ความฉลาดทางศีลธรรม
นักวิชาการได้มีความพยายามที่จะวัดระดับความสามารถของคนเราในด้านต่าง ๆ เช่น
ระดับความสามารถทางเชาว์ปัญญา ( Intelligence Quotient หรือ IQ )
ระดับความสามารถทางอารมณ์ ( Emotional Quotient หรือ EQ )
ระดับความสามารถทางการฟันฝ่าปัญหาอุปสรรค ( Adversity Quotient หรือ AQ )
ระดับความสามารถทางศีลธรรม ( Moral Quotient หรือ MQ )
การวิเคราะห์เรื่องราวเหล่านี้ นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่อง MQ (Moral Quotient) ระดับความสามารถทางศีลธรรม หรือจะเรียกว่าความฉลาดทางศีลธรรมก็ได้
ความฉลาดทางศีลธรรม หมายถึง ความสามารถในการหยุดตนเองจากการทำความชั่ว มีพลังมุ่งมั่นในการทำความดีโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค
นักวิชาการส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า การปลูกฝัง MQ หรือ ความฉลาดทางศีลธรรมนั้นไม่สามารถทำได้ในคนที่เป็นผู้ใหญ่หรือมีอายุมากแล้ว พวกเขามีความเห็นว่า การปลูกฝัง MQ ต้องทำตั้งแต่ในวัยเด็ก
เพราะถ้าโตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะฝึกได้ยาก รวมทั้งแก้ไขสิ่งต่างๆ ได้ยาก แต่ถ้าเริ่มแก้กันตั้งแต่ยังเด็ก ก็จะสามารถยกระดับพื้นฐานศีลธรรมของแต่ละคนขึ้นมาได้ เมื่อมีพื้นฐานจิตใจดี มีจิตสำนึกที่ดี หากได้รับการหล่อหลอม กระตุ้นเตือนเพิ่ม ก็จะสามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปได้โดยไม่ยาก
ในทัศนะของอาตมภาพนั้นเห็นว่า เราสามารถยกระดับความฉลาดทางศีลธรรมให้สูงขึ้นได้ แม้ในคนที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว การที่คนเรามีระดับความฉลาดทางศีลธรรมแตกต่างกันก็เพราะแต่ละคนมีระดับของกรอบความคิดไม่เท่ากัน กรอบ
ความคิดของคนเรามี 3 ระดับ คือ
1. มุ่งประโยชน์ปัจจุบัน คือต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ สุขในชาตินี้
2. มุ่งถึงประโยชน์ชาติหน้า คือ ต้องการบุญกุศลที่จะติดตามไปในภพชาติเบื้องหน้า
3. มุ่งถึงประโยชน์อย่างยิ่ง คือ ต้องการหมดกิเลส เข้านิพพาน
นั่นคือทุกคนล้วนต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตโดยที่แต่ละคนก็มีกรอบความคิดเป็นตัวกำหนดว่าเป้าหมายความสำเร็จของเขาอยู่ตรงไหน เช่นถ้าเขามีกรอบความคิดในระดับที่มุ่งประโยชน์ปัจจุบัน มองเห็นแค่ตัวเอง มีเป้าแห่งความสำเร็จอยู่ที่การแสวงหาความร่ำรวย เขาก็อาจจะทำอย่างไรก็ได้เพื่อที่จะได้เงินมามาก ๆ โดยไม่ คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ ไม่สนใจว่าคนอื่นจะได้รับผลกระทบอย่างไร ความฉลาดทางศีลธรรมของเขาจึงจัดว่าอยู่ในระดับต่ำ
แต่ถ้ากรอบความคิดของเขากว้างขึ้น เริ่มมองสังคมโดยรอบ ในทำนองที่อยากเห็นสังคมโดยรวมดีขึ้น เขาก็จะเริ่มใส่ใจกับสังคม คำนึงถึงกฎระเบียบ กฎหมายต่าง ๆ แม้บางเรื่องไม่มีกฎหมายบังคับเอาไว้ แต่เป็นสิ่งที่ดีต่อส่วนรวม เขาก็ยินดีทำ
ถ้ากรอบความคิดกว้างไกลถึงขนาดที่มุ่งประโยชน์ชาติหน้าก็จะสามารถมองเห็นภาพรวมของชีวิต คำนึงถึงบุญบาป กฎแห่งกรรม เพราะเชื่อว่าตายแล้วไม่สูญ และการจะได้ไปเกิดเป็นอะไรนั้น
ก็ขึ้นอยู่กับบุญบาปที่ตนทำไว้ ทั้งพิจารณาได้ว่า การกระทำต่าง ๆ มีผลอย่างไรทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น จึงมีกำลงใจยับยั้งตนเองจากการทำความชั่ว และมุ่งมั่นทำความดีให้เพิ่มขึ้น นั่นคือ ระดับศีลธรรมก็จะยิ่งเพิ่มพูนสูงขึ้นไปตามระดับของกรอบความคิด
คำว่ากรอบความคิดนี้ ถ้าใช้ศัพท์ธรรมะ ก็คือคำว่าสัมมาทิฐิ นั่นเอง ยิ่งมีสัมมาทิฐิ ก็ยิ่งมีความรู้ความเข้าใจในความเป็นจริงของชีวิต มาตรฐานของความประพฤติก็จะมีการปรับตัวตามดังกล่าว
มีตัวอย่างมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า แม้เป็นผู้ใหญ่ก็สามารถเปลี่ยนระดับความฉลาดทางศีลธรรมได้ ดังเรื่องขององคุลีมาล ผู้ซึ่งมีนามเดิมว่าอหิงสกะ ในวัยหนุ่มอหิงสกะได้ไปศึกษาอยู่กับอาจารย์
และด้วยเหตุที่อหิงสกะเป็นศิษย์ที่มีความสามารถมาก จึงเป็นที่รักใคร่โปรดปรานของอาจารย์ ทำให้ลูกศิษย์คนอื่น ๆ เกิดความอิจฉา จึงไปยุอาจารย์ว่า ต่อไปภายหน้าอหิงสกะจะคิดล้างครู ให้อาจารย์หาทางกำจัดอหิงสกะเสียก่อน
ฝ่ายอาจารย์ หากจะลงมือฆ่าอหิงสกะเองก็เกรงจะเสียชื่อ จึงวางแผนเรียกอหิงสกะมาแล้วลวงว่าตนจะถ่ายทอดวิชาพิเศษอันเป็นสุดยอดวิชาให้ แต่มีข้อแม้ว่าอหิงสกะต้องไปฆ่าคนให้ครบ 1,000 คนเสียก่อน จึงจะเรียนวิชานี้ได้ โดยในใจนั้นคิดว่า หากอหิงสกะทำตามที่ตนบอก ในไม่ช้าอหิงสกะก็ย่อมจะถูกฆ่าตายอย่างแน่นอน
อหิงสกะเป็นคนที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการวิชาความรู้ใส่ตัว ประกอบกับมีความเคารพเชื่อฟังอาจารย์มาก จึงรับคำอาจารย์ แล้วออกเดินทางฆ่าคนไปเรื่อย ๆ เพราะมุ่งประโยชน์คือการได้เรียนวิชา อหิงสกะขาดความรู้ในเรื่องบุญเรื่องบาป
เมื่อฆ่าคนมาก ๆ เข้าก็มีผลต่อจิตประสาท จากที่เคยเป็นคนเฉลียวฉลาด ก็เกิดความสับสน จำไม่ได้ว่าฆ่าคนไปกี่คน จึงได้ตัดนิ้วก้อยจากศพมาร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องคอไว้จึงเป็นที่มาของชื่อ องคุลีมาล ซึ่งคำว่า องคุลี ก็คือ นิ้วนั่นเอง
องคุลีมาลได้สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวเมืองเป็นอันมาก พระราชาได้ส่งทหารจำนวนมากไปปราบองคุลีมาล แต่ก็ไม่สำเร็จ ในที่สุด พระราชาจึงตัดสินพระทัยที่จะยกทัพใหญ่ไปปราบ ฝ่ายแม่ขององคุลีมาลเมื่อรู้ข่าว ด้วยความรักลูกจึงรีบเดินทางเพื่อจะไปบอกลูกให้รีบหนีไปเสีย
ครั้งนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดด้วยข่ายพระญาณ ทรงรู้ว่าองคุลีมาลฆ่าคนไปแล้วถึง 999 คน ใจขององคุลีมาลนั้นมืดมัวเต็มที หากองคุลีมาลได้พบแม่ เขาย่อมจะฆ่าแม่ เพื่อให้ครบ 1,000 คนตามเป้าหมายทันที ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น
ก็จะกลายเป็น อนันตริยกรรม คือกรรมหนักที่จะปิดสวรรค์ ปิดนิพพาน หมดโอกาสเข้าถึงธรรม
พระพุทธองค์จึงเสด็จไปโปรดองคุลีมาลก่อนที่แม่ของเขาจะไปถึง เมื่อองคุลีมาลเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดีใจคิดว่าตนจะได้ฆ่าคนให้ครบ 1,000 คนเสียที เขาถือดาบวิ่งไล่ตาม หมายจะฆ่าพระพุทธองค์ แต่ปรากฏว่าองคุลีมาลวิ่งตามอยู่ 3 โยชน์ คือ 48 กิโลเมตร ก็ไม่สามารถตามทันพระพุทธองค์ที่ทรงเดินไปอย่างปกติธรรมดา เมื่อไม่รู้จะทำอย่างไรองคุลีมาลจึงตะโกนว่า "สมณะหยุดก่อน"
พระพุทธองค์ทรงตอบว่า
"ดูก่อนองคุลีมาล ตถาคตหยุดแล้ว เธอสิยังไม่หยุด"
องคุลีมาลจึงแย้งว่า
"ท่านจะหยุดแล้วได้อย่างไร ในเมื่อเราวิ่งตามท่านเท่าไรก็ตามไม่ทัน"
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
"ตถาคตหยุดแล้วจากการสร้างบาปกรรมทั้งหลายด้วยการปลงสัตว์จากชีวิต องคุลีมาล ! เธอล่ะเมื่อไรจะหยุด"
ด้วยคำพูดนี้ เหมือนสายฟ้าฟาด สว่างขึ้นกลางใจขององคุลีมาล
องคุลีมาลนั้น แม้จะมีบาปอวิชชาท่วมใจ แต่เมื่อได้เห็นทั้งพุทธานุภาพ และได้ฟังอมตวาจาของพระพุทธองค์ที่ช่วยเปิดกรอบความคิด สร้างสัมมาทิฐิให้เกิดขึ้นในใจ ฆาตกรใจบาปจึงยอมทิ้งดาบ คุกเข่าลงกราบพระพุทธองค์และทูลขอบวช เมื่อบวชแล้ว พระองคุลีมาลได้ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมอย่างดียิ่ง
แต่ถึงอย่างนั้นท่านก็ยังถูกวิบากกรรมตามทัน เวลาออกไปบิณฑบาต นอกจากจะไม่ได้ข้าวปลาอาหารแล้ว ท่านยังถูกชาวบ้านขว้างปาด้วยก้อนอิฐ ก้อนหิน จนบาตรแตก ศีรษะแตก เลือดไหลอาบได้รับทุกขเวทนาอย่างมาก แต่ท่านก็อดทนไม่ย่อท้อในการประพฤติ ปฏิบัติธรรม
วันหนึ่งพระองคุลีมาลเห็นหญิงมีครรภ์แก่ ปวดท้องคลอดอย่างน่าสงสาร หญิงนั้นเห็นพระองคุลีมาลก็ตกใจกลัว แต่ก็หนีไปไหนไม่ได้ พระองคุลีมาลจึงเข้าไปช่วยแล้วอธิษฐานว่า
" ตั้งแต่ข้าพเจ้าออกบวชมีชีวิตใหม่ในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีเลยแม้แต่ความคิดที่จะปลงสัตว์จากชีวิต ด้วยอำนาจสัจจะวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแด่หญิงผู้นี้และทารกในครรภ์เถิด"
พอสิ้นเสียงเท่านั้นเอง ทารกก็คลอดออกมาด้วยดี
จากนั้นมาพระองคุลีมาลจึงบิณฑบาตพอได้ข้าวมาบ้าง ชีวิตในสมณเพศของท่านก็สงบสุขขึ้นจนสุดท้ายท่านก็ได้บรรลุพระอรหันต์ ชีวิตของท่านได้เปลี่ยนจากผู้ร้ายฆ่าคนมาเป็นพระอรหันต์ นับว่าท่านได้พัฒนาระดับความฉลาดทางศีลธรรมขึ้นอย่างยิ่งยวดเพราะได้ยกระดับกรอบความคิดจากการมุ่งประโยชน์ในชาตินี้ เป็นการมุ่งประโยชน์อย่างยิ่ง คือมุ่งนิพพาน
ดังนั้นระดับความฉลาดทางศีลธรรมเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนา ยกระดับขึ้นได้ แม้ในวัยผู้ใหญ่ โดยการเปลี่ยนกรอบความคิดเท่านั้นเอง ถ้าเราขยายกรอบความคิดให้เปิดกว้างจนมองเห็นความจริงของโลกและชีวิต ความคิดและการกระทำทั้งหมดก็จะ
เปลี่ยนตาม ระดับความฉลาดทางศีลธรรมจะสูงขึ้นมาทันที แล้วเราจะมีชีวิตที่อยากทำแต่ความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
ยังมีเรื่องราวของผู้คนอีกมากมายที่เราสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ที่แสดงให้เห็นว่าระดับความฉลาดทางศีลธรรมของคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ แม้จะเป็นผู้ใหญ่มีอายุมากแล้วก็ตาม และเรื่องราวเหล่านั้น จะเป็นกำลังใจให้เราเชื่อมั่นว่าชีวิตเราสามารถมุ่งไปสู่การทำความดีที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้ เพียงยกระดับกรอบความคิดเท่านั้นเอง
เจริญพร
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ