สีวกสูตร  ว่าด้วยสีวกปริพาชก

วันที่ 24 กย. พ.ศ.2563

24-9-63-2-b.jpg

สีวกสูตร  ว่าด้วยสีวกปริพาชก

                       เรื่องที่น่ารู้อีกประการหนึ่งเกี่ยวกับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องกฎแห่งกรรม คือ มักเข้าใจว่า คนเราเกิดมาเพื่อชดใช้กรรม หรือเกิดมาประสบสุขบ้าง ประสบทุกข์บ้าง ทั้งหมดล้วน เพราะเกิดจากวิบากกรรมเก่าทั้งสิ้น เพราะเข้าใจเองว่า ทุกอย่างที่พบในชีวิตประจำวันนั้นถูกลิขิตไว้แล้ว จนทำให้ไม่ขวนขวายในการทำความดี ละเว้นความชั่ว กลับคิดอยากจะใช้กรรมเก่าให้หมด แต่ไม่ทราบว่า ปัจจุบันหากตัวเองทำสิ่งไม่ดี ก็จะกลายเป็นกรรมใหม่ คอยตามส่งผลกรรมอีกเรื่อยไป ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วใน "สีวกสูตร" มีรายละเอียด ดังนี้

 

สีวกสูตร1
ว่าด้วยสีวกปริพาชก

 

                   สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์  ครั้งนั้น ปริพาชกชื่อโมฬิยสีวกะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

                    "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า 'บุรุษบุคคลนี้เสวยสุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง สุข ทุกข์ หรือ อทุกขมสุขทั้งหมดนั้นมีเหตุที่ได้ทำไว้ในปางก่อน' ก็ในข้อนี้พระโคดมผู้เจริญตรัสไว้อย่างไร"

                      พระผู้พระภาคตรัสตอบว่า "สีวกะ เวทนาบางอย่างมีดีเป็นสมุฏฐานเกิดขึ้นในกายนี้ก็มีการที่เวทนาบางอย่างซึ่งมีดีเป็นสมุฎฐานเกิดขึ้นในกายนี้ บุคคลพึงรู้ได้เองนี้ก็มี การที่เวทนาบางอย่างซึ่งมีดีเป็นสมุฎฐานเกิดขึ้นในกายนี้ ชาวโลกสมมติว่าเป็นความจริงก็มี ในข้อนั้นสมณพราหมณ์เหล่าใดมีวาทะอย่างนี้ มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า 'บุรุษบุคคลนี้เสวยสุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขทั้งหมดนั้นมีเหตุที่ได้ทำไว้ในปางก่อน' ย่อมแล่นไปหาสิ่งที่ตนเองรู้ และแล่นไปหาสิ่งที่ชาวโลกสมมติว่าเป็นความจริง เพราะฉะนั้นเราจึงกล่าวว่า 'เป็นความผิดของสมณพราหมณ์เหล่านั้น'... มีเสลดเป็นสมุฏฐาน ฯลฯ มีลมเป็นสมุฏฐาน ฯลฯ มีดี เสลดและลมรวมกันเป็นสมุฏฐาน ฯลฯ เกิดจากการเปลี่ยนฤดู ฯลฯ เกิดจากการบริหารกายไม่สม่ำเสมอ ฯลฯ เกิดจากการถูกทำร้าย ฯลฯ เวทนาบางอย่างเกิดจากผลกรรมเกิดขึ้นในกายนี้ก็มีการที่เวทนาบางอย่างซึ่งเกิดจากผลกรรมเกิดขึ้นในกายนี้ บุคคลพึงรู้ได้เองก็มี การที่เวทนาบางอย่างซึ่งเกิดจากผลกรรมเกิดขึ้นในกายนี้ชาวโลกสมมติว่าเป็นความจริงก็มี ในข้อนั้นสมณพราหมณ์เหล่าใดมีวาทะอย่างนี้มีทิฎฐิอย่างนี้ว่า 'บุรุษบุคคลนี้เสวยสุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุข อย่างใดอย่างหนึ่งสุข ทุกข์

                     หรืออทุกขมสุขทั้งหมดนั้น มีเหตุที่ได้ทำไว้ในปางก่อน' ย่อมแล่นไปหาสิ่งที่ตนเองรู้ และแล่นไปหาสิ่งที่ชาวโลกสมมติว่าเป็นความจริง เพราะฉะนั้นเราจึงกล่าวว่า 'เป็นความผิดของสมณพราหมณ์เหล่านั้น"

                     เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปริพาชกชื่อโมฬิยสีวกะ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า "ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต"

                   ดี ๑ เสลด ๑ ลม ๑ ดี เสลด และลม รวมกัน ๑ ฤดู ๑ การบริหารกายไม่สม่ำเสมอ ๑ การถูกทำร้าย ๑ รวมกับผลกรรมอีก ๑ เป็น ๘

 

สีวกสูตร จบ


                  จากพระสูตรนี้ จะเห็นได้ว่าเวทนาบางอย่างที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา ที่ให้ผลเป็นความทุกข์บ้าง สุขบ้าง และไม่สุขไม่ทุกข์บ้างเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติของธรรมชาติโลกและชีวิตมิได้เป็นเรื่องของวิบากกรรมเก่าแต่ประการเดียวตามที่เข้าใจกัน เพราะฉะนั้นสามารถสรุปได้ว่าเวทนาที่เกิดขึ้นกับตัวของเราเกิดได้ทั้งเหตุปัจจุบันก็มี เกิดจากวิบากกรรมในอดีตก็มี ตัวอย่างเช่น

๑) ความแปรปรวนของธาตุในร่างกาย เป็นปกติที่ทุกชีวิตด้องประสบกับความเจ็บ ความแก่ ความตายเป็นธรรมดา
๒) ความแปรปรวนของฤดู เป็นธรรมที่เมื่อถึงฤดูร้อนร่างกายของเราก็จะร้อนไปตามอุณหฎมิของโลกด้วย เมื่อถึงฤดูหนาวก็จะหนาวเช่นเดียวกัน เป็นต้น
๓) อิริยาบถไม่สม่ำเสมอ คือร่างกายได้รับความปวดเมื่อย อาจเกิดจากการนั่งนาน เป็นต้น
๔) การกระทำของบุคคลอื่นและตนเอง เช่น เราไม่ทานข้าวก็หิว เป็นต้น
๕) วิบากกรรมของตัวเอง ที่ได้กระทำไว้ในอดีต

 

บทสรุป
                 จากการศึกษาพระสูตรว่าด้วยเรื่องกฎแห่งกรรม จะทำให้เราทราบว่ากฎแห่งกรรมเป็นเรื่องของเหตุและผล บุคคลผู้ประกอบกรรมดีย่อมได้ผลดี ผู้ประกอบกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่วอย่างแน่นอน ไม่มีใครหลุดพ้นวิบากกรรมที่ตนได้กระทำไว้ได้ ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลสต้องเวียน
ว่ายตายเกิดอยู่ในวัฎฎสงสารอย่างไม่มีกำหนด ไม่ว่าจะเวียนว่ายตายเกิดเป็นอะไรก็ตาม เกิดเป็นมนุษย์บ้าง สัตว์ดิรัจฉานบ้าง อยากให้รับรู้ว่ายังมีวิบากกรรมทั้งดีและชั่ว อีกเป็นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนรอเข้าคิวส่งผล บางคนประสบความทุกข์จากเรื่องราวในชีวิตจึงฆ่าตัวตายเพื่อหนีทุกข์แต่หารู้ไม่ว่ายังจะต้องเจอทุกข์ต่ออีก เหมือนหนีเสือปะจระเข้

                เมื่อคิดได้อย่างนี้ เราเองก็จะมีความบากบั่นมั่นคง อดทนในการพากเพียรสั่งสมกรรมดี  กล้าที่จะเผชิญชีวิตอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยวไม่ท้อถอย ขยาดต่อความชั่ว ไม่ตีโพยตีพายเมื่อผิดหวัง สามารถมองเห็นแง่ดีได้แม้ยามผิดหวัง ไม่หลงระเริงในเมื่อประสบผลดี ทำให้ไม่ประมาทในชีวิต หายงมงายต่อการขึ้นลงของชีวิต และยังให้คำตอบในเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน ความแตกต่างกันของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ทำให้ไม่น้อยใจในชะตาของชีวิต โดยการปฎิบัติตามหลักที่คุณครูไม่ใหญ่ได้หลักในการดำเนินชีวิตเพื่อเป็นการไม่สร้างวิบากกรรมใหม่ ดังนี้

๑) ความผิดพลาดในอดีตให้ลืมให้หมด อย่านึกถึงอีกเพราะจะทำให้วิบากกรรมที่เป็นบาปอกุศลได้ช่องส่งผลทำให้เกิดความทุกข์กายทุกข์ใจ
๒) ความชั่วทั้งปวง บาปอกุศลใหม่ไม่ทำอีกเด็ดขาด
๓) ทำความดีแล้วให้ตามระลึกนึกถึงบุญบ่อย ๆ เพราะบุญกุศลเกิด ๓ วาระ คือ ก่อนทำ ขณะทำและหลังจากทำไปแล้ว นึกถึงบุญวิบากกรรมฝ่ายกุศลได้ช่องส่งผลให้มีแต่ความสุขกายสบายใจ
๔) ทำความดีเป็นประจำ ทุกวัน ทุกสัปดาห์ การทำความดีบ่อย ๆ ทั้งการทำทาน รักษาศีล และภาวนา ย่อมเกิดบุญกุศล เพราะบุญมาพร้อมกับความสุขเป็นเบื้องหลังของความสำเร็จทุกประการ ทั้งในชีวิตความเป็นอยู่ การเล่าเรียนศึกษาการประกอบธุระกิจการทำงานต้องอาศัยบุญ วิธีทางเดียวที่จะหลุดพ้นจากวิบากกรรมคือ บุญ ทำบุญให้มาก ๆ
๕) หมั่นนั่งสมาธิสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อกลั่นจิตของตนให้ผ่องใส จิตที่ผ่องใสย่อมมีกำลังใจทำความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

               เมื่อสามารถปฎิบัติตามหลักได้อย่างนี้ จะสามารถดำเนินชีวิตของตัวเองได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัย จนสามารถบรรลุธรรม เดินตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูได้


เชิงอรรถ
1 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค; มจร. เล่ม ๑๘ หน้า ๓๐๑
2 คำว่า สีวกะ เป็นชื่อตัว ส่วน โมฬิยะ เป็นชื่อเล่น เพราะชอบไว้ผมจุก

 

จบบทที่3

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.062496916453044 Mins