โลณผลสูตร ว่าด้วยผลกรรมกับก้อนเกลือ

วันที่ 29 สค. พ.ศ.2563

29-8-63-3-b.jpg

วิธีการล้างบาปในเชิงพระพุทธศาสนา

                 อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้คนละชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องใส เพื่อการกำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป แต่ในการดำเนินชีวิตจริงของบุคคลทั่วไปไม่ได้ทำความดีแต่เพียงอย่างเดียวได้ตลอด มักจะทำความดีปนความชั่วสลับกันไป ทำอย่างไรเราจึงจะไม่ให้บาปที่เราได้กระทำไว้ได้โอกาสส่งผล เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขในโลกนี้และโลกหน้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้บอกวิธีการล้างบาป มีรายละเอียดดังปรากฎใน "โลณผลสูตร" ดังนี้

 

โลณผลสูตร ว่าด้วยผลกรรมกับก้อนเกลือ

                   ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "บุคคลนี้ทำกรรมไว้อย่างใดเขาต้องเสวยกรรมนั้นอย่างนั้น ๆ" เมื่อเป็นเช่นนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีไม่ได้ โอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบย่อมไม่ปรากฎ ส่วนผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "บุคคลนี้ทำกรรมที่ต้องเสวยผลไว้อย่างใด ๆ เขาต้องเสวยผลของกรรมนั้น อย่างนั้น ๆ" เมื่อเป็นเช่นนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้ โอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบย่อมปรากฎ บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบาปกรรมแม้เพียงเล็กน้อย บาปกรรมก็นำเขาไปสู่นรกได้ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นแล บาปกรรมนั้นให้ผลในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ให้ผลแม้แต่น้อยในอัตภาพที่ ๒ (ชาติหน้า) ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผลมาก

 

                 บุคคลที่ทำบาปกรรมแม้เพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาไปสู่นรกได้คือบุคคลเช่นไร คือ บุคคล1 บางคนในโลกนี้ไม่เจริญกาย2 ไม่เจริญศีล ไม่เจริญจิต ไม่เจริญปัญญา มีคุณน้อย มีอัตภาพน้อย มักอยู่เป็นทุกข์เพราะผลกรรมเล็กน้อย บุคคลเช่นนี้ทำบาปกรรมแม้เพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาไปสู่นรกได้

 

                บุคคลที่ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นแล บาปกรรมนั้นให้ผลในปัจจุบันเท่านั้นไม่ให้ผลแม้แต่น้อยในอัตภาพที่ ๒ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผลมาก คือบุคคลเช่นไร

 

                 คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เจริญกาย เจริญศีล เจริญจิต เจริญปัญญา3  แล้วมีคุณไม่น้อย มีอัตภาพใหญ่4   เป็นอัปปมาณวิหารี5 บุคคลเช่นนี้ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นแล บาปกรรมนั้นให้ผลในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ให้ผลแม้แต่น้อยในอัตภาพที่ ๒ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผลมาก

 

                 ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษใส่ก้อนเกลือลงในขันใบน้อย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร น้ำในขันเล็กน้อยนั้นเค็ม ดื่มกินไม่ได้เพราะก้อนเกลือโน้นใช่หรือไม่

"อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า"

"ข้อนั้นเพราะเหตุไร"

"เพราะในขันน้ำมีน้ำนิดหน่อย น้ำนั้นจึงเค็ม ดื่มกินไม่ได้เพราะก้อนเกลือโน้น
พระพุทธเจ้าข้า"

"บุคคลใส่ก้อนเกลือลงในแม่น้ำคงคา เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร แม่น้ำคงคานั้น
เค็ม ดื่มกินไม่ได้เพราะก้อนเกลือโน้นใช่หรือไม่"

"ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า"

"ข้อนั้นเพราะเหตุไร"

"เพราะในแม่น้ำคงคานั้นมีห้วงนํ้าใหญ่ นํ้านั้นจึงไม่เค็ม ดื่มกินได้เพราะก้อนเกลือโน้น
พระพุทธเจ้าข้า''

                พระผู้พระภาคตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ทำบาปกรรมแม้เพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาไปสู่นรกได้ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นแล บาปกรรมนั้นให้ผลในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ให้ผลแม้แต่น้อยใน
อัตภาพที่ ๒ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผลมาก"

 

               บุคคลที่ทำบาปกรรมแม้เพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาไปสู่นรกได้ คือบุคคลเช่นไร


               คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เจริญกาย ไม่เจริญศีล ไม่เจริญจิต ไม่เจริญปัญญา มีคุณน้อย มีอัตภาพน้อย มักอยู่เป็นทุกข์เพราะผลกรรมเล็กน้อย บุคคลเช่นนี้ทำบาปกรรมแม้เพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาไปสู่นรกได้

 

               บุคคลที่ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นแล บาปกรรมนั้นให้ผลในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ให้ผลแม้แต่น้อยในอัตภาพที่ ๒ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผลมาก คือบุคคลเช่นไร

 

               คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เจริญกาย เจริญศีล เจริญจิต เจริญปัญญาแล้วมีคุณไม่น้อย มีอัตภาพใหญ่ เป็นอัปปมาณวิหารี บุคคลเช่นนี้ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นแล บาปกรรมนั้น ให้ผลในบัจจุบันเท่านั้น ไม่ให้ผลแม้แต่น้อยในอัตภาพที่ ๒ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผลมาก (๑)

                บุคคลบางคนในโลกนี้ถูกจองจำเพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะบ้าง ถูกจองจำเพราะทรัพย์หนึ่งกหาปณะบ้าง ถูกจองจำเพราะทรัพย์ร้อยกหาปณะบ้าง ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ถูกจองจำ เพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะบ้าง ไม่ถูกจองจำเพราะทรัพย์หนึ่งกหาปณะบ้าง ไม่ถูกจองจำเพราะทรัพย์ตั้งร้อยกหาปณะบ้าง

 

                 บุคคลที่ถูกจองจำเพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะบ้าง ถูกจองจำเพราะทรัพย์หนึ่งกหาปณะบ้าง ถูกจองจำเพราะทรัพย์ร้อยกหาปณะบ้าง คือบุคคลเช่นไร

 

                  คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ขัดสน มีสมบัติน้อย มีโภคะน้อย บุคคลเช่นนี้ย่อมถูกจองจำ เพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะบ้าง ถูกจองจำเพราะทรัพย์หนึ่งกหาปณะบ้าง ถูกจองจำเพราะทรัพย์ร้อยกหาปณะบ้าง

 

                   บุคคลที่ไม่ถูกจองจำเพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะบ้าง ไม่ถูกจองจำเพราะทรัพย์หนึ่งกหาปณะบ้าง ไม่ถูกจองจำเพราะทรัพย์ตั้งร้อยกหาปณะบ้าง คือบุคคลเช่นไร

 

                   คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก บุคคลเช่นนี้ย่อมไม่ถูกจองจำเพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะบ้าง ไม่ถูกจองจำเพราะทรัพย์หนึ่งกหาปณะบ้าง ไม่ถูกจองจำเพราะทรัพย์ตั้งร้อยกหาปณะบ้าง ฉันใด

 

                   บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำบาปกรรมแม้เพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาไปสู่นรกได้  ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นแล บาปกรรมนั้นให้ผลในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ให้ผลแม้แต่น้อยในอัตภาพที่ ๒ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผลมาก

 

                  บุคคลที่ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาไปสู่นรกได้ คือบุคคลเช่นไร


                   คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เจริญกาย ไม่เจริญศีล ไม่เจริญจิต ไม่เจริญปัญญา มีคุณน้อย มีอัตภาพน้อย มักอยู่เป็นทุกข์เพราะผลกรรมเล็กน้อย บุคคลเช่นนี้แลทำบาปกรรมแม้เพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาไปสู่นรกได้

 

                   บุคคลที่ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นแล บาปกรรมนั้นให้ผลในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ให้ผลแม้แต่น้อยในอัตภาพที่ ๒ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผลมาก คือบุคคลเช่นไร

 

                   คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เจริญกาย เจริญศีล เจริญจิต เจริญปัญญาแล้ว มีคุณไม่น้อย มีอัตภาพใหญ่ เป็นอัปปมาณวิหารี บุคคลเช่นนี้ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นแล บาปกรรมนั้นให้ผลในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ให้ผลแม้แต่น้อยในอัตภาพที่ ๒ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผลมาก (๒)

 

                 ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เจริญกาย เจริญศีล เจริญจิต เจริญปัญญาแล้ว มีคุณไม่น้อย มีอัตภาพใหญ่ เป็นอัปปมาณวิหารี บุคคลเช่นนี้ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นแล บาปกรรมนั้นให้ผลในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ให้ผลแม้แต่น้อยในอัตภาพที่ ๒ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผลมาก

 

                  เจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะบางคนสามารถที่จะฆ่า จองจำ หรือเผาคนลักแกะหรือทำตามที่ตนปรารถนา แต่บางคนไม่สามารถที่จะฆ่า จองจำ หรือเผาคนลักแกะหรือทำตามที่ตนปรารถนาได้

 

                  เจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะที่สามารถที่จะฆ่า จองจำ หรือเผาคนลักแกะ หรือทำตามที่ตนปรารถนาได้ คือเจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นไร

 

                   คือ เจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะบางคนในโลกนี้ขัดสน มีสมบัติน้อย มีโภคะน้อย เจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นนี้ สามารถที่จะฆ่า จองจำ หรือเผาคนลักแกะหรือทำตามที่ตนปรารถนาได้

 

                 เจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะที่ไม่สามารถที่จะฆ่า จองจำ หรือเผาคนลักแกะ หรือทำตามที่ตนปรารถนาได้ คือเจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นไร

 

                   คือ เจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะบางคนในโลกนี้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เป็นพระราชา หรือมหาอำมาตย์ของพระราชา เจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นนี้ ไม่สามารถที่จะฆ่าจองจำ หรือเผาคนลักแกะ หรือทำตามที่ตนปรารถนาได้ แท้ที่จริง คนที่ประนมมือย่อมขอเจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะได้ว่า "ขอท่านจงให้แกะหรือทรัพย์ที่มีมูลค่าเท่ากับแกะแก่ฉันด้วยเถิด" ฉันใด

 

                  บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ ฉันนั้น เหมือนกัน ทำบาปกรรมแม้เพียงเล็กน้อยเช่นนั้นแล บาปกรรมนั้นก็นำเขาไปสู่นรกได้ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นแล บาปกรรมนั้นให้ผลในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ให้ผลแม้แต่น้อยในอัตภาพที่ ๒ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผลมาก

 

                  บุคคลที่ทำบาปกรรมแม้เพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาไปสู่นรกได้คือบุคคลเช่นไร


                  คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เจริญกาย ไม่เจริญศีล ไม่เจริญจิต ไม่เจริญปัญญามีคุณน้อย มีอัตภาพน้อย มักอยู่เป็นทุกข์เพราะผลกรรมเล็กน้อยบุคคลเช่นนี้แลทำบาปกรรมแม้เพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาไปสู่นรกได้

 

                   บุคคลที่ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นแล บาปกรรมนั้นให้ผลในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ให้ผลแม้แต่น้อยในอัตภาพที่ ๒ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผลมาก คือบุคคลเช่นไร

 

                    คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เจริญกาย เจริญศีล เจริญจิต เจริญปัญญาแล้วมีคุณไม่น้อย มีอัตภาพใหญ่ เป็นอัปปมาณวิหารี บุคคลเช่นนี้ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นแล บาปกรรมนั้นให้ผลในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ให้ผลแม้แต่น้อยในอัตภาพที่ ๒ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผลมาก (๓)

 

                    ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "บุคคลนี้ทำกรรมไว้อย่างใด ๆ เขาจะต้องเสวยกรรมนั้นอย่างนั้น ๆ" เมื่อเป็นเช่นนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีไม่ได้ โอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบย่อมไม่ปรากฏ

 

                    ส่วนผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "บุคคลนี้ทำกรรมที่ต้องเสวยผลไว้อย่างใด ๆ เขาต้องเสวยผลของกรรมนั้นอย่างนั้น ๆ" เมื่อเป็นเช่นนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้ โอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบย่อมปรากฏ

                                                                       โลณผลสูตร จบ

 

                    สาระสำคัญของพระสูตรนี้ จะเห็นได้ว่า บาปกรรมอย่างเดียวกัน ทำแล้วให้ผลไม่เท่ากัน ขึ้นกับการปฎิบัติของบุคคลนั้น คือ บุคคลมีกาย วาจา ใจอบรมดีแล้ว บาปย่อมให้ผลไม่มากหรือไม่ส่งผลเลย บุคคลมีปกติอยู่ด้วยทุกข์ เมื่อทำบาปย่อมให้ผลมาก สามารถนำเขาไปนรกได้ เปรืยบเหมีอนก้อนเกลือ (บาปที่ทำ) ที่เท่ากัน ถ้าใส่ลงในถ้วยนํ้า (บุญที่ทำ) ก็ได้รสเค็มมาก แต่หากใส่ลงในแม่นํ้า รสก็เค็มน้อย หรือไม่มีรสเค็มของเกลือเลย

 

                     ฉะนั้นความรู้ที่ได้จากพระสูตรนี้ จึงเป็นเสมือนช่องทางที่จะช่วยให้เราแก้ไขวิบากกรรมชั่วที่เคยทำพลาดพลั้งไปในอดีต ด้วยการตั้งใจละความชั่วทั้งหลาย หมั่นสั่งสมบุญกุศลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้วกลั่นจิตใจของตัวเองให้ผ่องใส ไม่เป็นคนเจ้าทุกข์ หากทำเช่นนี้ได้สม่ำเสมอเป็นการป้องกันมิให้บาปอกุศลได้ช่องส่งผลบาป ย่อมเป็นหลักประกันความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของตัวเองในวัฎฎสงสารได้

 

                    ความรู้เรื่องกฎแห่งกรรมเป็นสิ่งที่สากลที่ใคร ๆ ไม่ว่าอยู่ในศาสนาหรือความเชื่อที่แตกต่างกันก็พอทำความเข้าใจและยอมรับได้  ทั้งนี้เพราะอยู่บนพื้นฐานของหลักเหตุและผลที่ชัดเจน กล่าวคือ "ทำดีต้องได้รับผลดีจริง  ทำชั่วต้องได้รับผลชั่วจริง" ดังพุทธภาษิต6  ว่า

 

"บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้ เขาย่อมเห็นกรรมเหล่านั้นในตน ผู้ทำ
กรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว บุคคลหว่านพืช
เช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น"

 

                     แต่ทำไมบางคนจึงสงสัย หรือไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมักปรากฏให้เห็นอยู่เสมอว่า ผู้คนจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในสังคมว่า พวกเขาทำผิดศีล ผิดกฎหมายอยู่เนือง ๆ แต่ก็ไม่ถูกลงโทษทัณฑ์แต่ประการใด ยังคงลอยนวลอยู่ในสังคม มีความสะดวกสบาย มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย บางคนก็มีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โตในวงราชการ หรือการเมือง บางคนก็มีอำนาจอิทธิพลเป็นเจ้าพ่อธุรกิจเถื่อนต่าง ๆ ในทางกลับกันคนดีบางคน ซึ่งไม่เคยทำผิดศีล ผิดกฎหมาย กลับประสบโชคร้ายต่าง ๆ เช่น บางคนก็ประสบภัยอันตรายทางธรรมชาติ บางคนก็ถูกใส่ร้ายป้ายสี บางคนก็ถูกฆาตกรรม ฯลฯ สภาพการณ์เหล่านี้ทำให้ผู้คนไม่น้อยสงสัย และไม่เชื่อกฎแห่งกรรม

 

                   แล้วทำไมการออกผลของวิบากกรรม จึงไม่เป็นไปตามพุทธดำรัส ที่เป็นเช่นนี้เพราะวิบากกรรมของแต่ละคนมีความสลับซับซ้อนมาก จึงดูเหมือนไม่เป็นไปตามพุทธดำรัส ทั้งนี้เนื่องจากแต่ละคนเคยทำทั้งกรรมดี และกรรมชั่วปะปนกันไปในแต่ละวัน และอีกประการหนึ่งคือการทำกรรมทั้งดีและชั่วของคนเรานั้นมิได้ทำกันเพียงแค่ครั้งเดียว แต่ทำกันบ่อย ๆ ดังนั้นการออกผลของกรรม จึงขึ้นอยู่กับอิทธิพลของแรงกรรมแต่ละฝ่ายที่ชิงโอกาสให้ผลกันอยู่

 

                         กล่าวคือ ถ้าช่วงใดที่กรรมดีมีแรงมาก ก็จะออกผลก่อนทำให้กรรมชั่วหมดโอกาสส่งผลจึงจำเป็นต้องตั้งท่าคอยโอกาสอยู่ จนกระทั่งกรรมดีหมดแรง ต่อจากนั้นก็จะเป็นโอกาสแห่งการออกผลของกรรมชั่วบ้าง เพราะเหตุนี้ชีวิตของคนเราจึงมีทั้งสุขและทุกข์สลับกันใป

 

เชิงอรรถอ้างอิง

1 บุคคล ในที่นี้หมายถึงปุถุชนผู้ตกอยู่ในวงจรแห่งวัฎฎะ
2 เจริญกาย ในที่นี้หมายถึงเจริญกายานุปัสสนา คือการพิจารณาอาการที่ไม่สวยไม่งาม และไม่เที่ยงแห่งกายเป็นต้น
3 บุคคลผู้เจริญกาย เจริญศีล เจริญจิต เจริญปัญญา ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพผู้สิ้นอาสวะ
4 มีอัตภาพใหญ่ ในที่นี้หมายถึงมีคุณมาก
5 อัปปมาณวิหารี หมายถึงผู้มีปกติอยู่อย่างไม่มีราคะ โทสะ และโมหะซึ่งเป็นกิเลสที่แสดงลักษณะหรือจริต
6 จุลลนันทิยชาดก : พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๕๗ หน้า ๓๘๙

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.028732685248057 Mins