ธัมมัญญูสูตร

วันที่ 15 กค. พ.ศ.2564

18-7-64-1-b.jpg

ธัมมัญญูสูตร

รู้จักธัมมัญญูสูตร1

               เป็นพระสูตรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนพระภิกษุ ถึงวิธีการศึกษาธรรมะและการนำมาปฏิบัติเพื่อฝึกฝนอบรมตนเอง และเพื่อเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลก โดยทรงบอกวิธีการไว้ ๗ ขั้นตอนด้วยกันคือ

๑. ภิกษุต้องฝึกตนเองให้เป็นผู้รู้จักธรรมเรียกว่า “ธัมมัญญู"
๒. ภิกษุต้องฝึกตนเองให้เป็นผู้รู้จักอรรถะหรือเนื้อความของธรรมนั้นเรียกว่า “อัตถัญญู”
๓. ภิกษุต้องฝึกตนเองให้เป็นผู้รู้จักตนหรือประเมินคุณธรรมในตนเองเป็นเรียกว่า “อัตตัญญู”
๔. ภิกษุต้องฝึกตนเองให้เป็นผู้รู้จักประมาณในการรับปัจจัย ๔ เรียกว่า "มัตตัญญู"
๕. ภิกษุต้องฝึกตนเองให้เป็นผู้รู้จักกาลเรียกว่า “กาลัญญู"
๖. ภิกษุต้องฝึกตนเองให้เป็นผู้รู้จักบริษัทหรือประชุมชนต่างๆ เรียกว่า “ปริสัญญู"
๗. ภิกษุต้องฝึกตนเองให้เป็นผู้รู้จักแยกแยะบุคคลเรียกว่า “ปุคคลปโรปรัญญู”


ความสำคัญ
                มนุษย์แต่ละคนล้วนมีสถานภาพของชีวิตแตกต่างกันไป เช่น บางคนพอใจกับการใช้ชีวิตในทางโลก ยังยินดีและมีความสุขที่เกิดขึ้นจากความสำเร็จในหน้าที่การงาน การมีทรัพย์สินเงินทอง การมีครอบครัวที่เป็นสุข ในขณะที่บางคนกลับพอใจเลือกใช้ชีวิตไปในทางตรงกันข้าม เช่น การออกบวชทุ่มเทชีวิตจิตใจ เพื่อการฝึกหัดขัดเกลาตนเองให้พ้นจากกองทุกข์ มีความสุขที่เกิดขึ้นจากความสันโดษและการประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ไม่ว่าสถานภาพของแต่ละคนจะแตกต่างกันอย่างไร เป้าหมายสำคัญที่สุดที่มนุษย์ทุกคนต้องไปถึงให้ได้ ก็ยังคงเป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานเหมือนกัน

 

                แต่การจะบรรลุมรรคผลนิพพานนั้น ไม่ใช่ว่าจะไปถึงกันได้โดยง่าย แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก็ยังต้องใช้เวลาสั่งสมบุญบารมีอย่างยาวนาน หลายภพหลายชาติเช่นกัน พวกเราเองก็ย่อมต้องอาศัยระยะเวลายาวนานไม่ต่างกันนัก
 

                คำถามคือ ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานภาพชีวิตที่เป็นนักบวชหรือฆราวาสก็ตาม เราควรจะเริ่มต้นปฏิบัติตัวเองอย่างไรบ้าง จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายชีวิตอันสูงสุดได้ หรืออย่างน้อยๆ ก็พอจะมีโอกาสไปถึงเป้าหมายสูงสุดได้โดยไม่ห่างไกลเกินไปนัก
 

                คำตอบนี้คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการศึกษาวิธีการของผู้ที่ไปถึงเป้าหมายอันสูงสุด นั่นก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา โดยอาศัยการศึกษาจากคำสอนที่พระพุทธองค์ตรัสแสดงไว้
 

                เป็นที่ทราบกันดีว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมโปรดสรรพสัตว์มายาวนานตลอด ๔๕ พรรษา มีคำสอนสำคัญๆ ที่ตรัสเอาไว้มากมายถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ซึ่งปัจจุบันคำสอนเหล่านั้นถูกเก็บไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๓ ส่วน คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎและพระอภิธรรมปิฎก ในบรรดาคำสอนเหล่านั้น ล้วนมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้ฟังธรรมจากพระองค์ ได้รับประโยชน์สูงสุด คือ ความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ เข้าถึงบรมสุข คือ พระนิพพาน ตามพระพุทธองค์ไป
 

                อย่างไรก็ตาม คำสอนของพระพุทธองค์แต่ละครั้ง ล้วนมีจุดเด่นสำคัญแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่า พระองค์ตรัสเทศน์ให้ใครฟัง บางท่านสั่งสมบุญมามากเป็นผู้รู้ตามได้รวดเร็ว พระองค์อาจเทศนาแต่เพียงสั้นๆ ผู้ฟังก็สามารถน้อมนำไปปฏิบัติตามจนบรรลุธรรมได้ในทันที ในขณะที่บางท่านรู้ตามได้ช้า อาจต้องฟังธรรมหลายต่อหลายครั้ง และยังต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝนอบรมตนเองนานจึงจะบรรลุธรรมตามได้ ขณะที่บางบทเทศน์ก็สั้นเกินกว่าที่เราเข้าใจ เนื่องจากทรงเทศน์ให้แก่ผู้รู้ตามได้เร็วฟัง จึงไม่ทรงอธิบายขยายความอะไร ด้วยเห็นว่ามากเกินจำเป็น

                 ดังนั้นการจะหาบทเทศน์หรือพระสูตร ที่พอจะเป็นแนวทางสำหรับศึกษาพัฒนาตนเอง เพื่อฝึกอบรมตนจนไปถึงเป้าหมายอันสูงสุด จึงหาได้ยากพอสมควร แต่แม้จะยากอย่างไรก็ยังมีพระสูตรที่ดีพอจะนำมาใช้เป็นต้นแบบแก่เราได้คือ “ธัมมัญญูสูตร” เพราะมีจุดเด่นสำคัญหลายประการ เช่น

 

๑. เป็นพระสูตรที่มีความยาวพอดีไม่สั้นมากนัก และไม่ยาวจนเกินไป ทำให้สามารถจดจำเนื้อความสำคัญได้ง่ายขึ้น
๒. บอกลำดับขั้นตอนของการฝึกไว้เป็นข้อๆ ต่อเนื่องชัดเจน
๓. ขั้นตอนและวิธีการฝึกเรียงลำดับจากง่ายไปยาก
๔.เนื้อหาในแต่ละขั้นตอนไม่ยากแก่การทำความเข้าใจจนเกินไป


อานิสงส์ที่ได้จากการฝึกตามธัมมัญญูสูตร
               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสยืนยันไว้ว่า หากพระภิกษุฝึกตามวิธีการที่เป็นขั้นเป็นตอนในธัมมัญญูสูตรได้ ก็จะได้รับอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ ๕ ประการ2 คือ
๑. เป็นผู้ควรของคำนับ
๒. เป็นผู้ควรของต้อนรับ
๓. เป็นผู้ควรของทำบุญ
๔. เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี
๕. เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า


จากอานิสงส์ทั้ง ๕ นั้น มีความหมายดังนี้ คือ


๑. เป็นผู้ควรของคำนับ (หรือ “อาหุเนยโย”) หมายถึง พระภิกษุผู้ฝึกตามธัมมัญญูสูตรได้ย่อมเป็นบุคคลที่ควรแก่การเคารพสักการะ ดังนั้นหากใครได้พบท่าน ณ ที่ไหน ควรรีบได้นำจตุปัจจัยที่ประณีตเหมาะสมมาสักการะ คือ ถวายบำรุงท่านให้ได้รับความสุขความสะดวกพอสมควร เพื่อที่ท่านจะได้เมตตาชี้แนะอบรมสั่งสอนให้

๒. เป็นผู้ควรของต้อนรับ (หรือ “ปาหุเนยโย”) หมายถึง ท่านเป็นผู้ควรต้อนรับ ยิ่งกว่าแขกผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ที่นั่ง ข้าว น้ำ อาหาร และความสะดวกสบายใดๆ ที่ควรแก่ท่านต้องรีบจัดหามาต้อนรับ เพราะถือว่าเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้บุญใหญ่ และเป็นเหตุให้ได้ฟังธรรมจากท่านด้วย


๓. เป็นผู้ควรแก่ของทำบุญ (หรือ “ทักขิเณยโย") หมายถึง ท่านเป็นผู้ควรอย่างยิ่งที่จะรับของที่เราเตรียมไว้ เพื่อการสั่งสมบุญ รวมทั้งเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเพราะท่านเป็นแหล่งแห่งบุญ เป็นบุคคลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม ความดีงาม จึงควรแก่การทำบุญทั้งปวง


๔. เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี (หรือ “อัญชลีกรณีโย”) หมายถึง ท่านเป็นผู้ควรกราบไหว้อย่างยิ่ง เพราะเมื่อได้กราบท่านด้วยความเต็มใจ ย่อมเป็นการเปิดใจตนเองให้พร้อมน้อมรับคำแนะนำสั่งสอนที่อุดมไปด้วยอมตธรรม จนสามารถน้อมนำใจให้บรรลุธรรมได้ง่าย หรือถ้าไม่อย่างน้อยก็เป็นเหตุให้เกิดศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยให้แก่ตนเอง


๕. เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า (หรือ “อนุตตรังปุญญักเขตตั้งโลกัสสะ”) หมายถึง ท่านเป็นเนื้อนาบุญอันเลิศในโลก เพราะท่านเป็นผู้ฝึกปฏิบัติจน กาย วาจา ใจ ใสสะอาดบริสุทธิ์ เป็นแหล่งแห่งบุญอันยิ่งใหญ่ ที่หากใครได้มีโอกาสทำบุญกับท่านย่อมจะได้รับผลอันไพบูลย์ หากอุปมาว่า บุญเหมือนพืชพันธุ์ธัญญาหาร ซึ่งต้องหว่าน ต้องปลูกจึงจะบังเกิดขึ้นได้ ใครทำบุญกับท่าน ก็เหมือนกับการหว่านพืชพันธุ์ลงไปในผืนนาอันอุดม ซึ่งจะได้ผลผลิตคือบุญอันไม่มีประมาณ
 

                    อย่างไรก็ตาม แม้ธัมมัญญสูตรจะเป็นบทฝึกที่สำคัญสำหรับพระภิกษุ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ฆราวาสที่สนใจศึกษาจะไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้เพราะคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ว่าจะเป็นบทหรือสูตรไหน ล้วนแต่หวังประโยชน์ให้ผู้ฟังนำไปฝึกปฏิบัติ เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ได้เหมือนกัน หากแต่เรียนรู้หลักการให้เข้าใจ แล้วนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานภาพเพศภาวะ และวิถีชีวิตของตนเอง ซึ่งอาจมีความลึกซึ้งหรือเข้มงวดลดลงไปกว่าพระภิกษุบ้าง ตามแต่กิจวัตรกิจกรรม และการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หากฆราวาสได้นำหลักการจากพระสูตรแม่บทไปปรับใช้ ย่อมจะได้รับผลที่ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน เช่น นำวิธีการมาฝึกปฏิบัติผ่านการทำบุญ ทั้งทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา ก็จะสอดคล้องเหมาะสมกับวิถีชีวิตของฆราวาสมากกว่าวิธีอื่นใด เพราะสามารถปฏิบัติด้วยตนเองได้เป็นประจำทุกๆ วันเป็นต้น
 

เนื้อหาพระสูตร
ธัมมัญญสูตร ว่าด้วยบุคคลผู้รู้ธรรม


                  (๖๔] ภิกษุทั้งหลายภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลกธรรม ๗ ประการอะไรบ้าง คือ


ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็น... ธัมมัญญู
๒. เป็น... อัตถัญญู
๓. เป็น... อัตตัญญู
๔. เป็น... มัตตัญญู
๕. เป็น... กาลัญญู
๖. เป็น... ปริสัญญ
๗. เป็น... ปุคคลปโรปรัญญู3


ภิกษุเป็นธัมมัญญูอย่างไร


                 คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ หากภิกษุไม่รู้ธรรม คือ สุตตะ ฯลฯ เวทัลละ เลยเราไม่พึ่งเรียกเธอว่าเป็นธัมมัญญในที่นี้ แต่เพราะภิกษุรู้ธรรม คือ สุตตะ ฯลฯ เวทัลละ ฉะนั้นเราจึงเรียกเธอว่าเป็น ธัมมัญญู

                 ภิกษุ ชื่อว่าเป็นธัมมัญญ ด้วยประการฉะนี้

ภิกษุเป็นอัตถัญญูอย่างไร


                  คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้ความหมายแห่งภาษิตนั้นๆ นั่นแลว่า นี้เป็นความหมายแห่งภาษิตนี้ๆ” หากภิกษุไม่รู้เนื้อความแห่งภาษิตนั้นๆ เลยว่า นี้เป็นความหมายแห่งภาษิตนี้ๆ เราไม่พึงเรียกเธอว่า เป็นอัตถัญญู" ในที่นี้ แต่เพราะภิกษุรู้ความหมายแห่งภาษิตนั้นๆ ว่า “นี้เป็นความหมายแห่งภาษิตนี้ๆ ฉะนั้นเราจึงเรียกเธอว่าเป็น อัตถัญญู

                  ภิกษุ ชื่อว่าเป็น ธัมมัญญ อัตถัญญ ด้วยประการฉะนี้


ภิกษุเป็นอัตตัญญูอย่างไร


                  คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักตนว่า “ว่าโดยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ เรามีอยู่ประมาณเท่านี้ หากภิกษุไม่รู้จักตนว่า “ว่าโดยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ เรามีอยู่ประมาณเท่านี้ เราไม่พึงเรียกเธอว่าเป็น อัตตัญญู ในที่นี้ แต่เพราะภิกษุรู้จักตนว่า ว่าโดยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ เรามีอยู่ประมาณเท่านี้ ฉะนั้นเราจึงเรียกเธอว่าเป็น อัตตัญญูู
                  ภิกษุ ชื่อว่าเป็น ธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู ด้วยประการฉะนี้


ภิกษุเป็นมัตตัญญูอย่างไร


                    คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัย เภสัชชบริขาร4 หากภิกษุไม่รู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร เราไม่พึงเรียกเธอว่าเป็นมัตตัญญู ในที่นี้ แต่เพราะภิกษุรู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาตเสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร ฉะนั้นเราจึงเรียกเธอว่าเป็น มัตตัญญูู
                   ภิกษุ ชื่อว่าเป็น ธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู ด้วยประการฉะนี้

ภิกษุเป็นกาลัญญูอย่างไร


                   คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักกาลว่า “นี้เป็นกาลแห่งอุทเทส5 นี้เป็นกาลแห่งปริปุจฉา6 นี้เป็นกาลบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกาลหลีกเร้น” หากภิกษุไม่รู้จักกาลว่า “นี้เป็นกาลแห่งอุทเทส นี้เป็นกาลแห่งปริปุจฉา นี้เป็นกาลบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกาลหลีกเร้น เราไม่เรียกเธอว่าเป็น กาลัญญูในที่นี้ แต่เพราะภิกษุรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลแห่งอุทเทส นี้เป็นกาลแห่งปริปุจฉา นี้เป็นกาลป่าเพ็ญเพียร นี้เป็นกาลหลีกเร้น ฉะนั้นเรา
จึงเรียกเธอว่าเป็น กาลัญญู
                    ภิกษุ ชื่อว่าเป็น ธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู กาลัญญู ด้วยประการฉะนี้

 

ภิกษุเป็นปริสัญญูอย่างไร


                    คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักบริษัทว่า นี้ชัตติยบริษัท นี้พราหมณบริษัท นี้คหบดีบริษัท นี้สมณบริษัท ในบริษัทนั้นเราควรเข้าไปหาอย่างนี้ ควรยืนอย่างนี้ ควรทำอย่างนี้ ควรนั่งอย่างนี้ ควรกล่าวอย่างนี้ ควรสงบนิ่งอย่างนี้ หากภิกษุไม่รู้จักบริษัทว่า นี้ขัตติยบริษัท ฯลฯ ควรสงบนิ่งอย่างนี้ เราไม่เรียกเธอว่าเป็น ปริสัญญู ในที่นี้ แต่เพราะภิกษุรู้จักบริษัทว่า นี้ขัตติยบริษัท ฯลฯ ควรสงบนิ่งอย่างนี้ ฉะนั้นเราจึงเรียกเธอว่าเป็น ปริสัญญู
                    ภิกษุ ชื่อว่าเป็น ธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู กาลัญญู ปริสัญญู ด้วยประการ
ฉะนี้


ภิกษุเป็นปุคคลปโรปรัญญูอย่างไร


                    คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้จักบุคคล ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งต้องการเห็นพระอริยะ อีกพวกหนึ่งไม่ต้องการเห็นพระอริยะบุคคล พวกที่ไม่ต้องการเห็นพระอริยะก็ถูกติเตียน ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้ บุคคลพวกที่ต้องการเห็นพระอริยะ ก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

                     บุคคลผู้ต้องการเห็นพระอริยะก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งต้องการฟังสัทธรรม อีกพวกหนึ่งไม่ต้องการฟังสัทธรรม บุคคลพวกที่ไม่ต้องการฟังสัทธรรมก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นอย่างนี้ บุคคลพวกที่ต้องการพังสัทธรรมก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
 

                     บุคคลผู้ต้องการฟังสัทธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งเงี่ยโสตฟังธรรม อีกพวกหนึ่งไม่เงี่ยโสตฟังธรรม บุคคลพวกที่ไม่เงี่ยโสตฟังธรรมก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นอย่างนี้ บุคคลพวกที่เงี่ยโสตฟังธรรมก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
 

                     บุคคลเงี่ยโสตฟังสัทธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ได้ อีกพวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไม่ได้บุคคลพวกที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไม่ได้ก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นอย่างนี้ บุคคลพวกที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ได้ที่ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

                    บุคคลฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ได้ก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ อีกพวกหนึ่งไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ บุคคลพวกที่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นอย่างนี้ บุคคลพวกที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
 

                    บุคคลพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็มี ๒ จําพวก คือ พวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม อีกพวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลพวกที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นอย่างนี้ บุคคลพวกที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
 

                     บุคคลรู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองแต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น อีกพวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น บุคคลพวกที่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองแต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่นก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นอย่างนี้ พวกที่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่นก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

                     ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้รู้จักบุคคล ๒ ฝ่ายด้วยประการฉะนี้แล จึงได้ชื่อว่าเป็นปุคคลปโรปรัญญ

 

                    ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล จึงเป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก


------ธัมมัญญสูตรที่ ๔ จบ------
 

 

เชิงอรรถอ้างอิง

1เหตุที่พระสูตรนี้ได้ชื่อว่า “ธัมมัญญสูตร” เพราะหมวดธรรมข้อแรกของพระสูตรมีชื่อว่า “ธัมมัญญ” จึงได้นำเอาชื่อหมวดธรรมข้อแรกนั้นมาตั้งเป็นชื่อพระสูตร จัดเป็นวิธีการตั้งชื่อพระสูตรอย่างหนึ่งที่ใช้บ่อยๆ ในพระไตรปิฎกนักศึกษาพึงทำความเข้าใจวิธีการนี้ไว้

2ดูเนื้อหาพระสูตรประกอบ

3ปุคคลปโรปรัญญ หมายถึง รู้จักเลือกคน กล่าวคือ รู้ว่าเมื่อคบหาคนใดอกุศลธรรมเสื่อมไปกุศลธรรมเจริญขึ้นจึงเลือกคบคน
นั้น เมื่อคบคนใดอกุศลธรรมเจริญขึ้นกุศลธรรมเสื่อมไปก็ไม่คบคนนั้น

4คิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร คือ เภสัชทั้ง ๕ ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นสิ่งสัปปายะสำหรับภิกษุเจ็บไข้ จัดว่าเป็นบริขาร คือ บริวารของชีวิต

5อุทเทส หมายถึง การเรียนพระพุทธพจน์

6ปริปุจฉา หมายถึง การสอบถามเหตุผล

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016348997751872 Mins