โลกร้อน

วันที่ 23 พค. พ.ศ.2563

โลกร้อน


               โลกในพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น 3 อย่าง คือ

               1. โอกาสโลก คือ โลกทางด้านภูมิศาสตร์ทั้งดิน น้ำ ภูเขา ฟ้าอากาศ ทั้งหลายเหล่านี้รวมเรียกว่า โอกาสโลก คือ โลกทางภูมิศาสตร์ที่เราคุ้นเคย จับต้องได้

               2. ขันธโลก คือ ขันธ์ 5 ได้แก่ ตัวของคนเราและสัตว์ต่าง ๆ ที่อาศัยโลกนี้อยู่ อาศัยบนโอกาสโลกที่เป็นโลกกลมๆ มีท้องฟ้า มีอากาศ มีแผ่นดิน มีแม่น้ำ มีภูเขา มีมหาสมุทร ดังกล่าวนั่นเอง

              3. สัตวโลก พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านกล่าวเอาไว้ว่า สัตวโลก คือ ดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ ที่รวมหยุดนิ่งเป็นจุดเดียวกัน อยู่ที่ศูนย์กลางกายซึ่งก็คือใจนั่นเอง อาศัยอยู่ที่ศูนย์กลางกายในตัวของเรา ซึ่งตัวเราก็คือขันธโลกที่อาศัยอยู่บนโอกาสโลกอีกทอดหนึ่ง

 

 

              โลกทั้งสาม ซ้อนเป็นชั้น ๆ อย่างนี้ สัตวโลกคือใจ อาศัยอยู่บนขันธโลกคือตัวของเรา ขันธโลกก็อาศัยอยู่บนโอกาสโลกอีกต่อหนึ่ง โลกทั้งสามนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน เมื่อโอกาสโลกแปรปรวน เช่นอากาศร้อนไปบ้าง หนาวไปบ้าง ก็ส่งผลกระทบต่อขันธโลก คือร่างกายของเรา ทำให้รู้สึกร้อน รู้สึกหนาว และความไม่สบายกายนี้ก็ส่งผลกระทบต่อสัตวโลกคือใจด้วย เช่นเกิดความรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมา

 


                  ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสัตวโลก คือ ใจของ เราก็มีผลสืบเนื่องไปถึงขันธโลก คือ ร่างกายของเรา และยังส่งผลไปถึงโอกาสโลก คือ โลกทั้งใบนี้ได้เช่นกัน

                  สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา ดังตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดหมอกควันปกคลุมทั่วเมืองเชียงใหม่ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาพบว่ามีการจุดไฟเผาป่า เกิดเป็นหมอกควันปกคลุมพื้นที่ทั่วจังหวัด สภาวะอากาศเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ จนทางการต้องแนะนำให้ผู้ที่ออกจากบ้านต้องสวมหน้ากากป้องกันpm2.5

                นี่คือผลที่เกิดจากการทำอะไรอย่างมักง่าย เอาสะดวกเข้าว่า บางครั้งเหตุผลในการเผาป่า ก็เพียงเพื่อจะได้เก็บเห็ด เพราะเมื่อต้นไม้ใบหญ้าถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน ถ้ามีฝนตกมาก็จะมีเห็ดขึ้นเท่านั้นเอง บางครั้งก็เผาป่าเพียงเพื่อจะมีหญ้าเลี้ยงวัว เผาป่าเป็นพันเป็นหมื่นไร่ หมดทั้งภูเขาเพื่อที่ว่าเมื่อเผาเสร็จ ประเดี๋ยวหญ้าอ่อน ๆ เขียว ๆ ก็จะขึ้น วัวจะได้กินหญ้า ถ้ามีคนมักง่ายเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่คิดถึงผลกระทบส่วนรวมมากเข้าๆ ย่อมเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมายมหาศาลแน่นอน

               ตรงกันข้ามถ้าแต่ละคนคิดว่าเราจะมีส่วนช่วยโลกได้อย่างไรกันบ้าง เช่น ช่วยปลูกต้นไม้คนละต้นสองต้น เพื่อให้ต้นไม้ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วคายออกซิเจนออกมา โลกจะได้เย็นลง อย่างนี้ก็เกิดประโยชน์



                ญี่ปุ่นก็เคยประสบปัญหาหนักมาแล้ว ในช่วงพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับสารพิษป่วยเป็นโรคมินามาตะ(水俣)และโรคอิไตอิไต (イタイイタイ病) โดยเกิดจากโรงงานปล่อยสารปรอทลงไปในน้ำ ปลาไปกินสารปรอท แล้วคนไปจับปลามากิน สารปรอทเลยเข้าร่างกายคำว่า"อิไตอิไต"แปลว่า "เจ็บๆ" เพราะระบบประสาทผู้ป่วยจะแปรปรวนอ่อนไหวมาก แค่ลมพัดมาโดนตัวก็ยังเจ็บจึงร้อง "เจ็บ ๆ..." จนกระทั่งตาย และยังมีอีกสารพัดโรคที่เกิดขึ้นญี่ปุ่นเลยหันมารณรงค์กันขนานใหญ่ว่าต้องดูแลสิ่งแวดล้อม ปลูกป่าให้เขียวทั้งเกาะ ให้เขียวทั้งประเทศ ควบคุมการปล่อยน้ำเสีย อากาศเสียแก็สพิษต่าง ๆ จนกระทั่งปัจจุบันแม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีความหนาแน่นของโรงงานอยู่อันดับต้น ๆ ของโลก แต่ก็รักษาสิ่งแวดล้อมได้ดี

                 ฉะนั้น ใจของคนแต่ละคนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงตรัสว่า "มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา"คนเรามีใจเป็นใหญ่ สำคัญอยู่ที่ใจ ถ้าใจดีตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ตระหนักถึงเรื่องส่วนรวม ไม่เอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่สร้างจิตสำนึกอย่างนี้ขึ้นมาได้ โลกเราจะสงบร่มเย็น ภาวะโลกร้อนก็ไม่น่ากลัวอีกต่อไป นี่เป็นเรื่องของผลกระทบระหว่างโลกทั้งสามที่เราเห็นกันอยู่

 


                                                           Cr : www.pixeltango.com


                   แต่ในความเป็นจริงยังมีผลกระทบที่เรามองไม่เห็น ที่วิทยาศาสตร์ยังศึกษาไม่ถึงอีกมากมาย เช่น เรื่องของไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก คือโลกของเราจะมีช่วงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลาย แล้วค่อย ๆ ฟื้นขึ้นมาใหม่วนอยู่อย่างนี้ เมื่อไหร่ที่ใจคนเร่าร้อนด้วย โทสะ ความโกรธ สิ่งแวดล้อมจะได้รับผลกระทบเหมือนได้รับกระแสความร้อนจากใจของคน โลกจะร้อนขึ้น เป็นความร้อนแฝงข้างใน พอระอุเต็มที่แล้ว พระอาทิตย์ที่มีอยู่ดวงเดียวจะกลายเป็นสองดวง สามดวง จนถึงเจ็ดดวงโลกทั้งโลกจะลุกเป็นไฟ นั่นคือไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลกมนุษย์ สัตว์ พืชพันธุ์ไม้จะถูกเผาผลาญจนหมดสิ้น โลกจะถูกเผาผลาญอย่างยาวนาน แล้วไฟนี้เผาผลาญนานมากจากแรงโทสะที่สะสมอยู่ในใจของมนุษย์ น่ากลัวยิ่งกว่าภาวะโลกร้อนที่นักวิทยาศาสตร์วิตกกังวลกันมากนัก

                    ใจคนส่งผลถึงสิ่งแวดล้อมได้ถึงขนาดนั้น ดังเช่นที่เราอาจจะเคยรู้สึกแปลกใจว่าในเมือง ๆ เดียวกัน อุณหภูมิเท่า ๆ กัน ถ้าเราเข้าไปในสถานที่ๆ สงบ เช่น โบสถ์ เราจะรู้สึกว่าอากาศเย็นสบาย บรรยากาศสงบ แต่ถ้าเราเข้าไปในไนท์คลับ ผับ บาร์ ต่อให้ไปในช่วงกลางวันที่เขาปิดร้าน ไม่มีคนอยู่ ลองวัดอุณหภูมิด้วยเทอร์โมมิเตอร์ แม้อุณหภูมิจะพอ ๆ กันกับในโบสถ์ แต่เรากลับรู้สึกร้อน นี่เพราะใจคนคือตัวสร้างบรรยากาศ

 


                       ตั้งแต่ครั้งโบราณมา ปู ย่า ตา ยาย จะรู้หลักข้อนี้ดี ช่วงไหนที่ลมฟ้าอากาศแปรปรวน เกิดข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมาจนถึงประชาชน จะพากันนุ่งขาวห่มขาวถือศีล ทำภาวนา 7 วัน 7 คืน แล้วทุกอย่างจะค่อยๆ คลี่คลาย ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ทุกอย่างดีขึ้น เพราะใจของคนเรานี่เองที่ส่งผลถึงบรรยากาศ ยิ่งคนหมู่มากรวมใจกันยิ่งมีพลัง

                      ดังนั้น ถ้าหากเราพร้อมใจกันปฏิบัติธรรม จนเกิดเป็นพลังสิ่งที่ตามมาก็คือ ลมฟ้าอากาศจะดี โลกไม่แปรปรวน เป็นโลกที่เย็นสบาย ภัยพิบัติทั้งหลาย เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ พายุ ฯลฯ ก็จะค่อย ๆ คลี่คลายไป ทุกคนจะสามารถอยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีความสุข

เจริญพร

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 

ที่มา https://www.blockdit.com/thanavuddho_bhikkhu

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.042369198799133 Mins