เดินออกจาก ภาวะหมดไฟ

วันที่ 16 เมย. พ.ศ.2563

เดินออกจาก ภาวะหมดไฟ

                    ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ ข้าราชการ พนักงานบริษัท หรือประกอบอาชีพอิสระ ไม่ว่าจะทำงานอยู่ในตำแหน่งใด ผู้บริหารระดับสูง ระดับกลาง หรือพนักงานทั่วไป เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอกับภาวะเบื่องาน รู้สึกเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า หมดแรงกายแรงใจ และไม่อยากไปทำงาน แถมยังมีภาวะอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดโมโหง่ายอีกด้วย ถ้าเราต้องประสบกับภาวะเหล่านี้ แสดงว่า นี่เป็นสัญญาณการเผชิญกับ "ภาวะหมดไฟ" เพราะฉะนั้น เรามาดูกันว่า ถ้ากำลังเผชิญกับภาวะหมดไฟ เราควรป้องกันและแก้ไขภาวะนี้อย่างไร


"Burn-Out Syndrome” ภาวะหมดไฟ


                  "ภาวะหมดไฟ" หรือต่างประเทศเรียกว่า "Burn-Out Syndrome" แต่ในเมืองไทยนั้นยังไม่มีศัพท์เฉพาะ อาการที่พบได้บ่อย คือ เกิดภาวะเบื่อ ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน รู้สึกเหนื่อยล้า ตื่นเช้าขึ้นมาเหมือนพักผ่อนไม่เต็มที่ กลางคืนนอนไม่ค่อยหลับ เวลาทำงานจึงขาดสมาธิ จนบางครั้งทำให้ผลงานลดลงไปด้วย


                  อาการเหล่านี้ เป็นภาวะที่สามารถเกิดกับคนเราได้ตลอดทุกช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาเรียน ช่วงเวลาทำงานจนกระทั่งช่วงเวลาเกษียณอายุเราก็มีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้เหมือนกัน เท่ากับว่าอัตราอาการ "Burn-Out Syndrome" เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง เพียงแต่เรายังไม่รู้จักโรคนี้ดีพอเท่านั้น เรียกง่าย ๆ ว่า เป็นธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นได้กับคนทำงานทั่วไป
 


                  "ภาวะหมดไฟ" หรือ "Burn-Out Syndrome" ประกอบไปด้วย "ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์" เราจะรู้สึกเหมือนหมดแรงใจในการทำงาน รู้สึกหมดไฟเอาดื้อ ๆ ไม่มีความกระตือรือร้น ไม่มีใจจะทำอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งแรกที่เราจะสามารถสังเกตตนเองได้


                   กลุ่มอาการต่อไปอยู่ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องของบุคคล ความรู้สึกดีต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อลูกค้า ต่อคนที่เราสัมพันธ์ด้วย เหมือนกับว่าความสัมพันธ์เหล่านี้เริ่มหายไป เรื่องต่าง ๆ
ที่ดีต่อกันระหว่างบุคคลต่อบุคคลในครอบครัวหายไป เกิดความรู้สึกไม่อยากเอาใจใส่ หรือบางทีอยากจะละเลยเฉยเมยไปดื้อ ๆ กระทั่งลูกค้าที่เข้ามารับบริการกับเรา ก็ไม่เต็มใจจะให้บริการ กลายเป็นคนแล้งไร้น้ำใจไปเลยก็มี


                   สุดท้ายความสูญเสียเกิดขึ้น คือ ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จ เพราะเกิดความรู้สึกว่า "ตนเองด้อยประสิทธิภาพ แล้วเริ่มมองตนเองในด้านลบ"
 

                   มีการทำสถิติในคนวัยทำงานว่า จะมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ตั้งเเต่ 15-50% ของคนวัยทำงานทั้งหมด เพราะฉะนั้น เราทุกคนมีโอกาสเป็นโรคเข้าสู่ภาวะหมดไฟถึงครึ่งหนึ่งเลยที่เดียว


                   ภาวะหมดไฟ นอกจากส่งผลต่อตนเองและงานที่ทำแล้ว สิ่งหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้น คือ การสูญเสียความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กลายเป็นคนขี้หงุดหงิด และมักจะแสดงสีหน้าไม่อยากเจอใคร ในด้านของความคิดริเริ่มและการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ จะไม่เกิดขึ้น สุดท้ายอาจจะนำไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งถ้าถึงจุดนั้นแล้ว ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำงานต่อไปได้


                  บางคนรู้สึกไม่อยากไปทำงาน มีอาการที่เรียกว่า "ป่วยการเมือง" นี่ก็ถือว่าเป็นภาวะ "Burn-Out Syndrome" เช่นกัน คนที่ไม่อยากไปทำงาน ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดภาวะขาดแรงจูงใจ พอถึงจุดหนึ่งจะกระทบความสัมพันธ์ทุกอย่างรอบด้าน ซึ่งไม่มีอะไรดีเลย


                  ภาวะหมดไฟนั้นอาจจะนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ ซึ่ง "โรคซึมเศร้า" นั้นมีสาเหตุมาจากเกิดการสูญเสียและความผิดหวัง  ส่วน "โรคเครียด" นั้นมีสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดขึ้นมาอย่างชัดเจน

                 แต่ "ภาวะหมดไฟ" หรือ "Burn-Out Syndrome"  เกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่เราทำงานมากเกินไป แล้วขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ รวมทั้งไม่สามารถแบ่งเวลาได้เหมาะสม จนเกิดภาวะหมกมุ่นอยู่กับงานบางอย่าง หรือหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ตนเองสนใจและอยากจะทำให้สำเร็จ แล้วหมดไฟเนื่องจากทุ่มเทกับบางอย่างมากเกินไปจนเกิดความเครียดสะสม กระทั่งในที่สุดร่างกายรับไม่ได้ เรียกว่า "โอเวอร์โหลด" นั่นเอง


                 บางคนยิ่งทำงานหนัก ยิ่งมีไฟ แต่บางคนยิ่งทำ ยิ่งหมดไฟ สาเหตุหลักที่ทำให้คนเราต่างกัน คือ "การจัดสรรเวลาของตนเอง” รวมทั้งการมองรายละเอียดของงาน คนส่วนใหญ่มักจะแบ่งเวลาไม่เป็น คิดว่าตนเองรับผิดชอบงานนี้แล้ว ก็ต้องทำงานนี้ให้สำเร็จ แล้วเอาเวลาทุ่มลงไปตลอดทั้ง 1 วัน 2 วัน หรือ 1 สัปดาห์ พอทำอย่างนี้ผ่านไป 1 เดือน สภาพร่างกายและจิตใจรับไม่ไหว พอผ่านไป 1 ปี จึงเกิด "ภาวะหมดไฟ" หรือ "Burn-Out Syndrome" เพราะฉะนั้น เราต้องรู้จักแบ่งเวลา จัดสรรกิจวัตร กิจกรรมให้ชัดเจน และต้องมีตารางชีวิตด้วย


เรากำลังเสี่ยงเป็นโรค Burn-Out Syndrome หรือไม่

                 ทุกคนที่อยู่ในสังคมเมือง คนในช่วงวัยนักศึกษา โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ต้องทำงานบางอย่างแบบใช้ทั้งแรงกายแรงใจ หรือใช้ศักยภาพค่อนข้างมาก ได้แก่ สายวิชาชีพทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นครู แพทย์ นักกฎหมาย ต่าง ๆ เหล่านี้ ทั้งหมดมีโอกาสที่จะเกิดโรคนี้ได้ เรียกได้ว่า ทุกคนมีโอกาสเกิดภาวะหมดไฟ “โดยเฉพาะคนที่ทำใจไม่เป็น" แต่ก็ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคนที่เกิดภาวะหมดไฟขึ้นแล้ว คือ ต้องสร้างแรงใจให้ตนเอง แรงใจดี ๆ มาจากหลายอย่าง เช่น คำพูด คำคมที่มาจากตนเอง หรือมาจากคนอื่นรอบข้างที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เป็นต้น


                ในสมัยนี้ มักจะมีการจับกลุ่มกันระหว่างคนที่มีความสนใจร่วมกัน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด ถามตอบข้อสงสัยต่าง ๆ ร่วมกัน พอเราเข้าไปในกลุ่มลักษณะนี้แล้ว เราควรรู้จักถาม รู้จักตอบเวลามีคนอื่นเห็นต่างก็ให้รู้จักรับฟัง แล้วเปิดกว้างยอมรับมุมมองต่าง ๆ ทางความคิดเห็นด้วย


                ปัจจุบันเราอยู่ในสังคมที่ต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ค่อนข้างมาก สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นดึงคลื่นรังสีมาสู่ตัวเรา เพราะฉะนั้น เราจะต้องลงไปสัมผัสกับพื้นดินบ้าง ถ้าเรามีอาการ "Burn-out Syndrome" มีคำแนะนำง่าย ๆ คือ ให้เราถอดรองเท้าแล้วไปเดินบนสนามหญ้าในสวนทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง


                ไม่จำเป็นต้องออนไลน์ตลอดเวลา ปิดโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ บ้าง เช่น ช่วงเวลานอนตอนกลางคืนให้ปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ไปเลย หรือวางอุปกรณ์เหล่านี้ให้ห่างจากตัว คือ ถ้าเราอยู่ชั้นบน ก็วางมันไว้ชั้นล่างของบ้าน รัศมีของคลื่นรังสีต่าง ๆ จะได้ถูกดึงไปไม่ถึงตัวเรานั่นเอง


                ถ้าเราอยู่ในห้องนอน เราควรถอดปลั๊กโทรทัศน์ออก ไม่ต้องเสียบปลั๊กทิ้งไว้ ส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายที่ชาร์จแบตเตอรี่ทิ้งไว้ ไม่ควรไว้ในห้องนอนเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพในระยะยาว


               เพราะฉะนั้น หาเวลาที่เป็นธรรมชาติให้ตนเองบ้าง ออกไปสัมผัสต้นไม้ เหยียบพื้นดินพื้นหญ้า สูดอากาศบริสุทธิ์บ้าง แล้วพอถึงเวลานอน ก็ควรนอนแม้จะไม่ง่วง หรือว่ายังมีงานค้างอยู่มากก็ตามทุกอย่างต้องปิดรับให้หมด คือ "ต้องปิดสวิตช์ตนเองให้เป็น"


จัดระบบชีวิต ถอดปลั๊ก ตัดความเครียด


               เวลาในชีวิตนั้นสำคัญ เพราะฉะนั้น เราควรจัดระเบียบเวลาในชีวิตให้ดี จัดตารางเวลาทั้งหมดของชีวิต เรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง ไม่ลืมที่จะรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของของใช้ส่วนตัว รวมทั้งข้าวของในที่ทำงาน


               ถ้าสิ่งของรอบตัวไม่เป็นระเบียบจนเราชาชินกับเรื่องนี้ไปแล้ว ให้แก้ไขด้วยการถ่ายรูปเอาไว้ แล้วมานั่งวิเคราะห์ว่า สิ่งต่าง ๆ มันเป็นระเบียบดี หรือจัดวางอย่างถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้าเราจัดทุกอย่างให้เป็นระเบียบแล้ว ชีวิตเราจะลงตัว ความสะอาดและความมีระเบียบนั้นมีความสำคัญในชีวิต เพราะข้าวของที่เป็นระเบียบนั้น มีผลต่อสภาพจิตใจที่ทำให้เราเข้าสู่ภาวะหมดไฟได้
 


               คนที่พยายามทำทุกอย่างแล้ว แต่ยังรู้สึกว่าตนเองอ่อนล้า อ่อนแรง ไม่อยากไปทำงาน ต้องหาตัวช่วยโดยลองนำปัญหาของเราไปปรึกษาคนที่จะสามารถตอบคำถามเราได้ ถ้ายังมีอาการ "Burn Out Syndrome" เราอาจจะลองหาเวลาพักจากทุกอย่าง แล้วไปนั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม อยู่กับตนเองบ้าง ผ่านไป 3 วัน 7 วัน เราอาจจะได้คำตอบอะไรบางอย่างก็ได้


               สุดท้ายถ้าปรึกษาใครไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เป็นต้น ซึ่งก็คงเป็นตัวเลือกสุดท้าย หลังจากที่เราได้ลองทำทุกอย่างแล้ว ซึ่งถึงแม้ว่าภาวะหมดไฟในการทำงานดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่วิธีการแก้ไขนั้นไม่ยากเลย "เพียงแก้ที่จิตใจของเราเท่านั้น"

 

จากหนังสือ  24ชม.ที่ฉันหายใจ

โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026468515396118 Mins