ความรู้เบื้องต้นชาวพุทธเเละคุณของพระรัตนตรัย
ความรู้เบื้องต้นชาวพุทธ1
ในบทแรกนี้ จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับหัวข้อธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนาที่เรามักได้ยินกันอยู่เป็นประจำก่อน ทั้งนี้เพื่อให้มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับตัวเราและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราโดยตรง ได้แก่
- เรื่ององค์ประกอบของมนุษย์ที่ประกอบด้วยกาย และใจ
- เรื่องกิเลส ๓ ตระถูล ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ
- เรื่องบุญ และวิธีการทำบุญ ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา
ธรรมะเบื้องต้น
มนุษย์ประกอบด้วยองค์ประกอบ ๒ ส่วน คือ
๑. ร่างกาย หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า กาย
๒. ใจ ในภาษาบาลี เรียกว่า จิต หรือ วิญญาณ
กาย
กาย - ทั้งหญิงและชายต่างประกอบด้วยธาตุ ๔ ชนิด ซึ่งได้แก่ ธาตุดิน ธาตุนํ้า ธาตุไฟ และธาตุลม มาประชุมกันอย่างได้สัดส่วนเหมาะสม แล้วเกิดเป็นอวัยวะต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายใน ภายนอก เช่น ผม ขน เล็บ ฯลฯ ภายใน เช่น ตับ ไต หัวใจ ฯลฯ
กาย- ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองลอย ๆ ต้องมีบิดาและมารดาเป็นผู้ให้กำเนิด คลอดจากครรภ์มารดาแล้วก็ต้องอาศัยธาตุ ๔ จากภายนอก เช่น อาหาร นํ้า ลม และแสงแดด ฯลฯ มาหล่อเลี้ยงตลอดเวลา จึงเจริญเติบโตขึ้นได้
กาย- เป็นเพียงของกลาง ๆ คือยังไม่มีชีวิต ยังไม่ดี-ยังไม่ชั่ว ยังไม่ยิ่งใหญ่-ไม่ต่ำทราม ใด ๆ ทั้งสิ้น ต่อเมื่อใด พูด-ทำ ตามที่ใจคิดหรือสั่ง จึงเกิดเป็นกรรมดีกรรมชั่ว ตามที่พูดหรือทำนั้น
กาย - ประกอบด้วยธาตุที่ยังไม่บริสุทธิ์ จึงเป็นรังของโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ ถึงแม้จะดูแลป้องกันรักษาเป็นอย่างดี ก็ต้องแตกสลายเป็นธรรมดา คือตายในที่สุด
กาย - หลังจากตายเป็นศพแล้ว ก็ถูกนำไปฝังบ้าง เผาบ้าง ธาตุทั้ง ๔ ที่ประกอบเป็นกายก็คืนกลับสภาพเดิม คือธาตุดินก็กลับทับถมจมดินไป ธาตุน้ำก็ระเหยกลับเป็นนํ้า ธาตุไฟก็กลับเป็นไฟ ธาตุลมก็กลับเป็นลม เชื้อโรคต่าง ๆ ในกายก็ต้องตายตามไปด้วย
ใจ
ใจ - เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ที่เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของมนุษย์ เข้าไปสิงสถิตอยู่ภายในกายตั้งแต่ถือกำเนิด ทำให้กายมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยธาตุ ๔ มีชีวิตขึ้นมาได้
ใจ - เป็นธาตุละเอียด จึงไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ ไม่สามารถจับต้องได้ แต่เห็นได้ด้วยตาทิพย์เป็นธาตุรู้ จึงทำให้เรารู้เรื่องราวต่าง ๆ ได้ เช่น รู้ธรรมะ รู้หนังสือ รู้จักเพื่อน รู้จักดี-ชั่ว รู้จักดีใจ-เสียใจ รู้จักเหตุ-ผล ฯลฯ
ใจ - ทำงานร่วมกับประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย จึงทำให้เห็นรูปผ่านตา ฟังเสียงผ่านหู สูดดมกลิ่นผ่านจมูก ลิ้มรสผ่านลิ้น และสัมผัสผ่านกายได้
ใจ - ปกติจะผ่องใส สว่างภายใน ไม่ขุ่นมัว ทำให้บุคคล สามารถรู้เห็นสภาวการณ์ต่าง ๆ รอบตัวผ่านประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ได้อย่างถูกต้องชัดเจน จึงรักจะคิดดี ๆ แล้วสั่งกายให้พูด-ทำสิ่งดี ๆ ตามมา
ใจ - หากถูกกิเลสเข้าครอบงำ ย่อมเศร้าหมอง ขุ่นมัว การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง ๕ จึงผิดพลาดคลาดเคลื่อน ไม่ตรงตามความเป็นจริง ก่อให้เกิดความคิดวิปริต จึงพูดร้าย ทำร้ายได้ต่าง ๆ นานา ทำให้ผู้นั้นกลายเป็นคนชั่ว คนร้ายไปทันที
กิเลสคืออะไร
กิเลส - เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งสกปรกมาก เปรอะเปื้อนมาก เหนียวแน่นมาก มีอำนาจในการทำลายทำร้ายใจ ให้เดือดร้อน เป็นทุกข์ได้มากมายมหาศาล ไม่มีสิ่งใดมาเทียบเทียมได้ และละเอียดมาก จึงไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ แต่เห็นได้ด้วยตาธรรมหรือธรรมจักษุ
กิเลส - ฝังตัวเกาะติดอยู่ในใจมนุษย์ ตั้งแต่แรกถือกำเนิดในครรภ์มารดา เช่นเดียวกับเชื้อโรคทั้งหลายที่ฝังตัวอยู่ในยีนและโครโมโซม เพื่อรอจังหวะทำความเจ็บป่วยให้ร่างกาย ขณะที่สุขภาพอ่อนแอฉันใด กิเลสก็จ้องหาโอกาสครอบงำเรา ขณะที่ใจเผลอสติฉันนั้น
กิเลส - หากเข้าครอบงำใจได้เมื่อไร ก็ย้อม เคลือบ ห่อ หุ้มใจให้เศร้าหมอง ขุ่นมัว มืดมิดสกปรก มีสภาพไม่ต่างกับถํ้ามืด ที่ทั้งสกปรกทั้งอันตราย หรือเหมือนกับคนใส่แว่นสีดำคลํ้า แถมเปื้อนโคลนเหนอะหนะอีกด้วย ทำให้เสียคุณภาพในการเห็น หรือรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส ไม่ตรงตามความเป็นจริง แล้วบีบคั้นใจให้กล้าคิดร้าย พูดร้าย ทำร้าย ตามการรับรู้ที่ผิด ๆ บิดเบือนไปแล้วนั้น เป็นผลให้ต้องได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนต่าง ๆ ตามมา จากคนดีจึงด้องกลายเป็นคนชั่วร้ายตามความคิด คำพูด การกระทำร้าย ๆ นั้น ความเลวร้ายสสับซับช้อนเช่นนี้ บังเกิดขึ้นไม่ว่างเว้นแม้แต่วินาทีเดียวกับสัตว์โลกทุกชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย
กิเลส - ที่แฝงอยู่ในใจผู้ตาย ไม่ได้ตายตามร่างกายไปด้วย แต่ทำหน้าที่บังคับบัญชาให้กายละเอียดของผู้นั้นไปเกิดใหม่ในภพภูมิที่พอเหมาะกับความเลวร้ายของเขา หากได้โอกาสก็บังคับผู้นั้นให้คิดร้าย พูดร้าย ทำร้ายต่อไปอีก จึงต้องเป็นทุกข์และได้บาปต่อไปอีกชาติแล้วชาติเล่า เช่นเดียวกับผู้คุมย้ายนักโทษจากที่คุมขังหนึ่งไปอีกที่คุมขังหนึ่ง ให้พอเหมาะกับความประพฤติของนักโทษนั้น หากนักโทษก่อเหตุร้ายอีก ก็ลงโทษให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก
กิเลส - จึงเป็นต้นเหตุหรือตัวการแท้จริงที่ทำให้เกิดความทุกข์ ความชั่วร้าย ความบาปทุกชนิดในโลก โดยมีสัตว์โลกแต่ละชีวิตเป็นหุ่นหรือนักโทษ ที่ถูกบังคับให้ทำการต่าง ๆ ก่อนถูกประหารซํ้า
กิเลส - เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว มี ๓ ตระกูล ด้วยกันคือ
๑. ตระกูลโลภะ
๒. ตระกูลโทสะ
๓. ตระกูลโมหะ
โลภะคืออะไร
โลภะ - เป็นกิเลสประเภทที่บีบบังคับใจ ให้รู้สึกหิวโหย อยากได้มากผิดปกติ ใจจึงดิ้นรนอยู่ไม่เป็นสุข ต้องคิดหาทางเอามาเป็นของตน โดยทางทุจริตต่าง ๆ เช่น คิดลักขโมย โกง จี้ ปล้น ฯลฯ จนถึงคิดฆ่าคนตายรวมเรียกว่า ความโลภ
สำหรับความอยากได้แบบสามัญ เช่น อยากได้เสื้อผ้า อยากรวย อยากเป็นคนดี โดยสุจริตตามวิสัยธรรมดา ไม่ถือว่าเป็นความโลภ อยากได้เงิน ๑๐๐ ล้านบาท แล้วแสวงหาโดยสุจริต ไม่จัดเป็นโลภะ แต่อยากได้เงินเพียง ๑ บาท โดยวิธีทุจริต จัดเป็นโลภะ
โลภะ - มีลักษณะยึดอารมณ์ไว้อย่างเหนียวแน่น คือ เมื่อพอใจในรูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัสธรรมารมณ์ใด ซึ่งเป็นวัตถุนอกกาย ใจก็แล่นออกจากศูนย์กลางกาย ไปยึดติดวัตถุนั้นค้างไว้ในใจ จากความอยากได้อย่างสามัญ จึงขยายตัวออกเป็นความอยากได้เกินเหตุ แล้วกลายเป็นความอยากมีพิษ ยากจะสลัดทิ้ง หรือแกะออกเหมือนลิงติดตัง หรือติดกาวเหนียว ๆ แล้วแกะไม่ออก จึงถูกนายพรานจับตัวเอาไป ทำอย่างไรก็ได้ตามชอบใจ
โลภะ - มีเหตุใกล้ชิดทำให้เกิด คือ มีความชอบใจในธรรมฝ่ายต่ำที่ทำให้เกิดกิเลสเป็นเชื้ออยู่แล้ว เช่น ความฟุ่มเฟือย ความเอาเปรียบ ความเห็นแก่ได้ ฯลฯ
โลภะ - จึงเปรียบเสมือนชะลอมใส่นํ้าไม่รู้จักเต็ม มักก่อให้เกิดความเร่าร้อนคิดที่จะทำทุจริต ต่าง ๆ เพื่อให้ได้สิ่งนั้น ๆ มาครอบครอง ที่ไม่เคยคิดจะพูด จะทำ ก็คิด ที่เคยคิดบ้างแล้วก็กำเริบรุนแรงยิ่งขึ้น
การละโลภะ
๑. ด้วยใช้สติยับยั้งไว้ก่อน อย่าลุอำนาจแก่ความอยากนั้น ๆ
๒. ด้วยใช้ปัญญาพิจารณาผลได้ ผลเสียให้เกิดหิริโอตตัปปะ
๓. ด้วยการบำเพ็ญธรรมในทางตรงข้ามกับโลภะ คือ การบริจาคทานเป็นนิตย์
โทสะคืออะไร
โทสะ - เป็นกิเลสประเภทที่บีบบังคับใจให้ร้อนรน หงุดหงิด ขัดเคือง ชิงชังได้ง่ายผิดปกติ เป็นผลให้คิดอยากทำลายล้างผลาญคนอื่น สิ่งอื่นให้ได้รับอันตรายเสียหาย เช่น ทำให้เขาบาดเจ็บ อับอาย เสียหน้า เสียทรัพย์ รวมเรียกว่า คิดประทุษร้าย หรือความโกรธ
ความคิดประทุษร้ายอันเนื่องมาจากความไม่พอใจฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น จึงจัดว่าเป็นโทสะ เช่น ยิงนก ฆ่าหนู เพราะโกรธที่มันลงมากินข้าวในนา แต่ถ้าคิดประทุษร้ายด้วยเหตุอื่น เช่น คิดยิงนก ตกปลา ล่าสัตว์ เพราะเห็นว่าเป็นกีฬาสนุกๆ จัดว่าเป็น โมหะ
โทสะ - มีลักษณะดุร้ายเหมือนอสรพิษที่ถูกตีแล้วไม่ตาย คือเมื่อบุคคลเผลอสติ เกิดความมานะถือตัวว่า ตนเด่นกว่าเขา ตนด้อยกว่าเขา หรือตนเสมอกับเขาก็ดี ครั้นถูกกระทบเข้าด้วยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ใด ซึ่งไม่น่าพอใจ ก็เกิดความคิดขัดเคือง หงุดหงิด หากระงับไม่ได้ ก็จะขยายตัวเป็นเหตุให้เกิดความคิดชั่วร้ายถึงกับทะเลาะวิวาท กลั่นแกล้ง ทำร้าย ฆ่ากัน อันเป็นเหตุให้ตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อน เหมือนคนที่เป็นศัตรูได้โอกาสล้างแค้นกัน
โทสะ - เมื่อเกิดกับผู้ใด ย่อมทำให้ผู้นั้น คิดทำลายทุกสิ่งทุกอย่างแม้ตนเอง นับตั้งแต่
๑) ทำลายระบบความคิด
๒) ทำลายสุขภาพร่างกายและจิตใจ
๓) ทำลายทรัพย์สิน
๔) ชอบก่อกรรมทำเข็ญเป็นอันตรายต่อสังคม เข้าทำนองใครขอความดีก็ไม่ให้
ใครให้ก็ไม่ยอมรับ หนำซํ้าเอาไฟเผาความดีข้างในตน เสียอีกด้วย
โทสะ - จึงเปรียบเสมือนลูกระเบิดในใจ พอมันระเบิดก็ทำลายตนเองเป็นสิ่งแรก แล้วทำลายทั้งคน ทั้งสิ่งของข้างเคียงภายหลัง
การละโทสะ
๑. ด้วยการใช้สติยับยั้งไว้ก่อน
๒. ด้วยการใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นโทษ
๓. ด้วยการตั้งใจรักษาศีล ๕ ป้องกันไว้ก่อน
๔. ด้วยการบำเพ็ญธรรมในทางตรงข้ามกับโทสะ คือ แผ่เมตตาอยู่เป็นนิตย์
โมหะคืออะไร
โมหะ - เป็นกิเลสประเภทบีบบังคับใจให้งุนงง หลงใหล งมงาย มัวเมา มืดบอด ขาดเหตุผล เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมปิดบังใจของผู้นั้น ไม่ให้รู้ถึงความจริงของสิ่งที่ตนได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส แล้วคิดลุ่มหลงต่าง ๆ นานาด้วยความเขลาเบาปัญญา ไม่ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ผิดชอบชั่วดี เช่น ลุ่มหลงในสุรา นารีพาชี กีฬาบัตร เป็นต้น รวมเรียกว่า ความหลง สำหรับความไม่รู้วิชาการต่าง ๆ ในทางโลก เช่น ไม่รู้เรื่องคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ การประกอบอาหาร การตัดเย็บเสื้อผ้า การค้าขาย ฯลฯ ไม่จัดว่าเป็นโมหะ เป็นเพียงความไม่รู้ทั่วไปเท่านั้น
โมหะ - มีลักษณะปกปิดสถานะจริงของอารมณ์อันเกิดจากการที่ใจถูกรูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัสมากระทบไว้อย่างแน่นหนา ทำให้ใจมืดมิด ไม่พยายามใช้ปัญญาพิจารณาในเรื่องนั้น ๆ ให้ประจักษ์ถ่องแท้ แต่ทำตนเป็นปฏิปักษ์กับเหตุผล แม้มีความรู้ก็ไม่ชอบใช้ความรู้ จึงคิดเบา ดูเบา หูเบา ฯลฯ ของมอมเมาเป็นโทษแท้ ๆ เช่น สุรา กลับดูเบาเห็นว่าเป็นคุณ ใช้สำหรับกระชับมิตร การพนันเป็นของทำลายเศรษฐกิจแท้ ๆ กลับดูเบาเห็นเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ ฯลฯ ในที่สุดก็กลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ ไม่รู้จักผิด ชอบ ชั่ว ดี ไม่รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ มีสภาพเหมือนคนตาดี ที่ตกอยู่ในที่มืด คือมีตาแต่ไม่พยายามมอง ตาก็หมดสภาพกลายเป็นมองไม่เห็น หรือไม่ก็เห็นผิด ๆ
โมหะ - มีเหตุใกล้ชิดทำให้เกิด คือขาดการคิดอย่างเป็นระบบ หรือขาดโยนิโสมนสิการ
โมหะ - จึงเปรียบเสมือนความมืดภายในใจ และเพราะความมืดนั้นทำให้ผู้ถูกครอบงำ ชอบเสี่ยง ชอบเดา เชื่อโชคลาง เชื่อพรหมลิขิต ชอบทำความผิดทุกชนิด ตั้งแต่ทะเลาะวิวาทกัน ฆ่ากัน ทำสงครามกัน แม้แต่ทำร้ายหรือฆ่าพ่อแม่ของตนเอง
การละโมหะ
๑. ตั้งใจฟัง อ่าน เรียนธรรมะ เพื่อเพิ่มพูนสุตมยปัญญา
๒. ตั้งใจค้นคิด ทดลอง ทำวิจัยธรรมะ เพื่อเพิ่มพูน จินตามยปัญญา
๓. ตั้งใจทำใจให้หยุด ให้นิ่ง เพื่อเพิ่มพูนภาวนามยปัญญา
สรุป
กิเลสไม่ว่าตระกูลไหน
๑. ตัวกิเลสเองเป็นธาตุธรรมฝ่ายต่ำ สกปรก ดำมืด เลวทราม ต่ำช้า ไม่เห็นได้ด้วยตาเนื้อ
๒.ครั้นกิเลสเข้าไปอยู่ในใจได้เมื่อไร ก็เป็นเหตุหรือรากเหง้าให้ใจคิดชั่ว คิดสกปรกลามก เลวทราม แล้วบังคับกายให้พูดชั่ว ทำชั่วต่าง ๆ นานา
๓.การกระทำใด ๆ ด้วยอำนาจกิเลส ไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจา หรือใจ ล้วนจัดเป็นอกุศลกรรม คือ กรรมเป็นบาปทั้งสิ้น
๔.บาปเป็นพลังงานที่ชั่วร้าย อันเกิดจากกรรมชั่ว ย่อมเป็นเสมือนปุ๋ยสนับสนุนให้กิเลสขยายตัวงอกงามเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีกเป็นวัฎฎจักร
๕.กิเลสแยกย้ายกันเป็น ๓ กองทัพ แต่ละกองทัพมีลักษณะเลวร้ายเฉพาะ แล้วร่วมกันกลุ้มรุมโจมตีให้เดือดร้อนเป็นทุกข์ คือ
กองทัพที่ ๑ โลภะ ทำ ให้ใจอดอยากหิวโหย และไม่รู้จักพอ
กองทัพที่ ๒ โทสะ ทำให้ใจพลุ่งพล่าน เดือดดาล คิดทำร้าย
กองทัพที่ ๓ โมหะ ทำให้ใจมืดบอด ขาดเหตุผล มักง่าย เอาแต่ใจตัว
ถ้าผู้ใดปล่อยให้กิเลสเข้าครอบครองใจได้ แล้วคิด พูด ทำ ตามแต่กิเลสจะชักนำ ผู้นั้นย่อมได้บาปไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน ย่อมทำให้เป็นคนไร้ความสุข ผู้ที่หวังความสุขความเจริญ จึงจำเป็นต้องรีบกำจัดกิเลสเสียแต่ต้นมือ อย่างไรก็ตามกิเลสใช้น้ำล้างไม่ได้ ใช้ไฟเผาก็ไม่ได้ แต่สามารถกำจัดได้โดยสิ้นเชิงด้วยบุญ
บุญคืออะไร
บุญ - เป็นพลังงานชนิดหนึ่งซึ่งบริสุทธิ์มาก เพราะไม่ว่าปริมาณจะน้อย-มาก-หรือปานกลาง นอกจากไม่มีโทษใด ๆ แล้ว ยังนำแต่ความสุข ความเจริญ ความสมหวังในสิ่งที่ดีงามทั้งหลายมาให้ผู้บุญนั้น ทั้งในชีวิตนี้ และชีวิตในโลกเบื้องหน้า เช่น ทำให้อายุยืน สุขภาพพลานามัยแข็งแรง ผิวพรรณงาม มีศักดามาก มีทรัพย์สมบัติมาก เกิดในตระถูลสูง เจ้าปัญญา ฯลฯ
บุญ - เป็นพลังงานซึ่งมีอานุภาพมาก เพราะเป็นสิ่งเดียวที่มีฤทธิ์ฆ่ากิเลสทุกชนิดได้ จึงสามารถชำระจิตสันดานที่เศร้าหมอง ตลอดจนความเห็นผิด ความคิดชั่วร้ายทั้งหลายให้หมดสิ้นจากใจ ทำให้ใจกลับมาบริสุทธิ์ผ่องใสได้เป็นอัศจรรย์
บุญ - เป็นเช่นพลังงานทั้งหลายคือ ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเนื้อมนุษย์ แต่เห็นได้ด้วยตาทิพย์ (ทิพยจักษุ) ตาธรรม (ธรรมจักษุ) และรู้ได้ด้วยอาการรู้ว่ามีพลังงานไฟห้าด้วยอาการที่ปรากฏ เช่น ทำให้หลอดไฟสว่าง เตารีดร้อน พัดลมหมุน กล้ามเนื้อกระตุก ฯลฯ รู้ว่าบุญเกิดขึ้น เมื่อหลังจากทำบุญแล้วรู้สึกเป็นสุขสดชื่น หน้าตาผ่องใส มีกำลังใจทำความดี มีความสำรวมระวัง ฯลฯ
บุญ - ไม่เกิดในที่ไหน ๆ แต่เกิดขึ้นเฉพาะที่ใจของผู้ทำบุญเท่านั้น ครั้นเกิดขึ้นแล้ว ก็มีคุณสมบัติแสนวิเศษเฉพาะตัวอย่างมากมาย เช่น
๑. เป็นของเฉพาะตน จึงต้องทำด้วยตัวเอง
๒. ติดตามตนเองไปทุกฝีก้าว แม้ตายไปเกิดในภพใหม่ ก็ยังติดตามไปได้
๓. ใครแย่ง-ใครลักก็ไม่ได้
๔. เป็นเครื่องป้องกันภัยในวัฏสงสาร เช่น ไม่ให้ตกนรก ก็ได้
๕. สามารถส่งไปได้ไกล ๆ แม้ข้ามโลก ข้ามจักรวาลก็ไปได้
๖. ให้มนุษย์สมบัติ ทิพย์สมบัติ นิพพานสมบัติก็ได้ฯลฯ
ทำอย่างไรบุญจึงเกิด
การทำความดีทุกชนิดย่อมทำให้เกิดบุญทั้งสิ้น โดยย่อมีอยู่ ๓ วิธีด้วยกัน คือ
๑. ทาน
๒.ศีล
๓. ภาวนา
ทานคืออะไร
ทาน แปลว่า การให้ ถ้าให้เพื่อมุ่งฟอกกิเลสในใจของผู้ให้ เช่น ให้พระสงฆ์ เรานิยม เรียกว่า ทำบุญ ถ้าให้เพื่อมุ่งสงเคราะผู้รับ เช่น ให้สิ่งของแก่คนยากจน คนทั่วไป ด้วยความสงสาร เรียกว่า ทำทาน
ทาน - เป็นการให้สิ่งของที่ควรแก่ผู้ที่ควรให้ สิ่งของที่ควรให้ เรียกว่า ทานวัตถุ หรือ ไทยทาน หรือ ไทยธรรม มีอยู่ ๑๐ อย่างคือ อาหาร นํ้า เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ มาลัยและดอกไม้ ของหอม (ธูปเทียน) เครื่องลูบไล้ (สบู่ เป็นต้น) ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีป (ไฟฟ้า) ทานวัตถุเหล่านี้มีแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษภัยแก่ผู้รับ จึงมีอานิสงส์มาก ผู้ให้ เรียกว่า ทานบดี
ทาน - ทำให้เกิดบุญได้ เพราะทันทีที่ใจได้สติ เกิดกำลังมากพอถึงกับสละทานวัตถุได้ ใจก็กลับเข้ามาบรรจบกับธรรม ซึ่งเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ภายในของตนเอง จึงเกิดเป็นดวงบุญสว่างขึ้นโดยอัติโนมัติ ณ ศูนย์กลางใจ เช่นเดียวกับไฟฟ้าขั้วบวกกับขั้วลบหากมาบรรจบกันก็เกิดประกายสว่างขึ้นฉะนั้น แล้วบุญที่เกิดขึ้นนี้ ก็ทำหน้าที่ฆ่าโลภะกิเลสทันที เหมือนแสงสว่างของดวงอาทิตย์ หรือดวงประทีป เมื่อปรากฎขึ้น ย่อมฆ่าความมืดให้หมดหรือลดลงไปฉะนั้น
ทาน - จะบังเกิดผลเป็นบุญมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ
๑.วัตถุ คือของที่จะให้ต้องเป็นของที่ตนได้มาโดยทางสุจริต
๒.เจตนา คือความตั้งใจในการทำว่า มุ่งเพื่อชำระกิเลส หรือปรับปรุงแต่งจิตให้สะอาดเป็นหลัก
๓.บุคคล คือตัวผู้ให้ต้องบริสุทธิ์ มีศีล อย่างน้อยศีล ๕ และผู้รับก็ยิ่งต้องมีศีลบริสุทธิสมเพศภาวะของตน
ทาน - มีผลแก่ผู้ให้โดยตรงคือ ฆ่าความตระหนี่ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว และทำให้ทานบดีนั้นกลายเป็นคนโอบอ้อมอารีตามไปด้วย
ทาน- มีผลน่าชื่นใจ หรืออานิสงส์ทั้งโลกนี้ โลกหน้าต่อไปอีกแก่ทานบดี ๗ ประการ คือ พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อได้โอกาส
๑. ย่อมอนุเคราะห์
๒. ย่อมเข้าไปหา
๓. ย่อมรับทาน
๔. ย่อมแสดงธรรมแก่ทานบดีก่อนคนทั้งหลาย
๕. กิตติศัพท์อันงามย่อมฟุ้งกระจาย
๖. เข้าไปในบริษัทใด ๆ ย่อมแกล้วกล้าไม่เก้อเขิน
๗. ตายแล้วย่อมไปเกิดในสวรรค์
ศีลคืออะไร
ศีล แปลว่า ปกติ สงบเย็น ในทางปฎิบัติ หมายถึง การงดเว้นจากการประพฤติผิดทางกาย และวาจา การควบคุมกายวาจาให้เรียบร้อยงดงามให้ปราศจากความมัวหมอง ไม่ให้ผิดปกติธรรมดา รวมแล้วคือ การไม่พูดผิดทำผิด
ศีล - ระดับต้น คือ ศีล ๕ ซึ่งเป็นของคนทั่วไป
ระดับกลาง คือ ศีล ๘ ของอุบาสก อุบาสิกา และศีล ๑๐ ของสามเณร
ระดับสูง คือ ศีล ๒๒๗ ของพระภิกษุ และศีล ๓๑๑ ของภิกษุณี
ศีล - เมื่อรักษาได้ย่อมเกิดบุญขึ้น เพราะทันทีที่หักห้ามยับยั้งชั่งใจ เห็นแก่ใจตนเองว่าบุคคล สิ่งของภายนอกไม่สำคัญกว่าความดีของตนเอง ใจจึงได้สติ เกิดกำลังใจมากพอ เข้าควบคุมการพูด การทำ ไม่ให้วิปริตผิดปกติธรรมดา ใจก็กลับเข้ามาบรรจบกับธรรม ซึ่งเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ภายในตนเอง จึงเกิดเป็นดวงบุญสว่างขึ้นโดยอัตโนมิติ ณ ศูนย์กลางใจ เช่นเดียวกับไฟฟ้า ขั้วบวกกับขั้วลบหากมาบรรจบกันก็เกิดประกายสว่างขึ้นฉะนั้น บุญที่เกิดขึ้นนี้ ก็ทำหน้าที่ฆ่าโทสะกิเลสทันที เหมือนแสงสว่างของดวงอาทิตย์ หรือดวงประทีป เมื่อปรากฏขึ้น ย่อมฆ่าความมืดให้หมดหรือลดลงไปฉะนั้น
ศีล - เป็นเหตุให้คนอยู่กันเป็นปกติ ใม่เบียดเบียนกัน ไม่ฆ่ากัน ไม่ลักขโมยของกันและกัน เป็นต้น แล้วเป็นผลให้นำความสงบมาให้ผู้รักษา ทำหน้าที่ควบคุมพลโลกให้เรียบร้อย จึงเป็นที่มาแห่งความสงบสุข
ศีล - มีผลแก่ผู้รักษาโดยตรงคือ ทำให้เป็นคนสะอาดกายและวาจา เป็นการตัดเวร ตัดภัย ควบคุมกำกับโทสะไว้ไม่ให้มีโอกาสกำเริบได้
ศีล - มีผลน่าชื่นใจ หรืออานิสงส์ต่อไปอีกทั้งโลกนี้ โลกหน้าแก่ผู้รักษาศีลเอง คือ
๑.ย่อมมีโภคทรัพย์มาก
๒. กิตติศัพท์อันงามย่อมขจรไป
๓. เข้าใปในบริษัทใด ๆ ย่อมแกล้วกล้าไม่เก้อเขิน
๔. ย่อมไม่หลงลืมสติตาย
๕. ตายแล้วย่อมใปเกิดในสวรรค์
ภาวนาคืออะไร
ภาวนา แปลว่า การเจริญ การอบรม การทำให้มี ให้เป็นขึ้น หมายถึง การทำใจให้สงบ และทำปัญญาให้เกิดขึ้น ด้วยการฝึกฝนอบรมจิตไปตามแบบที่ท่านผู้รู้กำหนดไว้ ซึ่งเรียกชื่อไปต่าง ๆ กัน เช่น การบำเพ็ญกรรมฐาน การทำสมาธิ การเจริญภาวนา การเจริญจิตตภาวนา ฯลฯ
ภาวนา - ในทางปฎิบัติท่านแบ่งไว้ ๒ แบบใหญ่ ๆ คือ
๑. สมถภาวนา การอบรมใจให้สงบ เรียกว่า จิตตภาวนา หรือสมาธิภาวนาก็ได้
๒. วิปัสสนาภาวนา การอบรมใจให้เกิดปัญญา เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน หรือปัญญาภาวนาก็ได้เป็นขั้นตอนต่อจากสมาธิของผู้ที่เข้าถึงธรรมกายแล้ว
ภาวนา - เมื่ออบรมอย่างจริงจังย่อมเกิดบุญขึ้นอย่างมากมาย เพราะเป็นการอบรมใจให้กลับมา สงบ หยุดนิ่ง ณ ศูนย์กลางกายอย่างต่อเนื่องจริงจัง ใจจึงมีสติกำกับอย่างต่อเนื่อง และมีกำลังมากพอที่จะประคับประคองใจให้เข้ามาถึงธรรม เข้าไปอยู่ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมครั้งละนาน ๆ เป็นชั่วโมง ๆ เป็นวัน ๆ เสมือนนำไข่แดง คือใจสอดเข้าไปไว้ในไข่ขาว คือ ธรรม ซึ่งเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ภายในตน จึงเกิดเป็นดวงบุญสว่างไสวต่อเนื่องกันโดยอัตโนมัติ ณ ศูนย์กลางใจ เช่นเดียวกับไฟฟ้าขั้วบวกกับขั้วลบหากมาบรรจบกันก็เกิดประกายสว่างขึ้น ฉะนั้น เนื่องจากใจเข้าไปอยู่กลางดวงธรรมอย่างต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมง เป็นวันๆ สำหรับผู้เจริญสมถภาวนา และเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปี สำหรับผู้เจริญวิปัสสนา อันเนื่องจากเข้าถึงธรรมกายแล้ว บุญอันมหาศาลเหล่านี้เอง ก็ทำหน้าที่กำจัดฆ่าโมหะกิเลสซึ่งเป็นกิเลสที่ร้ายแรงที่สุด ตลอดจนกิเลสต่าง ๆ ทุกชนิด อย่างไม่ลดละ เสมือนแสงอาทิตย์ยามเที่ยง กระหน่ำฆ่าความมืดที่ห่อหุ้มโลกลงฉะนั้น
ภาวนา - จะบังเกิดบุญมากหรือน้อยจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำใจให้หยุดนิ่งสนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมได้นานเท่าใด ถ้านิ่งสนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียวได้ถาวรตลอดไป กิเลสทุกชนิดย่อมถูกกำจัดจนหมดสิ้นไปด้วย ใจผู้นั้นย่อมบรรลุพระนิพพาน เสวยแต่บรมสุขตลอดไป ท่านผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าพระอรหันต์
ภาวนา - จึงไม่ใช่งานของคนแก่ เป็นงานของทุก ๆ คนที่ต้องการปัญญา ความพ้นทุกข์ และความสุขสงบอย่างถาวรแท้จริง
สรุป
การทำบุญทุกชนิดไม่ว่าน้อยหรือใหญ่ ล้วนเป็นการต่อต้าน ทำลาย กำจัดกิเลสด้วยกันทั้งนั้น เมื่อฝ่ายบาปจัดทัพกิเลสมารุกรานโจมตีใจถึง ๓ ทัพ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้ชาวโลก จัดกองทัพธรรมขึ้นต่อต้าน ทำลาย ล้างผลาญกิเลสให้สิ้นซาก ด้วยการแบ่งเป็น ๓ ทัพ เช่นกัน โดยกำหนดให้กองทัพทานทำลายล้างโลภะ กองทัพศีลทำลายล้างโทสะ กองทัพภาวนาทำลายล้างโมหะโดยมีพื้นที่ในใจของตนเองเป็นสนามรบ
เชิงอรรถ
1 นำมาจากหนังสือ ก่อนไปวัด โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว) ฉบับปรับปรุงโดยฝ่ายวิชาการวัดพระธรรมกาย