ข้อพึงปฏิบัติต่อผู้ใกล้ละโลก

วันที่ 21 กย. พ.ศ.2563

ข้อพึงปฏิบัติต่อผู้ใกล้ละโลก

 

630921_1b.jpg

 

               การปรนนิบัติดูแล และแสดงความกตัญญูกตเวทีอย่างถูกวิธี เราพึงคิดอยู่เสมอว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดาที่ใคร ๆ ไม่อาจจะหลบเลี่ยงได้ แม้ตัวเรา เองสักวันหนึ่งก็ต้องเจ็บต้องตายดุจเดียวกัน ในเวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วย คนไข้จะต้องการกำลังใจมาก ผู้ที่จะช่วยให้ กำลังใจได้ดีที่สุดคือญาติพี่น้องคนใกล้ชิดทั้งหลาย ถึงแม้ร่างกายจะป่วย แต่อย่าให้ใจต้องเจ็บป่วยไปด้วย ถ้ากายป่วยแต่ใจไม่ป่วย ใจดวงนั้นก็จะเป็นพลังช่วยประคับประคองกายไว้ ยิ่งถ้ามีกำลังใจเข้มแข็ง ก็จะช่วยให้ ร่างกายแข็งแรงขึ้น


               ในช่วงเวลาที่เจ็บป่วยเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับชีวิต เพราะหากถึงวาระของการสิ้นบุญจริง ๆ ถือเป็นช่วงศึกชิงภพชี้ชะตาผู้ป่วยว่าจะไปดีหรือร้าย ดังนั้น ถือเป็นโอกาสที่เราจะปรนนิบัติดูแลบุคคลอันเป็นที่รักหรือผู้มีพระคุณให้ดีที่สุด เปิดประตูสู่สวรรค์แก่ผู้ใกล้ละโลกได้ โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้ การดูแลคนไข้แบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ


                การดูแลรักษาโรคทางกาย จะต้องหาแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถอย่างดีที่สุดมา ดูแลรักษาให้เต็มที่ คนเฝ้าไข้จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลอย่างเคร่งครัด ให้การดูแลด้านต่างๆ เป็นอย่างดี เช่น การนอน การขับถ่าย การดูแลเนื้อตัวให้สะอาด และดูแลเรื่อง อาหารให้เพียงพอ


                การดูแลรักษาใจ จะต้องช่วยกันประคับประคองใจของคนไข้ให้ผ่องใสอยู่ตลอดเวลา ให้มีกำลังใจอดทนต่อทุกขเวทนาต่างๆ ไม่ท้อแท้หรือสิ้นหวังในชีวิต ด้วยวิธีการดังนี้ คือ

 

               ป้องกันอย่าให้ได้ยินเรื่องร้อนใจใด ๆ ไม่ว่าจะเรื่องทรัพย์สินเงินทอง เรื่องมรดก เรื่องข่าวสาร บ้านเมือง เรื่องทุกข์ของชาวบ้านหรือเรื่องที่ฟังแล้วชวนให้คนไข้รู้สึกแสลงใจหรือสลดหดหู่ ต้องป้องกันอย่างเต็มที่อย่าให้คนไข้ได้รับรู้

 

               โน้มน้าวใจคนไข้ให้มีจิตใจแช่อิ่มอยู่ในบุญ ด้วยการหมั่นเล่าถึงเรื่องราวบุญกุศลที่ผู้ป่วยได้เคย กระทำไว้ ทั้งเรื่อง ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า บุญบวชพระ การสร้างสาธารณะกุศลต่างๆ


               พยายามโน้มน้าวชักจูงให้คนไข้ได้สร้างบุญใหม่ ๆ ถ้าคนไข้ยังพอมีเรี่ยวแรง มีสติสัมปชัญญะ มีความสามารถที่จะทำบุญได้ ก็บอกเล่าข่าวบุญต่างๆ ชักชวนให้คนไข้ได้สร้างบุญใหม่อยู่เสมอ หรือ พาตักบาตร ยามเช้า แม้คนไข้จะไม่สามารถลุกมาใส่บาตรเองได้ ก็อาจจะนำข้าวปลาอาหารนั้นให้ คนไข้ได้จบอธิษฐาน

 

               พยายามชักชวนโน้มน้าวให้คนไข้รักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัด แม้แต่การบี้มด ตบยุง ก็ขอร้อง อย่าให้ทำ ประคับประคองกาย วาจา ใจ ของคนไข้ให้ตั้งอยู่ในศีลอันบริสุทธิ์


               พยายามชักชวนคนไข้ให้กำหนดใจให้เป็นสมาธิ โดยอาจจะนำเทปนำนั่งสมาธิ เทปสวดมนต์ หรือเทปธรรมะของพระสงฆ์มาเปิดให้คนไข้ฟัง หากทำเช่นนี้เป็นประจำถ้าคนไข้ยังมีบุญอยู่ อานุภาพ ของบุญจะช่วยให้ดีขึ้นหรือหายได้ หรือถ้าถึงคราวหมดบุญจริง ๆ จิตใจที่ผ่องใสอันเกิดจากการ ทำสมาธินี้จะนำไปสู่ภพภูมิที่ดี

 

สร้างความสบาย 4 อย่างให้ผู้ใกล้ละโลก ซึ่งถือเป็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวคนไข้ ได้แก่


               อาวาสเป็นที่สบาย สถานที่พักก่อนใกล้ละสังขาร ควรมีบรรยากาศดี น่าอยู่ สะอาด สงบเงียบเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่รกรุงรัง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เอื้อต่อการทำสมาธิภาวนา ภายในห้องควรมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ และสิ่งที่ประดับตกแต่งภายในห้องควรเป็นภาพที่ก่อให้จิตเป็นกุศลหรือภาพการบำเพ็ญบุญต่าง ๆ ของผู้ใกล้ละโลก ติดไว้ในจุดที่สามารถเห็นได้ชัด เพื่อให้ระลึกนึกถึงแต่สิ่งที่เป็นกุศลตลอดเวลา


              บุคคลเป็นที่สบาย ผู้ใกล้ชิดหรือผู้ดูแลไข้ ควรเป็นผู้ที่มีศีล มีความเข้าใจในธรรมะและความเป็นจริงในวัฏฏสงสาร มีจิต และอารมณ์ที่แจ่มใส สามารถสร้างความสบายใจและกำลังใจให้กับผู้ใกล้ละโลกได้ ดูแลเอาใจใส่ ด้วยจิตเมตตาพูดจาด้วยถ้อยคำที่ดีเป็นอรรถเป็นธรรม ยังจิตของผู้ป่วยให้นึกถึงแต่บุญและความดีที่เคยทำมา ไม่กังวลกับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ ไม่แสดงอาการเศร้าโศก ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันด้วยเรื่องมรดก เพราะจะทำให้ผู้ใกล้ละโลกรู้สึกเศร้าหมองไปด้วย หากทราบว่าผู้ป่วยมีโอกาสรอดน้อยจริง ๆ ก็ไม่ควรปล่อยให้ ทรมานกับเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีสายระโยงระยาง ขยับไปไหนก็ไม่ได้ พูดอะไรก็ไม่ได้ ทำให้เกิด ความรำคาญกายและใจ ผู้ป่วยจะเสียโอกาสในการทำความดี ครั้งสุดท้ายของชีวิต มีแต่ต้องนอนรอความตาย เท่านั้นเอง ควรพาผู้ป่วยมาที่บ้านคอยกระซิบให้นึกถึงพระรัตนตรัยหรือบุญกุศลต่าง ๆ ที่เคยทำมา

 

             อาหารเป็นที่สบาย อาหาร น้ำดื่ม และยารักษาโรค ควรมีอย่างเพียงพอและเหมาะสม เป็นอาหารที่ถูกปาก รับประทานแล้วสบายกาย ไม่ย่อยยาก และไม่แสลงโรค เช่น


           (ก) ไข้หวัดหรือมีไข้สูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เย็นจัด อาหารทอด และอาหารมัน ซึ่งเป็นอาหารที่ย่อยยาก และทำให้เกิดความร้อนสะสม ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการเติมน้ำมันเข้าไปในกองไฟทำให้มีไข้สูง และตัวร้อนยิ่งขึ้น


           (ข) โรคหัวใจและโรคไต ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัดหรือรสเผ็ด เพราะจะทำให้มีการเก็บกักน้ำ การไหลเวียนเลือดจะช้า หัวใจทำงานหนักขึ้น และไตต้องทำงานขับเกลือแร่มากขึ้น


           (ค) โรคตับและถุงน้ำดี หลีกเลี่ยงอาหารมัน เนื้อติดมัน เครื่องในสัตว์ อาหารทอด อาหารหวานจัด เพราะตับและถุงน้ำดีมีความสัมพันธ์กับระบบย่อยอาหาร การรับประทานอาหารประเภทดังกล่าวมากเกินไป จะทำให้ประสิทธิภาพของการย่อยลดลงและเกิดโทษต่อตับและถุงน้ำดีอีกต่อหนึ่งได้


          (ง) ท้องผูกและโรคริดสีดวงทวาร หลีกเลี่ยงอาหารประเภทหอม กระเทียม ขิงสด พริกไทยและพริก เพราะอาหารเหล่านี้อาจทำให้ท้องผูก หลอดเลือดแตก และอาการริดสีดวงทวารกำเริบได้

 

          (จ) โรคมะเร็ง มีข้อแนะนำดังนี้
           ลดโปรตีน โปรตีนจากสัตว์ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา หมู เป็ด ไก่ โปรตีนจากพืช เช่น เห็ดสดทุกชนิด เต้าหู้ และจำพวกถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วเหลือง ฯลฯ
           ลดไขมัน ไม่ว่าจะเป็นไขมันจากพืช เช่น น้ำมันงา น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าว กะทิ ไขมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันหมู น้ำมันไก่ นม เนย
           งดของหมักดอง เช่น กะปิ ปลาร้า เต้าเจี้ยว ผักกาดดอง หน่อไม้ดอง น้ำปลา ฯลฯ
           งดเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ชา กาแฟ โอวัลติน รังนก ซุปไก่สกัด ฯลฯ
           ควรหลีกเลี่ยงสารนิโคติน ซึ่งมีอยู่ในบุหรี่
           งดผลไม้ที่มีน้ำตาลและไขมันสูง หรือหวานจัด เช่น ทุเรียน อโวคาโด มะพร้าวอ่อน สับปะรด
           งดผักบางชนิด เช่น แตงกวา ใบชะพลู
           อาหารที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งควรรับประทาน ได้แก่อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าวกล้อง เผือก มัน ข้าวโพด ขนมปังโฮลวีต ซึ่งปราศจากผงฟูและเนย

           ผักสด ผลไม้สด น้ำผัก (ควรใช้เครื่องแยกกาก) เช่น ผักพื้นบ้าน ถั่วฝักยาว ถั่วแขก ถั่วพู ฯลฯโดยผักสด และผลไม้ทุกชนิดควรผ่านการฆ่าเชื้อโรคและขจัดสารเคมีตกค้าง เช่น แช่ผงถ่านนาน 15 นาที

 

              ธรรมะเป็นที่สบาย  การยังจิตของผู้ป่วยให้ผ่องใส ตรึกระลึกนึกถึงแต่เรื่องบุญกุศลเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังนั้น ผู้ใกล้ชิดควรหาธรรมะในรูปแบบต่างๆ มาให้ผู้ใกล้ละโลกได้ชมหรือได้ฟัง เช่น ดูโทรทัศน์ช่องธรรมะ (DMC) ฟังเทป ธรรมะหรืออ่านหนังสือธรรมะให้ฟัง อาจจะนิมนต์พระสงฆ์มานำอาราธนาศีล สวดสาธยายมนต์ และรับสังฆทาน หรือนำนั่งสมาธิ (ในกรณีไม่สะดวก อาจเปิดเทปก็ได้) ควรให้สติแก่ผู้ใกล้ละโลกอยู่ตลอดเวลา ด้วยการภาวนาคำว่า “สัมมา อะระหัง” หรือ นึกถึงพระพุทธรูปไว้กลางกายเป็นพุทธานุสติอยู่เสมอ

 

               เรื่องเล่าจากพระไตรปิฎก : เกิดเป็นเทวดาเพราะจิตเลื่อมใสก่อนละสังขาร (จากพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย / เล่มที่ 40 หน้า 42) การยังจิตให้เลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนละโลกนั้นมีอานิสงส์มาก ดังเช่นเรื่องของมานพ หนุ่มผู้หนึ่งที่ชื่อ มัฏฐกุณฑลี ซึ่งกำลังป่วยหนักเกินเยียวยา ขณะที่นอนรอความตายอยู่ที่ระเบียงหน้าบ้านก็มองเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีรัศมีเจิดจ้าเสด็จบิณฑบาตผ่านมา แต่เนื่องจากพราหมณ์ผู้เป็นพ่อของชายหนุ่มนี้ มีมิจฉาทิฐิและตระหนี่ จึงไม่เคยอนุญาตให้ลูกชายทำบุญทำทานหรือเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรมเลย จึงไม่ได้สั่งสมบุญเอาไว้แม้แต่น้อย แม้ในขณะก่อนตายก็ยังยกมือทั้งสองประนมไม่ไหวด้วยพิษไข้

 

              ทำได้เพียงอย่างเดียวคือ ทำจิตให้เลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเมื่อพระพุทธองค์เสด็จลับตาไป มัฏฐกุณฑลีก็สิ้นใจ แต่บุญจากการทำใจให้เลื่อมใสในพระพุทธองค์ก่อนละโลกก็ได้ทำให้มัฏฐกุณฑลีไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานทองสูงถึง 30 โยชน์ หรือ 480 กิโลเมตร


              อันที่จริงแล้ว การทำใจให้ผ่องใสก่อนละโลกนั้นมักเป็นไปได้ยาก เพราะคนส่วนมากต้องประสบกับทุกขเวทนาจากความเจ็บป่วย แต่ในกรณีของมัฏฐกุณฑลีนั้น นับเป็นบุญลาภ เพราะเขาได้พบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนสิ้นใจ ดังนั้นเพื่อความมั่นใจ ทางที่ดีเราควรเตรียมตัวทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ พร้อมกับหมั่นนึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นภาพนิมิตไว้ที่กลางกายตลอดเวลา เพื่อให้สามารถนึกถึงบุญและเจริญพุทธานุสติได้อย่างง่าย ๆ ก่อนละสังขาร

 

               ทำบุญต่ออายุ เมื่อบุคคลอันเป็น ที่รักป่วยหนัก ญาติมิตรอาจจัดพิธีทำบุญต่ออายุ โดยนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธี ณ ที่พักของผู้ป่วย มีการเลี้ยงพระ ถวายสังฆทาน ปล่อยสัตว์ เช่น ปล่อยนก กบ หอย ปลา หรือโคกระบือแล้วอุทิศบุญให้กับ “คู่กรรมคู่เวร” ที่เราเคยเบียดเบียนไว้ เพื่อขออโหสิกรรม นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มเติม บุญกุศล และสร้างกำลังใจให้กับผู้ป่วย ซึ่งอาจยืดอายุของผู้ป่วยออกไปได้อีก

 

               ขออโหสิกรรม การขออโหสิกรรมเป็นประเพณีอันดีงามของชาวพุทธ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะการดำเนินชีวิตของเรา อาจจะเคยกระทำผิดพลาดล่วงเกินซึ่งกันและกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งด้วยกาย ด้วยวาจาและด้วยใจ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว การขออโหสิกรรมก่อนที่บุคคลจะละสังขาร ก็ไม่ควรรอจนบุคคลหมดสติ หรือมีทุกขเวทนามาก ควรทำในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนบริบูรณ์ เพื่อไม่ให้เป็นเวรกรรมติดตัวไป ข้ามภพข้ามชาติ ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม


              ตัวอย่างคำขอขมาอย่างง่าย ๆ : “หากผมได้เคยผิดพลาดล่วงเกิน ด้วยกาย วาจา ใจ ทั้งเจตนาและไม่เจตนา ได้โปรดอดโทษและให้อโหสิกรรมแก่ผมด้วยเถิด”


              ตัวอย่างคำขอขมาอย่างเป็นทางการ (อาจกล่าวพร้อม ๆ กัน โดยมีผู้กล่าวนำ) : “ข้าพเจ้า ขอน้อมนำพวงมาลัยดอกไม้ มากราบขออโหสิกรรม หากข้าพเจ้า ได้เคยประพฤติผิดพลาดล่วงเกิน ด้วยกาย วาจา ใจ ทั้งต่อหน้าก็ดี ทั้งลับหลังก็ดี ทั้งที่มีเจตนาก็ดี ทั้งที่ไม่มีเจตนาก็ดี จะระลึกได้ก็ดี ระลึกไม่ได้ก็ดี ขอท่านได้โปรดอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้า กรรมใดที่ได้เคยล่วงเกินต่อกันและกัน ขอจงเป็นอโหสิกรรมในกาลบัดนี้เทอญ”

 

             บอกทางสว่าง นาทีสุดท้าย : เมื่อผู้ป่วยอาการหนักมาก เห็นว่าจะไม่มีทางรอด มีอาการใกล้สิ้นใจ ซึ่งกายละเอียด(วิญญาณ) กำลังจะหลุดออกจากร่าง ในนาทีสุดท้ายของชีวิต บุคคลผู้ใกล้ชิด ควรจะกล่าวคำอันเป็นสิริมงคล น้อมนำให้ผู้ใกล้ละโลกนึกถึงบุญกุศลอยู่ตลอดเวลา ประคับประคองใจให้อยู่กับพระรัตนตรัย ข่มความเจ็บปวด และความทรมานต่าง ๆ ไว้ จนกว่าจะสิ้นใจไป แม้เมื่อสิ้นใจไปแล้ว ก็ให้บอกกล่าวกับดวงวิญญาณ ที่ยังอาจวนเวียนอยู่นั้น ให้นึกถึงพระรัตนตรัยและบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญไว้ดีแล้ว ปลดห่วงปลดกังวลทั้งปวงแล้วเดินทางไปสู่สุคติ

 

“ส่งบุญ”
คู่มือจัดงานบำเพ็ญกุศลและสลายร่างผู้วายชนม์
เสียดาย...หากญาติผู้ตายไม่ได้อ่าน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017858306566874 Mins