ความเป็นมาพระไตรปิฎก

วันที่ 18 กพ. พ.ศ.2563


ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎกคืออะไร?

             ศาสนาทุกศาสนา ย่อมมีคัมภีร์หรือตำราทางศาสนาเป็นหลักในการสั่งสอน แม้เดิมจะมิได้ขีดเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อมนุษย์รู้จักใช้ตัวหนังสือ ก็ได้มีการเขียน การจารึกคำสอนในศาสนานั้น ๆ ไว้ เมื่อโลกเจริญขึ้นถึงกับมีการพิมพ์หนังสือเป็นเล่ม ๆ ได้ คัมภีร์ศาสนาเหล่านั้นก็มีผู้พิมพ์เป็นเล่มขึ้นโดยลำดับ

            พระไตรปิฎก หรือที่เรียกในภาษาบาลีว่า “ติปิฎก” หรือ “เตปิฎก” นั้น เป็นคัมภีร์หรือตำราทางพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับไตรเวทเป็นคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ ไบเบิลของศาสนาคริสต์ อัลกุรอานของศาสนาอิสลาม

 

           กล่าวโดยรูปศัพท์ คำว่า พระไตรปิฎก แปลว่า ๓ คัมภีร์ เมื่อแยกเป็นคำ ๆ ว่า พระ+ไตร+ปิฎก คำว่า พระ เป็นคำแสดงความเคารพหรือยกย่อง คำว่า ไตร แปลว่า ๓ คำว่าปิฎก แปลได้ ๒ อย่าง คือแปลว่าคัมภีร์หรือตำราอย่างหนึ่ง แปลว่า กระจาดหรือตะกร้าอย่างหนึ่ง ที่แปลว่า กระจาดหรือตะกร้า หมายความว่าเป็นที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่  ไม่ให้กระจัดกระจาย คล้ายกระจาดหรือตะกร้าอันเป็นภาชนะใส่ของฉะนั้น


พระไตรปิฎกแบ่งออกเป็นอะไรบ้าง?


            เมื่อทราบแล้วว่า คำว่า พระไตรปิฎก แปลว่า ๓ คัมภีร์ หรือ ๓ ปิฏก จึงควรทราบต่อไปว่า ๓ ปิฎกนั้นมีอะไรบ้าง และแต่ละปิฎกนั้นมีความหมายหรือใจความอย่างไร

ปิฎก ๓ นั้นแบ่งออกดังนี้

๑) วินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี
๒) สุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่ว ๆ ไป
๓) อภิธัมมปิฎก ว่าด้วยสภาวธรรม(ปรมัตถธรรม)ล้วน ๆ หรือธรรมะที่สำคัญ

            ในที่นี้จะยังไม่กล่าวถึงรายการละเอียดว่า วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธัมมปิฎก แบ่งส่วนออกไปเป็นอะไรอีก เพราะต้องการให้ท่านผู้อ่านได้ทราบข้อความอื่น ๆ เกี่ยวกับพระไตรปิฎก เช่น ประวัติความเป็นมา เป็นต้น แล้วจึงจะกล่าวถึงส่วนต่าง ๆ ของแต่ละปิฎกในภายหลัง


ความเป็นมาของพระไตรปิฎก


            การกล่าวถึงความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก จำเป็นต้องกล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ยังมิได้จดจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งหลักฐานเรื่องการท่องจำ และข้อความที่กระจัดกระจายยังมิได้จัดเป็นหมวดหมู่ จนถึงมีการสังคายนา คือจัดระเบียบหมวดหมู่ การจารึกเป็นตัวหนังสือและการพิมพ์เป็นเล่ม


           ในเบื้องแรกเห็นควรกล่าวถึงพระสาวก ๔ รูป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมา แห่งพระไตรปิฎก คือ

๑) พระอานนท์ ผู้เป็นพระอนุชา (ลูกผู้พี่ผู้น้อง) และเป็นผู้อุปัฏฐากรับใช้ใกล้ชิดของพระพุทธเจ้าในฐานะที่ทรงจำพระพุทธวจนะไว้ได้มาก


๒) พระอุบาลี ผู้เชี่ยวชาญทางวินัย ในฐานะที่ทรงจำวินัยปิฎก


๓) พระโสณกุฏิกัณณะ ผู้เคยท่องจำบางส่วนแห่งพระสุตตันตปิฎก และกล่าวข้อความนั้นปากเปล่า ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ได้รับสรรเสริญว่าทรงจำได้ดีมาก ทั้งสำเนียงที่กล่าวข้อความออกมาก็ชัดเจนแจ่มใส เป็นตัวอย่างแห่งการท่องจำ ในสมัยที่ยังไม่มีการจารึกพระไตรปิฎกเป็นตัวหนังสือ


๔) พระมหากัสสปะ ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มให้มีการสังคายนา จัดระเบียบพระพุทธวจนะให้เป็นหมวดหมู่ ในข้อนี้ย่อมเกี่ยวโยงไปถึงพระพุทธเจ้า พระสารีบุตร และพระจุนทะ น้องชายพระสารีบุตร ซึ่งเคยเสนอให้เห็นความสำคัญของการทำสังคายนา คือจัดระเบียบคำสอนให้เป็นหมวดหมู่ดังจะกล่าวต่อไป

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือเรียนพระไตรปิฎกศึกษา ชั้นตรี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017251491546631 Mins