มหาจักรีบรมราชวงศ์ ๖ เมษายน

วันที่ 06 เมย. พ.ศ.2547

 

 


.....วันแห่งการระลึกนับเนื่องจากวันที่พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จดำรงอาณาจักรสยามเป็นวันแรก จากพิธีปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ ตามพระนามที่พระสังฆราชาคณะ ทั้งฝ่าวคามวาสี อรัญวาสี พร้อมกันถวายไว้ว่า “พระบาทสมเด็จพระบรม ราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทร บรมมหาจักรพรรดิ ฯลฯ “ ส่วนที่นำมาเพียงย่อนี้จากพระนามที่ยาว อีกทั้งมิได้กำหนดว่าจะให้เรียกพระนามสั้น ๆ ว่ากระไร ราษฎรจึงเรียกว่า “แผ่นดินต้น”

.....พระราชประวัติ พระนามเดิม ทองด้วง ประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๒๗๕ ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ เริ่มเข้ารับราชการในสมัยพระเจ้าอุทุมพร ด้วยพระปรีชาความสามารถในการทหาร ปฏิบัติราชกิจจนมีความชอบขึ้นสู่บรรดาศักดิ์ นับจากเป็นหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี พระมหามนตรี พระราชวรินทร์ พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยายมราช เจ้าพระยาจักรี และสมเด็จพระยา มหากษัตริย์ศึกเป็นลำดับ

.....เมื่อทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งจักรีวงศ์ แล้วปูนบำเหน็ดรางวัลผู้มีความชอบในการช่วยพระองค์ขึ้นเสวยราชย์แก่หลาย ๆ ท่านตามสมควร และทรงดำเนินการในราชกิจสำคัญด้านต่าง ๆ ดังนี้

.....๑.การสร้างและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาตั้ง ยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยเหตุผลเพื่อยังความมั่นคงและปลอดภัยแห่งราชอาณาจักรใหม่ จากราชธานีเดิมมีลักษณะเป็นเมืองอกแตกคือมีแม่น้ำผ่านกลางเมืองนั้นไม่สะดวกแก่การต่อสู้ข้าศึก อาศัยแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นคูพระนครตามธรรมชาติได้ถึง ๒ ด้าน มาทำต่ออีกเพียง ๒ ด้าน ก็ย่อมเป็นการสะดวกแก่การป้องกันพระนครอยู่ได้มาก ทั้งที่ตั้งพระราชวังเดิมก็เป็นท้องคุ้ง น้ำเซาะตลิ่งพังลงเรื่อย ไม่เป็นการเหมาะในการจะสร้างพระราชวังให้เป็นการถาวรได้ อีกทั้งถูกขนาบด้วยวัดถึงสองข้าง คือวัดอรุณราชวรารามและวัดท้ายตลาดอีกด้านหนึ่ง จะขยายในกาลภายหน้าย่อมทำไม่ได้ ด้วยการรื้อวัดเพื่อขยายวังนั้นเป็นเรื่องที่พุทธมามกะชนจะไม่พึงปฏิบัติเลย

.....การนี้ยังแสดงถึงพระวินิจฉัยอันเด็ดขาดแล้วว่า จะไม่ย้ายราชธานีขึ้นไปยังอยุธยาอีก จากที่โปรดเกล้าฯ ให้รื้ออิฐจากกำแพงของเก่าที่พระนครศรีอยุธยาลงมาเพิ่มเติมในการก่อสร้างนี้เป็นอันมาก

.....ซึ่งการสร้างราชธานีนี้ใช้เวลา ๗ ปี แล้วพระราชทานนามว่า “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน “ สมโภชน์เสร็จในต้นปี พ.ศ.๒๓๒๘

.....สิ่งสำคัญสร้างขึ้นพร้อมกับพระนครคือ พระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายในประดิษฐาน พระพุทธมณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่เมือง

.....๒.ทรงวางระเบียบการปกครอง คงดำเนินรอยตามที่จัดมาแต่ครั้งพระนครศรีอยุธยาให้เป็นระเบียบรัดกุมขึ้น มีอัครมหาเสนาบดี ๒ คือ สมุหกลาโหม-ฝ่ายทหาร สมุหนายก-ฝ่ายพลเรือน แบ่งเป็น ๔ กรม เรียกว่าจตุสดมภ์ จัดแบ่งหัวเมืองขึ้นใหม่ทั้งหัวเมืองฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ให้หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกกับหัวเมืองริมอ่าวให้ขึ้นแก่กรมท่า

.....๓.ทรงชำระกฏหมาย ด้วยพระราชดำริว่า กฏหมายที่ใช้เป็นหลักในการชำระอรรถคดีมาแต่โบราณกาล ต้องสูญหายไปคราวเสียกรุงเป็นอันมาก ส่วนที่เหลือก็ฟั่นเฟือนวิปริตจากผู้แก้ไขตัวบททำเพื่อเอื้อประโยชน์แต่ตนเอง จึงทรงโปรดให้จัดตั้งชำระบทกฎหมายต่าง ๆ ให้ถูกต้อง จัดเป็นหมวดหมู่เพื่อสะดวกและเป็นธรรมแก่การวินิจฉัย อรรถคดีต่าง ๆ ทำชุบเส้นหมึก ๓ ฉบับ เก็บไว้ในที่สำคัญ ๓ ส่วน รวมทั้งปิดตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และตราบัวแก้ว ทุกเล่มจึงเรียกว่า กฏหมายตรา ๓ ดวง และใช้มาจนถึงต้นรัชกาลที่ ๕

.....๔.ฟื้นฟูพระราชประเพณี ด้วยทรงเห็นโบราณราชประเพณีเป็นสิ่งที่พึงสงวนไว้ จึงโปรดให้ฟื้นฟูที่จำเป็นขึ้นใหม่ เช่น พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก พืชมงคล พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
การสงครามกับพม่า ในการป้องกันรักษาพระราชอาณาจักรด้วยพระปรีชา ในรัชกาลนี้ยังคงมีการสงครามกับพม่าอยู่อีกหลายครั้ง แต่ที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นเครื่องตัดสินถึงโชคชะตาของไทย และทำให้ดำรงอิสรภาพสืบมาได้ถึงกระทั่งปัจจุบันนี้มีเพียงครั้งเดียวครั้งสำคัญที่ว่านี้คือ สงคราม ๙ ทัพ ซึ่งศึกพม่าครั้งนี้ใหญ่กว่าทุกคราวในประวัติการณ์ทีเดียว ข้อบกพร่องของพม่าใน ๒ ประการ คือ

.....๑.พม่าแยกกำลังพลยกมาหลายทางด้วยกัน จึงทำให้ไทยสู้ได้ง่าย

.....๒.พม่ายกกองทัพมามาก ด้วยหมายโจมตีไทยให้แตกในคราวเดียว โดยไม่ได้ทันคิดถึงการลำบากเรื่องการเสบียง ที่ขาดแคลนตามมาจนผู้คนระส่ำระส่าย
การติดต่อกับต่างประเทศ ที่ส่งผลถึงสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ได้แก่ การติดต่อกับประเทศญวน เกิดกบฎไกเซิน ทรงส่งทั้งเสบียง เรือรบและอาวุธไปช่วยปราบจนสำเร็จ ในส่วนที่ติดต่อกับประเทศเขมร สมัยพระอุทัยราชา สัมพันธไมตรีไทย-เขมรเสื่อมถอยลง และเกิดความยุ่งยากขึ้นในรัชกาลต่อมา ทางด้านมลายู แม้ว่าอังกฤษได้เกาะปีนัง (เกาะหมาก) ไปจากพระยาไทรบุรีโดยไทยไม่รู้เห็นด้วย แต่ทว่าเหตุการณ์ก็คงเรียบร้อยสืบมาจนสิ้นแผ่นดินต้น
การทำนุบำรุงบ้านเมือง ใน

.....๑. การวรรณคดี แม้มีการสงครามครั้งใหญ่ ๆ เกือบตลอดรัชกาล ยังทรงโปรดให้การอุปถัมภ์ในด้านวรรณคดีไว้เป็นอย่างมาก สร้างบทละครที่ถูกเผาและสูญหายเมื่อกรุงแตกขึ้นใหม่ถึง ๔ เรื่อง เด่น ๆ คือ รามเกียรติ์ ดาหลัง อุณรุต และอิเหนา เริ่มขึ้นยุคใหม่วรรณคดีที่หันมานิยมร้อยแก้วมากขึ้น มีการแปลพงศาวดารจีนเป็นไทยขึ้นหลายเล่ม จนเกิดความเรียงมาถึงสมัยปัจจุบัน ได้แก่ สามก๊ก และราชาธิราช รัชสมัยนี้ก็ปรากฏกวีเอกขึ้นหลายท่าน

.....๒.การพระศาสนา โปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฏกเป็นครั้งที่ ๑๐ในพระพุทธศาสนา ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภก ให้จารึกลงในใบลานเป็นอักษรขอม และคัดไปไว้ตามพระอารมต่าง ๆ เพื่อไว้ศึกษาค้นคว้าได้ต่อไป

.....โปรดให้จัดสร้างพระเจดีย์ศรีสรรเพชญขึ้นภายในวัดพระเชตุพน เพื่อบรรจุซากพระพุทธรูปศรีสรรเพชรญดาญาณที่ถูกพม่าเผาลอกเอาทองหุ้มไป รวมทั้งทรงบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามหลวงขึ้นอีก เช่น วัดพระเชตุพน วัดสุทัศน์ วัดอรุณ วัดสระเกษ วัดระฆัง และอัญเชิญพระพุทธรูปหล่อตามวัดร้างในต่างจังหวัดลงมาประดิษฐานตามวัดที่ได้สร้างขึ้น

.....พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครองราชสมบัติอยู่ ๒๘ ปี เสด็จสวรรคต พุทธศักราช ๒๓๕๒ พระชนมายุได้ ๗๔ พรรษา

.....นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานโอกาสให้ประชาชนชาวไทยแสดงกตเวทิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้มีการถวายบังคมพระมหา กษัตริยาธิราชในพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกรัชกาล ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน เป็นประจำทุกปี


.....ด้วยกิจกรรมที่เอื้อประโยชน์ทั้งต่อตนเอง จนถึงระดับประเทศที่ถูกวางไว้อย่างลงตัว ในเรื่องของการจัดแสดงพระราชประวัติและผลงาน จัดการแสดงเทิดพระเกียรติ การถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ ประดับธงชาติ การทำบุญตักบาตรเพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศล การปฏิบัติธรรมน้อมรำลึกบูชาพระคุณ ความเหมาะสมที่ถูกสืบทอดส่งต่อด้วยความกตัญญู ยกระดับจิตใจที่แจ่มใสชัดเจน จะยังรักษาธำรงความเป็นชาติอันสง่างามตลอดไป

.....สำหรับราชธานีที่มีชื่อยาวที่สุด กับการรำลึกถึงด้วยความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและความสำคัญของวันจักรี กิจกรรมถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติด้วยความตระหนักใน คุณค่าของวัฒนธรรมความเป็นไทย และร่วมกันอนุรักษ์ สืบทอดวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ ซึ่งเท่ากับ เป็น “การรักษาชาติ” จวบจนปัจจุบันถือเป็นโอกาสได้ร่วมฉลองราชธานีครบ ๒๒๒ ปีในครั้งนี้.

 

 

 

สุ. พูนพิพัฒน์.

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.024065466721853 Mins