มหากัมมวิภังคสูตร ว่าด้วยการจำแนกกรรม สูตรใหญ่

วันที่ 17 สค. พ.ศ.2563

ความซับซ้อนของการให้ผลกรรม

                เรื่องชีวิตและกรรม มีความสลับซับซ้อนมากดังพรรณนามา คนที่มองชีวิตและกรรมไม่ตลอดสาย จึงไม่อาจเข้าใจชีวิตและกรรมอย่างแจ่มแจ้งโดยตลอดได้ แม้ผู้สมณพราหมณ์ผู้มีตาทิพย์  สามารถมองเห็นเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมได้ระดับหนึ่ง ก็ยังเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องการให้ผลของกรรมได้เช่นกัน เพราะเห็นผู้ประกอบกรรมชั่วในปัจจุบันบางคนตายแล้วไปบังเกิดในสวรรค์ เห็นผู้ทำกรรมดีบางคนตายแล้วไปเกิดในนรก สมณพราหมณ์ผู้ไม่มีญาณที่ไกลกว่านั้นจึงไม่อาจเห็นกรรมและชีวิตตลอดสายได้

                  ส่วนผู้ที่มีญาณทั้งในอดีตและอนาคตไม่มีที่สิ้นสุดเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถเห็นชีวิตและกรรมได้ตลอดสาย ทรงสามารถตรัสจำแนกผลของกรรมที่ละเอียดได้อย่างถูกต้อง ดังใน "มหากัมมวิภังคสูตร" มีรายละเอียด ดังนี้


มหากัมมวิภังคสูตร
ว่าด้วยการจำแนกกรรม สูตรใหญ่

                ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

                สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสมิทธิอยู่ในกระท่อมป่า ครั้งนั้นปริพาชกชื่อโปตสิบุตรเที่ยวเดินเล่นอยู่  เข้าไปหาท่านพระสมิทธิถึงที่อยู่ แล้วได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรได้กล่าวกับท่านพระสมิทธิว่า


               "ท่านพระสมิทธิ ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระสมณโคดมว่า 'กายกรรมไม่จริง วจีกรรมไม่จริง มโนกรรมเท่านั้นจริง' และว่า 'สมาบัติที่บุคคลเข้าแล้วไม่เสวยเวทนาอะไรๆ นั้นก็มีอยู่'

                 ท่านพระสมิทธิกล่าวว่า "ท่านโปตลิบุตร ท่านอย่ากล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่ พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสไว้อย่างนี้ว่า 'กายกรรมไม่จริง วจีกรรมไม่จริง มโนกรรมเท่านั้นจริง' และว่า 'สมาบัติที่บุคคลเข้าแล้วไม่เสวยเวทนาอะไรๆนั้นก็มีอยู่'

                 "ท่านพระสมิทธิ ท่านบวชมานานเท่าไรแล้ว"

                 "ท่านผู้มีอายุ อาตมภาพบวชได้ไม่นาน เพียง ๓ พรรษา"

                  "บัดนี้ ในเมื่อภิกษุใหม่ยังคิดปกป้องพระศาสดาถึงเพียงนี้ เราทั้งหลายจะพูดอะไรกับภิกษุผู้เป็นพระเถระได้เล่า ท่านพระสมิทธิ บุคคลทำกรรมที่ประกอบด้วยความจงใจทางกาย ทางวาจา และทางใจแล้ว จะเสวยผลอะไร"

                 "ท่านโปตลิบุตร บุคคลทำกรรมที่ประกอบด้วยความจงใจทางกาย ทางวาจาและทางใจแล้ว จะเสวยทุกข์"

                  ลำดับนั้น ปริพาชกชื่อโปตลิบุตรไม่ยินดีไม่คัดด้านภาษิตของท่านพระสมิทธิลุกจากที่นั่งแล้วจากไป

                  ครั้งนั้นแล เมื่อปริพาชกชื่อโปตลิบุตรจากไปไม่นาน ท่านพระสมิทธิเข้าไปหาท่าน พระอานนท์ถึงที่อยู่ แล้วได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร เล่าเรื่องที่ตนได้สนทนาปราศรัยกับปริพาชก ชื่อโปตลิบุตรทั้งหมดแก่ท่านพระอานนท์เถระ

                 เมื่อท่านพระสมิทธิเล่าเรื่องอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าวกับท่านพระสมิทธิว่า "ท่านสมิทธิ เรื่องนี้มีมูลเหตุพอที่จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้ มาเถิดเราทั้งสอง พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ พึงกราบทูลเนื้อความนี้แด่พระองค์ พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงตอบอย่างใด เราทั้งหลายควรทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้น" ท่านพระสมิทธิรับคำแล้ว

                   ครั้งนั้น ท่านพระสมิทธิและท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องที่ท่านพระสมิทธิได้สนทนาปราศัยกับปริพาชกชื่อโปตลิบุตรทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาค

                   เมื่อพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า "อานนท์ เราไม่รู้แม้ความเห็นของปริพาชกชื่อโปตลิบุตรเลย จะรู้การสนทนาปราศัยกันเห็นปานนี้ได้อย่างไร โมฆบุรุษผู้มีนามว่าสมิทธินี้ได้ตอบปัญหาที่ควรจำแนกตอบแก่ปริพาชกชื่อโปตลิบุตรโดยเเง่เดียว''

                  เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ก็ถ้าท่านพระสมิทธิกล่าวหมายเอาทุกข์นี้แล้ว อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่สัตว์เสวยแล้ว อารมณ์นั้นต้องจัดเข้าในทุกข์หรือ พระพุทธเจ้าข้า"

                   เมื่อท่านพระอุทายีกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า "อานนท์ เธอจงเห็นความนอกลู่นอกทางของอุทายีผู้เป็นโมฆบุรุษนี้เถิด เราได้รู้บัดนี้เอง โมฆบุรุษ อุทายีนี้เมื่อจะพูด ก็พูดโพล่งออกมาโดยไม่แยบคาย เบื้องต้นทีเดียวปริพาชกชื่อโปตลิบุตรถามถึงเวทนา ๓ ถ้าโมฆบุรุษสมิทธิผู้ถูกถามอย่างนี้จะพึงตอบอย่างนี้ว่า 'ท่านโปตลิบุตร บุคคลทำกรรมที่ประกอบด้วยความจงใจทางกาย ทางวาจา และทางใจอันให้ผลเป็นสุข  1ย่อมเสวยสุข บุคคลทำกรรมที่ประกอบด้วยความจงใจทางกาย ทางวาจา และทางใจอันให้ผลเป็นทุกข์  2ย่อมเสวยทุกข์ บุคคลทำกรรมที่ประกอบด้วยความจงใจทางกาย ทางวาจา และทางใจอันให้ผลเป็นอทุกขมสุข  3ย่อมเสวยผลเป็นอทุกขมสุข


                   อานนท์ โมฆบุรุษสมิทธิเมื่อตอบอย่างนี้ ชื่อว่าตอบโดยชอบแก่ปริพาชกชื่อโปตลิบุตร แต่ว่าอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น เป็นคนโง่ ไม่ฉลาด จะเข้าใจมหากัมมวิภังค์ของตถาคตได้อย่างไรเล่า ถ้าตถาคตจำแนกมหากัมมวิภังค์อยู่ เธอทั้งหลายควรฟัง"

                  ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาลสมควรข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลสมควร ที่พระผู้มีพระภาคจะทรงจำแนกมหาภัมมวิภังค์ ภิกษุทั้งหลายได้สดับจากพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้"

                    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว"

                    ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรื่องนี้ว่า "อานนท์ บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฎอยู่ในโลก

บุคคล ๔ จำ พวก ไหนบ้าง คือ

๑) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา เป็นผู้มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฎฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วเขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

๒) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา เป็นผู้มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฎฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วเขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

๓) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฎฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วเขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

๔) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้ไม่เพ็งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฎฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วเขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

 

อานนท์
๑) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรยิ่งความพยายาม ความไม่ประมาท ความใส่ใจโดยชอบ ย่อมบรรลุเจโตสมาธิโดยประการที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมเห็นบุคคลโน้น ผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฎฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า กรรมชั่วมี วิบากของทุจริตมี ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้มักฆ่าสัตว์ สักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฎฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก' แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่าบุคคลใดมักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฎฐิ บุคคลนั้นทั้งหมดหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรกชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้นอกเหนือไป ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ผิด'

                สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักใจลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เองเห็นเอง ทราบเอง ตาม
แรงจูงใจ ตามความปักใจในเรื่องนั้นดังนี้ว่า 'นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง'

๒) ส่วนสมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรยิ่ง ความพยายาม ความไม่ประมาทความใส่ใจโดยชอบ ย่อมบรรลุเจโตสมาธิโดยประการที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมเห็นบุคคลโน้น ผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฎฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึง กล่าวอย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า กรรมชั่วไม่มี วิบากของทุจริตไม่มี ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฎฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์' แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า บุคคลใดมักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯเป็นมิจฉาทิฎฐิ บุคคลนั้นทั้งหมดหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้นอกเหนือไป ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ผิด'

                สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักใจลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง ตามแรงจูงใจ ตามความปักใจในเรื่องนั้นดังนี้ว่า 'นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง'

๓) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรยิ่ง ความพยายาม ความไม่ประมาท ความใส่ใจโดยชอบ ย่อมบรรลุเจโตสมาธิโดยประการที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วย่อมเห็นบุคคลโน้น ผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฎฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า กรรมดีมีจริง วิบากของสุจริตมีจริง ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฎฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์' แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า บุคคลใดเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฎฐิบุคคลนั้น ทั้งหมดหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้นอกเหนือไปชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ผิด'

                สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักใจลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเองทราบเอง ตามแรงจูงใจ ตามความปักใจในเรื่องนั้นดังนี้ว่า 'นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง'

๔) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรยิ่ง ความพยายาม ความไม่ประมาท ความใส่ใจโดยชอบ ย่อมบรรลุเจโตสมาธิโดยประการที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วย่อมเห็นบุคคลโน้น ผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฎฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญได้ยินว่า กรรมดีไม่มี วิบากของสุจริตไม่มี ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฎฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในอบายทุคติ วินิบาต นรก' แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่าบุคคลใดเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฎฐิ บุคคลนั้นทั้งหมดหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้นอกเหนือไป ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ผิด'

                สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักใจลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เองเห็นเอง ทราบเอง ตาม
แรงจูงใจ ตามความปักใจในเรื่องนั้นดังนี้ว่านี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง'

 

อานนท์
๑) บรรดาสมณะหรือพราหมณ์ ๔ จำพวกนั้น เราคล้อยตามวาทะของสมณะหรือพราหมณ์ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่ากรรมชั่วมี วิบากของทุจริตมี' เราคล้อยตามแม้วาทะของเขาผู้กล่าวอย่างนี้ว่า 'ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฎฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในอบายทุคติ วินิบาต นรก' แต่เราไม่คล้อยตามวาทะของเขาผู้กล่าวอย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า บุคคลใดเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฎฐิ บุคคลนั้นทั้งหมดหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก' เราไม่คล้อยตามแม้วาทะของเขาผู้กล่าวอย่างนี้ว่า 'ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบชนเหล่าใดรู้ นอกเหนือไป ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ผิด' เราไม่คล้อยตามแม้วาทะของเขาที่พูดปักใจลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเองตามแรงจูงใจ ตามความปักใจในเรื่องนั้นว่า 'นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง'

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะตถาคตมีความรู้ในมหากัมมวิภังค์เป็นอย่างอื่น

 

๒) บรรดาสมณะหรือพราหมณ์ ๔ จำพวกนั้น เราไม่คล้อยตามวาทะของสมณะหรือพราหมณ์ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่ากรรมชั่วไม่มี วิบากของทุจริตไม่มี' เราคล้อยตามวาทะของเขาผู้กล่าวอย่างนี้ว่า 'ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้มักฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฎฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์' แต่เราไม่คล้อยตามวาทะของเขาผู้กล่าวอย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า บุคคลใดมักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฎฐิบุคคลนั้นทั้งหมดหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสรรค์' เราไม่คล้อยตามแม้วาทะของเขาผู้กล่าวอย่างนี้ว่า 'ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้นอกเหนือไป ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ผิด' เราไม่คล้อยตามแม้วาทะของเขาที่พูดปักใจลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเองทราบเอง ตามแรงจูงใจตามความปักใจในเรื่องนั้นว่า 'นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง'

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะตถาคตมีความรู้ในมหาภัมมวิภังค์เป็นอย่างอื่น

 

๓) บรรดาสมณะหรือพราหมณ์นั้น ๔ จำพวกนั้น เราคล้อยตามวาทะของสมณะหรือพราหมณ์ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่ากรรมดีมี วิบากของสุจริตมี' เราคล้อยตามวาทะของเขาผู้กล่าวอย่างนี้ว่า 'ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฎฐิในโลกนี้  หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์'  และเราก็คล้อยตามวาทะของเขา ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า บุคคลใดเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฎฐิ บุคคลนั้นทั้งหมดหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์' แต่เราไม่คล้อยตามแม้วาทะของเขาผู้กล่าวอย่างนี้ว่า 'ชนเหล่าใดเอย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้นอกเหนือไป ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ผิด' เราไม่คล้อยตามแม้วาทะของเขาที่พูดปักใจลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง ตามแรงจูงใจตามความปักใจในเรื่องนั้นว่า 'นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง'

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะตถาคตมีความรู้ในมหากัมมวิภังค์เป็นอย่างอื่น

 

๔) บรรดาสมณะหรือพราหมณ์ทั้ง ๔ จำพวกนั้น เราไม่คล้อยตามวาทะของสมณะหรือพราหมณ์ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า กรรมดีไม่มี วิบากของสุจริตไม่มี' เราคล้อยตามวาทะของเขาผู้กล่าวอย่างนี้ว่า 'ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฎฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก' แต่เรา ไม่คล้อยตามวาทะของเขาผู้กล่าวอย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่าบุคคลใดเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฎฐิ บุคคลนั้นทั้งหมดหลังจากตาย แล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก' เราไม่คล้อยตามแม้วาทะของเขาผู้กล่าวอย่างนี้ว่า 'ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ว่า  ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้นอกเหนือไป ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ผิด' เราไม่คล้อยตาม แม้วาทะของเขาที่พูดปักใจลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง ตามแรงจูงใจ ตามความปักใจในเรื่องนั้นว่า 'นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง'

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะตถาคตมีความรู้ในมหากัมมวิภังค์เป็นอย่างอื่น

 

อานนท์

๑) บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดเป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฎฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในอบายทุคติ วินิบาต นรก บุคคลนั้นหลังจากตายแล้วไปเกิดในอบายทุคติ วินิบาต นรก เพราะบาปกรรมที่เขาทำไว้ในชาติก่อนให้ผลเป็นทุกข์ บาปกรรมที่เขาทำไว้ในภายหลังให้ผลเป็นทุกข์ หรือในเวลาจะตาย เขามีมิจฉาทิฎฐิที่ให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้ แต่การที่บุคคลเป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฎฐิในโลกนี้เขาย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมนั้นในชาตินี้บ้าง ในชาติหน้าบ้าง ในชาติต่อ ๆ ไปบ้าง

๒) บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดเป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฎฐิ ในโลกนี้ หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ บุคคลนั้นหลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์เพราะกรรมดีที่เขาทำไว้ในชาติก่อนให้ผลเป็นสุข กรรมดีที่เขาทำไว้ในภายหลังให้ผลเป็นสุข หรือในเวลาจะตาย เขามีสัมมาทิฎฐิที่ให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้ แต่การที่บุคคลเป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฎฐิในโลกนี้ เขาย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมนั้นในชาตินี้บ้าง ในชาติหน้าบ้าง ในชาติต่อ ๆ ไปบ้าง

(๓) บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฎฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ บุคคลนั้นหลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมดีที่เขาทำไว้ในชาติก่อนให้ผลเป็นสุข กรรมดีที่เขาทำไว้ในภายหลังให้ผลเป็นสุข หรือในเวลาจะตาย เขามีสัมมาทิฎฐิที่ให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้ แต่การที่บุคคลเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฎฐิในโลกนี้ เขาเสวยวิบากแห่งกรรมนั้นในชาตินี้บ้าง ในชาติหน้าบ้าง ในชาติต่อ ๆ ไปบ้าง

๔) บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฎฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก บุคคลนั้นหลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะบาปกรรมที่เขาทำไว้ในชาติก่อนให้ผลเป็นทุกข์ บาปกรรมที่เขาทำไว้ในภายหลังให้ผลเป็นทุกข์ หรือในเวลาจะตาย มีมิจฉาทิฎฐิที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้แต่การที่บุคคลเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฎฐิในโลกนี้ เขาย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมนั้นในชาตินี้บ้าง ในชาติหน้าบ้าง ในชาติต่อ ๆ ไปบ้าง

                อานนท์ กรรมที่ไม่ควร ส่องให้เห็นว่าไม่ควรก็มีอยู่ กรรมที่ไม่ควร ส่องให้เห็นว่าควรก็มีอยู่ กรรมที่ควร ส่องให้เห็นว่าควรก็มีอยู่ และกรรมที่ควร ส่องให้เห็นว่าไม่ควรก็มีอยู่ ดังพรรณนามาฉะนี้"

                พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหากัมมวิภังคสูตร จบ

 

                 จาก "มหากัมมวิภังคสูตร" พอจะสรุปสาระสำคัญที่สัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสจำแนกการ
ให้ผลของกรรมโดยละเอียดแก่พระอานนท์คือ

๑) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะการตอบปัญหาของพระสมิทธที่ไม่ครอบคลุม (ตอบเพียงด้าน
เดียว)
ดังนี้
- ถ้าบุคคลจงใจทำกรรมทางกาย วาจา ใจ ที่ให้ผลเป็นสุข ย่อมเสวยสุข
- ถ้าบุคคลจงใจทำกรรมทางกาย วาจา ใจ ที่ให้ผลเป็นทุกข์ ย่อมเสวยทุกข์
- ถ้าบุคคลจงใจทำกรรมทางกาย วาจา ใจ ที่ให้ผลไม่สุขไม่ทุกข์ ย่อมเสวยอทุกขมสุข

๒) ทรงยกบุคคล ๔ จำพวกที่มีปรากฏในโลก ขึ้นแสดงว่า
- จำพวกที่ ๑ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
- จำพวกที่ ๒ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์เป็นต้น ตายแล้วไปเกิดในสุคติ โลกสวรรค์
- จำพวกที่ ๓ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... เป็นต้น ตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
- จำพวกที่ ๔ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ...เป็นต้น ตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

๓) ทรงตรัสถึง การเห็นของสมณะ ๔ ประเภท ที่เห็นจริงแล้วสอนคนอื่นในสิ่งที่ตนเองมีความรู้
ไปถึง แต่ความรู้นั้นยังไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดความเข้าใจผิดพลาด เพราะการเห็นกรรม วิบากกรรมไม่ตลอดสาย

๔) ทรงตรัสถึง ปัจจัยการไปอบาย-สวรรค์ ภายหลังความตาย

ไปอบาย 

ไปสวรรค์

๑.กรรมชั่วที่ให้ผลเป็นทุกข์ในกาลก่อน

๑.กรรมดีที่ให้ผลเป็นสุขในกาลก่อน

๒.กรรมชั่วที่ให้ผลเป็นทุกข์ในกาลภายหลัง(ชาติปัจจุบัน)

๒.กรรมดีที่ให้ผลเป็นสุขในกาลภายหลัง(ชาติปัจจุบัน)

๓.มิจฉาทิฎฐิเวลาใกล้ตาย (ใจหมอง) 

๓.สัมมาทิฎฐิเวลาใกล้ตาย (ใจใส)

 

สรุปเนื้อหา มหากัมมวิภังคสูตร
- กรรมไม่ควร ส่องให้เห็นว่า ไม่ควรก็มี - ทำ ชั่ว ไปอบาย (จำพวกที่ ๑)
- กรรมไม่ควร ส่องให้เห็นว่า ควรก็มี - ทำชั่ว ไปสวรรค์ (จำพวกที่ ๒)
- กรรมที่ควรแท้ ส่องให้เห็นว่า ควรก็มี - ทำ ดี ไปสวรรค์ (จำพวกที่ ๓)
- กรรมที่ควร ส่องให้เห็นว่า ไม่ควรก็มี - ทำ ดี ไปอบาย (จำพวกที่ ๔)

                  จากพระสูตรนี้แสดงให้เห็นว่า คนทำชั่วจะต้องไปอบายเสมอ หรือคนทำดีจะต้องไปสวรรค์เสมอนั้น ยังไม่แน่ เพราะยังมีกรรมเก่าในกาลก่อน และจิตก่อนตายมาเป็นตัวแปรในการส่งผลด้วย ขึ้นอยู่กับว่ากรรมชนิดใดส่งผลก่อน จึงทำให้เกิดความซับซ้อนให้การทำความเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม 

                 ฉะนั้นคนที่ทำกรรมดีอยู่แล้วได้รับผลชั่ว ก็ไม่ควรจะท้อใจ ขอให้ทำดีเรื่อยไปไม่นานนักกรรมชั่วในอดีตก็จะหมดกำลังไปเอง และในทำนองเดียวกัน คนที่กำลังทำกรรมชั่วอยู่แต่ได้รับผลดี ก็ไม่ควรจะประมาท เพราะในขณะนั้นกรรมดีในอดีตกำลังให้ผลอยู่ พอผลกรรมดีในอดีตหมดลง ผลกรรมชั่วในปัจจุบันก็จะให้ผล ยังให้บุคคลนั้นได้ประสบแต่ความทุกข์ ฉะนั้นเราจึงควรปฎิบตตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือให้ละชั่ว ทำดี และทำจิตให้ผ่องใส


เชิงอรรถอ้างอิง
1 ให้ผลเป็นสุข หมายความว่ากรรมอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนา คือกรรมชื่อว่าให้ผลเป็น สุข เพราะเกิดสุขเวทนาในปฏิสนธิ
กาลและปวัตตกาลอย่างนี้คือ เจตนา ๔ ดวงที่ประกอบด้วยโสมนัสสหคตจิตฝ่ายกามาวจรกุศล และเจตนาในฌาน ๓ ข้างต้น
(ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน)

2 ให้ผลเป็นทุกข์ หมายความว่า อกุศลเจตนาชื่อว่าให้ผลเป็นทุกข์เพราะทำให้ทุกข์เท่านั้นเกิดในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล
นั้นเอง

3 ให้ผลเป็นอทุกขมสุข หมายความว่า กรรมชื่อว่าให้ผลเป็นอทุกขมสุข เพราะเกิดเวทนาที่ ๓ (อุเบกขา-เวทนา) ในปฏิสนธิ-
กาลและปวัตตกาลอย่างนี้คือ เจตนา ๔ ดวงที่ประกอบด้วยอุเบกขาสหคตจิตฝ่ายกามาวจรกุศลและเจตนาในฌานที่ ๔ ฝ่าย
รูปาวจรกุศล

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.047465801239014 Mins