กระดาษเเผ่นหนึ่งของคุณยาย
บ่าย ๓ โมงแล้วสายฝนยังโปรยปรายมาไม่ขาดสาย อากาศเริ่มเย็นลง ต้นไม้อิ่มน้ำฝนจากฟ้า ต้นหญ้าก็ดูสดชื่นดีใจที่ได้น้ำมาหล่อเลี้ยง ข้าพเจ้ากำลังปรับมูลี่หน้าต่างให้คุณยายได้เห็นทัศนียภาพรอบ ๆ กุฏิ
เปิ้ลกลับไปทำภารกิจส่วนตัว คุณยายยังคงนั่งอยู่ที่เก้าอี้นวมตัวเดิม ข้าพเจ้านั่งอยู่ข้าง ๆ เก้าอี้ของท่าน คอยดูว่า ท่านต้องการสิ่งใด
ระหว่างนั้น...คุณยายจะชวนข้าพเจ้าคุยบ้าง เล่าเรื่องในอดีตให้ฟังบ้าง คุณยายเล่าว่า "ยายไปขอแผ่นดินเขามา ขอเขามาสร้างวัด ขอเขา ๕๐ ไร่ เขาให้หมดผืนเลย หลวงพ่อธัมมะ หลวงพ่อทัตตะ ยายก็บวชให้ท่าน เราอยู่วัดมากี่ปีแล้ว" ข้าพเจ้ากราบเรียนท่านว่า "๑๑ ปีแล้วค่ะคุณยาย" คุณยายพูดกับข้าพเจ้าว่า "เออ ! ดีแล้ว อยู่วัดนะ กินข้าววัด พระหมูท่านดูครัวให้ยาย ใครทำเลอะ ๆ เทอะ ๆ ไม่ได้ พระหมูจัดการหมด ... ไอ้หลานน้อย หยิบกระโถนให้ยายหน่อย"
ข้าพเจ้าหยิบกระโถนที่วางอยู่บนโต๊ะเคียงไปรองที่ใต้คางของท่าน ท่านก็ช่วยจับกระโถนให้อยู่ในระดับที่พอดี แล้วจึงค่อย ๆ บ้วนน้ำลายลงในกระโถน พอคุณยายบ้วนน้ำลายเสร็จ ข้าพเจ้าหยิบกระดาษทิชชูให้ท่าน ท่านก็บอกกับข้าพเจ้าว่า "ยายมีกระดาษแล้ว" กระดาษแผ่นนั้นพับเก็บไว้ในชายแขนเสื้อกันหนาวของคุณยาย ท่านใช้กระดาษแผ่นนั้นเช็ดที่ริมฝีปาก ๑ ครั้ง แล้วกลับด้าน เช็ดอีก ๑ ครั้ง หลังจากนั้น ท่านก็จะพลิกด้านที่ใช้แล้วไว้ด้านใน ด้านที่ยังไม่ได้ใช้ไว้ด้านนอก พับเป็นสี่เหลี่ยมให้ชายเสมอกันทุกด้าน แล้วสอดเก็บกระดาษแผ่นนั้นไว้ในชายแขนเสื้อกันหนาวเหมือนเดิม
ตอนนั้น...ข้าพเจ้าได้แต่รำพึงอยู่ในใจว่า "เกิดมาไม่เคยเห็นใครพับกระดาษทิชชูได้ประณีตเหมือนอย่างคุณยายเลย" ท่านจะแบ่งพับเป็นตอน ๆ แต่ละตอนท่านก็จะใช้มือของท่านรีดทับกระดาษนั้นให้เรียบเสมอกันทุก ๆ ตอน
ในที่สุดข้าพเจ้าอดที่จะกราบเรียนถามท่านไม่ได้ว่า "ทำไมคุณยายต้องเก็บกระดาษทิชชูไว้ในชายแขนเสื้อด้วยล่ะคะ" คุณยายหันมามองหน้าข้าพเจ้าสักครู่ แล้วท่านก็หยิบกระดาษแผ่นนั้นออกมาอีกครั้ง
ท่านสอนข้าพเจ้าว่า "พอเราใช้ด้านนี้เสร็จแล้ว ก็พลิกไปใช้อีกด้าน พลิกไปพลิกมา แบบนี้นะ" กระดาษแผ่นนั้นถูกพับไปพลิกมาอยู่บนตักของคุณยายหลายทบ จนครบทุกด้าน เหลือด้านที่จะใช้ในครั้งต่อไปอีกด้านเดียว แล้วท่านก็สอดเก็บไว้ในชายแขนเสื้อกันหนาวเหมือนเดิม
กระดาษแผ่นไหนที่ใช้ครบทุกด้านแล้ว ก็จะถูกนำมาเรียงซ้อนกันไว้ เพื่อที่จะเก็บไว้ใช้เป็นกระดาษรองซับน้ำลายในกระโถน ไม่ให้น้ำลายนั้นติดก้นกระโถน เพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด
กระดาษแผ่นนี้...ถ้าไม่ได้มาอยู่ในมือของคุณยายแล้ว ก็คงจะลงไปอยู่ในถังขยะตั้งแต่ครั้งแรกที่ถูกนำมาใช้
กระดาษแผ่นหนึ่งของคุณยาย...ช่างมีค่าจริง ๆ
"ในชีวิตคนธรรมดาทั่วไปนั้น...
การที่จะมองเห็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เป็นสิ่งที่มีค่าได้นั้น
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
แต่สำหรับคุณยายแล้ว
สิ่งใดที่ได้มาด้วยบุญ สิ่งนั้นมีค่าเสมอ
คุณยายรักษาบุญได้ และใช้บุญเป็น"
จากหนังสือ ดวงจันทร์กลางดวงใจ