วัดพระธรรมกาย กับ การสร้างคน

วันที่ 20 เมย. พ.ศ.2547

 

 


.....“…พระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อระบบการปกครองประเทศอย่างมาก ไม่มีประเทศใดในโลกตามความคิดเห็นของข้าพเจ้า ที่ศาสนาเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันมากเท่ากรุงสยาม…” คือ คำปรารภจากใจจริงของชาวต่างชาติ จอห์น ครอฟอร์ด ที่เข้ามารับราชการในไทยตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จากบันทึกความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับสถาบันการปกครองของไทย บ่งบอกถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่มีต่อวิถีชีวิตของคนไทยมาเป็นเวลานาน

.....ในฐานะที่วัดมีหน้าที่หลักในการสอนศีลธรรมให้กับประชาชน เป็นเหมือนมหาวิทยาลัยศีลธรรมที่ใหญ่ที่สุด ย่อมมีภาระหน้าที่ต่างๆ ตามมา ในกระบวนการปลูกฝังและเผยแผ่ธรรมะให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน จำนวนพระภิกษุสงฆ์จำนวนกว่า ๓๐๐,๐๐๐ รูป จากวัดทั่วประเทศกว่า ๓๐,๐๐๐ วัด ยังขาดบุคคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจด้านพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนสามารถเป็นครูสอนศีลธรรมที่เป็นทั้งต้นแบบและต้นบุญให้กับญาติโยมได้

.....ปัจจุบันมีผู้กล่าวกันมากว่า คนไม่ค่อยเข้าวัด ผู้คนมีศีลธรรมน้อยลง วัดพระธรรมกายมองปัญหานี้ในมุมกลับว่า จริงๆ แล้วประชาชนอยากเข้าวัด แต่วัดยังไม่น่าเข้า จึงเป็นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ จะต้องเป็นผู้นำในการปรับปรุงวัดให้น่าเข้า แล้วประชาชนก็จะหลั่งไหลเข้าวัดเอง

.....ความตั้งใจแน่วแน่ของคณะผู้บุกเบิกสร้างวัดพระธรรมกาย คือ การอบรมศีลธรรมแก่ประชาชน เพื่อสร้างสันติสุขให้แก่ชาวโลก ด้วยจุดประสงค์เพื่อ สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระ และ สร้างคนให้เป็นคนดี

.....ด้วยเหตุนี้จึงมุ่งเน้นการอบรมธรรมะทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติให้แก่พระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนสาธุชนผู้สนใจศึกษาธรรมะทุกท่านตลอดมา รวมทั้งเน้นในความสะอาด ความสงบ ร่มรื่น หลักการของวัดพระธรรมกายมุ่งที่ศีลธรรม ไม่ได้เป็นเพียงศาสนสถาน หรือสถานที่สำหรับการประกอบพิธีกรรมเท่านั้น สรุปได้ว่า “วัด คือ โรงเรียนสอนศีลธรรมให้กับมหาชน”

.....แนวคิดด้านการเผยแผ่ธรรมะ

.....การเผยแผ่ธรรมะเพื่ออบรมประชาชนให้เป็นคนดี เป็นหน้าที่หลักของวัดทุกวัด ซึ่งในการ
อบรมศีลธรรมแก่ประชาชนนั้น วัดพระธรรมกายได้แบ่งระดับการเรียนรู้ของประชาชนไว้ ๓ ระดับ คือ

.....๑.มีความรู้และความเข้าใจหลักธรรม

.....๒.สามารถหลักธรรมนั้นไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้

.....๓.สามารถแนะนำชักชวนบุคคลอื่นให้ประพฤติปฏิบัติชอบตามไปด้วย

.....การอบรมธรรมะของวัดพระธรรมกาย จะพยายามพัฒนาสาธุชนให้มีความหนักแน่นในธรรมเพิ่มขึ้นตามลำดับ ไม่หยุดเพียงแค่รู้และเข้าใจหลักธรรมเท่านั้น แต่ต้องนำหลักธรรมนั้นๆ ไปใช้ปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันให้ได้ด้วย และเมื่อตนเองลงมือปฏิบัติแล้วควรทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรชักชวนญาติมิตรให้ทำความดีตามไปด้วย เป็นการสร้างคนดีให้เกิดขึ้นในสังคมได้มากขึ้นเรื่อยๆ

.....โครงการต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่ออบรมธรรมะ แบ่งเป็นประเภทและช่วงเวลาต่างๆ ได้แก่

๑) งานบุญวันอาทิตย์ ทุกวันอาทิตย์ภาคเช้าจะเป็นการสอนธรรมปฏิบัติ นั่งสมาธิเจริญภาวนา ส่วนภาคบ่ายเป็นการแสดงพระธรรมเทศนา

๒) วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้จัดกิจกรรมวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันทอดกฐิน เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะวันมาฆบูชานั้นจะมีพิธีจุดมาฆประทีปถวายเป็นพุทธบูชา ตลอดทั้งวันกิจกรรมหลักเป็นการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา รวมถึงการฟังพระธรรมเทศนา

๓) ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน จัดโครงการอบรมธรรมะระยะยาว ตั้งแต่ ๓๐-๕๕ วัน

- โครงการอบรมธรรมทายาทและบรรพชาอุปสมบทหมู่ สำหรับนิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา
- โครงการอบรมมัชฌิมธรรมทายาทบรรพชาหมู่ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและปลาย
- โครงการอบรมยุวธรรมทายาทบรรพชาหมู่ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา
- โครงการอบรมธรรมทายาทหญิง สำหรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษา
- โครงการอบรมมัชฌิมธรรมทายาทหญิง สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา

.....ในส่วนของการอบรมธรรมะให้ประชาชน ทุกๆ วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วัดพระธรรมกายจัดให้มีการอยู่กลดธุดงค์สุดสัปดาห์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ มีทั้งสาธุชนชายหญิง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สนใจเข้าร่วมการอยู่ธุดงค์เป็นประจำทุกสัปดาห์ ครั้งละ ๑๐๐-๑๕๐ คน โดยเฉลี่ยปีหนึ่งหลายหมื่นคน

.....นอกจากนี้วัดพระธรรมกายยังจัดการอบรมธรรมะเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงาน ให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนรัฐวิสาหกิจต่างๆ เช่น กรมป่าไม้ กรมศุลกากร พยาบาล ทหาร ตำรวจ รวมถึงบริษัทห้างร้านต่างๆ ส่งพนักงานเข้ารับการอบรมเป็นจำนวนมาก

๔) โครงการปฏิบัติธรรมพิเศษ ปฏิบัติธรรม ระยะเวลา ๗ วัน จัดขึ้นในต่างจังหวัด ท่ามกลางบรรยากาศป่าเขาธรรมชาติ อากาศเย็นสบายเหมาะสมต่อการปฏิบัติธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๖ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น ๕๑,๔๓๗ คน

๕) โครงการตอบปัญหาธรรมะทางก้าวหน้า วัดพระธรรมกาย ได้ร่วมกับชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จัดการสอบตอบปัญหาธรรมะรางวัลโล่พระราชทาน เป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๕ จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนนักเรียนสมัครสอบโดยรวมถึง ๘,๓๕๐,๐๐๐ คน จากทั่วประเทศ โดยนำหลักธรรมจาก มงคลสูตร ๓๘ ประการ มาอธิบายขยายความให้เข้าใจง่ายต่อผู้ศึกษาและนำไป ประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

......ตลอดระยะเวลา ๓๓ ปี ที่ผ่านมา วัดพระธรรมกายได้ดำเนินการเผยแผ่ธรรมะตามมโนปณิธานของผู้บุกเบิกสร้างวัดตั้งแต่แรกเริ่ม นั่นคือ พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ หลวงพ่อธัมมชโย ซึ่งท่านมักจะให้โอวาทกับคณะทำงานอยู่เสมอว่า การสร้างถาวรวัตถุใดๆ นับว่าสำคัญมากแล้ว แต่ยังสำคัญน้อยไปกว่าการสร้างคนให้เป็นคนดี ..เพราะการสร้างคนดี ถือเป็นการสร้างต้นแบบให้กับสังคม ในยุคพัฒนาสู่การเป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม นำพาประเทศชาติให้รุ่งเรืองได้ในที่สุด

.....ในวาระวันคล้ายวันเกิดของพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ซึ่งเวียนมาบรรจบครบ ๕ รอบ ในวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๗ เหล่าศิษยานุศิษย์ทั้งภายในและต่างประเทศ ได้ร่วมใจกันน้อมบูชาธรรมท่านด้วยการปฏิบัติบูชา ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้เข้ารับการบรรพชาอุปสมบทในภาคฤดูร้อนประจำปีนี้มีจำนวนมากกว่าทุกปี โครงการหนึ่งมีชื่อว่า โครงการบรรพชาอุปสมบท รุ่น ๖๐ ปี บูชาธรรมพระราช หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “รุ่นเนื้อนาบุญ” มีจำนวนผู้เข้าร่วมอบรมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ ถึง ๒๐๐ % รวมทุกโครงการบรรพชาอุปสมบททั้งภายในและต่างประเทศ จำนวนรวมกว่า ๓,๐๐๐ คน อันแสดงถึงความกตัญญูกตเวที และความเคารพรักอย่างสูงสุดที่มีต่อพระเดชพระคุณท่าน

.....วันคุ้มครองโลก ที่จะถึงนี้ ราวกับได้สะท้อนภาพทุกภาพแห่งความสำเร็จของวัดพระธรรมกาย สะท้อนทุกหยาดเหงื่อแรงกายแห่งความทุ่มเทเสียสละของเหล่ากัลยาณมิตร ผู้อุทิศตนในทุกโครงการของการสร้างคนดี ตลอดระยะเวลา ๓๓ ปีที่ผ่านมา ทุกคนต่างตระหนักดีว่า เพราะมีพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ หลวงพ่อธัมมชโย ท่านเป็นทั้งต้นแบบต้นบุญ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งปวง จึงทำให้มีวันนี้ วันที่ธงธรรมชัยแห่งพระพุทธศาสนา โบกสะบัดได้อย่างองอาจ สง่างาม

.....ในสิริโอกาสวันคล้ายวันเกิดของพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ในวันที่ ๒๒ เมษายนนี้ ท่านเจ้าคุณมีอายุครบ ๖๐ ปี และดำรงอยู่ในสมณเพศ ๓๕ พรรษา … พระผู้เปรียบดังเสาค้ำให้พระพุทธศาสนามั่นคง สมกับเป็นดวงประทีปแห่งอารยธรรมของแผ่นดินสยาม เหล่าศิษยานุศิษย์ ขอนอบน้อมประนมกรต่างพวงมาลัย พานดอกไม้ของหอม และน้อมนำปฏิบัติบูชา อีกกลิ่นศีลบริสุทธิ์เหมือนเทียนธูปที่อบร่ำมาดีแล้ว บูชาพระคุณท่านอย่างยิ่งด้วยเศียรเกล้า

 

 

 

อุบลเขียว.

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.025236213207245 Mins