บวชเพื่อถางทางไปพระนิพพาน

วันที่ 08 เมย. พ.ศ.2563

บวชเพื่อถางทางไปพระนิพพาน

บวชเพื่อถางทางไปพระนิพพาน

      หลวงพ่อขอให้ท่านนึกย้อนกลับไปถึงวันแรกที่บวช พวกท่านทุกรูปได้ปฏิญาณกันต่อหน้าพระประธาน ต่อหน้าพระอุปัชฌาย์และต่อหน้าคณะสงฆ์ทั้ง ๒๐ รูป ว่า
      “สัพพะทุกขะ นิสสะระณะ, นิพพานะ สัจฉิกะระณัตถายะ
        อิมัง กาสาวัง คะเหตวา ปัพพาเซถะ มัง ภันเต”

       แปลว่า “ข้าแต่พระอุปัชฌาย์ผู้เจริญ ขอท่านจงรับเอาผ้ากาสาวะ แล้วบวชให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด เพื่อข้าพเจ้าจะได้ประพฤติปฏิบัติกำจัดทุกข์ทั้งปวงให้สิ้นไป และกระทำพระนิพพานให้แจ้ง”
        เพราะเราปฏิญาณว่าจะบวชเพื่อกำจัดทุกข์ให้สิ้นไปนี้เองพระอุปัชฌาย์จึงยอมบวชให้ ขอให้จำฝังใจไว้ให้ดีว่า ไม่ว่าจะบวชระยะสั้นแค่พรรษาเดียว หรือบวชตลอดชีวิตก็ตาม เป้าหมายการบวชที่แท้จริง คือ การบวชเพื่อกำจัดทุกข์ไม่ใช่บวชเพื่อเล่นไม่ใช่บวชเพื่อเอาสนุก หรือบวชตามประเพณี แต่บวชแล้วต้องเอาจริงเอาจังมุ่งไปพระนิพพานด้วยการฝึกฝนอบรมตนเองตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
      เราอาศัยพระธรรมวินัยปฏิบัติตนเพื่อขจัดกิเลสในตัวให้หมดสิ้นไปได้เมื่อไหร่ ทุกข์ก็หมดสิ้นไปได้เมื่อนั้น แล้วก็เห็นพระนิพพานแจ้งสว่างโร่ในที่สุดโดยอัตโนมัติ
      ถ้าถามว่า พระนิพพานมีลักษณะเป็นอย่างไร ?
       หลวงปู่ หลวงทวด ท่านตอบไว้ชัดเจนว่า “ลูกเอ๊ย ก้มหน้าก้มตาปฏิบัติไปเถอะ ถ้าดับทุกข์ไปได้มากเท่าไหร่ ก็รู้แจ้ง เห็นแจ้งไปตามลำดับชัดมากขึ้นเท่านั้น ว่าพระนิพพานมีลักษณะเป็นอย่างไรอย่ามัวเสียเวลาไปเถียงกันว่า นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตาเลยนะลูกนะ”
     เนื่องจากการกำจัดกิเลสกำจัดทุกข์ให้หมดไปนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแล้วยังมีลักษณะเฉพาะอีกว่า กิเลสนั้นพอกำจัดหมดปุ๊บ เผลอปั๊บกิเลสก็งอกขึ้นมาใหม่อีก เหมือนหญ้าแพรกหญ้าคา จึงต้องกำจัดกิเลสกันทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าเปรียบการเข้าไปรู้แจ้งเห็นแจ้งในพระนิพพานกับการเดินทาง ก็เปรียบเสมือนเดินบนเส้นทางที่ยาวไกลที่แสนจะรกทึบ ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนอบรมตนเองข้ามภพข้ามชาติบางครั้งหลวงปู หลวงทวดท่านถึงกับรำพึงว่า “การบวชเหมือนถางทางไปพระนิพพาน”
     ทำไมท่านจึงใช้คำว่า “ถางทาง” กับการทำพระนิพพานให้แจ้ง
     มันมีอะไรเป็นความรกขวางทางอยู่หรือ ถึงต้องมาถากมาถางออกไปให้เตียน
     คำว่า “ถางทาง” เป็นคำอุปมาเปรียบเทียบที่แสดงออกถึงความเอาจริงเอาจังในการสร้างหนทางสายใดสายหนึ่ง เพื่อไปให้ถึงที่หมาย
      เราเรียนกันมาแล้วใน “นวโกวาท” ว่าทันทีที่เกิดมา แต่ละคนก็มีสิ่งหนึ่งฝังอยู่ในใจเราแล้ว ต่างกันแต่ว่า ใครจะมีอยู่มากน้อยกว่ากันแค่ไหน สิ่งนี้มันเป็นความรกอยู่ภายในใจของทุกคน ซึ่งทางธรรมเรียกว่า กิเลส
       กิเลสเป็นเสมือนวัชพืชหรือป่ารกที่อยู่ในใจ
     กิเลสมีความรกขนาดไหนจึงขวางทางไปพระนิพพานได้ ?

      หลวงปู่หลวงทวดท่านพูดเป็นเชิงเปรียบเทียบไว้ว่า แม้เอาความรกของป่าทั้งหลายในโลกนี้มารวมกัน ก็ไม่รกทึบเท่ากับป่ากิเลสที่อยู่ในใจของแต่ละคน
      นี่คือ ดีกรีความรกของกิเลสที่ขวางทางไปพระนิพพาน
        การที่ใครจะสามารถทำพระนิพพานให้แจ้งได้ ก็ต้องชุดรากถอนโคนป่ากิเลสในใจออกไปให้หมดสิ้น จนกระทั่งมันไม่สามารถงอกกลับคืนมาใหม่ได้อีก
      ดังนั้น ใครก็ตามที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาแล้ว หากจะเป็นพระแท้ให้สมเจตนาในการบวช จึงต้องเอาจริงในการฝึกฝนอบรมตนเองตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด จะทำเหยาะๆ แหยะๆไม่ได้ เพราะงานสำคัญที่สุดในชีวิตนักบวช ก็คือ งานถางกิเลสออกจากใจไปพระนิพพาน
     ผู้ที่เอาจริงเท่านั้น จึงสามารถถางป่ากิเลสออกจากใจ แล้วเปิดหนทางไปพระนิพพานให้ตัวเองได้สำเร็จ
     ถ้าจะถามต่ออีกว่า แล้วพระนิพพานอยู่ที่ไหนหลวงปู่ หลวงทวดท่านก็ตอบยิ้มๆ ว่า “ก็อยู่ในด้วคุณเองนั่นแหละ ก้มหน้าก้มตาถางทางเร็วเข้าเถอะ”

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.037915849685669 Mins