ธรรมชาติโลกและชีวิต
ตอน โลกเเละชีวิต
ก่อนที่จะเริ่มศึกษาเรื่องธรรมชาติของโลกและชีวิต ซึ่งเป็นภาคหนึ่งของความรู้ใน
พระพุทธศาสนา เราควรได้เห็นถึงภาพรวมขององค์ความรู้เสียก่อน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสะดวก
ในการทำความเข้าใจต่อไป ภาพรวมความรู้ในพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น ๔ ภาค ได้แก่
๑) ธรรมชาติวิทยา หรือจักรวาลวิทยา เป็นความรู้เกี่ยวกับเรื่องธาตุ, ขันธ์ ๕, การกำเนิดโลก,
การแตกทำลายของโลก, การกำเนิดสิ่งมีชีวิต, ภพภูมิต่าง ๆ ทำให้เรารู้ที่มาที่ไปของโลก ของ
จักรวาล และของชีวิตตัวเราเอง
๒) พุทธวิทยา เป็นความรู้ที่มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เป็นธรรมะชั้นสูงที่ลุ่มลึก
ละเอียด ต้องใช้สภาวะใจที่ละเอียดประณีตในการศึกษา ได้แก่ ปฏิจจสมุปบาท, กฎแห่งกรรม ,
อริยสัจ ๔ เป็นต้น
๓) ธรรมจริยา เป็นความรู้ธรรมะทั่ว ๆ ไปที่สอนให้ละเว้นความชั่ว ให้ทำความดี เช่น พรหมวิหาร ๔,
อิทธิบาท ๔ , หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น
4) คิหิปฏิบัติ เป็นความรู้ธรรมะทั่ว ๆ ไปที่มุ่งเน้นให้เป็นข้อปฏิบัติสำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน
ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสถึงหน้าที่ที่ชาวโลกพึงปฏิบัติ เช่น ฆราวาสธรรม, ทิศ ๖, การละเลิก
อบายมุข, การเลือกคบคน, สังคหวัตถุ ๔ เป็นต้น
การศึกษาในระดับของผู้ที่เริ่มต้นศึกษา ก็เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องโลกและชีวิต
จากที่เคยมีประสบการณ์มาในระดับของปุถุชน แล้วนำมาเปรียบเทียบดูกับสิ่งที่พระสัมมา
สัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนเอาไว้ ว่ามีเหตุผลสอดคล้องกัน แต่ถ้าเรายังเป็นปุถุชน คงคิด
ไตร่ตรองตามได้เพียงระดับของจินตมยปัญญาไปก่อน
ส่วนเรื่องที่เรากำลังจะศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของภาคธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่า
ศึกษา ต้องอาศัยสภาวะใจที่ละเอียดอ่อนในระดับภาวนามยปัญญา จึงจะรู้เห็นและเข้าใจไปตาม
ความเป็นจริง ดังนั้น สำหรับผู้ที่เริ่มต้นศึกษานั้น ควรทำความเข้าใจเสียก่อนว่า โลกจินดา หรือ
ความคิดในเรื่องของโลกนั้นเป็นเรื่องอจินไตย1 คือเป็นเรื่องที่ผู้มีปัญญาในระดับปุถุชนไม่ควรคิด
ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า จึงต้องอาศัยการรู้การเห็นอันเกิด
จากญาณทัสสนะของพระอริยเจ้าเท่านั้น ถึงจะเข้าใจไปตามความเป็นจริง
โลกและชีวิต
โลกและชีวิตเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เพราะสิ่งมีชีวิตทุกชนิดต่าง
ล้วนอาศัยอยู่ใน “โลก”
ความหมายของโลก
“โลก”2 หมายถึง สิ่งที่ทรุดโทรมย่อยยับ สูญสลายได้ แบ่งออกเป็น ๓ ชนิดคือ
๑) สังขารโลก หมายถึง สังขารร่างกายของคนและสัตว์ทั้งหลาย อันประกอบด้วยกายกับใจ
๒) สัตวโลก หมายถึง หมู่สัตว์ซึ่งยังมีจิตซัดส่าย เมื่อได้เห็น หรือสัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง หรือ
วัตถุสิ่งของ หรือหมายถึงสิ่งที่มีความรู้สึก และเคลื่อนไหวไปได้เอง ได้แก่ เทวดา มาร พรหม
มนุษย์ เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน และสัตว์นรก ในทางธรรมมักหมายถึง มนุษย์ หรือ ชาวโลกทั้งหลาย
๓) โอกาสโลก หมายถึง สถานที่ที่สัตวโลกได้อาศัยเป็นที่อยู่ เป็นที่ทำมาหากิน และเป็นที่สร้าง
ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ซึ่งได้แก่ ทั้งผืนแผ่นดิน และผืนฟ้านั่นเอง
ศัพท์ที่ควรทราบ
ส่วนคำอื่น ๆ ที่ควรทำความเข้าใจ เพื่อนำไปใช้ศึกษาในบทเรียนต่าง ๆ มีดังนี้
จักรวาล
ในทางพุทธศาสตร์ จักรวาลหมายถึง ระบบที่ประกอบด้วย ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์ ,
เขาสิเนรุ, ทวีปทั้ง ๔ คือ ชมพูทวีป, อปรโคยานทวีป, ปุพพวิเทหทวีป, และอุตตรกุรุทวีป ,
มหาสมุทรทั้ง ๔, สวรรค์ ๖ ชั้น และพรหมโลก
แต่ละจักรวาลมีองค์ประกอบอย่างเดียวกัน และภูมิของสัตว์ทั้งหลายก็มีเหมือนกัน คือ
ประกอบด้วยภูมิทั้งหมด ๓๑ ภูมิ ซึ่งสามารถจัดอยู่ในภาวะของจิตที่เรียกว่า “ภพ ๓” อัน
ประกอบด้วย กามภพ รูปภพ และอรูปภพ
กามภพรูปภพ และอรูปภพ
กามภพ คือ ภพอันเป็นที่เกิดของผู้ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในกาม ภพนี้เป็นภพของผู้ที่ยังมีความ
ใคร่ ความอยาก ความพึงพอใจอยู่ในจิตใจ ดังนั้นภพนี้จึงได้ชื่อว่า กามภพ ภูมิที่อยู่ในภพนี้มี
ทั้งหมด ๑๑ ภูมิ ได้แก่ มนุสสภูมิ ๑, อบายภูมิ ๔ และเทวภูมิ ๖
รูปภาพ หรือ พรหมโลก คือ ภพอันเป็นที่อยู่ของรูปพรหม พรหมโลกนี้อยู่ในภูมิที่
สูงขึ้นไปกว่าเทวโลก มีทิพยสมบัติทั้งหลาย ที่มีความสวยงามประณีตกว่าในเทวโลก โดย
พรหมโลกมีทั้งหมด ๑๖ ชั้น
อรูปภพ คือ ภพอันเป็นที่อยู่ของอรูปพรหม อยู่ในภูมิที่สูงขึ้นไปกว่ารูปภพ มีทิพยสมบัติ
ทั้งหลายที่มีความสวยงามประณีตกว่าในรูปภพ โดยอรูปภพมีทั้งหมด ๔ ชั้น
โลกธาตุ
โลกธาตุ คือ กลุ่มของจักรวาลที่มารวมกันหลายๆจักรวาล โดยโลกธาตุนั้นมีขนาดต่างๆ กัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าโลกธาตุนั้น มีจำนวนจักรวาลที่มารวมตัวกันมากหรือน้อย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวถึงจักรวาลเเละโลกธาตุไว้ใน "จูฬนิกาสูตร" ซึ่งบอกถึงองค์ประกอบของจักรวาลเเต่ละจักรวาล ขนาดของจักรวาล รวมถึงขนาดของโลกธาตุไว้ด้วย
เชิงอรรถอ้างอิง
1อจินติดสูตร อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต มก.ล.๓๕/๒๓๕
2เรียบเรียงจากอรรถกถาโลกสูตร, ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ, มก.ล.๔๕/๕๑๕