ ถึงความเป็นอุเบกขาบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้
ต่อแต่นั้น สุเมธดาบสจึงคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ ที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลายพึงปฎิบัติในโลกนี้ มีเพียงนี้เท่านั้น เว้นบารมี ๑๐ เสียธรรมเหล่าอื่นย่อมไม่มีบารมีทั้ง ๑๐ นี้ แม้ในอากาศเบื้องบนก็ไม่มี แม้ในแผ่นดินเบื้องล่างก็ไม่มี แม้ในทิศทั้งหลาย มีทิศตะวันออกเป็นต้น ก็ไม่มี แต่จะตั้งอยู่เฉพาะในภายในหทัยของเราเท่านั้น ครั้นได้เห็นว่าบารมีเหล่านั้น ตั้งอยู่เฉพาะในหทัยอย่างนั้น จึงอธิษฐานบารมีเหล่านั้นทั้งหมด กระทำให้มั่น พิจารณาอยู่แล้ว ๆ เล่า ๆ พิจารณากลับไปกลับมา ยึดเอาตอนปลายทวนมาให้ถึงต้น ยึดเอาตอนต้นทวนให้ถึงตอนปลาย ยึดเอาตอนกลางให้จบลงตอนสุดข้างทั้งสอง ยึดเอาที่สุดจากข้างทั้งสองให้จบลงตอนกลาง
การบริจาคสิ่งของภายนอก จัดเป็นทานบารมี การบริจาคอวัยวะน้อยใหญ่ จัดเป็นทานอุปบารมี การบริจาคชีวิต จัดเป็นทานปรมัตถบารมี เพราะเหตุนั้น ท่านสุเมธดาบสจึงพิจารณาสมติงสบารมี คือบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ ประดุจคนหมุนเครื่องยนต์หีบน้ำมันไปมา และเหมือนเอาเขามหาเมรุให้เป็นโม่กวนมหาสมุทรในจักรวาลฉะนั้น
เมื่อสุเมธดาบสนั้นพิจารณาบารมี ๑๐ อยู่อย่างนั้น ด้วยเดชแห่งธรรม มหาปฐพีนี้ หนาสองแสนสี่หมื่นโยชน์ ก็ร้องลั่น สะท้านเลื่อนลั่นหวั่นไหว เหมือนมัดไม้อ้อที่ถูกช้างเหยียบ และเหมือนเครื่องยนต์หีบอ้อยที่กำลังหีบอ้อยอยู่ หมุนคว้างไม่ต่างอะไรกับวงล้อเครื่องปั้นหม้อ และวงล้อเครื่องยนต์หีบน้ำมัน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
ธรรมที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณในโลก มีเพียงเท่านี้นั้น ยิ่งขึ้นไป กว่านี้ก็ไม่มี
นอกจากนี้ไปก็ไม่มี ท่านจงตั้งมั่นอยู่ในธรรมนั้น
เชิงอรรถ
1 ตัดความจาก สุเมธกถา; พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย อปทาน, มก.ล.๗๐/๔๘
2 จามรี คือ สัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดหนึ่ง ขนละเอียดอ่อนสีน้ำตาลจนถึงน้ำตาลเข้ม ขนตามลำตัวยาวมาก ช่วงเขากว้าง หางยาวเป็นพู่ อาศัยในแถบเขาสูงของประเทศธิเบต