เมื่อบุคคลอันเป็นที่รักละสังขาร

วันที่ 22 กย. พ.ศ.2563

เมื่อบุคคลอันเป็นที่รักละสังขาร

 

630922_b.jpg

สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อม
                 1. ฉีดยารักษาสภาพศพและทำความสะอาดร่าง
                 2. จองวัดและศาลา สำหรับสวดพระอภิธรรม
                 3. ติดต่อซื้อโลงศพ
                 4. ขนย้ายศพจากสถานที่ถึงแก่กรรมไปยังบ้านหรือศาลาวัดที่สวดศพ เพื่อจัดพิธีรดน้ำศพ
                 5. เตรียมรูปถ่ายของผู้ละสังขารสำหรับงานบำเพ็ญกุศล ซึ่งควรเป็นรูปขนาดใหญ่ ใส่กรอบเรียบร้อย เป็นรูปที่สุภาพ สง่างาม ควรแก่การจดจำ
                 6. เตรียมของที่ระลึกสำหรับผู้มาร่วมงานบำเพ็ญกุศลและงานฌาปนกิจ นิยมแจกหนังสือประวัติ ผู้ถึงแก่กรรมและหนังสือธรรมะ
                 7. ติดต่อสั่งทำหรือซื้ออาหารและน้ำดื่มสำหรับต้อนรับแขกที่มาร่วมงานบำเพ็ญกุศล
                 8. เตรียมเครื่องดื่มสำหรับพระสงฆ์ (ปานะ) ผ้าบังสุกุล เครื่องไทยธรรม ดอกไม้ธูปเทียน ปากกา ซองเปล่า กล้องถ่ายรูป และที่ฉีดละอองน้ำสำหรับเพิ่มความสดชื่นให้กับพวงหรีด

 

                 การทำความสะอาดร่าง ปกติแล้วมักจะดำเนินการโดยลูกหลานและญาติใกล้ชิด ด้วยการอาบน้ำอุ่นให้ก่อนแล้วล้างด้วยน้ำเย็นฟอกสบู่ขัดถูร่างกายศพให้สะอาด จากนั้นใช้น้ำขมิ้นทาทั่วร่างกายศพและประพรมน้ำหอม จากนั้นแต่งกาย ตามฐานะของผู้ตายหรือสวมชุดขาวให้ โดยใช้เสื้อผ้าที่สะอาดและใหม่ที่สุด แล้วเชิญร่างขึ้นนอนบนเตียงเพื่อ รอรับการรดน้ำศพต่อไป

 

                 แจ้งข่าวการละสังขาร จัดทำบัตรเชิญงานศพแก่หมู่ญาติ เพื่อนสนิท มิตรสหาย และบุคคลผู้รู้จักคุ้นเคย โดยจะสั่งทำจาก ร้านที่รับบริการแบบด่วนทันใจ เสร็จภายในวันเดียวหรือบอกกล่าวด้วยวาจาผ่านทางโทรศัพท์ก็ได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่นๆ เช่น ส่งจดหมายอิเลคทรอนิคส์ (อีเมล์) ส่งข้อความผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (SMS) หรือประชาสัมพันธ์ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์

 

การแจ้งตายและขอใบมรณบัตร 

               หากถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลจะออกใบรับรองแพทย์ให้ เพื่อเป็นหลักฐาน แสดงเหตุและพฤติการณ์ตาย แล้วนำใบรับรองแพทย์พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียชีวิตไปยัง สำนักทะเบียนท้องถิ่น หรือที่ทำการเขต/อำเภอ ในพื้นที่ที่โรงพยาบาลนั้นตั้งอยู่ เพื่อขอรับใบมรณบัตรโรงพยาบาลบางแห่งจะออกใบมรณบัตรให้เอง หรือช่วยดำเนินการให้เพื่ออำนวยความสะดวก โดยญาติของ ผู้เสียชีวิตจะต้องนำทะเบียนบ้านไปที่โรงพยาบาลด้วย

 

                หากถึงแก่กรรมตามธรรมชาติที่บ้าน เจ้าของบ้านจะต้องแจ้งตายต่อเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนท้องถิ่น แพทย์ประจำตำบล ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในเขตที่บ้านเรือนนั้นตั้งอยู่ หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจนั้น เพื่อออกบันทึกประจำวันให้ แล้วนำบันทึกประจำวัน นั้นไปยื่นต่อที่ทำการเขตหรืออำเภอ เพื่อขอใบมรณบัตร


               หากถึงแก่กรรมเนื่องจากอุบัติเหตุหรือฆาตกรรม เจ้าของบ้านจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาชันสูตรศพทำหลักฐานการเสียชีวิต ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือแพทย์ยังมิได้ตรวจศพห้ามเคลื่อนย้ายศพ หรือทำให้ศพเปลี่ยนสภาพ หรือนำยามาฉีดศพ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือแพทย์ ได้ตรวจชันสูตรศพแล้ว ญาติผู้เสียชีวิตจะต้องไปขอหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งขอใบชันสูตรศพจากแพทย์ เพื่อนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนท้องถิ่น ในการขอใบมรณบัตร โดยแจ้งด้วยว่าจะนำศพ ไปบำเพ็ญกุศล ณ วัดใด

 

หลักฐานและเอกสารที่ต้องใช้ในการแจ้งตายต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต/อำเภอ มีดังนี้
                • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง
                • หนังสือรับรองการตาย (ถ้ามี)
                • สำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อผู้ตาย (ถ้ามี)
                • สำเนาบันทึกประจำวันสถานีตำรวจ (ถ้ามี)
                • หนังสือชันสูตรศพจากสถาบันนิติเวช (กรณีตายผิดธรรมชาติ)


ใบมรณบัตรมี 2 ส่วน คือ
                ส่วนที่ 1. (ต้นฉบับ) จะต้องนำมาทำสำเนา โดยอาจทำที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นที่ออกใบมรณบัตรให้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทะเบียนได้รับรองเอกสารด้วย จะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง แล้วนำสำเนาไปมอบให้กับทางวัดเก็บไว้เป็นหลักฐานพร้อมกับแจ้งชื่อและสถานที่ติดต่อของเจ้าภาพ


                ส่วนที่ 2. จะต้องนำไปแสดงต่อสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่ผู้เสียชีวิตมีภูมิลำเนาอยู่ พร้อมกับนำทะเบียนบ้าน ที่มีชื่อผู้เสียชีวิตไปด้วย เพื่อจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนบ้าน โดยระบุว่าเสียชีวิตแล้วเมื่อใด ทั้งนี้ต้องแจ้งให้ เจ้าหน้าที่ทราบภายใน 15 วัน

 

                การจัดพิธีรดน้ำผู้ละสังขาร หากผู้ละสังขารเป็นผู้ใหญ่ของตระกูลและบ้านมีอาณาบริเวณกว้างขวางเพียงพอ อาจจัดสถานที่สำหรับพิธีรดน้ำศพที่บ้านก็ได้ หรือจัดพิธีรดน้ำศพและบำเพ็ญกุศลที่วัด โดยติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของวัดเพื่อเตรียมการ ดังนี้

 


 สถานที่รดน้ำผู้ละสังขาร
              โต๊ะหมู่บูชา
             • ทำความสะอาดพระพุทธรูปด้วยผ้าสะอาด จากนั้นจึงทำความสะอาดเครื่องประกอบโต๊ะหมู่
             • ตั้งโต๊ะหมู่ไว้ด้านศีรษะของร่างผู้ละสังขาร หันหน้าไปทางทิศใดทิศหนึ่ง ยกเว้นทิศตะวันตก (ดูความเหมาะสมของสถานที่เป็นหลัก)
             • ตั้งโต๊ะหมู่ไว้สูงกว่าเตียงรองร่างผู้ละสังขารพอสมควร
             • จัดเครื่องสักการบูชาให้ประณีตที่สุด (ดอกไม้ ธูป เทียน) ที่ตั้งเตียงรองร่างผู้ละสังขาร
             • ตั้งกึ่งกลางบริเวณพื้นที่กว้าง โดยตั้งไว้ด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชา
             • หันด้านขวามือหรือด้านปลายเท้าของผู้ละสังขารให้ชี้ไปยังผู้มาแสดงความเคารพ

             • ไม่ควรเดินผ่านศีรษะของร่างผู้ละสังขาร
             • จัดร่างให้นอนหงายเหยียดยาว แขนและมือขวาเหยียดออกห่างจากลำตัวเล็กน้อย
โดยให้วางมือหงายแบเหยียดออกคอยรับการรดน้ำ อาจนำพวงมาลัยคล้องมือผู้ละสังขารไว้ก็ได้
             • ใช้ผ้าแพรสีทองคลุมปิดร่างไว้ทั้งหมด เปิดเฉพาะใบหน้าและมือขวาของร่างเท่านั้น
             • จัดเตรียมขันโตกหรือขันน้ำพานรองขนาดใหญ่ตั้งไว้คอยรองรับน้ำที่รดศพ
พร้อมทั้งเตรียมน้ำอบ น้ำหอม และขันหรือถ้วยใบเล็ก สำหรับตักน้ำให้แก่ผู้มารดน้ำ


               พิธีกรรมช่วงรดน้ำศพ วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรดน้ำศพ มีดังนี้
                ศพคฤหัสถ์
              • หากเป็นศพผู้มีอาวุโสกว่าตน ผู้รดน้ำควรนั่งคุกเข่าแล้วน้อมตัวลงยกมือไหว้ พร้อมกับนึก ขอขมาลาโทษต่อศพนั้น
              • ถือภาชนะสำหรับรดน้ำด้วยมือทั้งสอง เทรดลงที่ฝ่ามือขวาของศพ
              • รดน้ำศพเสร็จแล้ว น้อมตัวลงยกมือไหว้ พร้อมกับนึกอธิษฐานว่า
“ข้าพเจ้าขออุทิศบุญที่ได้เคยทำมาแด่ท่าน และพร้อมกับบุญที่ท่านสั่งสมมาดีแล้ว ขอท่านจงไปสู่สุคติเถิด”

 

             ศพพระภิกษุหรือสามเณร (เรียกว่าสรงน้ำศพ)
            • สุภาพบุรุษนั่งคุกเข่าในท่าเทพบุตร (ตั้งฝ่าเท้าชันขึ้นแล้วนั่งลงบนส้นในขณะที่ปลายเท้าจรดพื้น) ส่วนสุภาพสตรีนั่งท่าเทพธิดา (คุกเข่าโดยฝ่าเท้าราบไปกับพื้น) กราบ 3 ครั้ง
พร้อมกับนึกน้อมขอขมาลาโทษ
            • ถือภาชนะสำหรับรดน้ำด้วยมือทั้งสอง เทน้ำรดลงที่ฝ่ามือของศพ
            • กราบ 3 ครั้ง


            การบรรจุร่างลงหีบ
           หลังเสร็จพิธีรดน้ำผู้ละสังขารแล้ว จะเป็นการบรรจุร่างลงหีบ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสัปเหร่อที่จะทำตามประเพณีของท้องถิ่น โดยเจ้าภาพจะคอยอำนวยความสะดวก

 

“ส่งบุญ”
คู่มือจัดงานบำเพ็ญกุศลและสลายร่างผู้วายชนม์
เสียดาย...หากญาติผู้ตายไม่ได้อ่าน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.034562750657399 Mins