วันสงกรานต์

วันที่ 13 เมย. พ.ศ.2547

 

 

 


.....ถือเป็นประเพณีแห่งการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของชนชาติไทยมาแต่โบราณ ซึ่งแต่ก่อนนั้นเป็นงานเอิกเกริกประจำปีแห่งชาติกันทีเดียว ทั้งยังเนื่องด้วยประเพณีของศาสนา เพราะจิตใจของคนหากเมื่อตนนับถืออะไรได้สิ่งใดที่ดีมา ก็ระลึกถึงสิ่งนั้น เป็นสิ่งที่เคารพนับถือและจงรักภักดีเป็นชีวิตจิตใจ เช่นนี้ไม่ว่าจะทำอะไร จึงมีศาสนาเข้ามาแทรกร่วมอยู่ด้วยเสมอมา

.....การจัดให้มีเทศกาลวันสงกรานต์นั้น จะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน ระหว่างวันที่ ๑๓,๑๔ และ๑๕ ของทุกปี

.....ในวันที่ ๑๓ เรียกว่า“วันมหาสงกรานต์” เป็นวันก้าวหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ วันย่างขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติในทางโหรศาสตร์

.....วันที่ ๑๔ เป็น “วันเนา” วันที่ต่อเนื่องจากวันมหาสงกรานต์ ๑ วัน วันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งแต่ปีใหม่เรียบร้อยแล้ว คืออยู่ประจำที่แล้ว

.....วันที่ ๑๕ คือ “วันเถลิงศก” วันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่

.....ตามตำนานศิลาจารึกวัดพระเชตุพน ที่แฝงปริศนาธรรมไว้ว่า สมัยหนึ่งเศรษฐีผู้ไม่มีบุตรคนหนึ่ง บ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราซึ่งมีบุตรถึงสองคนมีผิวเนื้อเหมือนดังทอง และเกิดไปกล่าวคำหยาบหมิ่นประมาทต่อเศรษฐีว่าแม้จะมีทรัพย์มากแต่ก็ไม่มีบุตร ตายแล้วสมบัติก็จะสูญเปล่า เรามีบุตรเห็นว่าประเสริฐกว่า เศรษฐีละอายจึงบวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งความปรารถนาขอบุตรทำอยู่ถึงสามปีก็ยังไม่ได้ จนถึงวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ก็พาบริวารไปยังต้นไทรเป็นที่อาศัยของนกมากมายที่ริมฝั่งน้ำ นำเอาข้าวสารล้างน้ำเจ็ดครั้งแล้วหุงขึ้นบูชาพระไทร พร้อมทั้งประโคมพิณพาทย์เพื่อขอบุตรอีก พระไทรมีความกรุณาจึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ซึ่งโปรดให้ธรรมบาลเทวบุตรลงมาเกิดในครรภ์ภรรยาเศรษฐี จนครบกำหนดคลอดก็ได้ชื่อว่าธรรมบาลกุมาร ปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ที่ใต้ต้นไทรริมฝั่งน้ำนั้น กุมารเจริญวัย ก็รู้ภาษานกได้ แล้วเรียนไตรเพทจบเมื่ออายุเพียงเจ็ดขวบ ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่มนุษย์ทั้งหลาย

.....และในขณะนั้น โลกทั้งหลายยังนับถือท้าวมหาพรหมและกบิลพรหมองค์หนึ่งว่า เป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวงอยู่ จึงลงมาถามปัญหาธรรมบาลกุมารสามข้อ โดยสัญญาไว้ว่าถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา แต่ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสียเลย ซึ่งปัญหานั้นมีอยู่ว่า ข้อ ๑. เช้าราศีอยู่แห่งใด ข้อ ๒.เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ข้อ ๓. ค่ำราศีอยู่แห่งใด ธรรมบาลขอเวลาหาคำตอบอยู่เจ็ดวัน

.....ผ่านไปได้หกวันก็ยังคิดไม่ได้อีก พรุ่งนี้ต้องตายด้วยอาญาแล้ว แต่ยังอยากมีชีวิตอยู่จึงหนีไปหาที่หลบซ่อน และลงจากปราสาทไปนอนอยู่ที่ใต้ต้นตาลสองต้น พอดีมีนกอินทรีสองผัวเมียทำรังอยู่บนไม้นั้น พอเวลาค่ำนางนกถามสามีว่า พรุ่งนี้จะได้อาหารที่ใด ตอบว่าจะได้กินศพธรรมบาลกุมารซึ่งจะถูกฆ่าแล้ว เพราะทายปัญหาไม่ออก แล้วคำตอบที่ว่าก็คือ เวลาเช้าราศีอยู่ที่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า เที่ยงราศีอยู่ที่อกจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก เวลาค่ำราศีอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงเอาน้ำล้างเท้า

.....คนโบราณจึงเอาไว้สอนว่า ในคนนี้ย่อมมีศรีคือ ขวัญ มิ่งขวัญประจำตัว ว่าอยู่อย่างไร เวลาไหนควรจะต้องปฏิบัติอย่างไร คือให้ล้างหน้าเวลาตื่นนอนเช้า ลูบตัวด้วยของหอมเวลากลางวัน และเวลาเข้านอนให้ล้างเท้าก่อน

.....ธรรมบาลได้ยินทั้งหมดแล้วกลับขึ้นปราสาท รุ่งขึ้นผู้ตั้งปัญหาก็มาทวงคำตอบจึงแก้ตามคำที่ได้ยินมา ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกเทพธิดาทั้งเจ็ด บอกว่าพ่อจะต้องตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ว่าศีรษะของเราถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดินไฟก็ตะลุกไหม้ทั่วโลก หากจะทิ้งโยนขึ้นบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทรน้ำจะต้องแห้ง ดังนี้จึงต้องธิดาทั้งเจ็ดเอาพานมารับศีรษะ แล้วก็ตัดส่งให้กับธิดาองค์ใหญ่โดยนำพานมารับไว้แล้วแห่ทำประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ จึงเชิญประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธุลีเขาไกรลาศ บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่าง ๆ พระเวสสุกรรมนฤมิตาแล้วด้วยแก้วเจ็ดประการชื่อภควดีให้เป็นที่ประชุมเทวดา ที่จะนำเอาเถาฉมูลาดลงมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้งแล้วแจกกันสังเวยโดยทั่วกัน ครั้งถึงกำหนดครบ ๓๖๕ วัน โลกสมมุตว่า ปีหนึ่งเป็นสงกรานต์ นางเทพธิดาเจ็ดองค์จึงผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่ประทักษิณทุกปี แล้วกลับไปยังเทวโลก ธิดาทั้งเจ็ดนั้น เราสมมติ เรียกว่า นางสงกรานต์ โดยมีการกำหนดถึง ความเฉพาะเจาะจงของแต่นางไว้อย่างชัดเจน

.....ซึ่งในปีนี้ตรงกับธิดา “มีชื่อว่า รากษส ประจำวันอังคาร มีดอกบัวหลวง โมราเป็นเครื่องประดับ เสวยโลหิต มีตรีศูล-ธนูเป็นอาวุธ ทรงวราหะ(หมู) เป็นพาหนะ” จะออกดูดุ ๆ อยู่ ประจวบกับดินฟ้าอากาศอาจจะร้อนอยู่มากด้วยในปีนี้ พอเหมาะสมกัน

.....ประเพณีสงกรานต์ ที่ถือปฏิบัติเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และมีคุณค่า ในกิจกรรมที่จัดขึ้น ทุกเพศ ทุกวัย และต่างฐานะ สามารถร่วมกันในเทศกาลนี้ได้พร้อม ๆ กัน เป็นการแสดงออกด้วยความพร้อมเพรียงในการตระเตรียมทำความสำอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม ที่สาธารณะ อาคารหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมใจกันทำบุญให้ทาน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพบุรุษและบุพการี ทำนุบำรุงพระศาสนา ด้วยการทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ และการสรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ จัดการละเล่นรื่นเริงตามประเพณีท้องถิ่นนั้น เพื่อการเฉลิมฉลองและต้อนรับปีใหม่ ซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ของเทศกาลนี้ก็คือ การเล่นสาดน้ำของหนุ่มสาวและเด็ก ด้วยน้ำใจไมตรี สภาพการณ์เช่นนี้ เป็นการนำไปสู่ความเกื้อกูลผูกพันด้วยสายใยเชื่อมโยงไว้ของวัฒนธรรมที่เป็นมรดกเก่าแก่ของไทยเรา สิ่งนี้ล้วนทรงคุณค่า คุณประโยชน์ ในส่วนของครอบครัว ชุมชน สังคม และต่อพระศาสนา เข้าด้วยกัน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเกิดสิ่งที่ปฏิบัติเบี่ยงเบนไป เช่นในการเล่นสาดย้ำกลายเป็นความก้าวร้าว รุนแรง ผิดกฎหมาย ไม่คำนึงถึงภยันตรายอันจะเกิดแก่ผู้อื่น ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อันนำไปสู่การทะเลาะวิวาท พฤติกรรมที่ขาดน้ำใจ และมารยาทนี้ไม่ใช่วัฒนธรรม ทั้งยังมีผลเป็นการทำลายภาพลักษณ์ประเพณีที่ดีงามของไทยไปด้วย

.....นัยสำคัญแห่งประเพณีทำบุญสงกรานต์นั้น โดยรวมให้เห็นถึง ๓ ประการ คือ

.....- เป็นการบอกให้ทราบถึงวันเดือนปีใหม่ อันเป็นเครื่องเตือนใจบอกให้รู้ถึงอายุขัยของเราว่าล่วงมาแล้วเท่าไร และได้กระทำสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอันจะสามารถเป็นเครื่องหมายชีวิตในระยะเวลาเช่นนั้นได้ มิให้จิตใจต้องว้าเหว่ ให้ได้ทำสิ่งที่ดีมีหลักประกันชีวิต ทว่าชีวิตล่วงมาด้วยความประมาทมัวเมา จะได้ละเลิก หันมาตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว ทำสิ่งที่ดีกว่าให้กับชีวิตต่อ ๆ ไป

.....- ช่วยเตือนให้ชำระสะสางทั้งร่างกายและจิตใจให้มีความสะอาด ใช้สติปัญญาแก้ไขปรับปรุง เตรียมตัวเองสำหรับทั้งการงานและต่อตัวเอง ได้หันไปแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ ได้สนองอุปการะของผู้มีอุปการะของเรา

.....- เป็นวันแห่งความเอื้ออาทร จากการสรงน้ำพระ รดน้ำผู้ใหญ่ เล่นสาดน้ำ การแสดงความยินดีต่อกันด้วยการอวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข ประเพณีที่แสดงถึงความเอื้ออาทรต่อกันของสมาชิกในสังคมเอง การสืบทอดจรรโลงนี้ จนถึงปัจจุบันน่าจะช่วยให้รักษาคุณค่าทางใจ ความมีน้ำใจ การมีสัมมาคารวะและกตัญญู

.....โดยได้ชื่อว่าช่วยกันรักษามรดกทางประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามประจำชาติ ที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องมาแต่อดีต ฝั่งลึกเข้าไปในชีวิตของคนไทย โดยหากเมื่อรู้จักแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมควรแก่กาลเทศะ เช่นนั้นเป็นการหวังได้ว่าเป็นขนบธรรมเนียม อีกทั้งเป็นคุณค่าที่สรรสร้างยังให้เกิดความเจริญได้ยิ่งในทุกยุคทุกสมัย.
 

 

 

 

สุ. พูนพิพัฒน์.

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.039297286669413 Mins