ห้าห้องสร้างนิสัย

วันที่ 18 กค. พ.ศ.2564

ห้าห้องสร้างนิสัย

เป้าหมายชีวิต

                เป้าหมายอันสูงสุดของมนุษยชาติ คือ “การทำพระนิพพานให้แจ้ง” ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ต่างตรัสยืนยันเอาไว้ว่า เป็นสุขอย่างยิ่ง ในด้านการปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานนั้นจะต้องปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ดังในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ไว้ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อริยสัจ คือข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความ
ดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี้มีอยู่ คือ ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางอันประเสริฐ
ประกอบด้วยองค์แปดประการนี้นั่นเอง ได้แก่
๑. ความเห็นชอบ (สัมมาทิฐิ)
๒. ความดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ)
๓. การพูดจาชอบ (สัมมาวาจา)
๔. การทำการงานชอบ (สัมมากัมมันตะ)
๕. การเลี้ยงชีวิตชอบ (สัมมาอาชีวะ)
๖. ความพากเพียรชอบ (สัมมาวายามะ)
๗. ความระลึกชอบ (สัมมาสติ)
๘. ความตั้งจิตมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ”

            นั่นก็หมายความว่า การกำจัดกิเลส บรรลุมรรคผลนิพพานนั้น มิได้ผูกขาดเฉพาะพระบรมศาสดาเท่านั้น แต่ทุกคนในโลกนี้สามารถปฏิบัติให้หมดกิเลสตามพระองค์ไปได้เช่นเดียวกัน ขอเพียงแต่ต้องปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้ครบถ้วนอย่างจริงจัง ก็จะสามารถดับทุกข์ ดับกิเลสของตนเองได้อย่างแน่นอน

             สิ่งที่น่าอัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้นคือ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในโลกเท่านั้น ที่มีคำสอนสำหรับการกำจัดกิเลสโดยตรง ซึ่งได้แก่คำสอนเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสตอบคำถามของสุภัททปริพาชกไว้ในวันที่พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในมหาปรินิพพานสูตรว่า

“สุภัททะ ในธรรมวินัยที่ไม่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมไม่มีสมณะ
ที่ ๑ (พระโสดาบัน) ย่อมไม่มีสมณะที่ ๒ (พระสกทาคามี) ย่อมไม่มี
สมณะที่ ๓ (พระอนาคามี) ย่อมไม่มีสมณะที่ ๔ (พระอรหันต์) ในธรรม
วินัยที่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมมีสมณะที่ ๑ (พระโสดาบัน) ย่อมมี
สมณะที่ ๒ (พระสกทาคามี) ย่อมมีสมณะที่ ๓ (พระอนาคามี) ย่อมมี
สมณะที่ ๔ (พระอรหันต์)

สุภัททะ ในธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคมีองค์ ๘ สมณะที่ ๑ (พระ
โสดาบัน) มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ (พระสกทาคามี) มีอยู่
ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๓ (พระอนาคามี) มีอยู่ในธรรมวินัยนี้
เท่านั้น สมณะที่ ๔ (พระอรหันต์) มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ลัทธิอื่น
ว่างจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง สุภัททะ ถ้าภิกษุเหล่านี้เป็นอยู่โดยชอบ
โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย”

 

สัมมาทิฐิ คือจุดตั้งต้นของความดีงาม

               ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น มีสัมมาทิฏฐิหรือความเห็นชอบเป็นใหญ่เป็นประธาน หมายความว่า หากใครก็ตามมีความเห็นหรือความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องโลกและชีวิตแล้ว ย่อมจะดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อยู่เป็นสุขในชาตินี้ ชาติหน้า ไปจนกระทั่งสิ้นทุกข์อย่างถาวร ดังที่ทรงอุปมาไว้ในปุพพังคมสูตรว่า

“เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต
ฉันใด สัมมาทิฏฐิก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตแห่งกุศลกรรมทั้งหลาย
ฉันนั้น"

สัมมาทิฐิมี ๒ ระดับ คือ

๑. ระดับสูง หรือ ระดับโลกุตตระ ได้แก่ ความเห็นถูกในอริยสัจ ๔
๒. ระดับทั่วไป หรือ ระดับโลกียะ ได้แก่ ความเห็นถูกในเรื่องความจริงของโลกและชีวิต
ใครที่มีความเห็นถูกในเรื่องนี้ ย่อมสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง ทำให้ชีวิตมี
ความสุขในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นทางมาในการสร้างบุญให้กับตนเอง จึงเป็นหลักประกัน
เพื่อความสุขในปรโลกอีกด้วย

สัมมาทิฏฐิระดับทั่วไปนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๑๐ ประการ คือ
๑. การแบ่งปัน เป็นความดีจริง ควรทำ
๒. การสงเคราะห์ เป็นความดีจริง ควรทำ
๓. การยกย่องคนดี เป็นความดีจริง ควรทำ
๔. การให้ผลของวิบากกรรมดีและกรรมชั่ว มีจริง
๕ โลกนี้ มีที่มา
๖. โลกหน้า มีที่ไป
๗. มารดา มีคุณ
๘. บิดา มีคุณ
๙. โอปปาติกะ มีจริง
๑๐. ความเข้าใจถูกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ มีอยู่จริง

             การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ จึงต้องเริ่มต้นจากการฝึกปฏิบัติสัมมาทิฐิทั้ง ๑๐ ประการนี้
ก่อนในเบื้องต้น แต่เพราะสัมมาทิฐิทั้ง ๑๐ ประการนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง จึงต้องอาศัยการปลูกฝัง โดยการปฏิบัติซ้ำๆ จนกระทั่งกลายมาเป็นนิสัย ทั้งนี้เพราะทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมกับกิเลส ๓ ตระกูลที่ฝังแน่นอยู่ในใจ คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดมิจฉาทิฐิ ซึ่งมีโทษภัยร้ายแรง ทำให้การดำเนินชีวิตผิดพลาด และเป็นเหตุให้ก่อบาปอกุศลมากมาย เป็นต้น ดังนั้นจึงควรรีบปลูกฝัง ความรู้เรื่องสัมมาทิฐิในจิตใจผู้คนตั้งแต่เยาว์วัย จากนั้นต้องมีกัลยาณมิตรคอยประคับประคอง แนะแนวทางให้อยู่เสมอ เพื่อให้บุคคลเกิดความเข้าใจ และมองเห็นประโยชน์ของสัมมาทิฏฐิอย่างแท้จริง แล้วยึดถือเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตโดยไม่ย่อหย่อนตลอดไป ซึ่งการปลูกฝังจะสัมฤทธิ์ผลได้ก็ต่อเมื่อได้ปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวันจนติดกลายเป็นนิสัยของแต่ละคน

L5_Page_171.jpg

ความหมายของนิสัย

            นิสัย คือ ความประพฤติเคยชิน อันเกิดจากการปฏิบัติซ้ำๆ อาจเป็นการคิด พูด หรือทำซ้ำๆ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายๆ เรื่องพร้อมๆ กันจนกระทั่งติด หลังจากติดแล้วก็จะประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นอีกเป็นประจำเหมือนเงาติดตามตัว

ใครติดความประพฤติไม่ดี  ก็ได้นิสัยไม่ดี
ใครติดความประพฤติดี  ก็ได้นิสัยดี


นิสัยดี - นิสัยไม่ดี

นิสัยดี
นิสัยไม่ดี
- ชอบตื่นแต่เช้า ชอบตื่นสาย
- ขยันทำการงาน - เกียจคร้านทำการงาน
- รับผิดชอบการงาน - ชอบเกี่ยงงาน ทิ้งงาน
- ชอบให้ทาน ชอบเอาเปรียบ
- ชอบรักษาศีล - ชอบรังแกผู้อื่น
- ชอบจับถูก - ชอบจับผิด
- ชอบพูดสุภาพ - ชอบพูดคำหยาบ
- ชอบอ่อนน้อมถ่อมตน - ชอบรุนแรงหยาบกระด้าง
- ชอบให้อภัย - ชอบมักโกรธ เจ้าอารมณ์
- ชอบยกย่องพระคุณท่าน - ชอบลบหลู่พระคุณท่าน


             นิสัย จึงทำหน้าที่เป็นเสมือนโปรแกรมหรือผังสำเร็จด้านความประพฤติ คอยกระตุ้นและควบคุมสัตว์โลกให้สร้างกรรมดีหรือกรรมชั่ว สร้างบุญหรือบาปทำนองเดียวกันอีกในครั้งต่อๆ ไป

             นิสัยของผู้ใดจึงเป็นเสมือนโปรแกรมหรือผังสำเร็จด้านความประพฤติ ให้เกิดสมบัติหรือวิบัติประจำตัวของผู้นั้น กล่าวคือ นิสัยไม่ดีจะส่งผลให้รักการสร้างกรรมชั่ว แล้วออกผลเป็นวิบัติใหญ่ คือ บาป ความทุกข์ ความเสื่อม ส่วนนิสัยดีจะส่งผลให้รักการสร้างกรรมดี แล้วออกผลเป็นสมบัติใหญ่ คือ บุญ ความสุข ความเจริญไม่มีที่สิ้นสุด

ความยากในการแก้ไขนิสัย
๑. กว่าจะรู้ตนเองว่าตนมีนิสัยไม่ดี ....... ก็แสนยาก
๒. กว่าจะหาใครเตือนให้รู้ว่าตนมีนิสัยไม่ดี ....... ก็แสนยาก
๓. กว่าจะยอมรับคำเตือนว่าตนมีนิสัยไม่ดี ....... ก็แสนยาก
๔. กว่าจะพบวิธีแก้นิสัยไม่ดี ...... ก็แสนยาก
๕. กว่าจะมีกำลังใจแก้นิสัยไม่ดี ...... ก็แสนยาก
๖. กว่าจะมีกำลังกายแก้นิสัยไม่ดี ...... ก็แสนยาก
๗. กว่าโอกาสจะอำนวยให้แก้นิสัยไม่ดี........ ก็แสนยาก
๘. กว่าจะแก้นิสัยให้ดีได้แต่ละอย่าง......... ก็เสียเวลานานมาก
๘. นิสัยไม่ดีที่ยังเหลืออีกไม่ว่ามากหรือน้อยจำต้องรอไว้แก้ต่อไปในภพชาติหน้า

กระบวนการเกิดขึ้นของนิสัย

             เมื่อคนเราได้เห็นรูป ได้ฟังเสียง ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้จับต้องสิ่งใดบ่อยๆ ใจของเราย่อมจดจำไว้ ขณะเดียวกันก็จะมีความต่อเนื่องเป็นกระบวนการ ให้คิดถึงสิ่งนั้นบ่อยๆ พูดถึงสิ่งนั้นบ่อยๆรวมทั้งทำสิ่งนั้นบ่อยๆ อีกด้วย ในที่สุดจะเกิดเป็นความเคยชินและกลายเป็นนิสัยตลอดไป ถ้าการคิดการพูดและการทำบ่อยๆ ซ้ำๆ นั้นเป็นเรื่องดีมีประโยชน์ นิสัยที่ดีก็จะถูกพัฒนาขึ้นประจำจิตใจคนเรา เช่น การเจริญสมาธิภาวนา เป็นนิสัยซึ่งจะเป็นทางนำความสุข ความกระฉับกระเฉง กระชุ่มกระชวยมาสู่ชีวิตของเรา อันจะเป็นเหตุให้คนเราตั้งใจประกอบสัมมาทิฐิให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ในทางกลับกัน ถ้าการคิด การพูด และการกระทำบ่อยๆ ซ้ำๆ นั้นเป็นเรื่องชั่ว มีโทษภัย เช่น การเสพสุราและสิ่งเสพติด นิสัยที่ไม่ดีจะฝังแน่นตราตรึงอยู่ในจิตใจคนเรา อันจะเป็นเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน จิตใจก็ยิ่งเศร้าหมองมากขึ้น


L5_Page_174.jpg


             ในชาตินี้ หากใครมีนิสัยดีๆ ติดตัวมามากนับว่าเป็นบุญกุศลข้ามชาติของผู้นั้น ส่วนนิสัยใหม่จะเริ่มเกิดในทันทีที่คลอดจากครรภ์มารดา ไม่ว่าจะเป็นนิสัยดีมากหรือดีน้อย ล้วนเป็นผลจากการเลี้ยงดู ปลูกฝัง อบรม สั่งสอนของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์และผู้ใกล้ชิด ว่ามีความเข้มงวดกวดขันหรือประคับประคองมากน้อยเพียงใดเป็นหลัก ดังนั้น กล่าวโดยสรุปแล้ว การปลูกฝังนิสัยที่พึงประสงค์ทุกประการนั้น เริ่มที่การปลูกฝังสัมมาทิฐิในคนคนนั้นให้เป็นนิสัย เพราะว่า

๑. ผู้มีสัมมาทิฐิ ๑๐ ย่อม มีกำลังใจทำความดี
๒. ผู้มีกำลังใจทำความดี ย่อม มีกำลังใจฝึกสมาธิอย่างต่อเนื่อง
๓. ผู้ปฏิบัติสมาธิอย่างต่อเนื่อง ย่อมมีใจเบิกบานสว่างไสว เห็นและยอมรับธรรมชาติการอยู่ร่วมกันของมหาชนตามความเป็นจริงได้โดยง่าย คือ
ก. เห็นและยอมรับความไม่สมบูรณ์พร้อมของแต่ละบุคคลได้โดยง่าย
ข. เห็นและยอมรับความจำเป็นที่แต่ละบุคคลต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันได้โดยง่าย
๔. ผู้เห็นและยอมรับธรรมชาติการอยู่ร่วมกันตามความเป็นจริงทั้ง ๒ ประการเหล่านี้ ย่อมฝึกตนให้มีความเคารพ ความอดทน ความมีวินัยได้ง่าย

คุณธรรมพื้นฐานในการฝึกมรรคมีองค์ ๘

          การก่อสร้างตึกระฟ้า ย่อมต้องอาศัยเสาเข็มที่มั่นคงเป็นฐานรองรับฉันใด การจะฝึกมรรคมีองค์ ๘ ให้ได้ผลดีก็จำเป็นต้องอาศัยคุณธรรมพื้นฐาน ๓ ประการมาเป็นฐานในการฝึกฉันนั้น

          คุณธรรมพื้นฐาน ๓ ประการดังกล่าวคือ ความเคารพ ความอดทนและความมีวินัย ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องรีบฝึกให้กับทุกคนตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อจะได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีที่โลกต้องการ

๑) ความเคารพ
          ความเคารพ หมายถึง ความยอมรับและนับถือในคุณความดีที่มีอยู่จริงในตัวบุคคล วัตถุตลอดจนเหตุการณ์ต่างๆ แล้วประพฤติต่อบุคคล วัตถุ และเหตุการณ์นั้นๆ ด้วยอาการยกย่อง เชิดชู เลื่อมใส 

สิ่งที่ควรแก่การฝึกอบรมผู้เรียนให้มีความเคารพตั้งแต่ยังเยาว์ คือ

๑. เคารพพระรัตนตรัย ซึ่งประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ แล้วยึดถือไว้เป็นสรณะที่พึ่งอันสูงสุดอย่างแท้จริงตลอดชีวิต

๒. เคารพบิดา มารดา ครู อาจารย์

๓. เคารพการศึกษา

๔. เคารพสมาธิ

๕. เคารพความไม่ประมาท

๖. เคารพการปฏิสันถาร

              ต้องฝึกผู้เรียนให้เปิดใจ ค้นหาคุณความดีที่มีอยู่จริงในสิ่งหรือบุคคลที่พึ่งเคารพนั้นๆ ให้พบ ครั้นพบแล้วก็ไม่อยู่นิ่งเฉย ต้องแสดงออกถึงความยอมรับและนับถือ ด้วยการแสดงความอ่อนน้อมทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจในทุกๆ โอกาส พร้อมทั้งหมั่นบันทึกความดีนั้นๆ เอาไว้เตือนใจ และน้อมเอาความดีนั้นๆ ไปปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดคุณความดีเช่นนั้นขึ้นในตนด้วย

              นิสัยมีความเคารพนี้ ถ้าปลูกฝังให้เกิดขึ้นแก่เด็กตั้งแต่เยาว์วัยย่อมเกิดคุณแก่เด็ก คือ มีความน่ารัก น่าเอ็นดู น่าทะนุถนอม ใครเห็นก็มีความรักใคร่เอ็นดูในความนอบน้อมไม่จับผิดผู้ใด ทุกคนจึงมีกำลังใจที่จะอบรมสั่งสอน ถ่ายทอดความรู้วิชาการ และนิสัยดีงามให้ เมื่อเด็กได้รับการทุ่มเทดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ทั้งในด้านความรู้และความดีจากผู้ใหญ่และผู้อยู่รอบข้าง ก็จะมีโอกาสสั่งสมความรู้และความดีไว้ได้แต่เยาว์วัย ครั้นเติบใหญ่ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ใครๆ ต่างก็มอบความเคารพ ความไว้วางใจและความยกย่องนับถือให้ ด้วยมั่นใจว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ก่อความเดือดร้อน ไม่เป็นพิษภัยใดๆ มีแต่จะสร้างคุณความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นตลอดไป

๒) ความอดทน

               ความอดทน หมายถึง ความสามารถในการรักษาใจให้ปรกติ ไม่ว่าจะประสบกับความเปลี่ยนแปลงใดๆ ยังยืนหยัดสร้างคุณงามความดีที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ทั้งนี้เพราะมีนิสัยไม่ท้อถอย ไม่ยอมล้มเลิกกลางคันเมื่อประสบอุปสรรค

ความอดทนที่ทำให้สามารถรักษาใจให้ปกติได้มี ๔ ลักษณะ คือ

๑. อดทนต่อความลำบาก ได้แก่ อดทนต่อความไม่เอื้ออำนวยของธรรมชาติ เช่น แดด ลม ฝน ฯลฯ แล้วตั้งใจทำความดีต่อไป

๒. อดทนต่อทุกขเวทนา ได้แก่ อดทนต่อความทุกข์อันเกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วตั้งใจทำความดีต่อไป

๓. อดทนต่อความเจ็บใจ ได้แก่ อดทนต่อการกระทำล่วงเกินของผู้อื่นด้วยการปล่อยวางและให้อภัย ไม่ผูกใจเจ็บ แล้วตั้งใจทำความดีต่อไป

๔. อดทนต่อความเย้ายวน ได้แก่ อดกลั้นต่อความอยากหรือกิเลสของตนเอง เช่น อยากเล่นการพนัน อยากเที่ยวกลางคืน ฯลฯ แล้วตั้งใจทำความดีต่อไป

เพื่อให้ผู้เรียนมีความอดทนต้องฝึกอบรมผู้เรียนให้
(๑) พิจารณาคุณ โทษ และประโยชน์ของความอดทน
(๒) ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ
(๓) ทำใจยอมรับความบกพร่องทางนิสัยใจคอ ความรู้ความสามารถของผู้อื่นแล้วให้อภัย
(๔) เร่งฝึกฝนตนเองให้ใฝ่รู้ใฝ่ดี มีความสามารถรอบด้านยิ่งๆ ขึ้น
(๕) ทำสมาธิภาวนามากๆ เพื่อเพิ่มกำลังใจตนเอง ให้สามารถหักห้ามใจไม่ยอมทำความผิด ความชั่วใดๆ

           นิสัยอดทนเป็นบ่อเกิดแห่งความขยันและความสงบเยือกเย็น เป็นคุณลักษณะสำคัญที่ทำให้เด็กมีความเข้มแข็ง ทนต่อการรองรับคำสั่งคำสอน และความยากลำบากในการประพฤติปฏิบัติตามแบบอย่างที่ดีงามของพ่อแม่ ครูบาอาจารย์และผู้รู้ทั้งหลาย รวมทั้งอดกลั้นใจต่ออบายมุขและสิ่งมอมเมาทั้งปวง เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในภายหน้าย่อมเป็นผู้ไม่มีเวรไม่มีภัยแก่ใคร พร้อมที่จะเป็นเสาหลักแห่งความดีงามให้แก่มหาชน เพราะเป็นผู้ฝึกตนมาดี มีความอดกลั้นและทนทานต่ออำนาจกิเลส ทั้งจากภายนอกและภายใน

๓) ความมีวินัย

              ความมีวินัย คือ ความเต็มใจปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับของหมู่คณะที่กำหนดไว้ดีแล้ว เพื่อประโยชน์เหล่านี้คือ

๑. เพื่อความสงบเรียบร้อยดีงามของตนเอง และหมู่คณะ

๒. เพื่อปกป้องคุ้มครองตนเอง มิให้ทำความผิดความชั่ว รวมทั้งมิให้เกิดการกระทบกระทั่งกันและกัน อันจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้

๓.เพื่อความยอมรับและเลื่อมใสของมหาชน

             นิสัยมีวินัยนี้เป็นศีลธรรมพื้นฐานที่ต้องปลูกฝังแต่เยาว์วัย เพราะผู้มีวินัยย่อมประพฤติตนอยู่ในระเบียบ เป็นผู้พร้อมที่จะรองรับการฝึกฝนและการอบรมชี้แนะจากพ่อแม่ ครูอาจารย์และผู้รู้ทั้งหลายความมีวินัยทำให้จิตสงบ ไม่สับสนวุ่นวาย เป็นสมาธิได้รวดเร็ว เด็กที่มีวินัยจึงมีสมาธิดี นำไปสู่การเป็นผู้มีความตั้งใจเรียน และขวนขวายแสวงหาความรู้อยู่เสมอ เป็นการเพาะนิสัยใฝ่เรียนรู้ให้เจริญงอกงาม เมื่อเจริญวัยเป็นผู้ใหญ่ย่อมเป็นบัณฑิต นักปราชญ์ ผู้ทรงวิชาความรู้และอุดมด้วยความดีงาม เป็นเข็มทิศนำส่วนรวมให้ดำเนินชีวิตตามหลักมรรคมีองค์ ๘ อย่างต่อเนื่อง

L5_Page_178.jpg

ความดีสากลพื้นฐาน ๔ ประการ

            แม้เราจะทราบแล้วว่าคุณธรรมพื้นฐาน ๓ ประการข้างต้น คือ วินัย เคารพ อดทน นั้นเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องฝึกตั้งแต่ยังเยาว์วัย แต่ถามว่าการจะฝึกให้ได้นั้นต้องทำอย่างไร วิธีสร้างคนให้มีวินัยจะต้องเริ่มฝึกคนนั้นให้

๑. มีนิสัยรักการทำความดีสากลพื้นฐาน อันประกอบไปด้วย

๑) รักความสะอาด
๒) รักความเป็นระเบียบ
๓) รักความสุภาพนุ่มนวล
๔) รักษาเวลา

        หลังจากสร้างนิสัยรักความสะอาด, รักระเบียบ, รักความสุภาพ นุ่มนวลและรักการตรงต่อเวลาให้เกิดขึ้นแล้ว ในที่สุดจะพัฒนาเป็นนิสัย “รักการควบคุมตนเอง”

         หากไม่เริ่มฝึกทั้ง ๔ เรื่องนี้ วินัยก็ไม่อาจที่จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องฝึกให้รักการทำความดีสากลพื้นฐานตั้งแต่ยังเยาว์วัย จนกว่าจะกลายมาเป็นนิสัยมี “วินัย” ติดตัว

๒. สร้างนิสัย “รักการพึ่งตนเอง” ให้ทำงานด้วยตนเอง เพื่อให้เห็นคุณค่าของการทำงานนั้นๆ แล้วก็สนุกกับงานนั้น จึงจะก่อให้เกิดคุณธรรมตามมาคือ “ความอดทน” ซึ่งจะได้มาพร้อมกับความละเอียดและคุณธรรมอื่นๆ ด้วย


๓. ฝึกให้เกิดนิสัย “รักการจับถูก” จะทำให้รักการแก้ไขตัวเอง รักการยกย่องคนดีมีฝีมือแล้วกลายเป็นคุณธรรมคือ “ความเคารพ” ตามมา

             โดยสรุป คุณธรรม คือ วินัย เคารพ อดทน เกิดขึ้นจากการพัฒนามาตามลำดับ คือ เริ่มต้นด้วยการเพาะนิสัยทั้งรักความสะอาด รักความเป็นระเบียบ รักความสุภาพ นุ่มนวล และรักการตรงต่อเวลา ซึ่งรวมเรียกได้ว่านิสัยรักในการควบคุมตนเอง จากนั้นจึงพัฒนามาเป็นรักการพึ่งตนเอง รักการจับถูกผู้อื่น แล้วก็พัฒนาต่อไปกระทั่งเป็นคุณธรรมพื้นฐานทั้ง ๓ ประการ คือ วินัย เคารพ และอดทนได้ในที่สุด

การฝึกนิสัยให้รักการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘

              นิสัยของคนเราเกิดขึ้นจากพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กันอยู่เป็นอาจิณและเรื่องที่คนเราต้องทำซ้ำๆ คือ เรื่องการบริโภคปัจจัย ๔ นั่นเอง ดังนั้นการปลูกฝังอบรมกันตั้งแต่เยาว์วัยให้มีความรับผิดชอบและมีความเข้าใจเกี่ยวกับการบริโภคปัจจัย ๔ อย่างถูกต้องเหมาะสมอยู่เป็นประจำ ในที่สุดก็จะพัฒนาเป็นนิสัยที่ดีงามประจำตัวประจำใจของตนเองไปจนตลอดชีวิต ไม่เฉพาะแต่เรื่องการบริโภค
ปัจจัย ๔ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรมต่างๆ อีกด้วย แต่การฝึกปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ จะแตกต่างกับการฝึกงานประเภทอื่นๆ โดยมีหลักการดังนี้

๑. ต้องเริ่มฝึกตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก มิฉะนั้นเมื่อโตขึ้นจะมีความเห็นเป็นมิจฉาทิฐิ ซึ่งแก้ไขยาก
๒. ต้องฝึกกันทุกๆ คน ทุกๆ วัย ไม่ว่าหญิงหรือชาย
๓. ต้องฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้เกิดความคุ้นจนเป็นนิสัย แม้คุ้นจนเป็นนิสัยแล้วก็จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นความเกียจคร้านจะชักนำนิสัยเลวๆ เข้ามาแทนที่ แล้วกลายเป็นมิจฉาทิฐิไปในที่สุด
๔. พ่อแม่และครูอาจารย์จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีได้ โดยไม่มีข้อบกพร่องหรือหย่อนยานมิฉะนั้นจะเกิดปัญหาหลายอย่างตามมา เช่น การนินทาว่าร้ายผู้ฝึก การกระทบกระทั่งกันในกลุ่มสมาชิกที่อยู่ร่วมกัน เป็นต้น

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.045924850304921 Mins