การจัดกระบวนการเรียนรู้การฝึกตัวผ่านเสนาสนวัตร

วันที่ 29 มิย. พ.ศ.2563

การจัดกระบวนการเรียนรู้การฝึกตัวผ่านเสนาสนวัตร


           วัดทุกวัดเป็นสมบัติที่ยกถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราดูแลรักษาดีเท่าไร ก็ได้บุญมากเท่านั้น การจัดกระบวนการเรียนรู้การฝึกตัวผ่านเสนาสนวัตร จึงใช้ปัญญาวุฑฒิสูตรเป็นพระสูตรแม่บท ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
๑. คบสัตบุรุษ
๒. ฟังพระสัทธรรม
๓. ตรองธรรมโดยแยบคาย

๔. ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม


           การจัดกระบวนการเรียนรู้การฝึกตัวนี้ให้ทำด้วยเมตตาจิต โดยพูดถ้อยคำไพเราะ สละสลวย ไม่หยาบคาย ไม่แสลงใจ ประกอบด้วยเหตุผลตามหลักธรรมและหลักวิชาการ ชี้แจงหลักธรรม ๔ ข้อ คือ สัมมาทิฏฐิ สติสัมปะชัญญะ สังเกตพิจารณา และปฏิบัติด้วยความสำรวม พร้อมทั้งใช้ลีลาการสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนี้


๑. ชี้แจงขั้นตอน ชี้แจงวิธีปฏิบัติให้เห็นชัด : สันทัสสกา
๒. ชวนใจให้อยากปฏิบัติ : สมาทปกา
๓. เร้าใจให้อาจหาญปฏิบัติ : สมุตเตชกา
๔. ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง : สัมปหังสกา



ขั้นตอนที่ ๑ คบสัตบุรุษ

วัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจที่ได้โอกาสฝึกตน สมกับเป็นบรรพชิตในเรื่องต่อไปนี้
๑) มีสัมมาทิฏฐิ
๒) ฝึกสติสัมปชัญญะ
๓) ฝึกความช่างสังเกต พิจารณา
๔) ฝึกความสำรวมกาย วาจา อาชีพ ใจ
๕) ฝึกการทำงานเป็นทีม สมกับคำว่า สังฆะ

 

วิธีการปฏิบัติ
๑.๑ แบ่งพระใหม่เป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓๐-๔๐ รูปต่อพระพี่เลี้ยง ๔-๕ รูป
๑.๒ พระอาจารย์ พระพี่เลี้ยง ทำความรู้จัก สาธิต นำฝึก และทำให้ดูเป็นแบบอย่าง
๑.๓ พระพี่เลี้ยงบอก อธิบาย หลักการ วัตถุประสงค์การฝึกเสนาสนวัตร ชี้คุณโทษ การปฏิบัติเสนาสนวัตร ๓๑ ข้อ ตามมาตรฐานพระธรรมวินัย เปิดโอกาสให้ซักถามเหตุผล และนำมาทดลองปฏิบัติแบบที่ถูกและผิด เพื่อให้เห็นคุณ-โทษ และเป็นส่วนสนับสนุน ศีล ๒๒๗ ข้อ ให้มีความบริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ให้ช่วยกันบอกในสิ่งที่ปฏิบัติว่าเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว อธิบายเชื่อมโยงถึงหลักธรรม เช่น อริยมรรคมีองค์ ๘ กฎแห่งกรรม ฆราวาสธรรม  คณกโมคัลลานสูตร สัมมาทิฏฐิ

                  ตัวอย่างเช่น ทานมีผล คือการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน สิ่งที่ควรให้ เป็นกรรมดี มีผลจริงคือมีผลชาตินี้ ชาติหน้าและชาติต่อ ๆ ไป สิ่งที่ควรให้ ได้แก่ให้สิ่งของ ให้ความสะอาด ให้ความปลอดภัย ไม่เกิดอุบัติเหตุ ไม่เกิดการติดเชื้อโรคจากฝุ่นละออง ให้ความสบายกาย สบายใจ ทำให้อารมณ์ดีเพราะ


- ๑) ความแข็งแรงของกายมนุษย์ เป็นอุปกรณ์สำคัญยิ่งของการสร้างบารมี
- ๒) ความสกปรกทำให้เกิดการติดเชื้อโรค ถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
- ๓) ความสะอาด ความเป็นระเบียบ และการมีสุขภาพดี  ทำให้การสร้างบารมีเป็นไปอย่างมีความสุข
- ๔) ทำให้ใจสบาย ปลอดกังวล ไม่มีสิ่งใดที่จะตำหนิตนเอง  ไม่มีอะไรผุดมาติดในใจ ไม่มีอะไรหน่วงใจ ส่งผลให้ใจนุ่มนวล จึงเหมาะแก่การทำใจหยุดใจนิ่ง


๑.๔ บอก กล่าว เล่า อธิบาย คำสอนของมหาปูชนียาจารย์และครูบาอาจารย์ หลวงพ่อธมฺมชโย หลวงพ่อทตฺตชีโว เกี่ยวกับความสะอาด จัดระเบียบ เพื่อยึดถือเป็นมาตรฐานในการทำงานด้านอื่น ๆอย่างเป็นขั้น เป็นตอนต่อไป
 


ขั้นตอนที่ ๒ ฟังพระสัทธรรม

วัตถุประสงค์ เพื่อให้รู้ชัดปฐมบัญญัติ รู้ชัดขั้นตอนการปฏิบัติและเหตุผล

วิธีการปฏิบัติ พระอาจารย์ พระพี่เลี้ยง พระธรรมทายาท และพระนวกะ อ่าน อธิบาย วิเคราะห์ ซักถามจนเข้าใจ รู้ชัด เสนาสนวัตรในหัวข้อต่อไปนี้
๒.๑ ปฐมบัญญัติเสนาสนวัตร
๒.๒ ความประพฤติการใช้-รักษาเสนาสนะของพระภิกษุ
๒.๓ ระดับความประพฤติการใช้รักษาเสนาสนะของพระภิกษุ
๒.๔ บทฝึกเสนาสนวัตร เพื่อการบรรลุธรรม


ขั้นตอนที่ ๓ ตรองธรรมโดยแยบคาย

วัตถุประสงค์ ฝึกคิด พิจารณาไตร่ตรองเหตุผล จนรู้ชัดด้วยใจตนเอง

วิธีการปฏิบัติ
๓.๑ นำการปฏิบัติในขั้นตอนที่ ๑ มาประชุมกลุ่มเพื่อให้ได้คิดพิจารณาเหตุผลตามที่ระบุในบทฝึกเสนาสนวัตร
๓.๒ เปิดโอกาสให้ซักถามจนเข้าใจ
๓.๓ ข้อควรระวัง
- อุบัติเหตุทางธรรม ต้องทำด้วยจิตเมตตา เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเอง หมู่คณะและศรัทธาญาติโยม
- อุบัติเหตุทางใจ เสนาสนวัตรไม่ใช่งานของคนรับใช้
- อุบัติเหตุทางกาย ระวังอุบัติเหตุ และการติดเชื้อความไม่สะอาดจากเสนาสนะ


ขั้นตอนที่ ๔ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
วัตถุประสงค์ เพื่อปฏิบัติเสนาสนวัตรด้วยตนเองจนมี สัมมาทิฏฐิ มีสติสัมปชัญญะ มีความช่างสังเกตพิจารณา และความสำรวมกาย-วาจาใจ

วิธีการปฏิบัติ
๔.๑ ปฏิบัติเสนาสนวัตรในชีวิตประจำวัน ภายใต้การดูแลแนะนำของพระพี่เลี้ยงในกลุ่ม โดยเน้น

- ๑) เห็นความสกปรกที่ใด สิ่งใด ให้ทำความสะอาดทันทีโดยไม่มีข้อแม้

- ๒) วางของ ณ ที่ควร
- ๓) ยก หยิบ วางของ ไม่ครูดสีและไม่กระแทก

- ๔) อาปุจฉา ทั้งภันเต และอาวุโส

- ๕) เดินคล้อยตามเมื่อจงกรม

          โดยปฏิบัติอย่างมีสติสัมปชัญญะ สังเกต สำรวม รู้เหตุผลการปฏิบัติ


๔.๒ ปฏิบัติเสนาสนวัตรโดยร่วมกันออกไปพัฒนาวัด ตามที่ได้รับมอบหมาย

           แล้วนำผลการปฏิบัติข้อ ๔.๑ และ ๔.๒ มาอภิปรายซักถาม เพื่อวางแผนการทำงาน ให้รัดกุมยิ่งๆ ขึ้นไป

๔.๓ เมื่อปฏิบัติแล้ว ให้มาประชุมแบ่งปันประสบการณ์ พร้อมกับประเมินตัวเองว่าทำได้ตามมาตรฐานพระธรรมวินัยหรือไม่ โดยใช้เกณฑ์ระดับความประพฤติการใช้-รักษาเสนาสนะของพระภิกษุ เพื่อให้รู้จักสังเกต จับอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ของตนเอง ขณะปฏิบัติ


๔.๔ จากนั้นเพิ่มระดับการปฏิบัติเสนาสนวัตร จากพระกำลังฝึกตัว เป็นพระตั้งใจฝึกตัว เป็นพระต้นแบบ ฝึกปฏิบัติตามระดับความประพฤติการใช้-รักษาเสนาสนะของพระภิกษุ จากนั้นทบทวนและประเมินตัวเองว่า ทำได้ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ และเรียนถามพระพี่เลี้ยง ถึงแนวทางการปฏิบัติให้สำรวมระวังยิ่ง ๆ ขึ้นไป


การติดตามให้กำลังใจการฝึกตัวผ่านเสนาสนวัตร

การติดตามให้กำลังใจในระดับรายบุคคล
ให้แต่ละรูปพิจารณาการปฏิบัติเสนาสนวัตรของตนเองว่า
๓) ปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัยหรือไม่
๒) อารมณ์ขณะปฏิบัติเป็นอย่างไร
๓) ใจอยู่ที่ไหนขณะปฏิบัติ
๔) รู้เหตุผลการปฏิบัติจากความจำ หรือการไตร่ตรองแบบโยนิโสมนสิการ หรือจากความสว่างภายในตัว

 

              การพิจารณาตนทั้ง ๔ หัวข้อนี้เพื่อหาข้อดี ข้อบกพร่อง ที่ตนต้องเร่งพัฒนา ปรับปรุง เพราะความผิดพลาดของเรา เราพึงเห็นและพัฒนาเป็นคนแรกก่อนคนอื่นเสมอ โดยปฏิบัติดังนี้

๑. เขียนบอก ความยอดเยี่ยม (The Best) หรือสิ่งที่ต้องปรับปรุง แก้ไขโดยพิจารณา ไตร่ตรองการปฏิบัติเสนาสนวัตรของตนเอง


๒. เขียน บอก หรือออกมาเล่าให้หมู่คณะฟังว่า ตนเองมีวิธีสร้างกำลังใจการปฏิบัติเสนาสนวัตรให้ได้อย่างยอดเยี่ยมตามมาตรฐานพระธรรมวินัยได้อย่างไร


การติดตามให้กำลังใจในระดับกลุ่ม
            พระอาจารย์และพระพี่เลี้ยงนำพระธรรมทายาทเดินตรวจเสนาสนะ แล้วบอก อธิบาย ข้อดีที่น่าภาคภูมิใจ ข้อควรพัฒนา พร้อมบอกเหตุผลว่า ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาตนเองให้ถึงเกณฑ์มาตรฐานตามพระธรรมวินัย พร้อมเปิดโอกาสให้ซักถาม


การติดตามให้กำลังใจในระดับโครงการ
๑. พระอาจารย์และพระพี่เลี้ยงพาพระธรรมทายาทเดินตรวจเสนาสนะ แล้วบอก อธิบาย ข้อดีที่น่าภาคภูมิใจ ข้อควรพัฒนา พร้อมบอกเหตุผลว่า ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาตนเองให้ถึงเกณฑ์มาตรฐานตามพระธรรมวินัย พร้อมเปิดโอกาสให้ซักถาม
๒. ถ่ายวีดีโอ ๑-๓ นาที่ ส่งถวายหลวงพ่อ พร้อมรับคำแนะนำจากหลวงพ่อ
๓. ประธานแต่ละโครงการอบรมหมุนเวียนกันมาเยี่ยมชมให้กำลังใจ แลกเปลี่ยน ให้คำแนะนำ
๔. นิมนต์หลวงพ่อ หรือพระมหาเถระ ไปเยี่ยมชม ชื่นชม ติติง ในบางโอกาส โดยไม่บอกล่วงหน้า


การประเมินผลการฝึกตัวผ่านเสนาสนวัตร
๑. สิ่งที่จะประเมิน : ผลการฝึกตัวตามเสนาสนวัตร


๒. เกณฑ์การประเมิน
๒.๑ การเรียนรู้
- ๒.๑.๑ มีสัมมาทิฏฐิ มีสติสัมปชัญญะ มีความช่างสังเกตมีความสำรวม มีความเป็นทีม หรือไม่
- ๒.๑.๒ เป็นผู้ถือธรรม หรือถืออารมณ์ หรือถือความเคยขึ้นเป็นใหญ่
- ๒.๑.๓ ให้เขียนจากความเป็นจริงว่า เมื่อก่อนบวชมีการปฏิบัติต่อเสนาสนะอย่างไร หลังการบวชได้รับการฝึกเสนาสนวัตรแล้วตนเองปฏิบัติต่อเสนาสนะอย่างไร และเปรียบเทียบความแตกต่างทางด้านอารมณ์ และทัศนคติทั้งก่อนบวช และหลังการฝึกเสนาสนวัตรแล้วด้วย


๒.๒ เสนาสนะ และอุปกรณ์ : บริเวณภายนอกและภายในสะอาดเป็นระเบียบ ตลอดเวลา


๒.๓ ความประพฤติการใช้เสนาสนะ : พิจารณาว่าสะอาดและเป็นระเบียบหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนความประพฤติการใช้เสนาสนะ

๒.๔ บรรยากาศ : มีความปลื้มปิติ ความเป็นทีม หรือมีความเครียด เบื่อหน่าย เก็บกด ทนทำ โดยอาจดูจากการจดบันทึกประจำวันของพระธรรมทายาทเรื่องการจับดีตนเอง ผู้อื่น


๒.๕ ผลการปฏิบัติธรรมและการปฏิบัติงาน : การปฏิบัติเสนาสนวัตร มีผลในด้านต่อไปนี้อย่างไร


ผลด้านกายภาพ
๑) ผลต่อสุขภาพกาย ใจ
๒) ผลต่อการทำงานส่วนตน
๓) ผลต่อการทำงานเป็นทีม
๔) ผลต่อการปฏิบัติธรรม


ผลด้านคุณธรรม
 

สมณธรรม

ฆราวาสธรรม

๑) มีสัมมาทิฏฐิ

๑) มีสัจจะ

๒) มีสติสัมปชัญญะ

๒) มีทมะ

๓) มีความช่างสังเกต พิจารณา

๓) มีขันติ

๔) มีความสำรวมกาย วาจา ใจ

๔) มีจาคะ

 

             ผลด้านกายภาพและด้านคุณธรรมเพื่อทำให้เกิดสำนึกว่า การดูแลรักษาวัด และสมบัติวัด เป็นการรักษาและเพิ่มพูนศรัทธา และบุญของเจ้าภาพผู้บริจาคทรัพย์สิ่งของนั้น ๆ ตัวเราเองก็ปลื้มใจ จัดเป็นบุญทันตาของเรา อานิสงส์ตามมาคือ ทรัพย์สมบัติใด ๆ เกิดแก่เรา ทรัพย์สมบัตินั้นจะคงทนถาวร ปราศจากเภทภัยใด ๆ ทำลาย

 

๓. เกณฑ์วินิจฉัย

เกณฑ์วินิจฉัย

ไม่ผ่าน ผ่าน

๓.๑  ความรู้ความเข้าใจหน่วยฝึกเสนาสนวัตร

ตอบถูกไม่ถึง ๗๐%

ตอบผิดในข้อที่เป็น Critical Error

ตอบถูกมากกว่า ๗๐%

ตอบถูกทุกข้อในข้อที่เป็น Critical Error

๓.๒ ความประพฤติการใช้เสนาสนะ

สกปรก ไร้ระเบียบพบ ๓ ครั้ง

สะอาดเป็นระเบียบพบมากกว่า ๓ ครั้ง

๓.๓ เสนาสนะเเละอุปกรณ์

สกปรก ไร้ระเบียบพบ ๓ ครั้ง

สะอาดเป็นระเบียบพบมากกว่า ๓ ครั้ง

๓.๔ บรรยากาศการฝึก

เก็บกด หดหู่ เครียด ทนทำ

เข้าใจ น่าทำ มั่นใจ อยากทำตาม อาจหาญ ร่าเริง ปลื้มปิติ เป็นทีม

 

             ถ้าผ่านเกณฑ์วินิจฉัย ๓.๑ ,  ๓.๒ , ๓.๓ , ๓.๔  จึงจะพิจารณาเกณฑ์การเรียนรู้  ผลการปฎิบัติธรรมเเละการปฎิบัติงานเพื่อประเมินผลต่อไป

 

๔. การพัฒนา  : หากไม่ผ่านเกณฑ์วินิจฉัยข้อใดข้อหนึ่งให้ย้อนกลับไปตั้งต้นพัฒนาใหม่ในสิ่งที่ประเมินไม่ผ่าน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จากหนังสือ กวาดวัด กวาดใจ ไปนิพพาน  "เสนาสนวัตร"

โดย คุณครูไม่เล็ก

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0018332839012146 Mins