คุณของพระรัตนตรัย

วันที่ 29 กย. พ.ศ.2563

29-9-63-6-b.jpg

คุณของพระรัตนตรัย

               คุณของพระรัตนตรัย เป็นที่กล่าวขานกันมานานนับพันปี ตั้งแต่สมัยที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ในสมัยนั้นชนทุกหมู่เหล่า ทุกวรรณะ เคยได้ยินได้ฟังคุณของพระรัตนตรัยกันทั้งนั้น เมื่อใดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดำเนินไปยังเมืองใดก็ตาม คุณของพระรัตนตรัยจะได้รับการประกาศแซ่ซ้องไปทั่วทั้งเมืองนั้น ๆ ยังความเลื่อมใสศรัทธาให้บังเกิดขึ้นในดวงใจของพุทธศาสนิกชน ยิ่งเมื่อได้ฟังธรรมหรือบรรลุธรรมในระดับต่าง ๆ ด้วยแล้ว ความศรัทธาก็ยิ่งเพิ่มพูนพับทวี และพร้อมยอมรับนับถือว่าจะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดตลอดชีวิต

       

               พระรัตนตรัยมีคุณอันไม่มีประมาณ จึงควรที่พุทธศาสนิกชนจะได้ศึกษาให้กระจ่างถึงคุณเหล่านี้

 

พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ


                ใน "มหานามสูตร"1  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องคุณของพระรัตนตรัย คือพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณไว้ดังนี้

 

คุณพระรัตนตรัย2

              คำว่า "คุณ" หมายความว่า ความดี ความงาม ที่ควรเทิดทูน ควรเคารพบูชา แต่ว่าในปัจจุบัน เราใช้คำว่า "คุณ" กันใน ๒ ความหมายคือ

๑. หมายถึง ความดี ความงาม
๒.หมายถึง คุณประโยชน์

               เพราะฉะนั้น ถ้าเราเรียก คุณ ก. มีความหมายว่า นาย ก. เป็นผู้ที่มีความดี ความงาม และเป็นผู้มีคุณประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและสังคม ไม่ใช่คนเลวร้ายอะไร

              ใครก็ตามที่เราไม่แน่ใจว่าเขาเป็นคนดีหรือเลว มีคุณความดีหรือไม่ เราไม่รู้ ไม่มั่นใจ เราก็จะเรียกแต่ชื่อของเขาโดยตรง หรือถ้าจะมีคำนำหน้าก็เพียงแสดงเพศ เช่น นาย ก.  นาง ข.

              แต่ถ้าแน่ใจว่าคน ๆ นั้นเป็นคนเลวล่ะก็ แน่นอนเลย คำว่า คุณ เขาก็ไม่ใช้แล้ว แค่คำบอกเพศเป็นหญิงเป็นชายก็ยังสูงเกินไปเสียแล้วสำหรับคนพรรค์นั้น เขาก็อาจจะเรียก ไอ้ ก.  อี ข. หรือ นักโทษชาย ก. นักโทษหญิง ข. ก็ได้

               แต่การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้รับความเคารพ ไม่ใช่เพราะพระองค์เป็นลูกกษัตริย์ ไม่ใช่คุณความดีของบรรพบุรุษที่มีสืบทอดกันมา แต่เป็นเพราะคุณความดีของพระองค์เอง และคุณความดีนั้นยิ่งใหญ่ไพศาล จนเทวดา พระอินทร์ที่เป็นใหญ่ แม้แต่พระพรหมรวมทั้งมนุษย์ทั้งโลกก็ให้ความเคารพท่าน และเหตุที่ทำให้พระองค์ทรงมีคุณงามความดีเกิดขึ้นในตัวของพระองค์คือ เหตุที่พระองค์สละราชสมบัติออกบรรพชา ไม่ได้ทรงออกบวชตามธรรมดา แต่ทรงออกบวชด้วยมหาวิริยะ คือความเพียรอันแรงกล้า เพียรหาทางดับกิเลส เพียรค้นคว้าหาทางตรัสรู้ธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่พระองค์ทรงทำความเพียรทางจิตด้วยวิธีต่าง ๆ นานาประการ ที่ถือว่าวิเศษและนิยมกันในยุคนั้นอย่างเอาชีวิตเข้าแลกทีเดียว แต่ปรากฎว่าไม่ได้ผล ในที่สุดพระองค์ก็ทรงค้นพบวิธีกลั่นพระทัยของพระองค์ให้ใส จนกระทั่งสามารถทำกิเลสให้หมดสิ้นไปได้สำเร็จ

               สรุปได้ว่า เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงมีคุณงามความดี ถึงขั้นที่แม้กระทั่งเทวดา พระอินทร์ พระพรหมยังต้องให้ความเคารพก็คือ

อันดับที่ ๑ การออกบวช

อันดับที่ ๒ การทุ่มเททำความเพียรทางจิต ทรงตั้งพระทัยทำสมาธิ จนกระทั่ง
 

              พระทัยของพระองค์สามารถหยุดนิ่ง ณ ศูนย์กลางกายและบรรลุธรรมกายจนสามารถปราบกิเลสให้หมดสิ้นไป หรือที่เรียกว่าบรรลุโพธิญาณ (โพธิญาณ คือ ปัญญาการตรัสรู้ธรรม หมายถึง รู้แจ้งธรรมทั้งหลายตรงตามความเป็นจริง)

 

              ส่วนคำว่า "รัตนตรัย" แบ่งออกเป็น ๒ คือ "รัตนะ" และ "ตรัย"  รัตนะ แปลว่า แก้ว, ตรัย แปลว่า สาม  รัตนตรัยจึง หมายถึง แก้ว ๓ ประการ หรือแก้ว ๓ ดวง ได้แก่ พุทธรัตนะ แก้วคือพระพุทธ  ธรรมรัตนะ แก้วคือพระธรรม และ  สังฆรัตนะ แก้วคือพระสงฆ์

               การนำพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มาเปรียบด้วยแก้ว เพราะแก้วเป็นวัตถุทำความยินดีให้บังเกิดแก่เจ้าของผู้ปกครองรักษา ถ้าผู้ใดมีแก้วมีเพชรไว้ในบ้านในเรือนมากผู้นั้นก็อิ่มใจดีใจด้วยคิดว่า เราไม่ใช่คนจน ปลื้มใจของตนด้วยความมั่งมี แม้คนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของเล่าเห็นแก้วเห็นเพชรเข้าแล้ว ที่จะไม่ยินดีไม่ชอบนั้นเป็นอันไม่มี ต้องยินดีต้องชอบด้วยกันทั้งนั้น ฉันใด รัตนตรัยแก้วสามดวงคือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะทั้งสามนี้ ก็เป็นที่ยินดีปลื้มใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายฉันนั้น

                ส่วนในทางปฎิบัติ หมายเอา พระพุทธที่เป็นแก้ว คือ ธรรมกาย พระธรรมที่เป็นแก้ว คือดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย และพระสงฆ์ที่เป็นแก้ว คือ ธรรมกายละเอียด

 

พระพุทธคุณ ๙


                "อริยสาวกในพระศาสนานี้ ย่อมระลึกถึงพระตถาคตเนือง ๆ ว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ  พระผู้พระภาคเจ้าพระองค์นั้น
(๑) เป็นพระอรหันต์ (อรหัง)
(๒) ตรัสรู้เองโดยชอบ (สัมมาสัมพุทโธ)
(๓) ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ (วิชชาจรณสัมปันโน)
(๔) เสด็จไปดีแล้ว (สุคโต)
(๕) ทรงรู้แจ้งโลก (โลกวิทู)
(๖) เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า (อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ)
(๗) เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย (สัตถา เทวมนุสสานัง)
(๘) เป็นผู้เบิกบานแล้ว (พุทโธ)
(๙) เป็นผู้จำแนกธรรม (ภควา)"

 

พระธรรมคุณ๖


"อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระธรรมเนือง ๆ ว่า
(๑) พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว (สวากขาโต ภควตา ธัมโม)
(๒) อันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง (สันทิฎฐิโก)
(๓) ไม่ประกอบด้วยกาล (อกาลิโก)
(๔) ควรเรียกให้ดู (เอหิปัสสิโก)
(๕) ควรน้อมเข้ามา (โอปนยิโก)
(๖) อันวิญญชนจะพึงรู้เฉพาะตน (ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ)"

 

พระสังฆคุณ ๙


"อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระสงฆ์เนือง ๆ ว่า
(๑)สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฎิบัติดีแล้ว (สุปฎิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ)
(๒) เป็นผู้ปฎิบัติตรงแล้ว (อุชุปฎิปันโน)
(๓) เป็นผู้ปฎิบัติเพื่อญายธรรม (ญายปฏิปันโน)
(๔) เป็นผู้ปฏิบัติชอบ (สามีจิปฏิปันโน)
นี้คือคู่บุรุษ ๔ บุรุษ บุคคล ๘ นั่นคือสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
(๕) เป็นผู้ควรของคำนับ (อาหุเนยโย)
(๖) ควรของต้อนรับ (ปาหุเนยโย)
(๗) ควรของทำบุญ (ทักขิเณยโย)
(๘) ควรกระทำอัญชลี (อัญชลีกรณีโย)
(๙) เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า (อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ)"

 

สรุป


                   พระรัตนตรัยมีคุณยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณดังที่กล่าวมาแล้ว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระรัตนตรัยที่เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงซึ่งอยู่ภายในตัวของเรา ที่ชาวพุทธทั้งหลายควรฝึกตนให้เข้าถึงให้จงได้ ดังที่พระมงคลเทพมุนีท่านได้เทศนาเอาไว้ว่า

 

                  "พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะทั้ง ๓ ประการนี้ เกี่ยวเนื่องเป็นอันเดียวนั้นเกี่ยวกันอย่างนี้ จะพรากจากกันไม่ได้  ผู้ใดเข้าถึงพุทธรัตนะ ก็ได้ชื่อว่า เข้าถึงธรรมรัตนะ สังฆรัตนะด้วย

 

                   การเข้าถึงรัตนะ ๓ ดังกล่าวมานี้ จะเข้าถึงได้อย่างไร เพียงแต่เลื่อมใสนับถือ ยังไม่เรียกว่าเข้าถึง แม้จะท่องบ่นน้อมใจระลึกถึงก็ยังไม่เรียกว่าเข้าถึง แม้จะปฏิญาณตนว่ายอมเป็นข้า ก็ยังไม่เรียกว่าเข้าถึง อย่างมากจะเรียกได้ก็เพียง ขอถึง

 

                     การที่จะเข้าถึงนั้น จำเป็นจะต้องบำเพ็ญเพียรปฏิบัติเจริญรอยตามปฏิปทาของพระบรมศาสดาจนบรรลุกายธรรม คือ รู้จริงเห็นแจ้งด้วยตัวของตัวเอง จึงจะได้ชื่อว่า เข้าถึงพระรัตนตรัยโดยแท้ และการปฏิบัติเช่นนี้ ไม่เป็นการพ้นวิสัยของมนุษย์ เพราะในปัจจุบันนี้ มีผู้ที่ได้บำเพ็ญบรรลุธรรมกายก็มีอยู่มากหลาย ผู้ที่ได้ธรรมกายแล้วเขามีความอิ่มเอิบและสุขกายสุขใจเพียงไหน ถามเขาดูได้ เพื่อได้ทราบว่าการเข้าถึงพระรัตนตรัยมีผลอย่างไร ผิดกว่าที่ยังมิได้เข้าถึงอย่างไร ทั้งจะได้รู้ด้วยว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นหลักคำสอนของพระบรมศาสดามีความจริงแค่ไหน"

 

เชิงอรรถ
1 มก. อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต เล่ม ๓๖ หน้า ๕๒๙

2 คัดและเรียบเรียงจากหนังสือ "พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดย พระภาวนาวิริยคุณ

 

จบบทที่ 5

จบหนังสือเรียนพระไตรปิฎกศึกษา ชั้นตรี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.041861498355865 Mins