สร้างความสุขเเละมีเงินไปพร้อมกัน

วันที่ 30 กย. พ.ศ.2563

สร้างความสุขเเละมีเงินไปพร้อมกัน

                   มีคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าเงินคือที่มาของความสุข ถ้ามีเงินแล้วก็จะมีความสุข แต่พอดูจริงๆ เข้าจะพบว่าเศรษฐีที่มีเงินเยอะๆ ทั้งหลายจำนวนมากไม่ได้มีความสุขอย่างที่คนทั่วไปคิด

                   คนที่ยังมีเงินไม่มากก็มองว่า ถ้ามีเงินก็จะสะดวกขึ้นมาก จะใช้จ่ายเรื่องต่างๆ ก็เงินไม่พอ ก็ต้องไปกู้เงินธนาคาร แล้วก็มีความทุกข์อีก ถ้าไม่มีหนี้ เรามีเงินเยอะๆ น่าจะมีความสุข คนจำนวนมากจึงมองว่าเงินคือปัจจัยหลักที่จะนำไปสู่ความสุข แต่พอไปดูคนที่เขามีเงินเยอะจริงๆ กลับพบว่าไม่ใช่ แล้วตกลงจริงๆคืออะไรกันแน่ ทำอย่างไรเราถึงจะมีความสุขในชีวิตได้ เงินกับความสุขมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร

20118-01.jpg

                    จากการศึกษาหลักธรรมเรื่องราวในพระไตรปิฎกรวมทั้งเรื่องราวของบุคคลในยุคนี้ สรุปรวมได้ว่า สิ่งสำคัญคือทัศนคติที่ถูกต้องต่อเรื่องของเงินและงาน

                    ถามว่าทำไมต้องทำงาน เรามาดูตัวเราว่า ในการจะรักษาชีวิตเราให้เป็นไปได้ เราใช้ทรัพยากรจำนวนมาก อย่างปัจจัย 4 แค่หมวดเดียวก่อน

                   คือเรื่องของอาหาร อีก 3 อย่างยังไม่ต้องพูดถึง ถ้าวันหนึ่งเรารับประทานอาหารทุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปรวมเบ็ดเสร็จแล้วประมาณ 1 กิโลกรัม คนก็รู้สึกว่า 1 กิโลกรัมก็ไม่เท่าไหร่ แต่หากคิด 1 ปี จะกลายเป็น 365 กิโลกรัม 10 ปี ก็เป็น 3,650 กิโลกรัม หากสมมติว่าเกิดสงครามขึ้นมายืดเยื้อยาวนาน อย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ยาว 6 ปี ถ้าสมมุติ 10 ปี คิดแล้วน่าตกใจ เพราะถ้าคนแค่หมู่บ้านเดียว

                   สมมติว่าพันคน ถ้า 10 ปีต้องเก็บตุนอาหารเอาไว้ 3,650,000 กิโลกรัม หรือ 3,650 ตัน คิดเป็นล้านๆกิโลกรัม กักตุนไม่ไหว ที่โลกเราดำเนินไปได้เลี้ยงคนเจ็ดพันล้านคนได้เป็นเพราะทุกคนต้องสร้างผลผลิตในด้านใดด้านหนึ่งเนื่องจากเราบริโภคและใช้ทรัพยากรจำนวนมาก

                  ทุกคนจึงต้องสร้างผลผลิต คำว่าสร้างผลผลิตในที่นี้คือใครเป็นเกษตรกรก็ผลิตอาหาร ใครที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมก็ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ใครที่ทำงานทางวิชาการก็ทำหน้าที่ตัวเอง สอนหนังสือหรือว่าเขียนบทความวิชาการ

                   ใครจะเป็นข้าราชการ ใครจะเป็นพ่อค้าในการซื้อขายแลกเปลี่ยน จะทำหน้าที่ใดก็ได้ แต่ต้องทำงาน ใครอยู่เฉยๆ แล้วไม่ทำงาน คนนั้นคือภาระของโลก มองในสังคมเล็กๆ ก็คือตัวถ่วงของสังคม มองในครอบครัวถ้ามีใครไม่ทำงานกินทรัพยากรอย่างเดียวคนๆ

20118-02.jpg

                     นั้นก็คือบุคคลที่เป็นภาระให้คนที่เหลือต้องมาอุ้มชูเลี้ยงดูกัน เริ่มเป็นภาระหนักขึ้นมา เราจึงจะเห็นถึงความสำคัญว่าทำไมเราจึงต้องทำงาน แล้วเราจะทำถึงเมื่อไหร่ ในความเป็นจริง ถ้าจะให้ถูกหลักจริงๆ คือ เราควรจะต้องสร้างผลผลิตตลอดชีวิต

                     แต่ปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับวัย สังขาร และภาวะของตัวเอง สมัยก่อนในท้องไร่ท้องนา ในชนบทหนุ่มสาวคนวัยแข็งแรงก็เข้าท้องไร่ท้องนา ส่วนผู้เฒ่าอายุ 60-70 ปีไปแล้ว ก็อยู่บ้านเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ดูแลลูกหลาน คนหนุ่มคนสาวไปท้องไร่ท้องนา ถ้ามีปู่ย่าตายายอยู่บ้านก็อุ่นใจ

                     ถึงแม้ท่านจะอายุมากแล้ว 60 กว่า 70 กว่าปีแล้ว แต่มีท่านอยู่บ้านลูกหลานจะอายุ 2 ขวบ 3 ขวบ คนหนุ่มคนสาวเข้าท้องไร่ท้องนาก็สบายใจว่ามีผู้ใหญ่ดูแลอยู่ เล่านิทานให้หลานฟังบ้าง สานกระบุงตะกร้าบ้าง ทำความสะอาดกวาดบ้านเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้ทำงานหนักเอาให้พอดีกับวัย ในยุคปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน เราอย่าไปคิดระบบที่ว่า 60 ปีเกษียณ 65 ปีเกษียณ จริงๆ เราต้องสร้างผลผลิตกันตลอดชีวิต

                    มีตัวอย่างที่น่าประทับใจ มีคุณโยมหญิงอายุ 80 กว่าปีร่วม 90 ปี ต้องนั่งรถเข็นแล้ว แต่ท่านยังสร้างผลผลิตที่สำคัญมาก คือ ท่านมีลูกหลายคน ทำธุรกิจทางด้านร้านขายยา เปิดร้านขายยาหลายแห่ง มีลูกคนหนึ่งไปพบกันที่ญี่ปุ่น

                     สมัยหนุ่มๆก็เกเรพอสมควร แล้วก็เตลิดไปอยู่ที่ญี่ปุ่นร่วม 10 ปี เสร็จแล้วพบว่ามันก็เป็นแค่สีสันชีวิต ไม่เหลืออะไรเป็นเนื้อเป็นหนัง ก็เลยตัดสินใจกลับมาที่เมืองไทย คุณแม่ก็รวบรวมพี่น้องแล้วก็ออกทุนให้ ตั้งร้านขายยาเล็กๆ

20118-03.jpg

                    แล้วตัวท่านเองที่ต้องนั่งรถเข็น จะให้ไปช่วยงานอื่นก็ทำไม่ได้ แต่ท่านย้ายตัวเองจากบ้านใหญ่ มาอยู่ที่ร้านเล็กๆ ของลูกชายคนเล็กคนนี้ พอท่านมาอยู่นั่นคือการสร้างผลผลิตของท่าน คือทุกคนรักแม่หมด

                    พอแม่มาอยู่ด้วย ลูกก็มีทั้งกำลังใจ ลูกก็รู้ว่าท่านตั้งใจมาอยู่เป็นกำลังใจ เพราะร้านเล็กๆไม่สะดวกเหมือนบ้านใหญ่ แต่คุณแม่ท่านเลือกที่จะมาอยู่กับลูกชายคนเล็กที่ลำบากๆ เพราะท่านรู้ว่าคุณค่าของท่านมีในใจของลูกทุกคน

                    เมื่อท่านมาอยู่ที่นี่ลูกชายคนเล็กก็ตั้งใจทำงานด้วยความกตัญญูเป็นแรงขับเคลื่อน ลูกคนอื่นๆ เมื่อมาเยี่ยมแม่ ก็มาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทำให้ลูกคนเล็กค่อยเป็นหลักเป็นฐานขึ้นอย่างรวดเร็ว

                    นี้ก็เป็นรูปแบบการสร้างผลผลิตอย่างหนึ่ง ดังนั้นอย่าไปคิดว่าผลผลิตคือจะต้องทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำอย่างเดียว ดูว่าเรามีศักยภาพด้านไหนแล้วเอาศักยภาพเราออกมาใช้ให้เหมาะสม แล้วเราจะมีความสุขใจ เมื่อรู้สึกว่าชีวิตของเรามีค่า คนไหนไม่ทำงาน ต่อให้มีมรดกเยอะแล้วไม่ทำงาน

                   เชื่อไหมว่าก็ไม่มีความสุข จะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปแต่ละวันๆอย่างไร้ค่า ว่างเปล่า แล้วมีแนวโน้มจะไปหาอบายมุขไปหายาเสพติด สุดท้ายจะเสียคน แต่คนที่ทำงานสร้างผลผลิต จะเกิดความปลื้มใจ ภูมิใจ ความตระหนักในคุณค่าของตัวเอง

20118-04.jpg

                    แล้วพระท่านต้องสร้างผลผลิตอะไร ผลผลิตของท่านสำคัญที่สุดก็คือการประพฤติปฏิบัติธรรม บิณฑบาต เมื่อปลอดโปร่งเวลาว่างแล้วก็ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม แต่ละวันแต่ละคืนผ่านไปอย่างมีคุณค่าต่อตัวท่านเอง แล้วขณะเดียวกันท่านก็เป็นเนื้อนาบุญให้กับชาวโลกด้วย แล้วก็สอนธรรมะให้กับชาวโลกด้วย นี้ก็เป็นการสร้างผลผลิตที่ยิ่งใหญ่สำคัญมากๆ ของพระภิกษุ ดังนั้นทุกหน้าที่ทุกสถานะภาพในสังคมล้วนต้องหาทางสร้างผลผลิตที่เหมาะสมทั้งสิ้น

                   แล้วเราจะสร้างผลผลิต เราก็ต้องเป็นคนที่ขยัน เราพอเช็คออกไหมว่าตัวเรามีความขยันแค่ไหน เราถือว่าเป็นคนขยันไหม ขนาดไหน บางคนบอกว่าจะเช็คอย่างไรดี ทำงานเข้ากะวันละ 8 ชั่วโมง บางทีก็ควบ 2 กะหรือว่ากะครึ่ง ทำงานวันละ 12 ชั่วโมงถือว่าขยันหรือยัง ก็อาจจะใช้วิธีการนับด้วยจำนวนชั่วโมงก็เป็นไปได้

                     แต่พระพุทธเจ้าพระองค์ให้หลักไว้ว่า จะเช็คว่าเราขยันไม่ขยัน พระองค์ให้ดู 3 อย่าง คือ

                    1. ถ้าเป็นคนขยันจะทำงานที่รับผิดชอบให้สำเร็จโดยไม่ทอดธุระ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเช็คว่าเราเป็นคนชนิดที่ว่ามีงานมาก็ซุกเอาไว้เป็นดินพอกหางหมูหรือไม่ หรืองานอะไรมาแล้วก็จะพยายามทำให้สำเร็จ

                    2. ทำงานที่แทรกเข้ามาให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีโดยเร็ว คือ คนเราทุกคนจะมีว่า ขณะกำลังทำงานเพลินๆ แล้วมักจะมีบางอย่างที่ไม่คาดคิดแทรกเข้ามาทำให้เสียจังหวะ คนที่จะเป็นคนขยันได้จริงๆ นอกจากงานหลักแล้ว งานแทรกมาถึงถ้าเป็นเรื่องจำเป็นรีบด่วนก็จัดการทำให้เสร็จเรียบร้อยไปด้วย แล้วจะได้ทำงานหลักต่อไป บริหารทั้งงานหลักทั้งงานแทรกจนเรียบร้อย

                   3. ผู้ที่มีความเพียรจะทำงานที่มาถึงตัวเองด้วยความยินดี คือไม่ใช่ทำแบบฝืนๆ มีงานมาอีกแล้ว เบื่อแต่ถ้าไม่ทำเดี๋ยวเจ้านายจะดุ นั่นยังไม่ถือว่าขยัน หรือถ้าไม่ควบ 2 กะแล้วสิ้นเดือนจะไม่มีเงินมาผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ก็เลยจำเป็นต้องทำ ทำเพราะจำใจอย่างนี้ยังไม่ถือว่ามีความเพียรจริง ผู้ที่มีความเพียรจริงต้องทำด้วยความยินดีเบิกบาน ใส่ใจในงานที่ทำให้ดีที่สุด ถ้าอย่างนี้แล้วก็ถึงจะถือว่าเป็นผู้ที่มีความเพียรจริงๆ

20118-05.jpg

                     เมื่อมีความเพียรอย่างนี้แล้ว เดี๋ยวทรัพย์สินเงินทองต่างๆ ก็จะตามมา เราจะอยู่บนโลกนี้ได้อย่างไม่ลำบาก เมื่อมองทัศนคติเรื่องงานเรื่องเงินได้ถูกต้องให้ความใส่ใจกับการประกอบเหตุในการทำงานด้วยความสุข ความรับผิดชอบ ความใส่ใจ ผลลัพธ์คือทรัพย์สินก็จะตามมา จะมาเกินควรเกินคาดด้วย

                     คนทั่วไปมองผิดไปมองที่เป้าคือจะเอาเงิน แต่พอได้มาจริงก็ไม่มีความสุข แต่ถ้ามองที่เหตุ ประกอบที่เหตุแล้วผลลัพธ์คือได้เงินมา เราก็อยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุข เมื่อเงินมาแล้วก็สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ขึ้นมาได้จริงๆ จะนำไปสู่ความสุข 4 อย่างของคฤหัสถ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ

1.สุขจากการมีทรัพย์

2.สุขจากการใช้ทรัพย์ ก็คือมีทรัพย์แล้วก็ได้ใช้ไป

3.สุขจากการไม่มีหนี้

                   ทุกคนมีทรัพย์มากบ้างน้อยบ้าง แต่ถ้าใช้ทรัพย์เกินตัวก็ทำให้เป็นหนี้ ถ้าไม่เกินตัวก็ไม่มีหนี้ ก็มีความสุข จะรู้ว่าสุขจากการไม่มีหนี้เป็นอย่างไร ลองไปถามคนมีหนี้ดู แค่เป็นหนี้บัตรเครดิต เขาก็มาทวงเช้าทวงเย็นไม่มีความสุขเลย ใครเป็นหนี้บัตรเครดิตแสดงว่าใช้จ่ายเกินตัว ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต วิธีคิดทันที

4.สุขจากการทำงานไม่มีโทษ

                   ถ้าไปทำงานมีโทษ อาจจะได้ทรัพย์มาช่วงหนึ่งที่ไปคดไปโกงเขามา ถึงคราวต้องคอยระแวงว่าเขาจะจับได้ไหม เดี๋ยวจะแย่หรือเปล่า จะกลุ้มใจตลอดไม่คุ้มค่า

                   พระพุทธเจ้าตรัสว่าสุขจากการทำงานไม่มีโทษ เป็นความสุขที่ยิ่งกว่าสุข 3 อย่างแรก เราต้องทำงานที่สุจริตถูกต้องชอบธรรมก่อน แล้วมีทรัพย์ใช้ทรัพย์อย่างพอเหมาะพอสม แล้วไม่มีหนี้ นี่แหละคือการดำรงชีวิตอยู่ในโลก ในฐานะคฤหัสถ์ได้อย่างพอเหมาะพอสม

เจริญพร

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.037536716461182 Mins