พระเถระที่เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก(การรวบรวมหมวดหมู่)
พระอานนท์เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร ?
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา และได้ตรัสรู้แล้วแสดงธรรมโปรดเจ้าลัทธิกับทั้งพระราชาและมหาชนในแว่นแคว้นต่าง ๆ ในปลายปีแรกที่ตรัสรู้นั้นเอง พระพุทธบิดาก็ทรงส่งทูตไปเชิญเสด็จพระศาสดาให้ไปแสดงธรรมโปรด ณ กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงกรุงกบิลพัสดุ์แสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติแล้ว พระประยูรญาติต่างพากันเลื่อมใสให้โอรสของตนออกบวชในสำนักของพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก
พระอานนท์เป็นโอรสของเจ้าชายอมิโตนทนศากยะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา เมื่อนับโดยเชื้อสายจึงนับเป็นพระอนุชาหรือลูกผู้น้องของพระพุทธเจ้า ท่านออกบวชพร้อมกับราชกุมารอื่น ๆ อีก คือ ๑ อนุรุทธะ ๒ ภัคคุ ๓ กิมพิละ ๔ ภัททิยะ รวมเป็น ๕ท่านในฝ่ายศากยวงศ์ เมื่อรวมกับเทวทัตซึ่งเป็นราชกุมารในโกลิยวงศ์ ๑ กับ อุบาลี ซึ่งเป็นพนักงานภูษามาลา มีหน้าที่เป็นช่างกลบกอีก ๑ จึงรวมเป็น ๗ ท่านด้วยกัน ใน ๗ ท่านนี้เมื่อออกบวชแล้วก็มีชื่อเสียงมากอยู่ ๔ ท่าน คือ พระอานนท์ เป็นพุทธอุปัฏฐาก ทรงจำพระพุทธวจนะได้มาก พระอนุรุทธะชำนาญในทิพยจักษุ พระอุบาลีทรงจำและชำนิชำนาญในทางพระวินัย กับพระเทวทัตมีชื่อเสียงในทางก่อเรื่องยุ่งยากในสังฆมณฑล จะขอปกครองคณะสงฆ์แทน
พระพุทธเจ้า
กล่าวเฉพาะพระอานนท์ เป็นผู้ที่สงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก คือ ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะรับหน้าที่นี้ ท่านได้ทูลขอพรหรือนัยหนึ่งเงื่อนไข ประการจากพระพุทธเจ้า เป็นเงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธ ๔ ข้อ เงื่อนไขฝ่ายขอร้อง ๔ ข้อ คือ
เงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธ
๑) ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ประทานจีวรอันประณีตที่ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
๒) ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ประทานบิณฑบาต (คืออาหาร) อันประณีตที่ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
๓) ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่โปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์
๔) ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์
เงื่อนไขฝ่ายขอร้อง
๑) ถ้าพระองค์จักเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ที่ข้าพระองค์รับไว้
๒) ถ้าข้าพระองค์จักนำบริษัทซึ่งมาเฝ้าพระองค์แต่ที่ไกล ให้เข้าเฝ้าได้ในขณะที่มาแล้ว
๓) ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น
๔) ถ้าพระองค์ทรงแสดงข้อความอันใดในที่ลับหลังข้าพระองค์ ครั้นเสด็จมาแล้วจักตรัสบอกข้อความอันนั้นแก่ข้าพระองค์
พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ที่ขอเงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธนั้นเพื่ออะไร
พระอานนท์กราบทูลว่าเพื่อป้องกันผู้กล่าวหาว่า ท่านอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าเพราะเห็นแก่ลาภสักการะ ส่วนเงื่อนไขฝ่ายขอร้อง ๔ ข้อนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถาม ท่านก็กราบทูลว่า ๓ ข้อต้น เพื่อป้องกันผู้กล่าวหาว่าพระอานนท์จะอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าทำไมในเมื่อพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุเคราะห์แม้ด้วยเรื่องเพียงเท่านี้ ส่วนเงื่อนไขข้อสุดท้ายก็เพื่อว่าถ้ามีใครถามท่านในที่ลับหลังพระพุทธเจ้าว่า คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในที่ไหน ถ้าพระอานนท์ตอบไม่ได้ ก็จะมีผู้กล่าวว่าพระอานนท์ตามเสด็จพระศาสดาไปดุจเงาตามตัว แม้เรื่องเพียงเท่านี้ก็ไม่รู้ เมื่อพระอานนท์กราบทูลชี้แจงดังนั้นแล้ว พระศาสดาก็ทรงตกลงประทานพรหรือเงื่อนไขทั้ง ๘ ข้อ
เฉพาะพรข้อที่ ๘ เป็นอุปการะแก่การที่จะรวบรวมพระพุทธวจนะเป็นหมวดหมู่อย่างยิ่ง เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระอานนท์ได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม (พระอุบาลี วินัย) เพื่อจัดระเบียบคำสอนให้เป็นหมวดหมู่ในคราวสังคายนาครั้งที่ ๑ ซึ่งกระทำภายหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน
ในสมัยที่วิชาหนังสือยังไม่เจริญพอที่จะใช้บันทึกเรื่องราวได้ดั่งในปัจจุบัน อันเป็นสมัยที่ไม่มีการจด มนุษย์ก็ต้องอาศัยความจำเป็นเครื่องมือสำคัญในการบันทึกเรื่องราวนั้น ๆ ไว้ แล้วบอกเล่าต่อ ๆ กันมา การทรงจำและบอกกันด้วยปากต่อ ๆ กันมานี้ เรียกในภาษาบาลีว่า "มุขปาฐะ"
พระอานนท์เป็นผู้ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่ามีความทรงจำดี สดับตรับฟังมาก นับว่าท่านได้มีส่วนสำคัญในการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ สืบมาจนทุกวันนี้
พระอุบาลีเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร ?
เรื่องของพระอุบาลี ผู้เคยเป็นพนักงานภูษามาลาในราชสำนักแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ท่านออกบวชพร้อมกับพระอานนท์และราชกุมารอื่น ๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้น และในฐานะที่ท่านเป็นคนรับใช้มาเดิมก็ควรจะเป็นผู้บวชคนสุดท้าย แต่เจ้าชายเหล่านั้นตกลงกันว่าควรให้อุบาลีบวชก่อน ตนจะได้กราบไหว้อุบาลีตามพรรษาอายุ เป็นการแก้ทิฏฐิมานะตั้งแต่เริ่มแรกในการออกบวช แต่ท่านก็มีความสามารถสมกับเกียรติที่ได้รับจากราชกุมารเหล่านั้น คือ
เมื่อบวชแล้วท่านมีความสนใจกำหนดจดจำทางพระวินัยเป็นพิเศษ มีเรื่องเล่าในพระวินัยปิฎก ว่า
พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องวินัยแก่ภิกษุทั้งหลายแล้วทรงสรรเสริญวินัย กับสรรเสริญท่านพระอุบาลีเป็นอันมาก ภิกษุทั้งหลายจึงพากันไปเรียนวินัยจากพระอุบาลี นอกจากนั้น ในวินัยปิฎกมีพระพุทธภาษิตโต้ตอบกับพระอุบาลีในข้อปัญหาทางพระวินัยมากมาย เป็นการเฉลยข้อถามของพระเถระ เรียกชื่อหมวดนี้ว่า “อุปาลิปัญจกะ”
อุปาลิปัญจกะ มีหัวข้อสำคัญถึง ๑๔ เรื่อง ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ พระอุบาลีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับวินัยปิฎก จึงนับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการช่วยรวบรวมข้อพระวินัยต่าง ๆ ทั้งของภิกษุและภิกษุณีให้เป็นหมวดหมู่หลักฐานมาจนทุกวันนี้
พระโสณกุฏิกัณณะเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร ?
ความจริงท่านผู้นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระไตรปิฎก แต่ประวัติของท่านมีส่วนเป็นหลักฐานในการท่องจำพระไตรปิฎก อันช่วยให้เกิดความเข้าใจดีในเรื่องความเป็นมาเเห่งพระไตรปิฎก จึงได้นำเรื่องของท่านมากล่าวไว้ในที่นี้
ด้วยเรื่องของท่านผู้นี้ปรากฏในพระสุตตันตปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๑๐๐ อุทาน มีใจความว่า เดิมท่านเป็นอุบาสก เป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดของพระมหากัจจายนเถระ พำนักอยู่ใกล้ภูเขาอันทอดเชื่อมเข้าไปในนคร ชื่อ
กุรุรฆระในแคว้นอวันตี ท่านเลื่อมใสในพระมหากัจจายนเถระ และเลื่อมใสที่จะบรรพชาอุปสมบท พระเถระกล่าวว่าเป็นการยากที่จะประพฤติพรหมจรรย์ ท่านจึงแนะนำให้เป็นคฤหัสถ์ ประพฤติตนแบบอนาคาริกะคือผู้ไม่ครองเรือนไปก่อน แต่อุบาสกโสณกุฏิกัณณะรบเร้าบ่อย ๆ ท่านจึงบรรพชาให้ ต่อมาอีก ๓ ปี จึงรวบรวมพระได้ครบ ๑๐ รูป จัดการอุปสมบทให้ หมายความว่า พระโสณะต้องบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุ
ต่อมาท่านลาพระมหากัจจายนเถระเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ เชตวนาราม กรุงสาวัตถี เมื่อไปถึงและพระพุทธเจ้าตรัสถาม ทราบความว่าเดินทางไกลมาจากอวันที่ทักขิณาบถ คืออินเดียภาคใต้ จึงตรัสสั่งพระอานนท์ให้จัดที่พักให้ พระอานนท์พิจารณาว่าพระองค์ปรารถนาจะสอบถามอะไรกับภิกษุรูปนี้เป็นแน่แท้จึงจัดที่พักให้ในวิหารเดียวกันกับพระพุทธเจ้า
ในคืนวันนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่กลางแจ้งจนดึก จึงเสด็จเข้าสู่วิหาร แม้พระโสณกุฏิกัณณะที่นั่งอยู่กลางแจ้งจนดึกจึงเข้าสู่วิหาร ครั้นเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าจึงตรัสเชิญให้พระโสณะกล่าวธรรม ซึ่งท่านได้กล่าวสูตรถึง ๑๖ สูตร อันปรากฏในอัฏฐกวัคค์ (สุตตนิบาตพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๕) จนจบ เมื่อจบแล้วพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาสรรเสริญความทรงจำ และท่วงทำนองในการกล่าว ว่าไพเราะสละสลวย แล้วตรัสถามเรื่องส่วนตัวอย่างอื่นอีก เช่นว่ามีพรรษาเท่าไร ออกบวชด้วยมีเหตุผลอย่างไร
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก ว่าได้มีการท่องจำกันตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ใครสามารถหรือพอใจจะท่องจำส่วนไหน ก็ท่องจำส่วนนั้น ถึงกับมีครูอาจารย์กันเป็นสาย ๆ เช่น สายวินัยดังจะกล่าวต่อไป
พระมหากัสสปะเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร ?
พระมหากัสสปะ เป็นผู้บวชเมื่อสูงอายุ ท่านพยายามปฏิบัติตนในทางเคร่งครัด แม้จะลำบากบ้างก็แสดงความพอใจว่าจะได้เป็นตัวอย่างแก่ภิกษุรุ่นหลัง พระศาสดาทรงสรรเสริญท่านว่าเป็นตัวอย่างในการเข้าสู่สกุล ชักกายและใจห่าง ประพฤติตนเป็นคนใหม่ ไม่คะนองกายวาจาใจในตระกูล นอกจากนั้นยังทรงสรรเสริญในเรื่องความสามารถในการเข้าฌานสมาบัติ
ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ แม้ไม่ใคร่สั่งสอนใครมาก แต่ก็สั่งสอนคนในทางปฏิบัติ คือทำตัวเป็นแบบอย่าง เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ท่านได้เป็นหัวหน้าชักชวนพระสงฆ์ให้ทำสังคายนา คือร้อยกรองหรือจัดระเบียบพระธรรมวินัย นับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้เกิดพระไตรปิฎก อนึ่งในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ซึ่งท่านชักชวนให้ทำขึ้นนั้น ท่านเองเป็นผู้ถามทั้งพระวินัยและพระธรรม พระอุบาลีเป็นผู้ตอบเกี่ยวกับพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้ตอบเกี่ยวกับพระธรรม ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในตอนที่ว่าด้วยสังคายนา
ได้กล่าวไว้แล้วว่า ในการปรารภนามของพระเถระ ๔ รูป ประกอบความรู้เรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก คือ พระอานนท์ พระอุบาลี พระโสณกุฏิกัณณะ และพระมหากัสสปะนั้น ทำให้มีความเกี่ยวโยงไปถึงพระพุทธเจ้า พระสารีบุตร และพระจุนทะ (น้องชายพระสารีบุตร) ดังนี้
พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย
สมัยเมื่อนิครนถนาฏบุตร ผู้เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิสำคัญคนหนึ่งสิ้นชีพ สาวกเกิดแตกกันพระจุนทเถระผู้เป็นน้องชายพระสารีบุตร เกรงเหตุการณ์เช่นนั้นจะเกิดแก่พระพุทธศาสนาจึงเข้าไปหาพระอานนท์เล่าความให้ฟัง พระอานนท์จึงชวนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อกราบทูลแล้ว
พระองค์ได้ตรัสตอบด้วยข้อความเป็นอันมาก แต่มีอยู่ข้อหนึ่งที่สำคัญยิ่ง (ปาสาทิกสูตร พระ
สุตตันตปิฎก เล่ม ๑๑) พระผู้มีพระภาคตรัสบอกพระจุนทะ แนะให้รวบรวมธรรมภาษิตของพระองค์ และทำสังคายนา คือจัดระเบียบทั้งโดยอรรถและพยัญชนะเพื่อให้พรหมจรรย์ตั้งมั่นยังยืนสืบไป
พระพุทธภาษิตที่แนะนำให้รวบรวมพุทธวจนะร้อยกรองจัดระเบียบหมวดหมู่นี้ ถือได้ว่าเป็นเริ่มต้นแห่งการแนะนำเพื่อให้เกิดพระไตรปิฎกดั่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
พระสารีบุตรแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย
ในสมัยเดียวกันนั้น จากการปรารภเรื่องเดียวกัน คือเรื่องสาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกกัน ภายหลังที่อาจารย์สิ้นชีวิต ค่ำวันหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมจบแล้ว เห็นว่าภิกษุทั้งหลายยังใคร่จะฟังต่อไปอีก จึงมอบหมายให้พระสารีบุตรแสดงธรรมแทน ซึ่งท่านได้แนะนำให้รวบรวมร้อยกรองพระธรรมวินัย โดยแสดงตัวอย่างการจัดหมวดหมู่ธรรมะเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๐ ว่ามีธรรมอะไรบ้างอยู่ในหมวด ๑ หมวด ๒ หมวด ๓ จนถึงหมวด ๑๐ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงรับรองว่าข้อคิดและธรรมะที่แสดงนี้ถูกต้อง (สังคีติสูต พระสุตตันตปิฎกเล่ม ๑๑)
หลักฐานในพระไตรปิฎกตอนนี้มิได้แสดงว่าพระสารีบุตรเสนอขึ้นก่อน หรือพระพุทธเจ้าตรัสแก่พระจุนทะก่อน แต่รวมความแล้วก็ต้องถือว่าทั้งพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตร ได้เห็นความสำคัญของการรวบรวมพระพุทธวจนะร้อยกรองให้เป็นหมวดเป็นหมู่มาแล้ว ตั้งแต่ยังไม่ได้ทำสังคายนาครั้งที่ ๑
พระจุนทเถระผู้ปรารถนาดี
เมื่อกล่าวถึงเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก และกล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงแนะให้ทำสังคายนาก็ดี ถ้าไม่กล่าวถึงพระจุนทเถระ ก็ดูเหมือนจะมองไม่เห็นความริเริ่ม เอาใจใส่ และความปรารถนาดีของท่าน ในเมื่อรู้เห็นเหตุการณ์ที่สาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกกัน เพราะจากข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ท่านได้เข้าพบพระอานนท์ถึง ๒ ครั้ง
ครั้งแรกพระอานนท์ชวนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกัน พระพุทธเจ้าก็ตรัสแนะให้ทำสังคายนาดังกล่าวแล้วข้างต้น ส่วนครั้งหลังเมื่อสาวกนิครนถนาฏบุตรแตกกันมากยิ่งขึ้น ท่านก็เข้าหาพระอานนท์อีก ขอให้กราบทูลพระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์ทำนองนั้น เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมแก่พระอานนท์
โดยแสดงโพธิปักขิยธรรม อันเป็นหลักของพระพุทธศาสนา แล้วทรงแสดงมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท ๖ ประการ อธิกรณ์ ๔ ประการ วิธีระงับอธิกรณ์ ๗ ประการ กับประการสุดท้ายได้ทรงแสดงหลักธรรมสำหรับอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ๖ ประการที่เรียกว่าสาราณียธรรม อันเป็นไปในทางสงเคราะห์อนุเคราะห์และมีเมตตาต่อกัน มีความประพฤติและความเห็นในทางที่ดีงามร่วมกัน เรื่องนี้ปรากฏในสามคามสูตรพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔ ซึ่งควรบันทึกไว้ในที่นี้ เพื่อบูชาคุณ คือความปรารถนาดีของพระจุนท
เถระ ผู้แสดงความห่วงใยในความตั้งมั่นยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา
การสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดพระไตรปิฎก
แม้ในตอนต้น จะได้ระบุนามของพระเถระหลายท่าน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกแต่พระไตรปิฎกก็เกิดขึ้นภายหลังที่ท่านพระเถระทั้งหลายได้ร่วมกันร้อยกรองจัดระเบียบพระพุทธวจนะแล้ว ในสมัยของพระพุทธเจ้าเองยังไม่มีการจัดระเบียบหมวดหมู่ ยังไม่มีการจัดเป็นวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธัมมปิฎก
นอกจากมีตัวอย่างการจัดระเบียบวินัยในการสวดปาฏิโมกข์ลำดับสิกขาบททุกกึ่งเดือน ตามพระพุทธบัญญัติและการจัดระเบียบธรรมะในสังคีติสูตร และทสุตตรสูตรที่พระสารีบุตรเสนอไว้ กับตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงวิธีจัดระเบียบพระธรรมแก่พระจุนทเถระและพระอานนท์ในปาสาทิกสูตร และสามคามสูตร ดังได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น
พระพุทธเจ้าประทานพระพุทธโอวาทไว้มากหลายต่างกาลเวลา ต่างสถานที่กัน การที่พระสาวกซึ่งท่องจำกันไว้ได้ และจัดระเบียบหมวดหมู่เป็นปิฎกต่าง ๆ ในเมื่อพระศาสดานิพพานแล้ว พอเทียบได้ดังนี้
พระพุทธเจ้าเท่ากับทรงเป็นเจ้าของสวนผลไม้ เช่น ส้มหรือองุ่น พระเถระผู้จัดระเบียบหมวดหมู่คำสอน เท่ากับผู้ที่จัดผลไม้เหล่านั้นห่อกระดาษบรรจุลังไม้ เป็นประเภท ๆ บางอย่างก็ใช้ผงไม้กันกระเทือนใส่แทนห่อกระดาษ ปัญหาเรื่องของภาชนะที่ใส่ผลไม้เช่นลัง หรือห่อก็เกิดขึ้น คือในชั้นแรกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น รวมเรียกว่า พระธรรมวินัย เช่นในสมัยเมื่อใกล้จะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลายเมื่อเราล่วงลับไป
จึงเป็นอันกำหนดลงเป็นหลักฐานได้อย่างหนึ่งว่า ในสมัยของพระพุทธเจ้ายังไม่มีคำว่า พระไตรปิฎก มีแต่คำว่า “ธรรมวินัย” คำว่า “พระไตรปิฎก” หรือ ติปิฎก ในภาษาบาลีนั้น มาเกิดขึ้นภายหลังที่ทำสังคายนาแล้ว แต่จะภายหลังสังคายนาครั้งที่เท่าไรจะได้กล่าวต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้คำว่า พระไตรปิฎก จะเกิดขึ้นในสมัยหลังพุทธปรินิพพาน ก็ไม่ทำให้สิ่งที่บรรจุอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นคลายความสำคัญลงเลย เพราะคำว่าพระไตรปิฎกเป็นเพียงภาชนะกระจาดหรือลังสำหรับใส่ผลไม้ ส่วนตัวผลไม้หรือนัยหนึ่งพุทธวจนะก็มีมาแล้วในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพระศาสนา
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือเรียนพระไตรปิฎกศึกษา ชั้นตรี