ลักษณะการจัดหมวดหมู่ของแต่ละปิฎก

วันที่ 26 กพ. พ.ศ.2563

ลักษณะการจัดหมวดหมู่ของแต่ละปิฎก


          ได้กล่าวแล้วว่าพระไตรปิฎกนั้น แบ่งออกเป็นวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธัมมปิฎก โดยลำดับ

พระโบราณจารย์ฝ่ายไทยได้ใช้วิธีย่อหัวข้อสำคัญในแต่ละปิฎก เพื่อจำง่ายเป็นอักษรย่อ ในการใช้อักษรย่อนั้น วินัยปิฎกมี ๕ คำ สุตตันตปิฎก ๕ คำ อภิธัมมปิฎก ๓ คำ ดังต่อไปนี้


วินัยปิฎก


             อักษรย่อในปิฎกอื่น ๆ ไม่มีปัญหา คงมีปัญหาเฉพาะวินัยปิฎก คือ อา, ปา, ม, จุ, ป


อา = อาทิกัมม์ (การกระทำที่เป็นต้นบัญญัติ) หมายเฉพาะรายการพระวินัย ตั้งแต่อาบัติปาราชิกลง
มาถึงสังฆาทิเสส,

ปา = ปาจิตตีย์ เป็นชื่อของอาบัติในปาฏิโมกข์ เฉพาะตั้งแต่ถัดสังฆาทิเสสลงมาทั้งสองหัวข้อนี้เป็นการย่ออย่างจับความมากกว่าย่อตามชื่อหมวดหมู่ จึงไม่ตรงกับชื่อที่ใช้เป็นทางการในวินัยปิฎก ส่วนอีก ๓ ข้อท้ายตรงตามชื่อหมวดหมู่ ฉะนั้น ถ้าจะจัดตามชื่อ จึงควรเป็น ดังนี้

๑) มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยศีลของภิกษุที่มาในปาฏิโมกข์ (คำว่า ปาฏิโมกข์ คือศีลที่เป็นใหญ่เป็นสำคัญอันจะต้องสวดทบทวนในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน)


๒) ภิกขุนีวิภังค์ว่าด้วยศีลของนางภิกษุณี


๓) ม = มหาวัคค์ แปลว่า วรรคใหญ่ แบ่งออกเป็นขันธกะ คือหมวดต่าง ๆ ๑๐ หมวด


๔) จุ = จุลลวัคค์ แปลว่า วรรคเล็ก แบ่งออกเป็นขันธกะ คือหมวดต่าง ๆ ๑๒ หมวด


๕) ป = ปริวาร หมายถึงหัวข้อเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ เป็นการย่อหัวข้อสรุปเนื้อความวินิจฉัยปัญหาใน ๔ เรื่องข้างต้น
 

               แต่ตามความเข้าใจของชาวอังกฤษที่ตั้งสมาคมบาลีปกรณ์ขึ้นพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศอังกฤษเขาแบ่งวินัยปิฎกออกเป็น ๓ ส่วน คือ


๑) สุตตวิภังค์ หมายรวมทั้งศีลของภิกษุและภิกษุณี


๒) ขันธกะ หมายรวมทั้งมหาวัคค์และจุลลวัคค์



๓) ปริวาร คือหัวข้อเบ็ดเตล็ด


             ปัญหาเหล่านี้  ไม่ได้ทำให้เกิดการผิดพลาดหรือบกพร่องในวินัยปิฎกแต่ประการใด  ต้นฉบับก็ตรงกัน เป็นแต่การเรียกชื่อหัวข้อ หรือวิธีแบ่งหัวข้อต่างกันออกไปเท่านั้น

 
            ในหนังสืออรรถกถาวินัย (สมันตปาสาทิกาภาค ๑ หน้า ๑๗) พระอรรถกถาจารย์จัดหัวข้อย่อวินัยปิฎกไว้ว่าชื่อว่าวินัยปิฎกคือ “ปาฏิโมกข์ ๒ (ภิกขุปาฏิโมกข์กับภิกขุนีปาฏิโมกข์)  วิภังค์ ๒ (มหาวิภังค์ หรือภิกขุวิภังค์กับภิกขุนีวิภังค์) ขันธกะ ๒๒ (รวมทั้งในมหาวัคค์และจุลลวัคค์ และปริวาร ๑๖” เรื่องเหล่านี้คงเป็นปัญหาในการเรียกชื่อหมวดหมู่ตามเคย ถ้ารู้ความหมายแล้วจะท่องจำหัวข้อย่อ ๆ แบบไทยว่า อา, ปา, ม, จุ, ป ก็คงได้ประโยชน์เท่ากัน อนึ่งท่านผู้อ่านจะเข้าใจยิ่งขึ้นเมื่ออ่านถึงภาค ๓ อันว่าด้วยความย่อแห่งพระไตรปิฎก เพราะจะได้เห็นหัวข้อที่แบ่งออกไปเป็นหมวดหมู่รอง ๆ ลงไปจากหมวดใหญ่อย่างชัดเจน


สุตตันตปิฎก


หัวข้อย่อแห่งสุตตันตปิฎกมี ๕ คำ คือ ที, ม, สัง, อัง, ขุ  ดังต่อไปนี้


๑) ที = ทีฆนิกาย แปลว่า หมวดยาว หมายถึงหมวดที่รวบรวมพระสูตรขนาดยาวไว้ส่วนหนึ่ง ไม่ปนกับพระสูตรประเภทอื่น ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น ๓๔ สูตร


๒) ม = มัชฌิมนิกาย แปลว่า หมวดปานกลาง หมายถึงหมวดที่รวบรวมพระสูตรขนาดกลาง ไม่สั้นเกินไป ไม่ยาวเกินไปไว้ส่วนหนึ่ง ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น ๑๕๒ สูตร


๓) สัง = สังยุตตนิกาย แปลว่า หมวดประมวล คือประมวลเรื่องประเภทเดียวกันไว้เป็นหมวดหมู่ เช่น เรื่องพระมหากัสสปะ เรียกกัสสปสังยุตต์ เรื่องอินทรีย์ (ธรรมะที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน) เรียกอินทรียสังยุตต์ เรื่องมรรค (ข้อปฏิบัติ) เรียกมัคคสังยุตต์ ในหมวดนี้มีพระสูตรรวม ทั้งสิ้น ๗,๗๖๒ สูตร (๑)


๔) อัง = อังคุตตรนิกาย แปลว่า หมวดยิ่งด้วยองค์ คือจัดลำดับธรรมะไว้เป็นหมวด ๆ ตามลำดับตัวเลข เช่น หมวดธรรมะข้อเดียว เรียกเอกนิบาต หมวดธรรมะ ๒ ข้อ เรียกทุกนิบาต หมวดธรรมะ ๓ ข้อ เรียกติกนิบาต ดังนี้เป็นต้น จนถึงหมวดธรรมะ ๑๐ ข้อ เรียกทสกนิบาต  หมวดธรรมะเกิน ๑๐ ข้อ เรียกอติเรกทสกนิบาต ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น ๙,๕๕๗ สูตร1)


๕) ขุ = ขุททกนิกาย แปลว่า หมวดเล็กน้อย รวบรวมข้อธรรมที่ไม่จัดเข้าใน ๔ หมวดข้างต้น มารวมไว้ในหมวดนี้ทั้งหมด เมื่อจะแบ่งโดยหัวข้อใหญ่ก็มี ๑๕ เรื่องคือ

(๑) ขุททกปาฐะ แปลว่า บทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยมากเป็นบทสวดสั้น ๆ เกี่ยวพระพุทธศาสนา

(๒) ธรรมบท แปลว่า บทแห่งธรรม คือธรรมภาษิตสั้น ๆ ประมาณ ๓๐๐ หัวข้อ(ส่วนเรื่องพิสดารมีท้องเรื่องประกอบปรากฏในอรรถกถา)


(๓) อุทาน แปลว่า คำที่เปล่งออกมา หมายถึงคำอุทานที่เป็นธรรมภาษิต มีท้องเรื่องประกอบเป็นเหตุปรารภในการเปล่งอุทานของพระพุทธเจ้า


(๔) อิติวุตตกะ แปลว่า "ข้อความที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้" เป็นการอ้างอิงว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสข้อความไว้อย่างนี้ ไม่มีเรื่องประกอบ มีแต่ที่ขึ้นต้นว่า ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสไว้อย่างนี้


(๕) สุตตนิบาต แปลว่า รวมพระสูตร คือรวบรวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ไว้ด้วยกันมีชื่อสูตรบอกกำกับไว้


(๖) วิมานวัตถุ แปลว่า เรื่องของผู้ได้วิมาน แสดงเหตุดีที่ให้ได้ผลดีตามคำบอกเล่าของผู้ได้ผลดีนั้น ๆ


(๗) เปตวัตถุแปลว่า เรื่องของเปรตหรือผู้ล่วงลับไป ที่ทำกรรมชั่วไว้


(๘) เถรคาถา ภาษิตต่าง ๆ ของพระเถระผู้เป็นอรหันตสาวก


(๙) เถรีคาถา ภาษิตต่าง ๆ ของพระเถรีผู้เป็นอรหันตสาวิกา

(๑๐) ชาดก แสดงภาษิตต่างๆ เกี่ยวโยงกับคำสอนประเภทเล่านิทาน (ท้องเรื่องพิสดารมีในอรรถกถาเช่นเดียวกับธรรมบท)


(๑๑) นิทเทส แบ่งออกเป็นมหานิทเทสกับจูฬนิทเทส คือมหานิทเทสเป็นคำอธิบายพระพุทธภาษิตในสุตตนิบาต (หมายเลข ๕) รวม ๑๖ สูตร ส่วนจูฬนิทเทส เป็นคำอธิบาย พระพุทธภาษิตในสุตตนิบาต (หมายเลข ๕) ว่าด้วยปัญหาของมาณพ ๑๖ คน กับ ขัคควิสาณสูตร กล่าวกันว่าเป็นภาษิตของพระสารีบุตรเถรเจ้า


(๑๒) ปฏิสัมภิทามัคค์ แปลว่า ทางแห่งปัญญาอันแตกฉาน เป็นคำอธิบายหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งกล่าวกันว่าพระสารีบุตรเถรเจ้าได้กล่าวไว้


(๑๓) อปทาน แปลว่า คำอ้างอิง เป็นประวัติส่วนตัวที่แต่ละท่านเล่าไว้ ซึ่งอาจแบ่งได้ คือเป็นอดีตประวัติของพระพุทธเจ้า ของพระเถระอรหันตสาวก ของพระเถรีอรหันตสาวิกา ส่วนที่เป็นประวัติการทำความดีของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น มีคำอธิบายว่าเป็นพระพุทธภาษิตตรัสเล่าให้พระอานนท์ฟัง


(๑๔) พุทธวังสะ แปลว่า วงศ์ของพระพุทธเจ้า หลักการใหญ่เป็นการแสดงประวัติของพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๔ องค์ รวมทั้งของพระโคดมพุทธเจ้าด้วยจึงเป็น ๒๕ องค์ นอกจากนั้นมีเรื่องเบ็ดเตล็ดแทรกเล็กน้อย


(๑๕) จริยาปิฏก แปลว่า คัมภีร์แสดงจริยา คือ การบำเพ็ญบารมีต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งแบ่งหลักใหญ่ออกเป็นทาน (การให้) ศีล (การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย) และเนกขัมมะ (การออกบวช)


ข้อสังเกตท้ายสุตตันตปิฎก

               พระสุตตันตปิฎกซึ่งแบ่งออกเป็น ๕ นิกายดังกล่าวมาแล้ว คือทีฆนิกายจนถึงขุททกนิกาย
นั้น บางครั้งพระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า ๕ นิกายนี้แหละ จะเรียกว่าประมวลได้ครบทั้งสามปิฎก
ก็ได้ คือถือว่านอกจากพระพุทธวจนะที่อยู่ใน ๔ นิกายข้างต้นแล้ว พระพุทธวจนะที่เหลือจัดเข้า
ในขุททกนิกาย คือ หมวดเบ็ดเตล็ดทั้งหมด คือ ทั้งวินัยปิฎกและอภิธัมมปิฎก จัดเข้าในขุททนิกาย

ทั้งสิ้น คำว่า นิกายนี้ ในที่บางแห่งใช้คำว่าอาคมแทน พระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาทที่ปรากฎ
แปลในฉบับจีน ชาวจีนใช้คำว่า อาคม หมายรวมแทนพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท


อภิธัมมปิฎก


หัวข้อแห่งอภิธัมมปิฎก มี ๒ คำ คือ สัง, วิ, ธา, ปู, ก, ย, ป    ดังต่อไปนี้


๑) สัง = สังคณี ว่าด้วยการรวมหมู่ธรรมะ คือ ธรรมะแม้จะมีมากเท่าไร ก็อาจรวมหรือจัดเป็นประเภท ๆ ได้เพียงไม่เกิน ๓ อย่าง

๒) วิ = วิภังค์ ว่าด้วยการแยกธรรมะออกเป็นข้อ ๆ เช่น เป็นขันธ์ ๕ เป็นต้น ทั้งสังคณีและวิภังค์นี้ เทียบด้วยคำว่า สังเคราะห์ (Synthesis) และวิเคราะห์ (Analysis) ในวิทยาศาสตร์ เป็นเเต่เนื้อหาในทางศาสนากับทางวิทยาศาสตร์ มุ่งไปคนละทาง คงลงกันได้ในหลักการว่า ควรเรียนรู้ทั้งในทางรวมกลุ่มและแยกกลุ่ม เช่น รถคันหนึ่งควรรู้ทั้งการประกอบเข้าเป็นคันรถ และการแยกส่วนต่าง ๆ ออกฉะนั้น


๓) ธา = ธาตุกกาว่าด้วยธาตุ คือธรรมะทุกอย่าง อาจจัดเป็นประเภทได้โดยธาตุอย่างไร


๔) ปุ = บุคคลบัญญัติ ว่าด้วยบัญญัติ ๖ ประการ เช่น บัญญัติขันธ์ บัญญัติอายตนะ จนถึงบัญญัติเรื่องบุคคล พร้อมทั้งแจกรายละเอียดเรื่องบัญญัติบุคคลต่าง ๆ ออกไป


๕) ก = กถาวัตถุ ว่าด้วยคำถาม คำตอบ หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา (พระอรรถกถาจารย์ กล่าวว่า เป็นคำถาม ๕๐๐ คำตอบ ๕๐๐ แต่ตัวเลข ๕๐๐ นี้ อาจหมายเพียงว่าหลายร้อย เพราะเท่าที่นับกันดูแล้ว ได้คำถาม คำตอบ อย่างละ ๒๑๙ ข้อ)


๖) ย = ยมก ว่าด้วยธรรมเป็นคู่ ๆ บางทีการจัดคู่ที่มีลักษณะเป็นตรรกวิทยา ซึ่งจะได้กล่าวถึงในภาค ๓ ย่อความแห่งพระไตรปิฎก


๗) ป = ปัฏฐานว่าด้วยปัจจัย คือสิ่งสนับสนุน ๒๔ ประการ


๘) เป็นอันว่า หัวใจย่อแห่งพระไตรปิฎก คือ อา ปา ม จุ ป ; ที ม สัง อัง ขุ ; สัง วิ ธา ปุ ก ย ป
มีรายละเอียดดังกล่าวมานี้

 


ลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา


             แม้ว่าพระไตรปิฎกจะนับว่าเป็นคัมภีร์สำคัญ และเป็นหลักฐานทางพระพุทธศาสนา เเต่ก็มีคัมภีร์อื่นอีกที่เกี่ยวข้องด้วย จึงควรทราบลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไว้ดังต่อไป


๑) พระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้น ๑ เรียกว่า บาลี


๒) คำอธิบายพระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้น ๒ เรียกว่าอรรถกถา หรือวัณณนา


๓) คำอธิบายอรรถกถา เป็นหลักฐานชั้น ๓ เรียกว่า ฎีกา


๔) คำอธิบายฎีกา เป็นหลักฐานชั้น ๔ เรียกว่าอนุฎีกา

                   นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์ที่แต่งขึ้น ว่าด้วยไวยากรณ์ภาษาบาลีฉบับต่าง ๆ และอธิบายศัพท์
ต่าง ๆ เรียกรวมกันว่า สัททาวิเสส เป็นสำนวนที่เรียกกันในวงการนักศึกษาฝ่ายไทย ปรากกฎในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เมื่อทำการสังคายนา ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๓๑ เพื่อชำระพระไตรปิฎกนั้น ได้มีการชำระคัมภีร์สัททาวิเสสต่าง ๆ ด้วย โดยมีพระพุฒาจารย์เป็นแม่กอง

 

                 การจัดชั้นของบาลีอรรถกถา ก็เนื่องด้วยกาลเวลานั้นเอง พระไตรปิฎกเป็นของมีมาก่อน
ก็จัดเป็นหลักฐานชั้น ๑ คำอธิบายพระไตรปิฎกแต่งขึ้นประมาณ ๙๕๖ ปีภายหลังพุทธปรินิพพาน
จึงจัดเป็นชั้น ๒ ส่วนฎีกานั้น แต่งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๕๘๗ จึงนับเป็นหลักฐานชั้น ๓  อนึ่ง
คัมภีร์อนุฎีกานั้นแต่งขึ้นภายหลังฎีกาในยุคต่อ ๆ มา เป็นคำอธิบายฎีกาอีกต่อหนึ่ง จึงนับเป็นหลักฐานชั้น ๔

 

               อย่างไรก็ตาม แม้พระไตรปิฎกจะเป็นหลักฐานชั้น ๑ เมื่อพิจารณาตามหลักพระพุทธภาษิตในกาลามสูตร ท่านก็ไม่ให้ติดจนเกินไป ดังคำว่า “มา ปิฏกสมฺปทาเนน” อย่าถือโดยอ้างตำรา เพราะอาจมีผิดพลาดตกหล่นหรือบางตอนอาจเพิ่มเติมขึ้น แสดงว่าพระพุทธศาสนาสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล สอบสวนดูให้เห็นประจักษ์แก่ใจของตนเอง เป็นการสอนอย่างมีน้ำใจกว้างขวางและให้เสรีภาพแก่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ 

 

              นอกจากนั้นยังเป็นการยืนยันให้นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อได้ประจักษ์ผลนั้น ๆ ด้วยตนเองแม้จะมีพระพุทธภาษิตเตือนไว้มิให้ติดตำราจนเกินไป แต่ก็จำเป็นต้องรักษาตำราไว้ เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษา เพราะถ้าไม่มีตำราเลยจะยิ่งซ้ำร้าย เพราะจะไม่มีแนวทางให้รู้จักพระพุทธศาสนาเลย ฉะนั้น การศึกษาให้รู้และ
เข้าใจในพระไตรปิฏกจึงเป็นลำดับแรก เรียกว่า “ปริยัติ" การลงมือกระทำตามโดยควรแก่จริต อัธยาศัย เรียกว่า “ปฏิบัติ” การได้รับผลแห่งการปฏิบัตินั้น ๆ เรียกว่า “ปฏิเวธ


คำอธิบายพระไตรปิฏก อย่างย่อ ๆ ของพระอรรถกถาจารย์


             ท่านผู้อ่านได้ทราบแล้วว่า คำอธิบายพระไตรปิฎก เรียกว่า อรรถกถา จึงควรทราบต่อไปว่า ท่านผู้แต่งตำราอรรถกถานั้น เรียกกันว่า พระอรรถกถาจารย์ เฉพาะคำว่า พระไตรปิฎกนี้ มีคำอธิบายย่อ ๆ ของพระอรรถกถาจารย์ไว้ ดังจะนำมากล่าวต่อไปนี้2


นัย ๑


๑) วินัยปิฎก เป็น อาณาเทศนา คือการแสดงธรรมในลักษณะตั้งเป็นข้อบังคับ โดยส่วนใหญ่


๒) สุตตันตปิฎก เป็น โวหารเทศนา คือการแสดงธรรมยกย้ายสำนวนให้เหมาะสมแก่จริต อัธยาศัยของผู้ฟัง


๓) อภิธัมมปิฎก เป็น ปรมัตถเทศนา คือการแสดงธรรมเจาะจงเฉพาะประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งเป็นธรรมะชั้นสูงไม่เกี่ยวด้วยท้องเรื่องหรือโวหาร


นัย ๒

๑) วินัยปิฎก เป็น ยถาปราธสาสนะ คือการสอนตามความผิด หรือโทษชนิดต่าง ๆ ที่พึงเว้น


๒) สุตตันตปิฎก เป็น ยถานุโลมสาสนะ คือการสอนโดยอนุโลมแก่จริตอัธยาศัยของผู้ฟัง ซึ่งมี
ต่าง ๆ กัน


๓) อภิธัมมปิฎก เป็น ยถาธัมมสาสนะ คือการสอนตามเนื้อหาแท้ ๆ ของธรรมะ


นัย ๓


๑) วินัยปิฎก เป็น สังวราสังวรกถา คือถ้อยคำที่ว่าด้วยความสำรวมและไม่สำรวม


๒) สุตตันตปิฎก เป็น ทิฏฐิวินิเวฐนกถา คือถ้อยคำที่สอนให้ผ่อนคลาย ทิฏฐิ คือความเห็นผิด


๓) อภิธัมมปิฎก เป็น นามรูปปริจเฉทกถา คือถ้อยคำที่สอนให้กำหนดนามแลรูป คือร่างกายจิตใจ


นัย 4


๑) วินัยปิฎก เป็น อธิศีลสิกขา คือข้อศึกษาเกี่ยวกับอธิศีล คือศีลชั้นสูง


๒) สุตตันตปิฎก เป็น อธิจิตตสิกขา คือข้อศึกษาเกี่ยวกับสมาธิชั้นสูง


๓) อภิธัมมปิฎก เป็น อธิปัญญาสิกขา คือข้อศึกษาเกี่ยวกับปัญญาชั้นสูง


นัย ๕


๑) วินัยปิฎก เป็น วีติกกมปหาน คือเครื่องละกิเลสอย่างหยาบ ที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิดศีล


๒) สุตตันตปิฎก เป็น ปริยุฏฐานปหาน คือเครื่องละกิเลสอย่างกลางอันรัดรึงจิต ได้แก่นิวรณ์ คือ
กิเลสอันกั้นจิตมิให้เป็นสมาธิ


๓) อภิธัมมปิฎก เป็น อนุสยปหาน คือเครื่องละกิเลสอย่างละเอียด อันได้แก่กิเลสที่นอนอยู่ใน
สันดาน เหมือนตะกอนนอนก้นตุ่ม ไม่มีอะไรมากวนก็ไม่แสดงตัวออกมา นอกจากนั้นยังได้
อธิบายโดยใช้ศัพท์ ปหาน ในรูปอื่นอีก ซึ่งเห็นว่าเท่าที่นำมากล่าวนี้พอแล้ว จึงไม่นำมาก
ทงหมด


ตัวอย่างพระไตรปิฎกฉบับต่าง ๆ ในประเทศไทย

๑) พระไตรปิฎกฉบับบาลีสยามรัฐ                                                              ๔๕ เล่ม
๒) พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง พ.ศ. ๒๕๐๐                                      ๔๕ เล่ม
     พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง พ.ศ. ๒๕๑๔                                     ๔๕ เล่ม
๓) พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา พ.ศ. ๒๕๓๐                                ๔๕ เล่ม
๔) พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. ๒๕๔๙                      ๔๕ เล่ม
๕) พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย                       ๔๕ เล่ม
๖) พระไตรปิฎกและอรรกถาแปลของมหามกุฏราชวิทยาลัย                           ๙๑ เล่ม
๗) พระไตรปิฎกมหาวิตถารนัย โดย ปุ้ย แสงฉาย                                        ๑๐๐ เล่ม
๘) พระไตรปิฎก (ย่อ) ฉบับประชาชนโดย สุชีพ ปุญญานุภาพ                          ๑ เล่ม
๕) พระไตรปิฎก (ย่อ) ฉบับเยาวชน โดยสนพ.ไทยวัฒนาพาณิช                      ๙ เล่ม
๑๐) พระไตรปิฎกบาลีฉบับอักษรโรมัน โดย สมาคมบาลีปกรณ์                     ๔๘ เล่ม

 

เชิงอรรถอ้างอิง

1การนับจำนวนสูตรนี้กล่าวตามหลักฐานของอรรถกถา เพราะในสังยุตตนิกาย และอังคุตตรนิกาย บางแห่งก็บอกชื่อสูตร  บางแห่งก็ไม่บอกชื่อ ส่วนใหญ่ไม่บอกชื่อสูตร
 

2สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎกภาค ๑ หน้า ๒๑

 

จบบทที่ 1

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013301849365234 Mins