กำเนิดพระโพธิสัตว์

วันที่ 25 กย. พ.ศ.2563

25-9-63-3-b.jpg

ธรรมชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กำเนิดพระโพธิสัตว์

 

                 มนุษย์ และสัตว์โลกทั้งหลาย ต่างต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฎจักรของโลก บางชาติก็ได้เกิดเป็นมนุษย์ บางชาติก็ได้เกิดเป็นเทวดา เป็นพรหม บางชาติพลาดพลั้งทำบาป ทำ อกุศลกรรมเข้าก็ไปเกิดในทุคติภูมิ เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกายบ้าง วนเวียนอยู่อย่างนี้ จนนับภพนับชาติไม่ถ้วน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แต่อุปมาให้ฟังว่าในระหว่างที่เวียนว่ายตายเกิด ต้องประสบแต่ความทุกข์ ทั้งทุกข์ เพราะพลัดพรากจากของรัก ประสบสิ่งที่ไม่ชอบใจ และยังทุกข์เพราะเกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกด้วย น้ำตาที่ต้องรินไหล เพราะความทุกข์ของแต่ละคน หากนำมารวมกันแล้ว ยังมากกว่านํ้าในมหาสมุทรทั้ง ๔ อีก และกระดูกของแต่ละคนเฉพาะในชาติที่เกิดเป็นมนุษย์หากนำมากองรวมกันยังสูงกว่าขุนเขาเสียอีก

 

               สัตว์โลกทั้งหลายต้องประสบกับความทุกข์อย่างแสนสาหัส เพราะการเวียนเกิดเวียนตายอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนี้ และพร้อมกับภพชาติที่ผ่านไปก็สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับโลก และชีวิตไว้ชาติแล้วชาติเล่า ในบรรดาสัตว์โลกทั้งหลายนั้น ย่อมมีสัตว์โลกผู้สั่งสมปัญญามามาก เมื่อประสบเหตุการณ์สะดุดใจ จึงพลันได้คิดว่า "ที่แท้โลกก็คือคุกใบใหญ่นี่เอง เราและสัตว์โลกต่างก็ถูกจับขัง ให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกนี้ไม่รู้จักจบสิ้น เราจะต้องหาทางพาตัวเองออกไปจากคุกนี้ให้ได้" และยังมีความกรุณาต่อสัตว์โลกอีกด้วย จึงได้ทั้งความปรารถนาว่า "หากวันใดเราแหกคุกนี้ไปได้  เราจะไม่ไปคนเดียว แต่จะขนคนไปให้หมดโลกทีเดียว" จากนั้นก็เร่งทำความเพียรสร้างสมความดีเรื่อยไป จึงได้เนมิตกนาม1  คือนามตามคุณธรรมว่า "พระโพธิสัตว์" แปลว่าสัตว์ผู้มุ่งการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อการหลุดพ้นทุกข์

 

นํ้าใจของพระโพธิสัตว์

๑.หากแม้ว่าจักรวาลอันกว้างใหญ่สุดประมาณนี้มีถ่านเพลิงร้อนสุมคุระอุเต็มไปหมด
๒.หากแม้ว่าจักรวาลอันกว้างใหญ่สุดประมาณนี้ มีเปลวไฟลุกแดงเป็นพืดยาวเต็มไปหมด
๓.หากแม้ว่าจักรวาลอันกว้างใหญ่สุดประมาณนี้ เต็มไปด้วยภูเขาเหล็กลุกโชน โพลงอยู่ไม่รู้ดับและพื้นภูมิภาคตามระหว่างข้าง ๆ ซอกแห่งภูเขาเหล่านั้น เต็มไปด้วยน้ำทองแดงอันเดือดพลุ่ง ร้อน ละลายไหลเหลวอยู่เต็ม ผู้ใดที่มีใจองอาจเพื่อจะเดินฝ่าบุกไป โดยเท้าเปล่า ๆ ไปจนสุดหมื่นจักรวาล ผู้นั้นแหละจึงควรที่ปรารถนาเป็นพระโพธสัตว์

               ผู้ที่ปรารถนาพระพุทธภูมินั้นย่อมบำเพ็ญธรรมด้วยนํ้าใจเด็ดเดี่ยว มั่นคง ไม่ว่าจักเสวยพระชาติ ถือกำเนิดเป็นอะไรก็ตาม ย่อมประกอบกุศลธรรมไม่ย่อหย่อนเบื่อหน่ายส่ายพักตร์เลย แม้ใครจะคิดทดลองด้วยอุบายใด ๆ เพื่อให้พระโพธิสัตว์เปลี่ยนจากการกระทำกุศลธรรมย่อมสำเร็จได้โดยยาก

 

อัธยาศัยพระโพธิสัตว์
๑. เนกขัมมัชฌาสัย พอใจที่จะบวช รักเพศบรรพชิตเป็นยิ่งนัก
๒. วิเวกัชฌาสัย พอใจอยู่ในที่เงียบสงัด วิเวกผู้เดียวยิ่งนัก
๓. อโลภัชฌาสัย พอใจบริจาคทาน และพอใจบุคคลผู้ไม่โลภ ไม่ตระหนี่เป็นยิ่งนัก
๔. อโทสัชฌาสัย พอใจในความไม่โกรธ เจริญเมตตาแก่สัตว์ทั้งปวงยิ่งนัก
๕. อโมหัชฌาสัย พอใจที่พิจารณาสิ่งที่เป็นคุณและโทษ คบค้าสมาคมกับผู้มีสติปัญญายิ่งนัก
๖. นิสสรฌัชฌาสัย พอใจที่จะยกตนออกจากภพ ไม่ยินดีในการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ต้องประสงค์พระนิพพานยิ่งนัก

 

ประเภทของพระโพธิสัตว์
๑.อนิยตโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ได้รับการพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อน จึงยังไม่แน่ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นเพียงแต่ตั้งใจจะสร้างบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น ถึงแม้จะมีน้ำใจเด็ดเดี่ยวปรารถนามาเป็นเวลาช้านานหลายอสงไขยแล้วก็ตาม

๒.นิยตโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ที่ได้รับการพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนแล้ว ย่อมเที่ยงแท้แน่นอนว่าจักไต้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งการจักได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้านั้น ต้องประกอบด้วย ธรรมสโมธาน ๘ ประการ2 ดังนี้
๒.๑) เกิดเป็นมนุษย์
๒.๒) เกิดเป็นเพศชาย
๒.๓) มีอุปนิสัยแห่งพระอรหัต ในขันธสันดานอย่างแก่กล้า
๒.๔) ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บำเพ็ญกุศลใหญ่แล้วตั้งความปรารถนาเฉพาะพระพักตร์ของพระบรมศาสดา
๒.๕) เป็นนักบวชในพุทธศาสนา หรือภายนอกพุทธศาสนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
๒.๖) มีคุณวิเศษ คือ อภิญญา สมาบัติอันเชี่ยวชาญเกินคนธรรมดาสามัญ
๒.๗) ได้เคยบำเพ็ญมหาบริจาค เคยเอาชีวิตเข้าแลกกับพระโพธิญาณมาก่อน
๒.๘) มีความรักและพอใจในพุทธภูมิเป็นกำลัง มิได้ย่นย่อต่ออุปสรรค แม้จะให้ทนอยู่ในนรกอย่างทุกข์ทรมานแสนสาหัส เพื่อแลกกับพระสัมมาสัมโพธิญาณก็สมัครใจไม่หวั่น

 

การสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์

                สำหรับผู้มีปัญญาเป็นเลิศอย่างพระโพธิสัตว์ ประสบการณ์ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตจะเป็นบทเรียนที่มีค่า จะทรงกำหนดจดจำประสบการณ์เหล่านั้น มาคิดพิจารณาแล้วสั่งสมไว้กว่าที่พระโพธิสัตว์จะมีปัญญามากพอที่จะแยกออกว่า สิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดเป็นบุญ สิ่งใดเป็นบาป สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ก็ต้องผ่านการลองผิดลองถูกในการสร้างความดี  นับภพนับชาติไม่ถ้วน จนในที่สุดพระองค์ก็ประมวลสรุปได้ว่า หากพ้นจากคุกคุมขัง คือโลกใบนี้ จะต้องทรงสร้างความดีอย่างยิ่งยวดอย่างน้อย ๑๐ ประการ ที่เรียกว่า บารมี ๑๐ ทัศ

บารมี ๑๐ทัศ ประกอบด้วย
๑. ทานบารมี คือ การให้ทาน
๒. ศีลบารมี คือ การละเว้นบาป และความชั่วทั้งปวง
๓. เนกขัมมบารมี คือ การสละพัวพันในเรื่องกาม เรื่องครอบครัวแล้วหลีกเร้น แสวงหาทางหลุดพ้น
๔. ปัญญาบารมี คือ การเสาะหา แสวงหาความรู้ที่นำไปสู่ความหลุดพ้น
๕. วิริยบารมี คือ ความหมั่นเพียรไม่ท้อถอย กล้าที่จะสู้กับอุปสรรค
๖. ขันติบารมี คือ ความอดทน อดกลั้น
๗. สัจจบารมี คือ ความตั้งใจมั่นที่จะทำความดี
๘. อธิษฐานบารมี คือ การตั้งความปรารถนา เพื่อบรรลุเป้าหมายในหนทางของความดี
๙. เมตตาบารมี คือ ความปรารถนาดีต่อสรรพสัดว์ทั้งหลาย
๑๐. อุเบกขาบารมี คือ ความยุติธรรมไม่เลือกที่รักมักที่ชัง


เชิงอรรถ
1 เนมิตกนาม หมายถึง ชื่อที่เกิดขึ้นตามเหตุ คือ ลักษณะและคุณสมบัติ เช่น พระสุคต แปลว่า ผู้ดำเนินดีแล้ว
2 มก.ล.๗๔/๕๘๐

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.036757965882619 Mins