การกระทำดีกว่าคำพูด
ในเวลาเช้าหลังจากคุณยายรับประทานอาหารแล้ว ท่านจะเดินมาที่ครัวยามา ซึ่งขณะนั้น เป็นเวลาที่เด็กวัดทั้งอุบาสกและอุบาสิกามาร่วมกันรับประทานอาหารเช้าที่นี่
อาหารจะมีทั้งที่เจ้าภาพนำมาถวาย และที่ทางครัวทำเพิ่มด้วย หลังจากพระฉันเสร็จ อาหารจะถูกนำมาวางที่เคาน์เตอร์กลาง โดยแยกประเภทไว้เป็นถาด ๆ เพื่อให้อุบาสก อุบาสิกาตักรับประทานกัน การรับ
ประทานอาหารของเด็กวัดในสมัยนั้น จะเป็นอาหารที่ใช้จานเพียงใบเดียว คือ จะเดินตักกับข้าวใส่ลงไปในจานข้าวแล้วนั่งรับประทานที่พื้น
ระหว่างเคาน์เตอร์กลางที่วางถาดอาหารนั้น ด้านหนึ่งเป็นที่นั่งรับประทานอาหารของอุบาสก อีกด้านหนึ่งก็จะเป็นที่นั่งของอุบาสิกา คุณยายจะมานั่งที่เก้าอี้ตัวเดิมที่อยู่ทางฝั่งอุบาสก ท่านมักถามถึงอุบาสกที่ไม่ได้มานั่งทานข้าวด้วย ท่านอยากให้ทุกคนมารับประทานอาหารพร้อมกัน จากนั้นท่านจะเริ่มสอนอุบาสกในเรื่องของความเป็นอยู่ กิจวัตรในแต่ละวันโดยเน้นเรื่องการนั่งธรรมะ การฝึกตัว และการรับบุญ
จากนั้นท่านได้เมตตาหันมาทางอุบาสิกา และถามข้าพเจ้าว่า "ตอนนี้ธรรมทายาทหญิงมีกี่คนแล้ว"
ข้าพเจ้ากราบเรียนท่านว่า "๒๕ คนค่ะคุณยาย" ท่านบอกว่า "เออ..ผู้หญิงอย่าให้มีเยอะนะ มีเยอะเดี๋ยวมันยุ่ง"
ตอนนั้นข้าพเจ้าไม่ค่อยเข้าใจนัก แต่พอจะรู้ว่า การเกิดเป็นผู้หญิงเป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง เพราะในทางพระพุทธศาสนาถือว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่อาภัพ ไม่อาจนำผ้าจีวรมาห่อหุ้มกายได้
เช้าวันต่อมา หลังจากคุณยายให้โอวาทอุบาสกแล้ว ท่านหันมาทางอุบาสิกาพร้อมกับพูดว่า " กินให้อิ่ม ๆ อิ่มแล้วก็ไปทำงาน ตั้งใจทำงานแล้วอย่าคุยกัน คุยมากเดี๋ยวก็มากเรื่อง"
วันนั้นคำสอนของคุณยายดูเหมือนเป็นคำสอนที่ข้าพเจ้าได้ยินเป็นปกติ แต่วันนี้..กลับเป็นความกระจ่างใส..ที่ทำให้รู้ว่า ธรรมชาติของผู้หญิงส่วนใหญ่จะเป็นนักพูด คำพูดของผู้หญิงจึงเป็นทางมาของบุญและบาปได้ง่าย คุณยายจึงเน้นให้ทุกคนแสดงออกในสิ่งดี ๆ ด้วยการกระทำมากกว่าการพูด
การทำความดีควรเริ่มต้นที่การกระทำ
"การกระทำที่ดีงาม ดีกว่าคำพูดเป็นล้านคำ"
จากหนังสือ ดวงจันทร์กลางดวงใจ