การจัดงานบำเพ็ญกุศล
การจัดงานบำเพ็ญกุศลนั้นควรเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งผู้ละสังขารและญาติมิตร ที่ยังมีชีวิตอยู่ คือเป็นทางมาแห่งบุญกุศลสำหรับดวงวิญญาณของผู้ละโลก และญาติมิตรผู้ร่วมบำเพ็ญบุญ สามารถคลายความเศร้าโศก และนำมาซึ่งมรณสติ ทำให้ทุกคนเป็นผู้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ก่อให้เกิด สติปัญญา สร้างแรงบันดาลใจในการสั่งสมบุญบารมี เพื่อเตรียมพร้อมรับความตายที่อาจมาถึงตนได้ทุกเมื่อ เช่นกัน การเตรียมงานมีหลายด้านด้วยกันคือ
การเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ สถานที่สำคัญและอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ต้องเตรียมไว้ คือ
ศาลาวัด การจองศาลาของวัดเพื่อจัดงานบำเพ็ญกุศล ควรเป็นวัดที่ญาติมิตรสามารถเดินทางไปมาได้สะดวก ขนาดของศาลาควรพอเหมาะกับจำนวนแขกที่จะมาร่วมงาน
โต๊ะหมู่บูชาพระพุทธ
• ตั้งไว้ทางด้านศีรษะของศพ หันหน้าไปทางทิศใดทิศหนึ่งตามความเหมาะสมของสถานที่ ยกเว้นทิศตะวันตก และให้อยู่ทางด้านหัวของอาสนะสงฆ์สูงกว่าอาสนะสงฆ์และที่ตั้งศพพอสมควร จากนั้นอัญเชิญพระพุทธรูปที่มีขนาดพอเหมาะมาประดิษฐานไว้
• จัดดอกไม้บูชาพระ ตั้งเทียนหนึ่งคู่ และธูปสามดอก โดยใช้ยาหม่องป้ายไส้เทียนและยอดของดอกธูปเพื่อให้จุดติดไฟง่าย
• เตรียมเทียนชนวนอีกหนึ่งเล่มพร้อมไฟแช็ก ทดสอบดูให้แน่ใจว่าสามารถจุดติดได้โดยง่าย
• หากบริเวณโต๊ะหมู่บูชามีพัดลมหรือบานหน้าต่าง ให้ปิดลงเพื่อป้องกันลมพัดเปลวไฟดับ
อาสนะสงฆ์
ควรยกขึ้นให้สูงจากพื้นประมาณ 1 ศอก โดยจัดตั้งไว้ด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชา
ตู้พระธรรม
• จัดตั้งตู้พระอภิธรรมไว้บนอาสนะสงฆ์ ข้างประธานสงฆ์ผู้นำสวดโดยตั้งอยู่บนโต๊ะ สูงเหนือระดับอาสนะสงฆ์เล็กน้อย
• นำเล่มใบลานหรือบันทึกพระธรรมมาวางบนตู้ จัดดอกไม้บูชาอย่างสวยงาม เตรียมเทียนตั้งไว้หนึ่งคู่และธูปสามดอก ป้ายไส้เทียนและยอดของดอกธูปด้วยยาหม่อง เพื่อให้จุดติดไฟง่าย เตรียมเทียนชนวนหนึ่งเล่ม พร้อมไฟแช็ก ทดสอบดูให้แน่ใจว่าสามารถจุดติดได้โดยง่าย
• โต๊ะรองเครื่องสักการบูชานั้นไม่นิยมใช้โต๊ะรองที่สูงมากนักเพราะอาจบังพระสงฆ์ ไม่ควรต่ำมากนักซึ่งจะดูไม่เหมาะสม
ที่ตั้งศพ
• ตั้งหันด้านศีรษะของศพไปทางโต๊ะหมู่บูชา โดยให้ต่ำกว่าโต๊ะหมู่บูชา และห่างจากข้างฝาประมาณ 1 ศอก เป็นอย่างน้อย เพื่อให้เดินได้สะดวก (ไม่ควรเดินด้านศีรษะของศพ)
• หลังที่ตั้งศพ ถ้าข้างฝาไม่สะอาด ให้ใช้ผ้าม่านขึงปิดไว้เพื่อความเรียบร้อยสวยงาม และใช้แขวนพวงหรีดได้อีกด้วย
• ด้านหน้าศพให้เตรียมดอกไม้ กระถางธูปขนาดใหญ่ พร้อมตะเกียงเล็กหรือเทียนชนวน และธูปจำนวนมากสำหรับผู้มาเคารพศพ โดยปักธูปขนาดใหญ่ไว้กลางกระถาง
ที่ตั้งรูปถ่าย
• ใช้รูปขนาดใหญ่พอควร ใส่กรอบให้เรียบร้อย (หากไม่ใส่กระจกอาจใช้วิธีเคลือบแทนได้)
• ตั้งไว้ด้านเท้าของศพ ข้างเครื่องตั้งศพที่
นั่งสำหรับผู้มาร่วมงาน
จัดเรียงอย่างเป็นระเบียบ พอเหมาะกับจำนวนผู้มาร่วมงาน สำหรับประธานในพิธีหรือแขกสำคัญ อาจจัดเป็นเก้าอี้ชุดพิเศษหรือโซฟา ที่มีโต๊ะเล็กวางด้านหน้า เพื่อวางภาชนะสำหรับกรวดน้ำ นอกจากนี้ ให้เตรียมโต๊ะไว้หน้างานหนึ่งตัว สำหรับต้อนรับแขก ลงชื่อ และรับของที่ระลึกด้วย
กำหนดการงานสวดพระอภิธรรม
ระบุชื่อผู้ละสังขาร พร้อมแจ้งชื่อประธาน และกำหนดงานฌาปนกิจ (สลายร่าง) บนกระดานที่ทางวัด เตรียมไว้หน้าศาลา (อาจเตรียมชอล์ก หรือปากกาเขียนกระดานแบบลบออกได้มาให้พร้อม เพราะบ่อยครั้ง ที่หมึกไม่พอ เขียนแล้วอ่านไม่ชัดเจน)
ตัวอย่างข้อความบนกระดาน
************************ งานสวดพระอภิธรรม นางไปดี มีสุข ************************
เวลา 18.00 น. เริ่มพิธี
18.00 – 18.30 น. คณะสงฆ์สวดพระอภิธรรม
18.30 – 19.00 น. พักรับประทานอาหาร
วันที่ เจ้าภาพ
จันทร์ 10 มกราคม 2552 นายพล เมืองดี
อังคาร 11 มกราคม 2552 นางบุญ อุ้มชู
พุธ 12 มกราคม 2552 นายสุขสบาย มีอายุ
พฤหัสบดี 13 มกราคม 2552 ครอบครัวสวรรค์
ศุกร์ 14 มกราคม 2552 ฌาปนกิจ
************************************************************************
เครื่องใช้อื่น ๆ ในพิธีศพ
• ผ้าภูษาโยง 2 ผืน
• ด้ายสายสิญจน์ 2 ม้วน
• เครื่องทองน้อย 2 ที่ ที่หนึ่งจัดตั้งไว้ที่โต๊ะเครื่องตั้งหน้าศพ อีกที่หนึ่งสำหรับประธาน
• ภาชนะสำหรับกรวดน้ำอย่างน้อย 2 ที่ (เติมน้ำให้เต็มและอาจผสมน้ำอบไทย)
• เครื่องเคารพศพสำหรับประธานในพิธี 1 ชุด ประกอบด้วย กระถางธูป 1 ใบ ปักธูป 1 ดอก เชิงเทียน 1 คู่ พร้อมเทียน 2 เล่ม แจกัน 1 คู่พร้อมดอกไม้
• โต๊ะรองกราบ 1 ที่สำหรับประธานกราบ
ด้านอาหาร เตรียมอาหารและเครื่องดื่มเพื่อเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน เช่น ข้าวต้มทรงเครื่อง ข้าวต้มปลา ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ หรือถ้าต้องการความสะดวก อาจสั่งอาหารชุดเป็นกล่องที่บรรจุน้ำผลไม้และขนม มีกระดาษเช็ดปาก และช้อนส้อมพลาสติกเตรียมเอาไว้ พร้อมรับประทาน
ด้านบุคคล จัดสรรกำลังคนทั้งจากญาติมิตรหรืออาสาสมัครเพื่อรองรับงานฝ่ายต่าง ๆ เช่น
ฝ่ายต้อนรับ ประจำอยู่ที่โต๊ะด้านหน้างาน เตรียมกระดาษ ปากกา ซองช่วยงาน ของที่ระลึก นำแขกเข้าสู่ที่นั่ง
ฝ่ายอาหาร เตรียมน้ำดื่มและอาหารไว้รับรองแขก
ช่างภาพ บันทึกภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหวตลอดงาน
ฝ่ายสถานที่ อำนวยความสะดวกด้านเก้าอี้ ที่วางหรือแขวนพวงหรีด ที่จอดรถ ห้องน้ำ เครื่องเสียง ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ฝ่ายพิธีกรรม เตรียมบทพูดสำหรับงานสวดพระอภิธรรม เตรียมอุปกรณ์ประกอบพิธีกรรมให้พร้อม รวมถึงผ้าบังสุกุล ปัจจัยไทยธรรม และดอกไม้ สำหรับถวายพระสงฆ์ผู้สวดพระอภิธรรม เตรียมน้ำปานะ เช่น น้ำดื่ม น้ำชา หรือนมกล่อง สำหรับเลี้ยงพระสงฆ์
ธรรมะ ควรมีการนิมนต์พระมาแสดงธรรมในงานสวดพระอภิธรรม เพื่อให้ญาติมิตรมีโอกาสได้ฟังธรรม อาจแสดงธรรมเรื่องความหมายของพระอภิธรรมด้วย เพื่อให้ญาติโยมเกิดความรู้ความเข้าใจ และของที่ระลึก ในงานบำเพ็ญกุศลควรเป็นหนังสือธรรมะ หรือหนังสือสวดมนต์ (การให้ธรรมทานชนะการให้ทั้งปวง)
ข้อห้ามสำหรับการจัดงานศพ เจ้าภาพและผู้ร่วมงานไม่ควรดื่มสุราและสิ่งเสพติดทุกชนิด ไม่ควรฆ่าสัตว์ทำอาหารเลี้ยงแขก หรือเล่นการพนัน แต่ควรรักษาศีลให้บริสุทธิ์ นอกจากนี้ยังไม่ควรจัดการแสดงหรือการละเล่นใด ๆ ที่จะรบกวน การบำเพ็ญสมณธรรมของพระภิกษุสงฆ์ภายในวัด
การสวดพระอภิธรรมในแต่ละคืน การสวดพระอภิธรรม จัดได้ตั้งแต่วันที่ตั้งศพเป็นต้นไปทุกคืน จนถึงวันฌาปนกิจ ระหว่างนี้ถ้า ผู้ละสังขารเป็นที่เคารพนับถือของคนทั้งหลาย ก็ควรเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้รับจองเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลด้วย ความมุ่งหมายก็เพื่อให้เจ้าภาพมีโอกาสได้ฟังธรรมและสนทนาธรรมตามสมควร จะสวด 3 คืน 7 คืน หรือทุกคืน จนถึงวันฌาปนกิจก็ได้ เมื่อพระสวดประจำคืนเสร็จแล้วจะนิมนต์ฉันเช้าก็ได้สุดแต่ความสะดวก
สิ่งที่ต้องเตรียม จัดสถานที่สำหรับคณะสงฆ์สวดพระอภิธรรม จำนวน 4 รูป ตั้งตู้พระอภิธรรมไว้ที่หัวแถว พร้อมด้วย แจกันดอกไม้ 1 คู่ เชิงเทียน 1 คู่ กระถางธูป 1 ที่ อาสนะสำหรับพระนั่ง 4 ที่ พร้อมตาลปัตร 4 ด้าม เตรียมผ้าภูษาโยง สายสิญจน์ และผ้ารับประเคน น้ำร้อน น้ำชา หรือน้ำปานะถวายพระ
ลำดับพิธีในการสวดพระอภิธรรม
(ก) เมื่อถึงเวลาให้นิมนต์พระนั่งประจำที่ (พิธีกรนำกราบ 3 ครั้ง)
(ข) พิธีกรเรียนเชิญเจ้าภาพจุดเทียนธูปเครื่องสักการบูชาตามลำดับ ดังนี้
(ข1) ที่โต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป
• จุดเทียนธูปแล้วส่งเทียนชนวนคืนพิธีกร ลำดับการจุดเริ่มจาก เทียนเล่มซ้ายมือ เทียนเล่มขวามือ ธูปดอกซ้ายมือ ธูปดอกกลาง และธูปดอกขวามือ ตามลำดับ
• นั่งคุกเข่าประนมมือ (กล่าวบูชาพระรัตนตรัยแล้วกราบ 3 ครั้ง)
(ข2) ที่โต๊ะบูชาพระธรรม
• จุดเทียนธูปแล้วส่งเทียนชนวนคืนพิธีกร ลำดับการจุดเริ่มจาก เทียนเล่มซ้ายมือ เทียนเล่มขวามือ ธูปดอกซ้ายมือ ธูปดอกกลาง และธูปดอกขวามือ ตามลำดับ
• น้อมตัวลงยกมือไหว้ (กรณีจัดที่กราบซึ่งเป็นชั้นลด ให้นั่งคุกเข่าและกราบที่ชั้นลดนั้น
(ข3) ที่โต๊ะเครื่องตั้งหน้าศพ
• จุดเทียน 1 คู่ ธูป 1 ดอก
• นั่งคุกเข่าประนมมือ จุดธูปและยกธูปขึ้นจบบูชาศพ โดยปลายนิ้วชี้จรดระหว่างคิ้วพร้อมกับกล่าวขอขมาศพแล้วปักธูปไว้ ณ กระถางธูป กรณีที่มีพิธีกรหรือเจ้าหน้าที่ เตรียมเครื่องสักการบูชา (เทียน 1 คู่และธูป 1 ดอก) ไว้ให้ผู้จุด คือ ประธานหรือเจ้าภาพ รับเทียนชนวนจากพิธีกร เจ้าภาพจุดเครื่องสักการบูชานั้น ส่งเทียนชนวนคืนพิธีกรแล้วกราบ 1 ครั้ง โดยไม่แบมือ (ศพฆราวาส) สำหรับศพพระภิกษุสามเณรให้กราบ 3 ครั้ง จากนั้นกลับไปยังที่นั่ง
(ข4) ลำดับขั้นตอนพิธีต่อไป
• พิธีกรนำอาราธนาศีล เจ้าภาพรับศีลจบแล้วกราบ 3 ครั้ง
• พิธีกรอาราธนาธรรม
• พระสงฆ์เริ่มสวดพระอภิธรรมต่อไป (หากมีการแสดงธรรม ควรดำเนินการก่อนสวดพระอภิธรรม)
• เมื่อถึงเวลาเลิกสวดประจำคืน พระสวดอภิธรรมจบสุดท้ายแล้ว พิธีกรเชิญเจ้าภาพถวายไทยธรรม
• พิธีกรทอดผ้าภูษาโยงหรือด้ายสายสิญจน์ เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล
• พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล
• พิธีกรเก็บผ้าภูษาโยงหรือด้ายสายสิญจน์
• พิธีกรเชิญเจ้าภาพถวายปัจจัยและไทยธรรม
• พิธีกรเตรียมภาชนะกรวดน้ำสำหรับเจ้าภาพ
• พระสงฆ์อนุโมทนาและให้พร
• เจ้าภาพกรวดน้ำ
• พิธีกรนำกราบคณะสงฆ์
• คณะสงฆ์เดินทางกลับ
• คณะเจ้าภาพและหมู่ญาติถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
• เสร็จพิธี
ลำดับพิธีกรรมในวันฌาปนกิจ พิธีสวดถวายพรพระ
• รุ่งขึ้นเวลาใกล้เพล คณะสงฆ์นั่งบนอาสนะสงฆ์
• เจ้าภาพจุดเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัยและเคารพศพ
• พิธีกรนำอาราธนาศีล ผู้ร่วมพิธีรับศีล พระสงฆ์สวดถวายพรพระ
• ถวายภัตตาหารเพล ถวายเครื่องไทยธรรม
• พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำ
พิธีสวดมาติกาบังสุกุล
• คณะสงฆ์นั่งบนอาสนะสงฆ์
• เจ้าภาพจุดเทียนธูปเครื่องสักการบูชา
• พระสงฆ์สวดมาติกา
• ฝ่ายเจ้าภาพร่วมกันถวายไทยธรรม
• พิธีกรทอดผ้าภูษาโยงหรือด้ายสายสิญจน์
• ฝ่ายเจ้าภาพร่วมกันทอดผ้าบังสุกุล (วางทับไว้บนผ้าภูษาโยงหรือสายสิญจน์ด้านหน้าพระสงฆ์แล้วปล่อยมือ) เสร็จแล้วจะกลับไปนั่งที่เดิมหรือนั่งข้างหน้าคณะสงฆ์ก็ได้ ประนมมือฟังพระสงฆ์กล่าวคำพิจารณาผ้าบังสุกุล
• คณะสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำ
บทพูดสำหรับผู้ทำหน้าที่พิธีกร
(1) แจ้งกำหนดการ
“ เรียน ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
กำหนดการ พิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรม ของ คุณเก่งบุญ วิมานสว่าง
มีรายละเอียดขั้นตอนของงานดังต่อไปนี้
17.30 น. คณะสงฆ์สวดพระอภิธรรม เดินทางมาถึง
หลังจากนั้นประธานในพิธี จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย และจุดเทียนธูปบูชาพระธรรม
สำหรับท่านประธานในพิธีวันนี้คือ คุณ............ จะเป็นผู้จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย
และคุณ...........จะเป็นผู้จุดเทียนธูปบูชาพระธรรม
ต่อจากนั้นพิธีกรจะนำทุกท่านบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล และอาราธนาธรรม
คณะสงฆ์สวดพระอภิธรรม 1 จบ
เสร็จแล้วท่านเจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุลและถวายเครื่องไทยธรรม
เมื่อถวายเครื่องไทยธรรมเสร็จแล้ว คณะสงฆ์ให้พร
พิธีกรรมในวันนี้จะเสร็จในเวลาประมาณ ............. น. ครับ”
(2) กล่าวต้อนรับและกราบขอบพระคุณพระผู้ใหญ่ (ถ้ามี)
ในขณะนั้น คณะพระเถระกำลังเดินมานั่งที่จุดรับรองหรืออาจจะนั่งเรียบร้อยแล้ว
“ ในวันนี้ได้รับความเมตตาจาก…(นามของพระผู้ใหญ่)…ได้เดินทางมาร่วมในพิธีบำเพ็ญกุศล สวดพระอภิธรรมของ คุณ.......... (บางกรณีเรียกคุณพ่อ คุณแม่)
ขอเรียนเชิญสาธุชนทุกท่าน ประนมมือขึ้น เพื่อแสดงความเคารพพระเดชพระคุณ………… และคณะพระเถรานุเถระ (หรือใช้คำว่า และคณะสงฆ์) โดยพร้อมเพรียงกันนะครับ
คณะกรรมการจัดงานขอกราบขอบพระคุณในความเมตตาของพระเดชพระคุณท่าน และคณะ พระเถรานุเถระทุกรูปด้วยความเคารพอย่างสูงครับ ” (ถวายน้ำดื่มแด่คณะสงฆ์)
(3) เมื่อใกล้จะเริ่มพิธี อาจแจ้งกำหนดการอีกครั้ง และเชิญชวนเจ้าภาพหาที่นั่ง
“แขกผู้มีเกียรติทุกท่านครับ... อีกสักครู่ พิธีบำเพ็ญกุศล สวดพระอภิธรรมกำลังจะเริ่มขึ้น ท่านใดที่เพิ่ง เดินทางมาถึง ขอเชิญได้หาที่นั่งให้เรียบร้อยนะครับ”
(4) คณะสงฆ์สวดพระอภิธรรมมาถึงศูนย์กลางพิธี พิธีกรนำกราบพระประธาน
“ขณะนี้คณะสงฆ์สวดพระอภิธรรม ได้เดินทางมาถึงศูนย์กลางพิธีแล้ว อีกสักครู่จะได้ประกอบพิธี บำเพ็ญกุศล สวดพระอภิธรรมเป็นลำดับต่อไป”
(รอจนคณะสงฆ์สวดพระอภิธรรม กราบพระประธาน และนั่งเรียบร้อยแล้วจึงพูดต่อ) “ขอเรียนเชิญ สาธุชนทุกท่าน นั่งคุกเข่าประนมมือ ตั้งใจกราบ (ชื่อของพระเถรานุเถระที่มาร่วมงาน / ถ้ามี) และคณะสงฆ์โดยพร้อมเพรียงกันนะครับ” (กราบ 3 ครั้ง)
(5) ประธานจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัยและจุดเทียนธูปบูชาพระธรรม
“เรียนเชิญ………………ได้จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย ขอเรียนเชิญครับ”
(เมื่อจุดเสร็จแล้วให้เจ้าภาพเดินกลับสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยเชิญคนต่อไปโดยไม่ต้องรอให้เขากลับมานั่งที่ ทั้งนี้เพื่อให้พิธีกรรมกระชับขึ้น)
“เรียนเชิญ………………………………………… ได้จุดเทียนธูป บูชาพระธรรม ขอเรียนเชิญครับ” (รอให้เจ้าภาพกลับมานั่งในพื้นที่)
(6) นำบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล และอาราธนาธรรม
“เรียนเชิญสาธุชนทุกท่าน ตั้งใจกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยโดยพร้อมเพรียงกันนะครับ
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ (กราบ)
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมัง นะมะสามิ (กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ (กราบ)
ขอเชิญทุกท่าน ตั้งใจอาราธนาศีล 5 โดยพร้อมเพรียงกันนะครับ
มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ, ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิยาจามะฯ
ทุติยัมปิมะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ, ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิยาจามะฯ
ตะติยัมปิมะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ, ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิยาจามะฯ”
(พระให้ศีล , เจ้าภาพและสาธุชนรับศีลจนจบ)
1. ปาณาติปาตา เวระมะณี, สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
2. อะทินนาทานา เวระมะณี, สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
3. กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี, สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
4. มุสาวาทา เวระมะณี, สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
5. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี, สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
หลังจากพระให้ศีลจบด้วยคำว่า “สีลัง วิโสธะเย…..” พิธีกรรับด้วยคำว่า “สาธุ” แล้วนำกราบ 3 ครั้ง
ลำดับต่อไป พิธีกรกล่าวอาราธนาธรรม
พรัมมา จะ โลกาธิปะตี สะหัม ปะติ
กัตอัญชะลี อันธิวะรัง (อ่านว่า อันนะธิวะรัง) อะยาจะถะ
สันตีธะ สัตตาปปะระชักขะชาติกา
เทเสตุ ธัมมัง อะนุกัมปิมัง ปะชังฯ (เจ้าภาพและสาธุชนเปลี่ยนเป็นนั่งพับเพียบ)
***คณะสงฆ์สวดพระอภิธรรม 1 จบ หรือมากกว่า 1 จบ ตามแต่นัดหมาย***
ท่านเจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล พิธีกรกล่าว “ลำดับต่อไป ขอเชิญท่านเจ้าภาพคือ 1.คุณ.... 2.คุณ... 3.คุณ… 4.คุณ… ได้ทอดผ้าบังสุกุลในโอกาสนี้ครับ
เมื่อมาถึงด้านหน้าอาสนะสงฆ์แล้ว ขอให้ทุกท่านนั่งให้ตรงกับตำแหน่งด้านหน้าของคณะสงฆ์นะครับ ลำดับต่อไปขอให้ทุกท่านได้ทอดผ้าพร้อม ๆ กัน โดยวางผ้าตามแนวยาวไว้บนผ้าภูษาโยง (หรือสายสิญจน์) ด้านหน้าคณะสงฆ์ และเมื่อทุกท่านทอดผ้าเรียบร้อยแล้ว กราบนิมนต์คณะสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุลครับ”
หากเจ้าภาพชุดเดียวกันนี้เป็นผู้ถวายไทยธรรมด้วย ให้กล่าวต่อว่า “หลังจากนั้น จะได้เรียนเชิญท่านเจ้าภาพ ถวายเครื่องไทยธรรมเป็นลำดับต่อไป”
เมื่อท่านเจ้าภาพพร้อม พิธีกรกล่าว
“เรียนเชิญทุกท่านได้ทอดผ้าบังสุกุลในโอกาสนี้ครับ”
เมื่อเจ้าภาพทอดผ้าเสร็จ คณะสงฆ์ตั้งพัดแล้วพิจารณาผ้าบังสุกุล
หากเปลี่ยนเจ้าภาพชุดใหม่เพื่อถวายไทยธรรม กล่าวดังต่อไปนี้
ขอเรียนเชิญท่านเจ้าภาพได้กลับเข้าที่นั่ง และขอเรียนเชิญท่านเจ้าภาพถวายไทยธรรม คือ 1.คุณ.... 2.คุณ... 3.คุณ… 4.คุณ… ได้เข้าประจำพื้นที่ด้านหน้าอาสนะสงฆ์ เพื่อเตรียมถวายไทยธรรมครับ ขอเรียนเชิญครับ”
ถวายเครื่องไทยธรรม “ในการถวายเครื่องไทยธรรม ขอให้ทุกท่านรอฟังสัญญาณเพื่อน้อมนำเครื่องไทยธรรมถวายแด่ คณะสงฆ์พร้อม ๆ กันนะครับ เมื่อถวายเรียบร้อยแล้ว เรียนเชิญทุกท่านได้นั่งรอในพื้นที่ด้านหน้าอาสนะสงฆ์ เพื่อรอรับพรจากคณะสงฆ์เป็นลำดับต่อไป”
เมื่อท่านเจ้าภาพพร้อม “ขอเชิญทุกท่าน ได้ถวายเครื่องไทยธรรม แด่คณะสงฆ์ในโอกาสนี้ครับ…สาธุ” “เรียนเชิญทุกท่าน ได้เตรียมกายวาจาใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ เพื่อรอรับพร จากคณะสงฆ์เป็นลำดับต่อไป”
คณะสงฆ์ให้พร ท่านเจ้าภาพกรวดน้ำ รับพร พิธีกรกล่าว “สาธุ…”
เมื่อสวดเสร็จแล้วเป็นอันจบพิธี พิธีกรนำกราบคณะสงฆ์
“ ขอเรียนเชิญทุกท่าน ตั้งใจกราบคณะสงฆ์โดยพร้อมเพรียงกัน (กราบ 3 ครั้ง)” หรือ
“ ขอเรียนเชิญทุกท่านตั้งใจกราบ (ชื่อของพระเถรานุเถระที่มาร่วมงาน/ถ้ามี) และคณะสงฆ์ โดยพร้อมเพรียงกันนะครับ (กราบ 3 ครั้ง)”
คณะสงฆ์สวดพระอภิธรรมเดินทางกลับ (กรณีพระผู้ใหญ่ เช่น พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์มานำสวดพระอภิธรรม)
เมื่อท่านให้พรเสร็จแล้ว พิธีกรนำสาธุชนกราบพระผู้ใหญ่ก่อน
“ขอเรียนเชิญทุกท่าน นั่งคุกเข่าประนมมือ ตั้งใจกราบพระเดชพระคุณ……….และคณะพระเถรานุเถระ โดยพร้อมเพรียงกัน กราบ… กราบ… กราบ”
“ในวันนี้ได้รับความเมตตาจาก………ได้เดินทางมา (ร่วมในพิธีหรือเป็นประธาน) ในพิธีบำเพ็ญกุศล สวดพระอภิธรรมของ............ท่านเจ้าภาพและคณะญาติมิตรทั้งหลาย ขอกราบขอบพระคุณด้วยความเคารพ อย่างสูง และขอกราบอนุโมทนาบุญกับท่านเจ้าภาพและแขกผู้มีเกียรติทุกท่านมา ณ โอกาสนี้…สาธุ”
ประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือ แจ้งกำหนดการว่ามีงานบำเพ็ญกุศลวันใดบ้าง แจ้งกำหนดการงานฌาปนกิจ
ส่งบุญ
คู่มือจัดงานบำเพ็ญกุศลและสลายร่างผู้วายชนม์
เสียดาย...หากญาติผู้ตายไม่ได้อ่าน