ทางมาแห่งบุญ
“บุญ” เป็นเบื้องหลังความสุขและความสำเร็จทุกประการ ทั้งต่อผู้ที่มีชีวิตอยู่หรือสิ้นชีวิตไปแล้ว สำหรับผู้ยังมีชีวิตอยู่นับเป็นผู้ที่โชคดีเพราะกายมนุษย์เป็นอัตภาพที่สามารถสร้างบุญบารมีให้กับตัวเอง เพิ่มขึ้นได้ ส่วนผู้ที่ละโลกไปแล้วมีสิทธิ์เพียงแค่คอยอนุโมทนาบุญเท่านั้น การจะอุทิศบุญให้กับผู้ตายได้นั้น ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องสร้างบุญให้เกิดขึ้นกับตนเองเสียก่อน โดยทางมาแห่งบุญมีถึง 10 ประการ ดังนี้
บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ
1. ทานมัย บุญจากการทำทาน
2. สีลมัย บุญจากการรักษาศีล ทั้งศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 หรือศีล 227
3. ภาวนามัย บุญจากการนั่งสมาธิ เจริญภาวนา
4. อปจายนมัย บุญจากการอ่อนน้อมถ่อมตน
5. เวยยาวัจจมัย บุญจากการช่วยเหลือการงานที่ถูกที่ควร
6. ปัตติทานมัย บุญจากการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้อื่น
7. ปัตตานุโมทนามัย บุญจากการอนุโมทนาในกิจอันเป็นกุศล
8. ธัมมัสสวนมัย บุญจากการฟังธรรม
9. ธัมมเทสนามัย บุญจากการแสดงธรรม
10. ทิฏฐุชุกัมม์ บุญจากการทำความเห็นให้ตรงตามครองธรรม
สังฆทาน: หลักสำคัญที่พึงทราบ การถวายสังฆทานแก่พระภิกษุสงฆ์ถือเป็นบุญที่มีอานิสงส์มาก จึงเป็นบุญที่นิยมทำอุทิศให้กับผู้ตาย การถวายสังฆทานมิได้หมายถึงการถวายข้าวของเครื่องใช้หลายอย่างที่บรรจุรวมกันในกล่องหรือถังที่ขาย ตามท้องตลาด แต่หมายถึงการถวายทานแด่ “พระสงฆ์” ซึ่งหมายถึงพระจำนวนหลายรูป หรือพระจำนวนไม่กี่รูป (เป็นตัวแทนหมู่คณะพระภิกษุทั้งหมด) โดยที่ผู้ถวายนั้นไม่มุ่งเจาะจง ว่าจะถวายต่อรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ การถวายสังฆทานย่อมมีอานิสงส์และผลบุญมากกว่าการถวายทานโดยมุ่งตรงต่อพระรูปใดรูปหนึ่ง
• หลักสำคัญของการถวายสังฆทานมีอยู่ว่า ต้องตั้งใจถวายแด่พระสงฆ์โดยรวม ไม่จำเพาะเจาะจงว่าจะต้องถวายภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นภิกษุบวชใหม่ มีอายุมากดูเคร่งขรึม มีสมณศักดิ์หรือไม่ก็ตามควรตั้งใจมั่นว่าผู้รับจะเป็นภิกษุรูปใดก็ตาม หากมาในฐานะที่เป็นตัวแทนของพระสงฆ์แล้ว ให้ตั้งใจถวายทานนั้น ด้วยใจมุ่งไปที่การถวายแด่พระสงฆ์โดยรวมทั้งหมด เพื่อให้ทานนั้นเกิดประโยชน์แก่สงฆ์โดยรวม
• เตรียมวัตถุทานที่ต้องการถวายให้เสร็จเรียบร้อย โดยวัตถุทานนั้นควรเป็นของสะอาด ประณีต และมีคุณภาพมากที่สุดเท่าที่เราจะสรรหามาได้ตามกำลังที่มี ของที่ถวายนั้นควรเป็นของที่ก่อประโยชน์ให้กับ สงฆ์อย่างแท้จริง ทั้งในด้านการบำเพ็ญสมณกิจและบำเพ็ญสมณธรรม ไม่ใช่สิ่งของที่เป็นข้าศึกต่อการ ประพฤติธรรมหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น อาหารที่มีไขมันสูง บุหรี่ ซีดีเพลงทางโลก หรือภาพยนตร์
• เผดียงสงฆ์ คือ แจ้งความประสงค์ที่จะถวายทานนั้น ๆ ให้สงฆ์ทราบ โดยพระสงฆ์อาจมารับอย่างพร้อมเพรียงกัน หรือส่งตัวแทนมารับทานนั้น
เรื่องเล่าจากพระไตรปิฎก : เกิดเป็นเทพชั้นสูงกว่าเพราะสังฆทาน (จากพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย / เล่มที่ 48 หน้า 279) นางภัททาและนางสุภัททา เป็นพี่น้องกัน ทั้งสองมีสามีคนเดียวกัน ต่างก็ชอบทำบุญในพระพุทธศาสนา เมื่อทั้งสองละโลกไปแล้วก็ได้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ โดยนางภัททาผู้พี่ได้เกิดเป็น“ภัททาเทพธิดา” ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ชั้นที่ 2) ส่วนนางสุภัททาผู้เป็นน้องไปเกิดเป็น “สุภัททาเทพธิดา”ในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี (ชั้นที่ 5) วันหนึ่งสุภัททาเทพธิดาเกิดคิดถึงพี่สาว จึงไปเยี่ยมที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อทั้งสองได้พบกันแล้ว ภัททาเทพธิดาจึงทักขึ้นว่า “ท่านรุ่งเรืองด้วยรัศมี ทั้งเป็นผู้เรืองยศ ย่อมรุ่งโรจน์ล่วงเทพ เจ้าชาวดาวดึงส์ทั้งหมดด้วยรัศมี ดิฉันไม่เคยเห็นท่าน เพิ่งจะมาเห็นในวันนี้เป็นครั้งแรก ท่านมาจาก เทวโลกชั้นไหน จึงมาเรียกดิฉันโดยชื่อเดิมว่า ภัททา ดังนี้เล่า”
สุภัททาเทพธิดาจึงตอบพี่สาวว่า “ข้าแต่พี่ภัททา ฉันชื่อว่าสุภัททาในภพก่อน ครั้งยังเป็นมนุษย์อยู่ดิฉันได้เป็นน้องสาวของพี่ ทั้งได้เคยเป็นภริยาร่วมสามีเดียวกับพี่มาด้วย ดิฉันตายจากมนุษยโลกนั้นมาแล้ว ได้มาเกิดเป็นเทพธิดาประจำสวรรค์ชั้นนิมมานรดี” ภัททาเทพธิดารู้สึกอัศจรรย์ใจ จึงถามน้องสาวถึงบุพกรรม ที่ทำให้บังเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี นางสุภัททาเทพธิดาตอบว่า “เมื่อชาติก่อน ดิฉันมีใจเลื่อมใสได้ถวายบิณฑบาต 8 ที่ แก่สงฆ์ผู้เป็นทักขิไณยบุคคล 8 รูป ด้วยมือของตน เพราะบุญกรรมนั้น ดิฉันจึงมีวรรณะงามเช่นนี้ ฯลฯ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ เพราะบุญกรรมนั้น” ได้ยินดังนั้นนางภัททาเทพธิดาจึงกล่าวขึ้นว่า แม้ตนเองก็ได้เลี้ยงดูพระภิกษุสงฆ์ด้วยข้าวและน้ำมากกว่านางสุภัททา แต่ไฉนจึงมาเกิดเป็นเทพชั้นต่ำกว่า
สุภัททาเทพธิดาจึงอธิบายว่า เหตุที่เธอได้เกิดเป็นเทพชั้นสูงกว่าเพราะเธอได้นิมนต์พระสงฆ์ 8 รูป มีพระเรวตเถระเป็นประธาน เพื่อถวายภัตตาหาร พระเรวตเถระปรารถนาจะอนุเคราะห์เธอ จึงบอกให้มุ่งถวาย แด่สงฆ์ ไม่ถวายเจาะจงแม้รูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเธอก็ได้ทำตามนั้น ทักขิณาจึงเป็น “สังฆทาน” ซึ่งมีอานิสงส์มากกว่า ที่พี่ภัททาถวายแก่ภิกษุรายบุคคลด้วยความเลื่อมใส
ได้ยินดังนั้นแล้ว ภัททาเทพธิดาจึงกล่าวว่า “พี่เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า การถวายสังฆทานนี้มีผลมาก ถ้าว่า พี่ได้ไปบังเกิดเป็นมนุษย์อีก จักเป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอปราศจากความตระหนี่ ถวายสังฆทาน และไม่ประมาทเป็นนิตย์” เมื่อสนทนากันแล้วนางสุภัททาเทพธิดาก็กลับไปสู่ทิพยวิมานของตนบนสวรรค์ ชั้นนิมมานรดี
ทานวัตถุ ทรัพย์สินหรือสิ่งของที่ควรถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ แบ่งออกเป็น 10 ประการ คือ (1) ภัตตาหาร (2) น้ำรวมทั้งเครื่องดื่มอันควรแก่สมณบริโภค (3) ผ้าและเครื่องนุ่งห่ม (4) ยานพาหนะ (รวมถึงปัจจัยค่าโดยสาร) (5) มาลัยและดอกไม้เครื่องบูชาชนิดต่างๆ (6) ของหอม เช่น ธูป เทียน และกำยาน (7) เครื่องลูบไล้ เช่น สบู่ และครีมโกนหนวด (8) ที่นอนอันควรแก่สมณะ (9) ที่อยู่อาศัย มีกุฏิเสนาสนะและเครื่องใช้ เช่น เตียง ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ (10) แสงสว่าง เช่น เทียน ตะเกียง หลอดไฟ ไฟฉาย ทั้ง 10 ประการนี้ ถือเป็นทานวัตถุอันควรแก่การถวายทาน
คำถวายสังฆทาน
อิมานิ มะยัง ภันเต, สังฆทานานิ, สะปะริวารานิ, ภิกขุสังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, ภิกขุสังโฆ, อิมานิ, สังฆทานานิ, สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ, นิพพานายะจะฯ
คำแปล
ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอน้อมถวาย, สังฆทาน, พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้, แด่พระภิกษุสงฆ์, ขอพระภิกษุสงฆ์, จงรับ, สังฆทาน, พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้, ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, เพื่อประโยชน์, เพื่อความสุข, เพื่อมรรคผลนิพพาน, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ตลอดกาลนาน เทอญฯ
รู้รอบตัวเรื่องบทสวดพระอภิธรรม ความหมายและความสำคัญของการสวดพระอภิธรรม พระอภิธรรม คือ ธรรมะขั้นสูงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นครั้งแรกเพื่อโปรดพุทธมารดา และเหล่าทวยเทพเทวดาที่มารวมกัน ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยพระองค์ทรงใช้เวลาตลอดพรรษาที่ 7 เพื่อแสดงธรรมนี้ จนกระทั่งเทพบุตรพุทธมารดาบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ส่วนเหล่าทวยเทพอื่นก็ได้ ดวงตาเห็นธรรมกันไปตามลำดับ
นอกจากการแสดงพระอภิธรรมให้แก่เหล่าเทวดาแล้ว พระพุทธองค์ยังทรงถ่ายทอดพระอภิธรรม ให้แก่พระสงฆ์สาวก โดยเริ่มต้นจากพระสารีบุตร ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวา เนื้อความของพระอภิธรรม จึงเข้าใจได้ยากสำหรับปุถุชนโดยทั่วไป หัวใจของอภิธรรมจะกล่าวถึงเรื่องของ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน
มีอุปมาเอาไว้ว่า พระอภิธรรมปิฎกมีความสำคัญเปรียบเสมือนรากแก้ว พระวินัยปิฎกประหนึ่งลำต้น พระสุตตันตปิฎกเหมือนกิ่งก้านสาขา บรรดาปิฎกทั้ง 3 นี้ พระอภิธรรมจึงมีความสำคัญที่สุด เป็นความรู้ระดับสูง ที่ท่านเรียกว่า ปรมัตถธรรม การสวดสาธยายพระอภิธรรมนี้จึงมีความหมายลึกซึ้ง ผู้ใดได้สดับฟังพระอภิธรรม แล้วย่อมจะได้บุญมาก โดยเฉพาะถ้าเข้าใจในความหมายของบทพระบาลีแล้ว ย่อมจะก่อให้เกิดดวงปัญญา และบุญอันบริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ส่วนใหญ่คณะสงฆ์จะสวดบทพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ การสวดพระอภิธรรมจึงถือเป็นหัวใจหลัก ของงานบำเพ็ญกุศลแด่ผู้ล่วงลับ เพราะแม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเลือกบทพระอภิธรรมเพื่อแสดง แก่พุทธมารดาผู้เป็นบุพการีของพระองค์ซึ่งได้ละสังขารไปสู่เทวโลก
ด้วยเหตุนี้เองชาวไทยจึงมีประเพณีในการสดับฟังบทพระอภิธรรมในงานบำเพ็ญกุศล ถือเป็นการ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตให้กับผู้ร่วมงาน ในขณะเดียวกันหากดวงวิญญาณของผู้ตายยังวนเวียนอยู่ ก็จะสามารถสดับฟังบทสวดและคลายความอาลัยอาวรณ์ลงได้ ยังจิตให้แช่มชื่นผ่องใสตามกระแสเสียงแห่ง บทพระอภิธรรม ยิ่งถ้าหากเจ้าภาพได้พิมพ์เนื้อความพระบาลีและบทแปลของพระอภิธรรมให้ผู้มาร่วมงาน ได้ทบทวนตามไปด้วยแล้ว ย่อมจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มาร่วมงานทุกท่าน
เรื่องเล่าจากพระไตรปิฎก : ไปสวรรค์เพราะฟังสวดพระอภิธรรม (จากพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย / เล่มที่ 75 หน้า 39) ครั้งหนึ่งในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีค้างคาวฝูงหนึ่ง จำนวน 500 ตัว เกาะห้อยโหน อยู่ที่เงื้อมเขา ในที่แห่งนั้นมีพระภิกษุผู้ทรงอภิธรรมอยู่ 2 รูป เมื่อภิกษุทั้งสองรูปนี้ได้สาธยายพระอภิธรรม เหล่าค้างคาวก็พากันตั้งใจฟังเสียงนั้น แม้ว่าจะไม่รู้และไม่เข้าใจความหมายของบทพระอภิธรรมเลย แต่ค้างคาวก็เจริญสติอยู่กับเสียงสวดสาธยายเป็นอย่างดี ด้วยบุญจากการฟังสวดพระอภิธรรมด้วยความตั้งใจนั้นเมื่อเหล่าค้างคาวละโลกแล้ว ต่างพากันไปเกิดเป็นเทวดาเสวยสุขในทิพยสมบัติเป็นระยะเวลาถึงหนึ่งพุทธันดร
บทสวดพระอภิธรรมพร้อมคำแปล
พระสังคิณี
กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา อัพยากะตา ธัมมา, กะตะเม ธัมมา กุสะลา, ยัสมิง สะมะเย กามาวะ จะรัง กุสะลัง จิตตัง อุปปันนัง โหติ โสมะนัสสะสะหะคะตัง ญาณะสัมปะยุตตัง รูปารัมมะณัง วา สัททารัมมะณัง วา คัณธารัมมะณัง วา ระสารัมมะนัง วา โผฏฐัพพา รัมมะณังวา ธัมมา รัมมะณัง วา ยัง ยัง วา ปะนะ รัพภะ ตัสมิงสะมะเย ผัสโส โหติ อะวิเข โป โหติ เย วา ปะนะ ตัสมัง สะมะเย อัญเญปิ อัตถิ ปฏิจจะสะมุปปันนา อรูปิโน ธัมมา อิเม ธัมมา กุสะลา.
พระสังคิณี (แปล)
ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล ธรรมทั้งหลายที่เป็นอัพยากฤต ธรรมเหล่าไหน เป็นกุศล ในสมัยใด กามาวจรกุศลจิตที่สหรคตด้วยโสมนัส สัมปยุคด้วยญาณเกิดขึ้น ปรารภอารมณ์ใด ๆ จะเป็นรูปารมณ์ก็ดี สัททารมณ์ก็ดี คันธารมณ์ก็ดี รสารมณ์ก็ดี โผฏฐัพพารมณ์ก็ดี ธรรมารมณ์ก็ดี ในสมัยนั้น ผัสสะ ความฟุ้งซ้านย่อมมี อีกอย่างหนึ่งในสมัยนั้น ธรรมเหล่าใดแม้อื่น มีอยู่ เป็นธรรมที่ไม่มีรูป อาศัย กันและกันเกิดขึ้น ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล
พระวิภังค์
ปัญจักขันธา รูปักขันโธ เวทะนากขันโธ สัญญากขันโธ สังขารักขันโธ วิญญาณักขักขันโธ, ตัตถะ กะตะโม รูปักขันโธ, ยังกิญจิ รูปัง อะตีตานาคะ ตะปัจจุป ปันนัง อัชฌัตตัง วา พะหิตธา วา โอฬาริกัง วา สุขุมัง วา ทีนัง วา ปะณีตัง วา ยัง ทูเร วา สันติเก วา ตะเทกัชฌัง อภิสัญญูหิตวา อภิสังขิปิตวา อะยัง วุจจะติ รูปักขันโธ
พระวิภังค์ (แปล)
ขันธ์ 5 คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ บรรดาขันธ์ทั้งหมด รูปขันธ์เป็นอย่างไร รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุปัน ภายในก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม เลวก็ตาม ประณีตก็ตาม อยู่ไกลก็ตาม อยู่ใกล้ก็ตาม นั้นกล่าวรวมกันเรียกว่า รูปขันธ์
พระธาตุกะถา
สังคะโห อะสังคะโห, สังคะหิเตนะ อะสังคะหิตัง อะสังคะหิเตนะ สังคะหิตัง สังคะหิเตนะ สังคะหิตัง อะสังคะหิเตนะ อะสังคะหิตัง สัมปะโยโค วิปปะโยโค, สัมปะยุตเตนะ วิปปะยุตตัง วิปปะยุตเตนะ สัมปะยุตตัง อะสังคะหิตัง
พระธาตุกะถา (แปล)
การสงเคราะห์ การไม่สงเคราะห์ คือ สิ่งที่ไม่ให้สงเคราะห์เข้ากับสิ่งที่สงเคราะห์ไม่ได้ สิ่งที่สงเคราะห์เข้ากับสิ่งที่สงเคราะห์ได้ สิ่งที่ไม่สงเคราะห์เข้ากับสิ่งที่สงเคราะห์ไม่ได้ การอยู่ด้วยกัน การพลัดพราก คือการพลัดพรากจากสิ่งที่อยู่ด้วยกัน การอยู่ร่วมกับสิ่งที่พลัดพรากไปจัดเป็นสิ่งที่สงเคราะห์ไม่ได้
พระปุคคะละปัญญัตติ
ฉะ ปัญญัตติโย ขันธะปัญญัติ อายะตะนะปัญญัตติ ธาตุปัญญัตติ สัจจะปัญญัตติ อินทริยะปัญญัตติ
ปุคคะละปัญญัตติ, กิตตาวะตา ปุคคะลานัง ปุคคะละปัญญัตติ, สะมะยะวิมุตโต อะสะมะยะวิมุตโต กุปปะธัมโม อะกุปปะธัมโม ปะริหานะธัมโม อะปะริหานะธัมโม เจตะนา ภัพโพ อนุรักขะนาภัพโพ ปุถุชชะโน โคตระภู ภะยูปะระโต อะภะยูปะระโต ภัพพาคะมะโน อะภัพพาคะมะโน นิยะโต อะนิยะโต ปฏิปันนะโก ผะเลฏฐิโต อะระหา อะระหัตตายะ ปฏิปันโน.
พระปุคคะละปัญญัตติ (แปล)
บัญญัติ 6 คือ ขันธบัญญัติ อายตนบัญญัติ ธาตุบัญญัติ สัจจบัญญัติ อินทรีย์บัญญัติ บุคคลบัญญัติ บุคคลบัญญัติของบุคคลมีเท่าไร มีการพ้นจากสิ่งที่ควรรู้ การพ้นจากสิ่งที่ไม่ควรรู้ ผู้มีธรรมที่กำเริบได้ ผู้มีธรรมที่กำเริบไม่ได้ ผู้มีธรรมที่เสื่อมได้ ผู้มีธรรมที่เสื่อมไม่ได้ ผู้มีธรรมที่ควรแก่เจตนา ผู้มีธรรมที่ควรแก่ การรักษาผู้ที่เป็นปุถุชน ผู้รู้ตระกูลโคตร ผู้เข้าถึงภัย ผู้เข้าถึงอภัย ผู้ไม่ถึงสิ่งที่ควร ผู้ไม่ถึงสิ่งที่ไม่ควร ผู้เที่ยง ผู้ไม่เที่ยงผู้ปฏิบัติ ผู้ตั้งอยู่ในผล ผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้ปฏิบัติเพื่อพระอรหันต์.
พระกถาวัตถุ
ปุคคะโล อุปะลัพภะติ สัจฉิกัตถะปะระมัตเถนาติ อามันตา, โย สัจฉิกัตโถ ปะระมัตโถ ตะโต โส ปุคคะโล อุปะลัพภะติ สัจฉิกัตถะปะระมัตเถนาติ, นะ เหวัง วัตตัพเพ, อาชานาหิ นิคคะหัง หัญจิ ปุคคะโล อุปะลัพภะติ สัจฉิกัตถะปะระมัตเถนะ เตนะ วะตะ เร วัตตัพเพ โย สัจฉิกัตโถ ปะระมัตโถ ตะโต โส ปุคคะโล อุปะลัพภะติ สัจฉิกัตถะปะระมัตเถนาติ, มิจฉา.
พระกถาวัตถุ (แปล)
(ถาม) ค้นหาบุคคลไม่ได้โดยปรมัตถ์ คือ ความหมายที่แท้จริงหรือ
(ตอบ) ใช่ ค้นหาบุคคลไม่ได้โดยปรมัตถ์ คือ โดยความหมายที่แท้จริง
(ถาม) ปรมัตถ์ คือ ความหมายอันแท้จริงอันใดมีอยู่ ค้นหาบุคคลนั้นไม่ได้โดยปรมัตถ์ คือโดยความหมายอันแท้จริงอันนั้นหรือ
(ตอบ) ท่านไม่ควรกล่าวอย่างนี้ ท่านจงรู้นิคคะหะเถิด ว่าท่านค้นหาบุคคลไม่ได้โดยปรมัตถ์ คือโดยความหมายอันแท้จริงแล้ว ท่านก็ควรกล่าวด้วยเหตุนั้นว่า ปรมัตถ์คือความหมาย อันแท้จริงอันใดมีอยู่ เราค้นหาบุคคลนั้นไม่ได้โดยปรมัตถ์ คือโดยความหมายอันแท้จริงนั้น คำตอบของท่านที่ว่า ปรมัตถ์คือความหมาย อันแท้จริงอันใดมีอยู่ เราค้นหาบุคคลนั้นไม่ได้โดยปรมัตถ์ คือโดยความหมายอันแท้จริงนั้นจึงผิด
พระยะมะกะ
เย เกจิ กุสะลา ธัมมา สัพเพ เต กุสะลามูลา, เย วา ปะนะ กุสะละมูลา สัพเพ เต ธัมมา กุสะลา, เยเกจิ กุสะลา ธัมมา สัพเพ เต กุสะละมูเลนะ เอกะมูลา, เย วา ปะนะ กุสะละมูเลนะ เอกะมูลา สัพเพ เต ธัมมากุสะลา
พระยะมะกะ (แปล)
ธรรมบางเหล่าเป็นกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดมีกุศลเป็นมูล อีกอย่าง ธรรมเหล่าใดมีกุศลเป็นมูลธรรมเหล่านั้นทั้งหมดก็เป็นกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดมีอันเดียวกับธรรมที่มีกุศลเป็นมูล อีกอย่างหนึ่ง ธรรมเหล่าใดมีมูลอันเดียวกับธรรมที่เป็นกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดเป็นกุศล.
พระมหาปัฏฐาน
เหตุปัจจะโย อารัมมะณะปัจจะโย อธิปะติปัจจะโย อนันตะระปัจจะโย สะมะนันตะระปัจจะโย สะหะชาตะปัจจะโย อัญญะมัญญะปัจจะโย นิสสะยะปัจจะโย อุปะนิสสะยะปัจจะโย ปุเรชาตะปัจจะโย ปัจฉาชาตะปัจจะโย อาเสวะนะปัจจะโย กัมมะปัจจะโย วิปากาปัจจะโย อาหาระปัจจะโย อินทริยะปัจจะโย ฌานะปัจจะโย มัคคะปัจจะโย สัมปะยุตตะปัจจะโย วิปปะยุตตะปัจจะโย อัตถิปัจจะโย นัตถิปัจจะโย วิคะตะปัจจะโย อะวิคะตะปัจจะโย
พระมหาปัฏฐาน (แปล)
ธรรมที่มีเหตุเป็นปัจจัย ธรรมที่มีอารมณ์เป็นปัจจัย ธรรมที่มีอธิบดีเป็นปัจจัย ธรรมที่มีปัจจัย หาที่สุดมิได้ ธรรมที่มีปัจจัยมีที่สุดเสมอกัน ธรรมที่เกิดพร้อมกับปัจจัย ธรรมที่เป็นปัจจัยของกันและกัน ธรรมที่มีนิสัยเป็นปัจจัย ธรรมที่มีธรรมเกิดก่อนเป็นปัจจัย ธรรมที่มีธรรมเกิดภายหลังเป็นปัจจัยธรรมที่มีการเสพเป็นปัจจัย ธรรมที่มี กรรมเป็นปัจจัย ธรรมที่มีวิบากเป็นปัจจัย ธรรมที่มีอาหารเป็นปัจจัยธรรมที่มีอินทรีย์เป็นปัจจัย ธรรมที่มีฌานเป็นปัจจัย ธรรมที่มีมรรคเป็นปัจจัย ธรรมที่มีการประกอบ เป็นปัจจัย ธรรมที่มีการอยู่ไม่ปราศจากเป็นปัจจัย ธรรมที่มีปัจจัย ธรรมที่ไม่มีปัจจัย ธรรมที่มีการอยู่ปราศจากเป็นปัจจัยธรรมที่ไม่มีการอยู่ปราศจากเป็นปัจจัย
“ส่งบุญ”
คู่มือจัดงานบำเพ็ญกุศลและสลายร่างผู้วายชนม์
เสียดาย...หากญาติผู้ตายไม่ได้อ่าน