อปัณณกสูตร  ว่าด้วยการปฎิบัติไม่ผิด

วันที่ 23 กย. พ.ศ.2563

23-9-63-4-b.jpg

อปัณณกสูตร  ว่าด้วยการปฎิบัติไม่ผิด

                  อย่างไรก็ตาม แม้จะกล่าวว่า กฎแห่งกรรมเป็นเรื่องของเหตุและผลก็ตาม  สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ยึดถือความเชื่อ  หรือศาสนาใดไว้เป็นที่พึ่ง  ก็ควรยึดหลักกฎแห่งกรรมเป็นแนวปฎิบัติในการดำเนินชีวิตไว้เพื่อความอุ่นใจ   และความปลอดภัยไว้ก่อน  เพราะแม้ว่ากฎแห่งกรรมจะมีหรือไม่มีจริงอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ก็ตาม  เขาย่อมได้รับความบันเทิงทั้งในโลกนี้และโลกหน้า  ดังที่ตรัสแสดงแก่ชาวบ้านสาลาใน "อปัณณกสูตร" มีรายละเอียด ดังนี้


อปัณณกสูตร1
ว่าด้วยการปฎิบัติไม่ผิด

พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดชาวบ้านสาลา

                   [๙๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

                   สมัยหนึ่ง พระผู้พระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงบ้านพราหมณ์ของชาวโกศลชื่อสาลา พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาได้สดับข่าวว่า

                  "ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ท่านพระสมณโคดมเป็นศากยบุตร เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศล พร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงบ้านพราหมณ์ชื่อสาลาโดยลำดับ ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า 'แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้พระภาค' พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้เป็นความดีอย่างแท้จริง"


                    ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ บางพวกถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อและโคตรในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่สมควร

ตรัสอปัณณกธรรม

                   พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาผู้นั่งเรียบร้อยแล้วว่า

                   "พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ศาสดาองค์ใดองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่ชอบใจของท่านทั้งหลาย เป็นเหตุให้ได้ศรัทธาที่มีเหตุผล มีอยู่หรือ"

                   พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นกราบพูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ศาสดาองค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นที่ชอบใจของข้าพระองค์ทั้งหลาย เป็นเหตุให้ได้ศรัทธาที่มีเหตุผล ยังไม่มีเลย"

                  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายยังไม่ได้ศาสดาเป็นที่ชอบใจ พึงสมาทานอปัณณกธรรม2 นี้แล้วประพฤติตามเถิด เพราะว่าอปัณณกธรรมที่ท่านทั้งหลายสมาทานให้บริบูรณ์ จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่ท่านทั้งหลายตลอดกาลนาน

                  อปัณณกธรรมนั้น เป็นอย่างไร

นัตถิกทิฎฐิกับอัตถิกทิฎฐิ

                   คือ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า 'ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงก็ไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ โอปปาติก3 สัตว์ก็ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฎิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ก็ไม่มีในโลก'

                  สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า 'ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้วมีผล การเซ่นสรวงก็มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ โอปปาติกสัตว์มีอยู่ สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ก็มีอยู่ในโลก'

                  พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สมณพราหมณ์เหล่านี้มีวาทะขัดแย้งกันโดยตรง มิใช่หรือ"

                 พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นกราบทูลว่า "ใช่ พระพุทธเจ้าข้า"


โทษแห่งการปฎิบัติผิด

                  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ ๒ จำพวกนั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า 'ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงก็ไม่มีผล ฯลฯ สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฎิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนให้ผู้อื่นเแจ้ง ก็ไม่มีในโลก' สมณพราหมณ์เหล่านั้น พึงหวังข้อนี้ได้ คือ จักเว้นกุศลธรรม ๓ ประการนี้ได้แก่ (๑) กายสุจริต (๒) วจีสุจริต (๓) มโนสุจริต   จักสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ ได้แก่ (๑) กายทุจริต (๒) วจีทุจริต (๓) มโนทุจริต แล้วประพฤติอยู่

                ข้อนั้นเพราะเหตุไร

                เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่เห็นโทษ ความตํ่าทราม ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรมไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรม

               อนึ่ง โลกหน้ามี แต่เขากลับเห็นว่า 'โลกหน้าไม่มี' ความเห็นนั้นของเขาจึงเป็นมิจฉาทิฎฐิ โลกหน้ามี แต่เขาดำริว่า 'โลกหน้าไม่มี' ความดำรินั้นของเขาจึงเป็นมิจฉาสังกัปปะ โลกหน้ามีแต่เขากล่าวว่า 'โลกหน้าไม่มี' วาจานั้นของเขาจึงเป็นมิจฉาวาจา โลกหน้ามี เขากล่าวว่า 'โลกหน้าไม่มี' ผู้นี้ย่อมทำตนเป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ผู้รู้แจ้งโลกหน้า โลกหน้ามี เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่า 'โลกหน้าไม่มี' การที่เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจเช่นนั้น  เป็นการทำให้เข้าใจผิดจากความเป็นจริง และเขายังจะยกตนข่มผู้อื่น ด้วยการทำให้เข้าใจผิดจากความเป็นจริงนั้น โดยนัยนี้ เริ่มต้นเขาก็ละทิ้งความเป็นผู้มีศีลดีงามแล้วตั้งตนเป็นคนทุศีล เพราะมิจฉาทิฎฐิเป็นปัจจัย บาปอกุศลธรรมเป็นอเนกเหล่านี้ คือ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา ความเป็นข้าศึกกับพระอริยะ การทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดจากความเป็นจริง การยกตน การข่มผู้อื่น ย่อมเกิดขึ้น ด้วยประการอย่างนี้

                 พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น วิญญชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า 'ถ้าโลกหน้าไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษบุคคลนี้หลังจากตายแล้วจักทำตนให้มีความสวัสดีได้ ถ้าโลกหน้ามีจริง เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษบุคคลนี้หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก4  ถ้าโลกหน้าไม่มีจริง คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ย่อมถูกวิญญชนติเตียนได้ในปัจจุบันว่า 'เป็นบุรุษบุคคลผู้ทุศีลเป็นมิจฉาทิฎฐิ เป็นนัตถิกวาทะ'


                ถ้าโลกหน้ามีจริง บุรุษบุคคลนี้จะได้รับโทษในโลกทั้ง ๒ คือ (๑) ในปัจจุบันถูกวิญญชนติเตียนได้ (๒) หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรกอย่างนี้

 

               อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์ไม่ดี แพร่ดิ่งไปฝ่ายเดียว5 ย่อมละเหตุที่เป็นกุศล ด้วยประการอย่างนี้

 


คุณแห่งการปฏิบัติชอบ

                พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ ๒ จำพวกนั้น สมณพราหมณ์เหล่าใดผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า 'ทานที่ให้แล้วมีผล ฯลฯ

                สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฎิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้แจ้ง มีอยู่ในโลก' สมณพราหมณ์เหล่านั้นพึงหวังข้อนี้ใด้คือ

                จักเว้นอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ ได้แก่ (๑) กายทุจริต (๒) วจีทุจริต (๓) มโนทุจริต

                 จักสมาทานกุศลธรรม ๓ ประการนี้ ได้แก่ (๑) กายสุจริต (๒) วจีสุจริต (๓) มโนสุจริต แล้วประพฤติอยู่

 

ข้อนั้นเพราะเหตุไร

               เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นเห็นโทษ ความตํ่าทราม ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรม เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรม

 

               อนึ่ง โลกหน้ามี เขาเห็นว่า 'โลกหน้ามีจริง' ความเห็นนั้นของเขา จึงเป็นสัมมาทิฎฐิ โลกหน้ามีจริง เขาดำริว่า 'โลกหน้ามีจริง' ความดำรินั้นของเขาจึงเป็นสัมมาสังกัปปะ โลกหน้ามีจริง  เขากล่าวว่า 'โลกหน้ามีจริง' วาจานั้นของเขาจึงเป็นสัมมาวาจา โลกหน้ามีจริง เขากล่าวว่า 'โลกหน้ามีจริง' ผู้นี้ชื่อว่าไม่ทำตนเป็นข้าศึกกับพระอรหันต์ผู้รู้แจ้งโลกหน้า โลกหน้ามี เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่า 'โลกหน้ามีจริง' การที่เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจเช่นนั้น เป็นการทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริง และเขาย่อมไม่ยกตนข่มผู้อื่น ด้วยการทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริงนั้น โดยนัยนี้ เริ่มต้นเขาก็ละทิ้งความเป็นผู้ทุศีล แล้วตั้งตนเป็นคนมีศีลดีงาม เพราะสัมมาทิฎฐิเป็นปัจจัย กุศลธรรมเป็นอเนกเหล่านี้ คือ สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา ความไม่เป็นข้าศึกกับพระอริยะ การทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริง การไม่ยกตน การไม่ข่มผู้อื่น ย่อมเกิดขึ้น ด้วยประการอย่างนี้

              พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า 'ถ้าโลกหน้ามี เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษบุคคลนี้ หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์' ถ้าโลกหน้าไม่มีจริง คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ก็ย่อมได้รับคำสรรเสริญจากวิญญชนในปัจจุบันว่า 'เป็นบุรุษบุคคลผู้มีศีล เป็นสัมมาทิฎฐิ เป็นอัตถิกวาทะ'

               ถ้าโลกหน้ามีจริง บุรุษบุคคลนี้ก็จะได้รับคุณในโลกทั้ง ๒ คือ (๑) ในปัจจุบันวิญญชนย่อมสรรเสริญ (๒) หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ อย่างนี้

               อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว แพร่ดิ่งไปทั้งสองฝ่าย6  ย่อมละเหตุที่เป็นอกุศลได้ด้วยประการอย่างนี้
 

อกิริยทิฎฐิกับกิริยทิฎฐิ

                พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า 'เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำให้เศร้าโศกเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้เศร้าโศก ทำให้ลำบากเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ตัดช่องย่องเบา ปล้นเรือนหลังเดียว ดักจี้ในทางเปลี่ยว เป็นชู้ พูดเท็จ ผู้ทำ(เช่นนั้น) ก็ไม่จัดว่าทำบาป

                แม้หากบุคคลใช้จักรมีคมดุจมีดโกนสังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ให้เป็นดุจลานตากเนื้อ ให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน เขาย่อมไม่มีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบาปมาถึงเขา

                 แม้หากบุคคลไปฝั่งขวาแม่นํ้าคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน เขาย่อมไม่มีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบาปมาถึงเขา

                แม้หากบุคคลไปฝั่งซ้ายแม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา เขาย่อมไม่มีบุญที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบุญมาถึงเขา ไม่มีบุญที่เกิดจากการให้ทานจากการฝึกอินทรีย์ จากการสำรวม จากการพูดคำสัตย์ ไม่มีบุญมาถึงเขา'

                 สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง มีวาทะขัดแย้งกันโดยตรงกับสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า 'เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำให้เศร้าโศกเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้เศร้าโศก ทำให้ลำบากเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ลำบากดิ้นรนเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ตัดช่องย่องเบา ปล้นเรือนหลังเดียว ดักจี้ในทางเปลี่ยว เป็นชู้ พูดเท็จ ผู้ทำ (เช่นนั้น) จัดว่าทำบาป

แม้หากบุคคลใช้จักรมีคมดุจมีดโกนสังหารเหล่าสัตวํไนปฐพีนี้ให้เป็นดุจลานตากเนื้อ ให้
เป็นกองเนื้อเดียวกัน เขาย่อมมีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น มีบาปมาถึงเขา แม้หากบุคคลไปฝั่งขวา
แม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ไห้ผู้อื่นเบียดเบียน เขา
ย่อมมีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น มีบาปมาถึงเขา

                 แม้หากบุคคลไปฝั่งซ้ายแม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา เขาย่อมมีบุญที่เกิดจากกรรมนั้น มีบุญมาถึงเขา ย่อมมีบุญที่เกิดจากการให้ทาน จากการฝึกอินทรีย์ จากการสำรวม จากการพูดคำสัตย์ มีบุญมาถึงเขา' ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สมณพราหมณ์เหล่านี้มีวาทะขัดแย้งกันโดยตรง มิใช่หรือ"

                 พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นกราบทูลว่า "ใช่ พระพุทธเจ้าข้า"

 

โทษแห่งการปฎิบัติผิด

                  พระผู้พระภาคตรัสว่า "พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ ๒ จำพวกนั้น สมณพราหมณ์เหล่าใดผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า 'เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำให้เศร้าโศกเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้เศร้าโศก ทำให้ลำบากเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขา ไม่ได้ให้ ตัดช่องย่องเบา ปล้นเรือนหลังเดียว ดักจี้ในทางเปลี่ยว เป็นชู้ พูดเท็จ ผู้ทำ (เช่นนั้น) ก็ไม่จัดว่าทำบาป

                  แม้หากบุคคลใช้จักรมีคมดุจมีดโกนสังหารเหล่าสัตว์ ในปฐพีนี้ให้เป็นดุจลานตากเนื้อให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน เขาย่อมไม่มีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบาปมาถึงเขา

                 แม้หากบุคคลไปฝั่งขวาแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ฯลฯ ไม่มีบุญที่เกิดจากการให้ทาน จากการฝึกอินทรีย์ จากการสำรวม จากการพูดคำสัตย์ ไม่มีบุญมาถึงเขา' สมณพราหมณ์ เหล่านั้นพึงหวังข้อนี้ได้ คือ จักเว้นกุศลธรรม ๓ ประการนี้ ได้แก่ (๑) กายสุจริต (๒) วจีสุจริต (๓) มโนสุจริต จักสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ ได้แก่ (๑) กายทุจริต (๒) วจีทุจริต (๓) มโนทุจริต แล้วประพฤติอยู่

                 ข้อนั้นเพราะเหตุไร

                 เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่เห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรม ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรม

                 อนึ่ง การกระทำมีผล แต่เขากลับเห็นว่า 'การกระทำไม่มีผล' ความเห็นนั้นของเขาจึงเป็นมิจฉาทิฎฐิ การกระทำมีผล แต่เขาดำริว่า 'การกระทำไม่มีผล'  ความดำรินั้นของเขาจึงเป็นมิจฉาสังกัปปะ การกระทำมีผล แต่เขากล่าวว่า 'การกระทำไม่มีผล' วาจานั้นของเขาจึงเป็นมิจฉาวาจา การกระทำมีผล เขากล่าวว่า 'การกระทำไม่มีผล' ผู้นี้ย่อมทำตนให้เป็นข้าศึกกับพระอรหันต์ ผู้เป็นกิริยวาทะ การกระทำมีผล เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่า 'การกระทำไม่มีผล' การที่เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจเช่นนั้น เป็นการทำให้เข้าใจผิดจากความเป็นจริง และเขายังจะยกตนข่มผู้อื่นด้วยการทำให้เข้าใจผิดจากความเป็นจริงนั้น โดยนัยนี้ เริ่มต้นเขาก็ละทิ้งความเป็นผู้มีศีลดีงามแล้วตั้งตนเป็นคนทุศีล เพราะมิจฉาทิฎฐิเป็นปัจจัย บาปอกุศลธรรมเป็นอเนกเหล่านี้ คือ มิจฉาทิฎฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา ความเป็นข้าศึกกับพระอริยะ การทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดจากความเป็นจริง  การยกตน การข่มผู้อื่นย่อมเกิดขึ้น ด้วยประการอย่างนี้

                 พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า 'ถ้าการกระทำไม่มีผล เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษบุคคลนี้หลังจากตายแล้วจักทำตนให้มีความสวัสดีได้ ถ้าการกระทำมีผลจริง เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษบุคคลนี้หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก' ถ้าการกระทำไม่มีผลจริง คำของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น จะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ย่อมถูกวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบันว่า 'เป็นบุรุษบุคคลผู้ทุศีล เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นอกิริยวาทะ' ถ้าการกระทำมีผลจริง บุรุษบุคคลผู้เจริญนี้จะได้รับโทษในโลกทั้ง ๒ คือ (๑) ในปัจจุบันถูกวิญญชนติเตียนได้ (๒) หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อย่างนี้

                   อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์ไม่ดี แพร่ดิ่งไปฝ่ายเดียว ย่อมละเหตุที่เป็นกุศล ด้วยประการอย่างนี้

 

คุณแห่งการปฏิบัติชอบ

                    พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้นสมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า 'เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำให้เศร้าโศกเองใช้ให้ผู้อื่นทำให้เศร้าโศก ทำให้ลำบากเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ตัดช่องย่องเบา ปล้นเรือนหลังเดียว ดักจี้ในทางเปลี่ยว เป็นชู้ พูดเท็จ ผู้ทำ (เช่นนั้น) จัดว่าทำบาป แม้หากบุคคลใช้จักรมีคมดุจมีดโกนสังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ให้เป็นดุจลานตากเนื้อ ให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน เขาย่อมมีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น มีบาปมาถึงเขา แม้หากบุคคลไปฝั่งขวาแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัดเบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน เขาย่อมมีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น มีบาปมาถึงเขา

                  แม้หากบุคคลไปฝั่งซ้ายแม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา เขาย่อมมีบุญที่เกิดจากกรรมนั้น มีบุญมาถึงเขา ย่อมมีบุญที่เกิดจากการให้ทาน จากการฝึกอินทรีย์ จากการสำรวม จากการพูดคำสัตย์มีบุญมาถึงเขา'

                  สมณพราหมณ์เหล่านั้นพึงหวังข้อนี้ได้ คือ จักเว้นอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ ได้แก่ (๑) กายทุจริต (๒) วจีทุจริต (๓) มโนทุจริต จักสมาทานกุศล ๓ ประการนี้ ได้แก่ (๑) กายสุจริต (๒) วจีสุจริต (๓) มโนสุจริต แล้วประพฤติอยู่

 

ข้อนั้นเพราะเหตุไร

                  เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น เห็นโทษ ความตํ่าทราม ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรม เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรม

                  อนึ่ง การกระทำมีผล เขาเห็นว่า 'การกระทำมีผลจริง' ความเห็นนั้นของเขาจึงเป็นสัมมาทิฎฐิ การกระทำมีผลจริง เขาดำริว่า 'การกระทำมีผลจริง' ความดำรินั้นของเขาจึงเป็นสัมมาสังกัปปะ การกระทำมีผลจริง เขากล่าวว่า 'การกระทำมีผลจริง' วาจานั้นของเขาจึงเป็นสัมมาวาจา การกระทำมีผลจริง เขากล่าวว่า 'การกระทำมีผลจริง' ผู้นี้ชื่อว่าไม่ทำตนเป็นข้าศึกกับพระอรหันต์ผู้เป็นกิริยวาทะการกระทำมีผลจริง เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่า 'การกระทำมีผลจริง' การที่เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจเช่นนั้น เป็นการทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริง และเขาย่อมไม่ยกตนข่ม
ผู้อื่น ด้วยการทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริงนั้น โดยนัยนี้ เริ่มต้นเขาก็ละทิ้งความเป็นผู้ทุศีลแล้วตั้งตนเป็นคนมีศีลดีงาม เพราะสัมมาทิฎฐิเป็นปัจจัย กุศลธรรมเป็นอเนกเหล่านี้ คือ สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา ความไม่เป็นข้าศึกกับพระอริยะ การทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริง การไม่ยกตน การไม่ข่มผู้อื่นย่อมเกิดขึ้น ด้วยประการอย่างนี้

                    พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า 'ถ้าการกระทำมีผลจริง เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษบุคคลนี้หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ถ้าการกระทำไม่มีผลจริง คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ก็ย่อมได้รับคำสรรเสริญจากวิญญูชนในปัจจุบันว่า 'เป็นบุรุษบุคคลผู้มีศีล เป็นสัมมาทิฎฐิเป็นกิริยวาทะ' ถ้าการกระทำมีผลจริง บุรุษบุคคลนี้ก็จะได้รับคุณในโลกทั้ง ๒ คือ (๑) ในปัจจุบันวิญญูชนย่อมสรรเสริญ (๒) หลังจากตายแล้ว จักไปเกิด
ในสุคติโลกสวรรค์

                    อย่างนี้อปัณณกธรรม ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์ดีแล้ว แพร่ดิ่งไปทั้งสองฝ่ายย่อมละเหตุที่เป็นอกุศลได้ด้วยประการอย่างนี้

                    อนึ่ง การกระทำมีผล เขาเห็นว่า 'การกระทำมีผลจริง' ความเห็นนั้นของเขาจึงเป็นสัมมาทิฎฐิ การกระทำมีผลจริง เขาดำริว่า 'การกระทำมีผลจริง' ความดำรินั้นของเขาจึงเป็นสัมมาสังกัปปะ การกระทำมีผลจริง เขากล่าวว่า 'การกระทำมีผลจริง' วาจานั้นของเขาจึงเป็น
สัมมาวาจา การกระทำมีผลจริง เขากล่าวว่า 'การกระทำมีผลจริง' ผู้นี้ชื่อว่าไม่ทำตนเป็นข้าศึกกับพระอรหันต์ผู้เป็นกิริยวาทะการกระทำมีผลจริง เขาทำใหัผู้อื่นเข้าใจว่า 'การกระทำมีผลจริง' การที่เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจเช่นนั้น เป็นการทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริง และเขาย่อมไม่ยกตนข่มผู้อื่น ด้วยการทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริงนั้น โดยนัยนี้ เริ่มต้นเขาก็ละทิ้งความเป็นผู้ทุศีล แล้วตั้งตนเป็นคนมีศีลดีงาม เพราะสัมมาทิฎฐิเป็นปัจจัย กุศลธรรมเป็นอเนกเหล่านี้ คือ สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา ความใม่เป็นข้าศึกกับพระอริยะ การทำให้เข้าใจถูกตาม
ความเป็นจริง การไม่ยกตน การไม่ข่มผู้อื่นย่อมเกิดขึ้น ด้วยประการอย่างนี้

                    พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น วิญญชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า 'ถ้าการกระทำมีผลจริง เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษบุคคลนี้หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ถ้าการกระทำไม่มีผลจริง คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ก็ย่อมได้รับคำสรรเสริญจากวิญญูชนในปัจจุบันว่า 'เป็นบุรุษบุคคลผู้มีศีล เป็นสัมมาทิฏฐิเป็นกิริยวาทะ' ถ้าการกระทำมีผลจริง บุรุษบุคคลนี้ก็จะได้รับคุณในโลกทั้ง ๒ คือ (๑) ในปัจจุบันวิญญูชนย่อมสรรเสริญ (๒) หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

                   อย่างนี้อปัณณกธรรม ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์ดีแล้ว แพร่ดิ่งไปทั้งสองฝ่ายย่อมละเหตุที่เป็นอกุศลได้ ด้วยประการอย่างนี้

เหตุกทิฎฐิกับอเหตุกทิฎฐิ

                    พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า  'ความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองเอง ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์เอง ไม่มีกำลัง ไม่มีความ
เพียร ไม่มีความสามารถของมนุษย์ ไม่มีความพยายามของมนุษย์ สัตว์ ปาณะ ภูตะ ชีวะ7 ทั้งปวงล้วนไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ผันแปรไปตามโชคชะตา ตามสถานภาพทางสังคมและตามลักษณะเฉพาะคน'

                     พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง มีวาทะขัดแย้งโดย

                     ลักษณะเฉพาะตน ย่อมเสวยสุขและทุกข์ในอภิชาติ8  ทั้ง ๖ ตรงกับสมณพราหมณ์เหล่านั้น  พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า 'ความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองเอง ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์เอง มีกำลัง มีความเพียร มีความสามารถของมนุษย์ มีความพยายามของมนุษย์ สัตว์ ปาณะ ภูตะ ชีวะทั้งปวง ไม่ใช่ไม่มีอำนาจไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ผันแปรไปตามโชคชะตา ตามสถานภาพทางสังคมและตามลักษณะเฉพาะตน เสวยสุขและทุกข์ในอภิชาติทั้ง ๖'   ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร  สมณพราหมณ์เหล่านี้มีวาทะขัดแย้งกันโดยตรง มิใช่หรือ"พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นกราบทูลว่า "ใช่ พระพุทธเจ้าข้า"

โทษแห่งการปฎิบัติผิด

                    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใดผู้มีวาทะอย่างนี้  มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า 'ความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองเองความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย ไม่มี
เหตุ ไม่มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์เอง ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ไม่มีความสามารถของมนุษย์ ไม่มีความพยายามของมนุษย์ สัตว์ ปาณะ ภูตะ ชีวะทั้งปวง ล้วนไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ผันแปรไปตามโชคชะตา ตามสถานภาพทางสังคมและตามลักษณะเฉพาะตน ย่อมเสวยสุขและทุกข์ในอภิชาติทั้ง ๖'   สมณพราหมณ์เหล่านั้นพึงหวังข้อนี้ได้ คือ จักเว้นกุศลธรรม ๓ ประการนี้ ได้แก่ (๑) กายสุจริต (๒) วจีสุจริต (๓) มโนสุจริต จักสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ ได้แก่ (๑) กายทุจริต (๒) วจีทุจริต (๓) มโนทุจริต แล้วประพฤติอยู่

ข้อนั้นเพราะเหตุไร

                   เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่เห็นโทษความตํ่าทราม ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรมไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรม

                   อนึ่ง เหตุมีอยู่ แต่เขากลับเห็นว่า 'เหตุไม่มี' ความเห็นนั้นของเขาจึงเป็นมิจฉาทิฏฐิ เหตุมีอยู่ แต่เขาดำริว่า 'เหตุไม่มี' ความดำรินั้นของเขาจึงเป็นมิจฉาสังกัปปะ เหตุมีอยู่ แต่เขากล่าวว่า 'เหตุไม่มี' วาจานั้นของเขาจึงเป็นมิจฉาวาจา 'เหตุมีอยู่' เขากล่าวว่า 'เหตุไม่มี' ผู้นี้ย่อมทำตนให้เป็นข้าศึกกับพระอรหันต์ผู้เป็นเหตุกวาทะ เหตุมีอยู่ เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่า 'เหตุไม่มี' การที่เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจเช่นนั้นเป็นการทำให้เข้าใจผิดจากความเป็นจริง และเขายังจะยกตนข่มผู้อื่นด้วย การทำให้เข้าใจผิดจากความเป็นจริงนั้น โดยนัยนี้ เริ่มต้นเขาก็ละทิ้งความเป็นผู้ศีลดีงามแล้วตั้งตนเป็นคนทุศีล เพราะมิจฉาทิฎฐิเป็นปัจจัย บาปอกุศลธรรมเป็นอเนกเหล่านี้คือ มิจฉาทิฎฐิ  มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา ความเป็นข้าศึกกับพระอริยะ การทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดจากความเป็นจริง การยกตน การข่มผู้อื่น ย่อมเกิดขึ้น ด้วยประการอย่างนี้

                   พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น วิญญชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า 'ถ้าเหตุไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษบุคคลนี้ หลังจากตายแล้ว จักทำตนให้มีความสวัสดีได้ ถ้าเหตุมีอยู่จริง เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษบุคคลนี้ หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก' ถ้ายอมรับว่าเหตุไม่มีจริง คำของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ย่อมถูกวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบันว่า  'เป็นบุรุษบุคคลผู้ทุศีลเป็นมิจฉาทิฎฐิ เป็นอเหตุกวาทะ' ถ้าเหตุมีอยู่จริง บุรุษบุคคลนี้จะได้รับโทษในโลกทั้ง ๒ คือ (๑) ในปัจจุบันถูกวิญญูชนติเตียนได้  (๒) หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
อย่างนี้

                  อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์ไม่ดี แพร่ดิ่งไปฝ่ายเดียว (ยึดถือวาทะของตนเองฝ่ายเดียว) ย่อมละเหตุที่เป็นกุศล ด้วยประการอย่างนี้

 

คุณแห่งการปฏิบัติชอบ

                   พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้นสมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า 'ความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายจึงเศร้าหมอง ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายจึงบริสุทธิ์ มีกำลัง มีความเพียร มีความสามารถของมนุษย์ มีความพยายามของมนุษย์ สัตว์ ปาณะ ภูตะ ชีวะทั้งปวงล้วนไม่มีอำนาจไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ผันแปรไปตามโชคชะตา ตามสถานภาพทางสังคม และตามลักษณะเฉพาะของตน ย่อมไม่ได้เสวยสุขและทุกข์ในอภิชาติทั้ง ๖  ' สมณพราหมณ์เหล่านั้นพึงหวังข้อนี้ได้ คือ จักเว้นอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ ได้แก่ (๑) กายทุจริต (๒) วจีทุจริต (๓) มโนทุจริต จักสมาทานกุศลธรรม ๓ ประการนี้ ได้แก่ (๑) กายสุจริต (๒) วจีสุจริต (๓) มโนสุจริต แล้วประพฤติอยู่

ข้อนั้น เพราะเหตุไร

                   เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น เห็นโทษ ความตํ่าทราม ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรม เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรมอนึ่ง เหตุมีอยู่ เขาเห็นว่า เหตุมีอยู่จริง' ความเห็นนั้นของเขาจึงเป็นสัมมาทิฏฐิเหตุมีอยู่จริง เขาดำริว่า 'เหตุมีอยู่จริง' ความดำรินั้นของเขาจึงเป็นสัมมาสังกัปปะเหตุมีอยู่จริง เขากล่าวว่า 'เหตุมีอยู่จริง' วาจานั้นของเขาจึงเป็น สัมมาวาจา เหตุมีอยู่จริง เขากล่าวว่า 'เหตุมีอยู่จริง'ผ้นี้ชื่อว่าไม่ทำตนให้เป็นข้าศึกกับพระอรหันต์ ผู้เป็นเหตุกวาทะ เหตุมีอยู่จริง เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่า 'เหตุมีอยู่จริง' การที่เขาทำให้ผู้อื่น เข้าใจเช่นนั้น เป็นการทำให้เข้าใจถูกคามความเป็นจริง และเขาย่อมไม่ยกตนข่มผู้อื่น ด้วยการทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริงนั้น โดยนัยนี้ เริ่มต้นเขาก็ละทิ้งความเป็นผู้ทุศีลแล้วตั้งตนเป็นคนมีศีลดีงาม เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย กุศลธรรมเป็นอเนกเหล่านี้ คือ สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา ความไม่เป็นข้าศึกกับพระอริยะ การทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริง การไม่ยกตน การไม่ข่มผู้อื่นย่อมเกิดขึ้น ด้วยประการอย่างนี้พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น วิญญชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า 'ถ้าเหตุมีอยู่ เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษบุคคลนี้หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ถ้ายอมรับว่าเหตุไม่มีจริง คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ก็ย่อมได้รับคำสรรเสริญจากวิญญชนในปัจจุบันว่า 'เป็นบุรุษบุคคลผู้มีศีล มีสัมมาทิฎฐิ เป็นเหตุกวาทะ' ถ้าเหตุมีอยู่จริง บุรุษบุคคลนี้ ก็จะได้รับคุณในโลกทั้ง ๒ คือ (๑) ในปัจจุบันวิญญูชนย่อมสรรเสริญ (๒) หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ อย่างนี้

                    อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์ดีแล้วอย่างนี้ แพร่ดิ่งไปทั้งสองฝ่าย (ยึดถือวาทะของตนและผู้อื่น) ย่อมละเหตุที่เป็นอกุศลได้ ด้วยประการอย่างนี้

ความขัดแย้งกันเรื่องอรูปพรหม

                   พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า 'อรูปพรหมไม่มีโดยประการทั้งปวง' สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมีวาทะขัดแย้งโดยตรงกับสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า 'อรูปพรหมมีอยู่โดยประการทั้งปวง' ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สมณพราหมณ์เหล่านี้มีวาทะขัดแย้งกันโดยตรง มิใช่หรือ"

                 "ใช่ พระพุทธเจ้าข้า"

                   "พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์พวกนั้น วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า 'การที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า 'อรูปพรหมไม่มีโดยประการทั้งปวง' เราไม่เห็นด้วย แม้การที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า 'อรูปพรหมมีอยู่โดยประการทั้งปวง'เราก็ไม่รับรู้ด้วย ส่วนเราเอง เมื่อไม่รู้ ไม่เห็น จะพึงถือเอาฝ่ายเดียว กล่าวว่า'นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง' ข้อนั้นไม่เป็นการสมควรแก่เราเลย ถ้าคำของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า 'อรูปพรหมไม่มีโดยประการทั้งปวง' เป็นคำจริงแล้ว เป็นไปได้ที่เราจักเกิดในเหล่าเทพผู้มีรูปสำเร็จด้วยใจ ซึ่งไม่ถือว่าผิด ถ้าคำของสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า 'อรูปพรหมมีอยู่โดยประการทั้งปวง' เป็นคำจริงแล้ว เป็นไปได้ที่เราจักเกิดในเหล่าเทพผู้ไม่มีรูปสำเร็จด้วยสัญญาซึ่งไม่ถือว่าผิดอนึ่ง การถือท่อนไม้ การถือศัสตราการทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การพูดขึ้นเสียงว่า 'เจ้า เจ้า' การพูดส่อเสียดและการพูดเท็จซึ่งมีรูปเป็นเหตุย่อมปรากฎ แต่ข้อนี้ย่อมไม่มีในอรูปพรหมโดยประการทั้งปวง' วิญญูชนนั้นครั้นพิจารณาดังนี้แล้วย่อมปฎิบติเพื่อความเบื่อหน่ายเพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับแห่งรูปอย่างเดียว

 

ความขัดแย้งเรื่องภพ

                  พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า 'ความดับสนิทแห่งภพ9 ไม่มีโดยประการทั้งปวง' สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง มีวาทะขัดแย้งโดยตรงกับสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า 'ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่โดยประการทั้งปวง' ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สมณพราหมณ์เหล่านี้มีวาทะขัดแย้งกันโดยตรง มิใช่หรือ"

                 "ใช่ พระพุทธเจ้าข้า"

                  "พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า 'การที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า 'ความดับสนิทแห่งภพไม่มีโดยประการทั้งปวง' เราไม่เห็นด้วย แม้การที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า 'ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่โดยประการทั้งปวง' เราก็ไม่รับรู้ด้วย ส่วนเราเอง เมื่อไม่รู้ ไม่เห็น จะถือเอาฝ่ายเดียวแล้วกล่าวว่า 'นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง' ข้อนั้นไม่เป็นการสมควรแก่เราเลย ถ้าคำของสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า 'ความดับสนิทแห่งภพไม่มีโดย

                   ประการทั้งปวง' เป็นคำจริงแล้ว เป็นไปได้ที่เราจักเกิดในเหล่าเทพผู้ไม่มีรูปสำเร็จด้วยสัญญาซึ่งไม่ถือว่าผิด อนึ่ง ถ้าคำของสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า 'ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่โดยประการทั้งปวง' เป็นคำจริงแล้ว เป็นไปได้ที่เราจักปรินิพพานในปัจจุบัน ความเห็นของสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า 'ความดับสนิทแห่งภพไม่มีโดยประการทั้งปวง' นี้ใกล้ต่อธรรมที่ยังมีความกำหนัด ใกล้ต่อธรรมที่ยังมีสังโยชน์ ใกล้ต่อธรรมที่ยังมีความเพลิดเพลิน ใกล้ต่อธรรมที่มีความจดจ่อ ใกล้ต่อธรรมที่ยังมีความถือมั่น ส่วนความเห็นของสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า 'ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่โดยประการทั้งปวง' นี้ใกล้ต่อธรรมที่ไม่มีความกำหนัด ใกล้ต่อธรรมที่ไม่มีสังโยชน์ ใกล้ต่อธรรมที่ไม่มีความเพลิดเพลินใกล้ต่อธรรมที่ไม่มีความจดจ่อ ใกล้ต่อธรรมที่ไม่มีความถือมั่น วิญญูชนนั้นครั้นพิจารณาดังนี้แล้วย่อมปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับแห่งภพอย่างเดียว

 

บุคคล ๔ ประเภท

                 พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย บุคคล ๔ ประเภทนี้ มีปรากฎอยู่ในโลก
                บุคคล ๔ ประเภท ไหนบ้าง
                คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑) เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
๒) เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
๓) เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อนและเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
๔) เป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อนบุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อนเย็นใจ มีตนอันประเสริฐ เสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน

                บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน เป็นอย่างไร

                คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นอเจลก (ประพฤติเปลือยกาย) ไม่มีมารยาทเลียมือ ฯลฯ ถือการย่างและอบกายหลายรูปแบบอยู่ ด้วยประการอย่างนี้

                 พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อนหมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน

                 บุคคลเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างไร

                คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ฆ่าแพะ ฆ่าสุกร ฯลฯ หรือบางพวกเป็นผู้ทำการทารุณ พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนหมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

                 บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อนและเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างไร

                คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วก็ดี ฯลฯ เหล่าชนผู้เป็นทาสก็ดี เป็นคนรับใช้ก็ดี เป็นคนงานก็ดี ของพระราชานั้นถูกอาชญาคุกคาม ถูกภัยคุกคาม มีนํ้าตานองหน้า ร้องไห้ไปทำงานไป

                 พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

               บุคคลเป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจมีตนอันประเสริฐ เสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน เป็นอย่างไร

               คือ ตถาคต (ในที่นี้หมายถึงพระผู้มีพระภาค) อุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ

                ภิกษุนั้นครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต เป็นเครื่องทอนกำลังปัญญาแล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุข อันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป บรรลุตติยฌาน ฯลฯ อยู่เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้วบรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่

 

วิชชา ๓

                เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อนเหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้

                เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อนเหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ฯลฯ (ทิพพจักขุ ตาทิพย์หรือเรียกว่าจุตูปปาตญาณ) รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม อย่างนี้แล

               เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน10   ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อนเหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า 'นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา' เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า 'หลุดพ้นแล้ว' รู้ชัดว่า 'ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป

                พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อนไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนจึงเป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ มีตนอันประเสริฐ เสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน" ชาวบ้านสาลาแสดงตนเป็นอุบาสก

                 เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาได้กราบทูลว่า "ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า 'คนมีตาดีจักเห็นรูปได้' ข้าพระองค์ทั้งหลายนี้ขอถึงท่านพระโคดมพร้อมทั้ง พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต" ดังนี้แล

 

อปัณณกสูตร จบ

 

จากอปัณณกสูตร มีสาระสำคัญ ดังนี้

 

                   พระองค์ทรงแสดงอปัณณกธรรม ด้วยวิธีการคือ ทรงยกทิฎฐิต่าง ๆ ขึ้นมาอธิบายเปรียบเทียบให้เห็นคุณและโทษอย่างชัดเจนของบุคคลที่ยึดถือตามแต่ละทิฎฐินั้น แล้วยังทรงแนะนำวิธีปฏิบัติที่ถูกและเหมาะสม เช่น กล่าวถึงสมณพราหมณ์ ๒ พวก ผู้มีทิฎฐิขัดแย้งกัน โดยที่

พวกที่ ๑ มีทิฎฐิว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล เป็นต้น ผลที่ยึดถือทิฎฐิประเภทนี้ คือ จักเว้นกุศลธรรม ประพฤติอกุศลธรรม กลายเป็นคนทุศีล ประกอบด้วยมิจฉาทิฎฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา ทำตนเป็นข้าศึกกับพระอรหันต์

                ในเรื่องนี้ วิญญูชนผู้มีปัญญา ควรจะพิจารณาให้เห็นชัดว่า
- ถ้าโลกหน้าไม่มี บุคคลนี้ตายไปแล้วจักทำตนให้สวัสดี (ปลอดภัย) ได้
- ถ้าโลกหน้ามี เขาก็จักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
- ถ้าโลกหน้าไม่มีจริง คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะจริงหรือเท็จก็ช่างเถิด เขาก็จะถูกตำหนิ ติเตียนในปัจจุบันแน่นอน
- ถ้าโลกหน้ามีจริง เขาจะได้รับโทษใน ๒ สถาน คือ
๑) ในปัจจุบัน วิญญูชน ตำหนิติเตียนไต้
๒) ตายไปแล้วจะไปเกิดในนรก

พวกที่ ๒ มีทิฎฐิว่า ทานที่ให้แล้วมีผล เป็นต้น ผลที่ยึดถือทิฎฐิประเภทนี้ คือ จักเว้นอกุศลธรรม ประพฤติธรรมกุศลธรรม ละทิ้งความเป็นผู้ทุศีล ประกอบด้วยสัมมาทิฎฐิ  สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา ไม่ทำตนเป็นข้าศึกกับพระอรหันต์

                ในเรื่องนี้ วิญญูชนผู้มีปัญญา ควรจะพิจารณาให้เห็นชัดว่า
- ถ้าโลกหน้ามี บุคคลนี้ตายไปแล้วจักเกิดในสุคติโลกสวรรค์
- ถ้าโลกหน้าไม่มีจริง  คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะจริงหรือเท็จก็ช่างเถิดเขาจะได้รับการสรรเสริญในปัจจุบันแน่นอน
- ถ้าโลกหน้ามีจริง เขาจะได้รับคุณใน ๒ สถาน คือ
๑) ในปัจจุบันวิญญูชนสรรเสริญ
๒) หลังจากตายไปแล้ว จักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
นี้เป็น (อปัณณกธรรม ข้อที่ ๑)

               ทรงสอนให้พิจารณาทิฏฐิของสมณพราหมณ์อีก ๘ จำพวก ๔ คู่ คือ
               พวกที่มีทิฎฐิว่า เมื่อบุคคลทำเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเองหรือใช้ให้ผู้อื่นเผาผลาญ ทำสัตว์ให้เศร้าโศกเองหรือใช้ผู้อื่นให้ทำสัตว์ให้เศร้าโศก .... ก็ไม่จัดว่าทำบาป กับพวกที่มีทิฎฐิตรงกันข้าม (อปัณณกธรรมข้อที่ ๒)

               พวกที่มีทิฏฐิว่า ความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย กับพวกที่ทิฎฐิตรงกันข้าม (อปัณณกธรรมข้อที่ ๓)

               พวกที่มีทิฎฐิว่า อรูปพรหมไม่มี กับพวกที่มีทิฎฐิตรงกันข้าม (อปัณณกธรรมข้อที่ ๔)

               พวกที่มีทิฎฐิว่า ความดับสนิทแห่งภพไม่มี กับพวกที่มีทิฎฐิตรงกันข้าม (อปัณณกธรรมข้อที่ ๕)

จากนั้นทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑ ทำตนให้เดือดร้อน ๒ ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ๓
ทำทั้งตนทั้งผู้อื่นให้เดือดร้อน ๔ ไม่ทำทั้งตนทั้งผู้อื่นให้เดือดร้อน

              ทิฎฐิต่างๆในพระสูตรนี้มี ๕ คู่ ๑๐ประการ คือ
๑) นัตถิกทิฎฐิ กับ อัตถิกทิฎฐิ
๒) อกิริยทิฎฐิ กับ กิริยทิฎฐิ
๓) อเหตุกทิฎฐิ กับ เหตุกทิฎฐิ
๔) ทิฎฐิว่า อรูปพรหมไม่มี กับ ทิฎฐิว่า อรูปพรหมมี
๕) ทิฎฐิว่า ความดับสนิทแห่งภพไม่มี กับ ทิฎฐิว่า ความดับสนิทแห่งภพมี

               พระอรรถกถาจารย์ จัดบุคคลผู้นับถือทิฎฐิเหล่านี้กับบุคคล ๔ ประเภทเข้าด้วยกันดังนี้

                ผู้นับถือนัตถิกทิฎฐิ อกิริยทิฎฐิ อเหตุกทิฎฐิ ทิฎฐิว่า อรูปพรหมไม่มี และทิฎฐิว่า ความดับสนิทแห่งภพไม่มี จัดเป็นบุคคลประเภทที่ ๑ - ๓

                ผู้นับถืออัตถิกทิฎฐิ กิริยทิฎฐิ เหตุกทิฏฐิ ทิฎฐิว่า อรูปพรหมมี และทิฎฐิว่า ความดับสนิทแห่งภพมี จัดเป็นบุคคลประเภทที่ ๔

               พระสูตรนี้ จึงใช้เป็นหลักในการพิจารณาทิฎฐิหรือลัทธิต่าง ๆ อย่างละเอียดชัดเจนทุกแง่ทุกมุม ทั้งฝ่ายดีฝ่ายเสีย ผู้ปฎิบัติตามย่อมได้ชื่อว่าปฎิบัติไม่ผิด และสามารถละอกุศลได้อย่างแน่นอน จึงเป็นหลักการสำคัญที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

               ดังในความเห็นของพราหมณ์ ๒ จำพวก สามารถสรุปหลักการปฏิบัตสำหรับคนที่ไม่มีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม คนไม่มีศาสนาได้ว่า แม้บุคคลผู้ไม่มีความเชื่อยึดเหนี่ยวจิตใจแต่อย่างน้อยก็ควรมีหลักพิจารณาในการดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง โดยยึดหลักการปฎิบัติที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ดังกล่าวว่า ถึงแม้จะมีความเชื่อหรือไม่มีความเชื่อเรื่องโลกนี้โลกหน้า หรือเรื่อง กฎแห่งกรรมก็ตาม หากปฎิบัติได้ถูกต้อง อย่างน้อยการดำเนินชีวิตในโลกนี้ก็จะมีความสุข และไม่ต้องทุกข์กับการที่ถูกคนอื่นวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิหรือนินทาจากการกระทำไม่ดี
ของตน หรือหากโลกนี้โลกหน้ามี กฎแห่งกรรมมีจริง การดำเนินชีวิตหลังจากตายไปแล้วก็ปลอดภัย ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานในอบายภูมิ เพราะฉะนั้นการเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมมีแต่ผลดีอย่างเดียว อีกทั้งยังจะทำให้การดำเนินชีวิตของเรามีเข็มทิศชีวิตที่ถูกต้อง

               สิ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นว่า การไม่เชื่อในกฎแห่งกรรม ย่อมจะได้รับผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้นแม้ไม่มีความเชื่อทางศาสนา หรือไม่มีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม อย่างน้อยก็ควรจะมีหลักในการพิจารณาเพื่อการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามหลักที่พระสัมมาสัมทุทธเจ้าได้ทรงแนะนำไว้ ก็จะทำให้การดำเนินชีวิตในปัจจุบันได้อย่างมีความสุขหรือยิ่งถ้าหากตายไปแล้วมีโลกหน้าจริงก็จะได้ปลอดภัยคือ จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็ให้ทำความดีเพื่อความอุ่นใจไว้ก่อน


เชิงอรรถอ้างอิง
1 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์; มจร เล่ม ๑๓ หน้า ๙๕
2 อปัณณกธรรม หมายถึงธรรมที่ไม่ผิด ไม่เป็นสองแง่ เป็นเอกภาพ
3โอปปาติกะ ในที่นี้หมายถึงสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ(ตาย) ก็หายวับไปไม่ทิ้งซากศพไว้เช่น เทวดาและสัตว์นรกเป็นต้น
4 ชื่อว่า อบาย เพราะปราศจากความงอกงาม กล่าวคือความเจริญหรือความสุข ชื่อว่า ทุคติ เพราะเป็นคติ คือเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ ชื่อว่า วินิบาต เพราะเป็นสถานที่ตกไปของหมู่สัตว์ที่ทำความชั่ว ชื่อว่า นรก เพราะปราศจากความยินดี เหตุเป็นที่ไม่มีความสบายใจ
5 แพร่ดิ่งไปฝ่ายเดียว หมายถึงยึดถือวาทะของตนฝ่ายเดียว
6 แพร่ดิ่งไปทั้งสองฝ่าย หมายถึงยึดถือวาทะทั้งของตนและของผู้อื่น
7 สัตว์หมายถึงสัตว์ทุกจำพวก เช่น อูฐ โค ลา ปาณะ หมายถึงสัตว์ที่มี ๑ อินทรีย์ ๒ อินทรีย์เป็นส์น
   ภูตะ หมายถึงสัตว์ทุกจำพวกทั้งที่เกิดจากฟองไข่และเกิดในครรภ์มารดา ชีวะ หมายถึงพวกพืชทุกชนิด
8 อภิชาติทั้ง ๖ ได้แก่
   ๑. กัณหาภิชาติ (ผู้มีชาติดำ) หมายถึงผู้ทำงานน่ากลัว เช่น เป็นโจร เป็นเพชฌฆาต
   ๒. นีลาภิชาติ (ผู้มีชาติเขียว) หมายถึงภิกษุผู้เป็นนักบวชพวกหนึ่ง ผู้เลือกกินแต่เนื้อปลา
   ๓. โลหิตาภิชาติ (ผู้มีชาติแดง) หมายถึงนิครนถ์ผู้ถือผ้าผืนเดียวเป็นวัตร
   ๔. หลิททาภิชาติ (ผู้มีชาติเหลือง) หมายถึงคฤหัสถ์ผู้เป็นสาวกของชีเปลือย ผู้ประเสริฐกว่าพวกนิครนถ์
   ๕. สุกกาภิชาติ (ผู้มีชาติขาว) หมายถึงเจ้าลัทธิชื่อ นันทะ วัจฉะ สังกิจจะ ดีกว่า ๔ จำพวกข้างต้น
   ๖. ปรมสุกกาภิชาติ (ผู้มีชาติขาวที่สุด) หมายถึงพวกอาชีวกผู้มีลัทธิดีกว่า ๕ จำพวกข้างต้น
9 ความดับสนิทแห่งภพ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน
10 กิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) หมายถึงกิเลสเพียงดังเนิน คือ ราคะ โทสะ โมหะ มลทินหรือเปีอกตม ในที่บางแห่ง หมายถึง
พื้นที่เป็นเนินตามที่พูดกันว่าเนินโพธิ์ เนินเจดีย์ เป็นต้น แต่ในที่นี้ ท่านพระสารีบุตรประสงค์เอากิเลสอย่างเผ็ดร้อน
นานัปการว่า กิเลสเพียงดังเนิน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.010120852788289 Mins