ไม่มีเวลา ไม่มีในโลก

วันที่ 14 เมย. พ.ศ.2563

ไม่มีเวลา ไม่มีในโลก

             เวลาเป็นทรัพยากรที่ได้มาฟรี ๆ แต่ก็มีอยู่อย่างจำกัด ใช้แล้วหมดไป ไม่สามารถเก็บสะสมได้ ไม่สามารถขอยืม หรือซื้อหามาได้ ซึ่งเวลายุติธรรมกับทุกคน ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน ทุกคนมีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม บางคนมักจะบ่นว่า "...ไม่มีเวลา"

 

จงอย่าเอา "เวลา" ฆ่าความมีคุณค่าในตนเอง

           ในโลกเรามีคนอยู่ 2 ประเภท ซึ่งแตกต่างกันมาก คนประเภทหนึ่งมักจะพูดว่า "...มีเวลาว่างมาก ไม่รู้จะทำอะไรดี จนต้องหากิจกรรมทำฆ่าเวลา" ในขณะที่คนอีกประเภทหนึ่งมักจะพูดว่า "...งานยุ่งมาก มีเวลาไม่พอ ทำอย่างไรก็บริหารเวลาไม่ลงตัวสักที" อะไรที่ทำให้คนเหล่านี้แตกต่างกัน


           คนที่มักจะพูดว่า "...ฆ่าเวลา" ความจริงเป็นการกระทำที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้เวลาอย่างไม่คุ้มค่า และอาจจะใช้เวลาไปกับสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร "อย่าเอาเวลาฆ่าความมีคุณค่าของตนเอง"


           ส่วนคำว่า "...ไม่มีเวลา" บางครั้งอาจจะเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อผัดผ่อนสิ่งที่ตนเองไม่เห็นความสำคัญ หรือสิ่งที่ยังไม่อยากทำ


             ทั้งข้ออ้างว่า ทำเพื่อ "...ฆ่าเวลา" หรือ ไม่ทำเพราะ "...ไม่มีเวลา" ล้วนเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการใช้เวลาอย่างไม่ถูกต้อง แล้วอาจจะเกิดผลเสียตามมาได้ทุกระยะ ประการสำคัญ คือ กว่าจะรู้ก็สายเกินไป เช่น "กว่าจะรู้ว่าเวลาเข้างานนั้นสำคัญ ก็ตอนที่โดนใบแจ้งเตือนตัดเงินโบนัสประจำปีไปแล้ว" หรือ "กว่าจะเห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย ก็ตอนที่เรานอนอยู่บนเตียงผู้ป่วย" ซึ่งสายเกินไปแล้วนั่นเอง เพราะฉะนั้น เราต้องกระตือรือร้นรักษาเวลา และบริหารจัดการเวลาในฐานะเป็นทรัพยากรที่สำคัญ


              "เวลาเป็นสิ่งที่ต้องจัดการ ต้องรู้จักบริหารก่อนจะสายเกินแก้" ก่อนอื่นต้องเลิกคิดว่า เรามีเวลาเหลือเยอะแล้วใช้เวลาอย่างฟุ่มเฟือย เรียกว่า อย่าเผาเวลาทิ้งโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่ควรวางแผนบริหารจัดการเวลาให้ดีเพื่อใช้เวลาทุกนาทีให้ได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด


               บางคนอ้างว่า เขามีเรื่องต้องทำสารพัด ทั้งเรื่องบ้าน เรื่องครอบครัว เรื่องกิจการงานต่าง ๆ เรื่องปัญหาเจ้านายลูกน้องที่ต้องแก้ไขในแต่ละวัน เขาได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่าแล้ว แต่เขามีงานมากมายจนไม่รู้ว่าจะจัดสรรเวลาอย่างไรให้ลงตัว


               ความจริงแล้วสำคัญที่การจัดสรรเวลาและการเรียงลำดับสิ่งที่จะต้องทำก่อนหลัง ถ้าเราไม่ได้จัดลำดับความสำคัญ เราก็จะมองว่า ทุกอย่างสำคัญไปหมด แล้วเลือกทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก่อน หรือเลือกทำสิ่งที่อยากทำก่อน ซึ่งบางครั้งกินเวลาของสิ่งที่ "ต้องทำ" หรือ สิ่งที่สำคัญมากกว่า ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า "ไม่มีเวลา"


กฎของการ “โยนงานใส่กล่อง"

              บางครั้งเรารู้สึกว่า ตนเองได้จัดลำดับความสำคัญของงานเรียบร้อยแล้ว แต่มีงานจรจากคนอื่น ที่เขาอาจจะเห็นว่า เราทำได้และเป็นงานเร่งด่วน ซึ่งถ้าไม่ทำภาพรวมของงานอาจจะเสีย จึงฝากให้เราช่วยทำ อย่างนี้ให้เราจัดลำดับความสำคัญของงานด้วยการ "จับใส่กล่อง" เริ่มจากการแบ่งภารกิจทุกอย่างออกเป็น 4 ช่อง
เหมือนกับเรามีกล่องอยู่ 4 ใบ


"กล่องใบที่ 1" ให้เราใส่ภารกิจสำคัญและเร่งด่วน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องทำวันนี้และต้องทำเดี๋ยวนี้เท่านั้น

"กล่องใบที่ 2" จับงานที่ไม่สำคัญแต่เป็นงานเร่งด่วน ใส่ลงไป ซึ่งเป็นงานที่ควรจะทำวันนี้ หมายถึง อาจจะไม่ต้องทำเดี๋ยวนี้ก็ได้ แต่ต้องจัดการให้เสร็จสิ้นภายในวันนี้นั่นเอง

"กล่องใบที่ 3" งานสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน งานเหล่านี้เราควรวางแผนไว้ก่อน เพื่อพรุ่งนี้จะได้ลงมือทำเป็นลำดับถัดไป

"กล่องใบที่ 4" คือ งานที่ไม่สำคัญและไม่ได้เร่งด่วน  เราควรจัดไว้ในหมวดหมู่กล่องนี้ว่า เราจะหยิบขึ้นมาทำวันใดก็ได้ที่มีเวลาว่าง 


                  เพราะฉะนั้น ในการจัดลำดับความสำคัญของงานทั้งหมดนี้ จะทำให้เราไม่มีงานคั่งค้าง  "สิ่งที่ไม่สำคัญ ก็จะไม่สำคัญอยู่อย่างนั้น" พอผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ เราอาจจะลืมไปแล้ว หรือยังคงเป็นงานที่ไม่สำคัญอยู่ในกล่องนี้เหมือนเดิม


                 สิ่งเหล่านี้ คือ การจัดสรรให้เรารู้ว่า อะไรควรอยู่ตรงไหน และเราควรทำอะไรก่อนหลัง เป็นเรื่องของการจัดกิจการงานที่เข้ามาในแต่ละวัน ซึ่งจะทำให้เราไม่พลาดงานสำคัญและสามารถทำภารกิจต่าง ๆ ได้ทันเวลา ต่อไปจะไม่มีคำว่า "ไม่มีเวลา" เกิดขึ้นอีกแล้ว


                 เราควรตระหนักว่า "งานบางอย่างไม่จำเป็นต้องทำเลย" เพราะทำหรือไม่ทำ ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า "ผู้ชนะทำแต่งานสำคัญ ผู้แพ้ทำแต่งานเร่งด่วน"

 

                 ที่สำคัญ "จงอย่าแบกโลกไว้คนเดียว" เพราะคนประเภทนี้รวมทุกอย่างไว้ในตนเอง คือ ไม่สามารถจัดสรรงาน หรือมอบหมายภาระความรับผิดชอบให้ผู้อื่นได้ จึงต้องรับไว้เองทั้งหมด

 

                 คนประเภทนี้ดูเหมือนยุ่งตลอดเวลา แต่ความจริงไม่ได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ใครเลย และยังไม่ยอมไว้วางใจผู้อื่นให้มากพอที่จะมาช่วยแบ่งเบางานได้ พอทำงานพร้อมกันหลายอย่าง งานก็ยุ่งเหยิงไปหมด ทำให้ผลงานออกมาไม่ดีสักอย่างและยังเสียเวลาอีกด้วย


                 ความจริงถ้าเราจัดการงานในกล่องทั้ง 4 ช่องให้ดี เลือกทำงานในกล่องช่องที่ 1 ก่อน เสร็จแล้วถึงมาทำงานในกล่องช่องที่ 2  พอมีงานแทรกเข้ามาใหม่ในกล่องช่องที่ 1 ก็ย้ายมาทำงานในกล่อง ช่องที่ 1 จนเสร็จ จากนั้นจึงกลับมาทำงานในกล่องช่องที่ 2 3 และ 4  ให้เสร็จสิ้นตามลำดับ


                ลงมือทำทีละเรื่อง เลือกทำงานเร่งด่วนและสำคัญก่อนเสมอ  ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะไม่มีคำว่า "ไม่มีเวลาในชีวิต" เกิดขึ้น เพราะเราได้จัดสรรสิ่งที่จำเป็นต้องทำตามลำดับขั้นตอนแล้ว พอเราทำงานตามลำดับความสำคัญอย่างนี้แล้ว ก็จะไม่มีคนมาตามจี้งานเราจนเกิดความกดดัน เพราะเราสามารถทำงานให้เสร็จตรงตามกำหนดเวลาได้


               ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มาจากการที่เราทำงานหลายอย่าง พร้อมกันมากเกินไป ดังนั้น "เลือกทำทีละอย่าง และเลือกทำเรื่องที่สำคัญเร่งด่วนก่อนเสมอ"


หลักการบริหารเวลาแบบ 8/8/8 ชั่วโมง ในชีวิตจริง

                 ความจริงคนเราไม่ได้มีแต่เรื่องงาน แต่ยังมีเรื่องชีวิตส่วนตัว และชีวิตครอบครัวด้วย แล้วเราจะจัดสมดุลเวลาในชีวิตอย่างไรให้ลงตัวล่ะ


                ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน ในวันหนึ่งเราเสีย 8 ชั่วโมง ไปแล้วกับการนอนหลับพักผ่อน อีก 8 ชั่วโมงอยู่ที่ทำงาน บางคนอยู่ที่โรงเรียน เพราะฉะนั้น เราจะเหลือเวลาอีก 8 ชั่วโมงเท่านั้น ในการทำภารกิจต่าง ๆ ที่เหลือในชีวิตประจำวัน


               8 ชั่วโมงที่เหลือนี้ เราสามารถบริหารจัดการภารกิจในส่วนที่นอกเหนือจากงานหลักประจำวัน เรียกว่า กิจวัตรประจำวันต่าง ๆ  จะถูกจัดการให้เสร็จสิ้นในช่วงเวลานี้ ทั้งเรื่องการเดินทาง การเข้าสังคม กิจกรรมยามว่าง งานอดิเรก ไปจนถึงการบริหารขันธ์ เช่น  การออกกำลังกาย อาบน้ำ แต่งตัว เป็นต้น


               ข้อดีของหลักการบริหารเวลาแบบ “8/8/8" คือ ความสับสนวุ่นวายในชีวิตคนเราส่วนใหญ่อยู่ที่ "การไม่บริหารเวลา"  ถ้าเราแบ่งเวลาให้ดีแล้ว บางครั้งเราจะรู้สึกสะท้อนใจว่า "คนเราเกิดมาถ้าไม่ได้ทำงานแล้วตายไปชาติหนึ่ง มันก็เหมือนนกกา หรือผักตบชวาที่ล่องลอยไปตามน้ำอย่างไม่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต"


              เราเกิดมาเป็นคนได้เพราะความมีจิตสูง ดังนั้น หน้าที่ของเรา คือ ทำจิตของเราให้สูงขึ้น เพื่อที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนั่นคือ "หมดกิเลส"


               เพราะฉะนั้น เราต้องแบ่งเวลาในชีวิตให้ดีว่า 8 ชั่วโมงสุดท้าย  ที่เหลือจาก 24 ชั่วโมงนั้น เราจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับชีวิตได้อย่างแท้จริง


              เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตให้ทุกคนลองตรองกันให้ดี บางคนแม้ตรองอยู่ แต่ก็เผลออยู่เรื่อยเพราะติดโซเชียลมีเดีย ทั้งไลน์ เฟซบุ๊ก  และอินสตาแกรม สิ่งเหล่านี้ล้วนเข้ามาทำให้เราเสียเวลา เทคนิคการแก้ไข คือ เราต้องกลับมาย้อนมองตนเองว่า เราพลาดอะไรไปบ้าง  ตอนที่เราติดอยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย  ลองพิจารณาเหตุผลสิว่า เราต้องการอะไร จริง ๆ แล้วเราเข้าไปเพื่อความบันเทิง หรือเพื่อหาข้อมูลที่จำเป็นกันแน่


             ดังนั้น ให้เรากำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการเข้าสู่โลกของโซเชียลมีเดียก่อน รวมทั้งกำหนดเวลาที่จะเลิกด้วย คือ รู้ตัวก่อนแล้วจึงเปิดใช้งาน เวลาที่เหลือเราจะได้มุ่งไปยังเป้าหมายที่แท้จริงต่อไป  มองให้ออกว่าเราใช้มันเพื่ออะไร แล้วใช้มันอย่างมีสติ


              สรุปว่า การที่คนเราจะรู้สึกว่า ตนเองมีเวลาหรือไม่มีเวลานั้น  ขึ้นอยู่กับว่า เราให้ความสำคัญกับอะไร แล้วต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายชีวิตว่า เราตั้งเป้าหมายความสำเร็จในชาตินี้ไว้อย่างไร เราต้องแบ่งเวลาและเตรียมตัวเราให้พร้อมเพื่อการนี้อย่างไร


                นอกจากนี้ เราควรตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้ด้วย เช่น เราเกิดมาเพื่อทำความดี แสวงบุญ สร้างบารมี ถากถางหนทางไปพระนิพพาน  ถ้าเราตั้งเป้าหมายตรงนี้ แล้วทบทวนเป้าหมายของตนเองทุกวัน ก็มีแนวโน้มว่า เราจะใช้เวลาอย่างมีประโยชน์และประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

 

จากหนังสือ  24ชม.ที่ฉันหายใจ

โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.006631084283193 Mins