สามัญญผลเบื้องสูง...เข้าถึงคุณวิเศษและขจัดกิเลสไปตามลำดับ

วันที่ 03 มีค. พ.ศ.2563

สามัญญผลเบื้องสูง...เข้าถึงคุณวิเศษและขจัดกิเลสไปตามลำดับ

 

                   ในลำดับนั้นเอง พระพุทธองค์จึงทรงแสดงสามัญญผลที่ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น จนถึงขั้นสูงสุด อันได้แก่ วิชชา ๘ ประการซึ่งเป็นการเข้าถึงคุณวิเศษต่าง ๆ และบรรลุมรรคผลไปตามลำดับ ตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี จนกระทั่งขจัดกิเลสจนหมดสิ้นเป็นพระอรหันต์ในที่สุด ซึ่งผู้ที่จะเข้าถึงวิชชา ๘ ประการนี้ได้


                   จิต ของผู้นั้น ต้องมีความตั้งมั่นในระดับ ฌานสมาบัติดังที่พระพทุธองค์ตรัสแสดงไว้ว่า “เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้” จากนั้นจึงค่อยน้อมใจไปเพื่อวิชชา ๘ ประการ อันได้แก่


                   ๑) วิปัสสนาญาณ

                   ๒) มโนมยิทธิญาณ เนรมิตกายที่เกิดแต่ใจ                                                                                     ๓) อิทธิวิธญาณ แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง

                   ๔) ทิพพโสตธาตุญาณได้ยินเสียงด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์

                   ๕) เจโตปริยญาณกำหนดรู้จิตของสัตว์และคนอื่นด้วยจิตของตน

                   ๖) ปุพเพนิวาสานุส สติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ

                   ๗) จุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติและกำลังเกิด

                   ๘) อาสวักขยญาณ

 

                    สำหรับวิชชา ๘ ประการสุดท้าย คือ อาสวักขยญาณ เมื่อผู้เจริญสมาธิภาวนา สามารถประคองจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ยิ่งขึ้นต่อไปอีก จิตย่อมบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสและอุปกิเลส จิตจึงผ่องแผ้วสว่างไสวถึงที่สุด ยังผลให้บรรลุญาณหยั่งรู้อริยสัจ ๔ รู้ว่าจิตของตนหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวงแล้ว นั่นคือ     บรรลุอรหัตตผลซึ่งเป็นสามัญญผลขั้นสูงสุด ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระเจ้าอชาตศัตรูดังนี้

 

                 “เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธนี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อ
จิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

 

               อานิสงส์หรือสามัญญผลในข้อนี้เอง เป็นผลของการบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาขั้นสูงสุด ประณีตที่สุด ก้าวล่วงจากสมมติสงฆ์เข้าสู่ภูมิของพระอริยสงฆ์ เป็นพระสงฆ์สาวกผู้สมควรกับสังฆคุณทั้ง
๙ ประการ สมดังพุทธดำรัสที่ว่า “ไม่มีผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์อย่างอื่นที่ยอดเยี่ยมกว่าหรือประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์นี้เลย”

 

         "อานิสงส์ขั้นสูงสุดของการบวชในพระพุทธศาสนา ย่อมทำให้ผู้บวช
ก้าวล่วงจากสมมติสงฆ์เข้าสู่ความเป็นพระอริยสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ"

 

เชิงอรรถ อ้างอิง

๑ ศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดของ วิชชา ๘ ได้ใน ที.สี. ๙/๒๓๔-๒๔๙/๗๗-๘๔ (แปล.มจร)

๒ ที.สี. ๙/๒๔๘/๘๔ (แปล.มจร)
๓ ที.สี. ๙/๒๔๙/๘๔ (แปล.มจร)

 

                                                         จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3 

โดยคุณครูไม่เล็ก

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.03473094701767 Mins