ฆราวาสธรรม

วันที่ 18 กค. พ.ศ.2564

21-7-64-1-b.jpg

ฆราวาสธรรม
ที่มาของพระสูตร
                    เป็นพระสูตรที่เป็นการถามตอบปัญหาระหว่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับอาฬวกยักษ์ ในเขตเมืองอาฬวี ประเทศอินเดียภายหลังจบพระธรรมเทศนา อาฬวกยักษ์ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน 


ความสำคัญของพระสูตร
                    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสตอบปัญหาที่อาฬวกยักษ์ถามไว้หลายประการ โดยเฉพาะได้ตรัสฆราวาสธรรม หรือธรรมะของผู้อยู่ครองเรือน ๔ ประการ คือ สัจจะ ทมะ ขันติและจาคะ ที่ต้องมีประจำใจที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในชีวิตปัจจุบัน รวมถึงชีวิตในโลกหน้าอีกด้วย

 

                    นอกจากนี้ ฆราวาสธรรมยังจะช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญในสังคม ที่ไม่ว่ายุคสมัยใดก็ต้องประสบ ๔ ประการ คือ


๑. ความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน แม้พ่อแม่ก็หวาดระแวงลูก สามีภรรยาก็หวาดระแวงซึ่งกันและกัน เป็นต้น
๒. ความไม่รู้ ความโง่เขลา เบาปัญญา จึงไม่ทันโลกทันคน และทันต่อกิเลสในใจของตนเอง
๓. ความยากจน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม เกิดเป็นความมานะถือตัว ดูถูกซึ่งกันและกัน
๔. ความเห็นแก่ตัว เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ไม่เห็นใจกันและกัน

โดยอาศัยหลักฆราวาสธรรมคือ

หลักธรรม ความหมาย แก้ปัญหา
(๑) สัจจะ ความซื่อตรงและจริงจัง จริงใจ ความหวาดระแวง
(๒) ทมะ การฝึกฝนตนเอง ความโง่
(๓) ขันติ ความอดทน ความยากจน
(๔) จาคะ ความเสียสละ ความเห็นแก่ตัว


                     ดังที่จะได้ศึกษาเนื้อหาพระสูตร รวมถึงรายละเอียดของหลักธรรมแต่ละข้อ เพื่อนำเอาฆราวาสธรรมมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป


อาฬวกสูตร1
อาฬวกยักษ์ทูลถามปัญหา

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :
                     สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับในที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ เขตเมืองอาฬวี ครั้งนั้นแล อาฬวกยักษ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้กล่าวว่า “ท่านจงออกมาสมณะ"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดีแล้วผู้มีอายุ” แล้วก็เสด็จออกมา

ยักษ์กล่าวว่า “ท่านจงเข้าไปสมณะ”


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดีแล้วผู้มีอายุ” แล้วก็เสด็จเข้าไป


แม้ครั้งที่ ๒ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า “ท่านจงออกมาสมณะ"


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดีแล้วผู้มีอายุ” แล้วก็เสด็จออกมา


ยักษ์กล่าวว่า “ท่านจงเข้าไปสมณะ”


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดีแล้วผู้มีอายุ” แล้วก็เสด็จเข้าไป


แม้ครั้งที่ ๓ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า “ท่านจงออกมาสมณะ”


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดีแล้วผู้มีอายุ" แล้วก็เสด็จออกมา


ยักษ์กล่าวว่า “ท่านจงเข้าไปสมณะ”


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดีแล้วผู้มีอายุ" แล้วก็เสด็จเข้าไป


ครั้นครั้งที่ ๔ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้อีกว่า “ท่านจงออกมาสมณะ”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ผู้มีอายุ เราจักไม่ออกไปละ ท่านจะทำอะไรก็จงทำเถิด”


อาฬวกยักษ์ได้กล่าวว่า
“สมณะเราจักถามปัญหากะท่าน ถ้าท่านพยากรณ์แก่เราไม่ได้ เราจักทำจิตของท่านให้
ฟุ้งซ่าน หรือฉีกหัวใจของท่าน หรือจักจับที่เท้าแล้วเหวี่ยงไปยังแม่น้ำคงคาฝั่งโน้นๆ


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
“อาวุโส เราไม่เห็นใครเลยในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อม
ทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ที่จะพึงทำจิตของเราให้ฟังซ่านได้ หรือขยี้หัวใจของเรา หรื
อจับเราที่
เท้าแล้วเหวี่ยงไปยังแม่น้ำ คงคาฝั่งโน้น เอาเถิดอาวุโส เชิญถามปัญหาตามที่ท่านจำนงเถิด”


อาฬวกยักษ์กลถามว่า
อะไรหนอ เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรหนอที่บุคคล
ประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้ อะไรหนอเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าว
ชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่อย่างไรว่าประเสริฐสุด


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
ศรัทธาเป็นทรัพย์อันประเสริฐของคนในโลกนี้ ธรรม2 อันบุคคลประพฤติดีแล้วนำ
ความสุขมาให้ ความสัตย์แลเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่
ด้วยปัญญาว่าประเสริฐสุด


อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า
คนข้ามโอฆะ3 ได้อย่างไรหนอข้ามอรรณพได้อย่างไร ล่วงทุกข์ได้อย่างไร บริสุทธิ์ได้อย่างไร


พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
คนข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ล่วงทุกข์ได้ด้วยความ
เพียร บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา


อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า
คนได้ปัญญาอย่างไรหนอ ทำอย่างไรจึงจะหาทรัพย์ได้ คนได้ชื่อเสียงอย่างไรหนอ
ทำอย่างไรจึงจะผูกมิตรไว้ได้ คนละโลกนี้ไปสู่โลกหน้า ทำอย่างไรจึงจะไม่เศร้าโศก


พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลเพื่อสรรมของพระอรหันต์ เพื่อบรรลุนิพพาน ฟังอยู่ด้วยดี ย่อมได้ปัญญา
ธรรมเป็นผู้ไม่ประมาท เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้ทำเหมาะเจาะ ไม่ทอดธุระ เป็นผู้หมั่นย่อมหาทรัพย์ได้
คนย่อมได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์

ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ บุคคลใดผู้อยู่ครองเรือน ประกอบด้วยศรัทธา มีธรรม ๔ ประการ
นี้คือ สัจจะ ธรรมะ4 ธิติ จาคะ บุคคลนั้นแล ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก


เชิญท่านถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากเหล่าอื่นดูซิว่าในโลกนี้มีอะไรยิ่งไปกว่า สัจจะ ทมะ จาคะ และขันติ


อาฬวกยักษ์กราบทูลว่า
ทำไมหนอ ข้าพเจ้าจึงจะต้องถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากในบัดนี้
วันนี้ข้าพเจ้ารู้ชัดถึงสัมปรายกประโยชน์ พระพุทธเจ้าเสด็จมาอยู่เมืองอาฬวี เพื่อประโยชน์แก่ข้าพเจ้าโดยแท้
วันนี้ข้าพเจ้ารู้ชัดถึงทานที่บุคคลให้ในที่ใดมีผลมาก ข้าพเจ้าจักเที่ยวจากบ้านไปสู่บ้าน
จากบุรีไปสู่บุรี พลางนมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมซึ่งเป็นธรรมที่ดี


ฆราวาสธรรม
ความหมาย
ธรรมสำหรับฆราวาส, ธรรมสำหรับผู้ครองเรือน, หลักการครองชีวิตของคฤหัสถ์ มี ๔ ประการ คือ
๑. สัจจะ
หมายถึง ความจริง ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง


ประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญ ๓ ประการ คือ
๑) ความตรง คือ ความไม่คด ไม่บิดพลิ้ว
๒) ความจริง คือ ความไม่เล่น ไม่เหลาะแหละ
๓) ความแท้ คือ ความไม่ปลอม ไม่เทียม ไม่เก๊


                   ในแง่ของความหมายที่พอจะส่องให้เห็นแนวทางปฏิบัติได้อย่างชัดเจน จึงแปลความหมายของสัจจะ ว่าคือ ความรับผิดชอบ หรือ มีนิสัยรับผิดชอบ

คนที่มีสัจจะ ย่อมแสดงความรับผิดชอบออกมาได้ ๔ ด้าน คือ


๑.๑ ด้านหน้าที่และการงาน คือ ไม่ว่าจะได้รับหน้าที่มากน้อยแค่ไหน งานในแต่ละหน้าที่เหล่านั้นจะยากเย็น มีสภาวะไม่เอื้ออำนวยเพียงใดก็ตาม เช่น มีงบประมาณจำกัด กำลังคนจำกัด ระยะเวลากระชั้นชิด หรือมีความรู้ความสามารถไม่พอเพียงกับงานนั้น คนที่มีสัจจะย่อมตั้งใจขวนขวายเพื่อจะรับผิดชอบด้วยการ “ทำงานนั้นให้สำเร็จลุล่วงและทำให้ดีที่สุด”


ดังนั้น ลักษณะสัจจะด้านหน้าที่และการงานจึงอาจสรุปได้ คือ


ตรง ต่อด้านหน้าที่และการงาน คือ รับผิดชอบหน้าที่การงานอย่างครบถ้วน
จริง ต่อด้านหน้าที่และการงาน คือ ทำงานในความรับผิดชอบอย่างจริงจัง ไม่หลบเลี่ยง ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังวาจา กำลังใจ จนกว่างานจะสำเร็จ
แท้ ต่อด้านหน้าที่และการงาน คือ ทำงานนั้นๆ เพื่อมุ่งหวังให้คุณธรรมความดี บังเกิดขึ้นทั้งแก่ตนเอง หมู่คณะและสังคมส่วนรวม มิใช่เพื่ออามิสสินจ้าง รางวัลหรือผลประโยชน์ส่วนตัว


๑.๒ ด้านคำพูด คือ ต้องเป็นผู้ที่พูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น และทำอย่างไรก็ต้องพูดอย่างนั้น ไม่พูดเกินจริง มีการกระทำทางกายที่ตรงต่อคำพูดของตัวเอง


ลักษณะสัจจะด้านคำพูด มีดังนี้
ตรง ต่อด้านคำพูด คือ มีคำพูดที่ไม่วกวน ไม่อ้อมค้อม ไม่ซ่อนเงื่อนงำ ฟังแล้วก็ทราบทันทีว่าอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ทำให้ผู้ฟังสามารถรับข้อมูลข่าวสารตรงกับเจตนาของผู้พูดได้โดยง่าย

จริง ต่อด้านคำพูด คือ คำพูดที่กล่าวไปแล้ว ย่อมปฏิบัติตามนั้นอย่างจริงจัง ไม่เหลาะแหละหรือโลเล


แท้ ต่อต้านคำพูด คือ มีคำพูดที่ประกอบด้วยความสุจริต ไม่ชักชวนโน้มน้าวไปสู่ความชั่วร้าย


๑.๓ ด้านการคบคน คือ คบใครก็คบด้วยความจริงใจ ไม่มีเหลี่ยมคู ไม่มีเบื้องหน้า เบื้องหลัง ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ลำเอียงหรือไม่มีอคติ ๔ ประการ คือ ไม่ลำเอียงเพราะรัก ไม่ลำเอียงเพราะชัง ไม่ลำเอียงเพราะโง่ ไม่ลำเอียงเพราะกลัว


ลักษณะสัจจะด้านการคบคน ดังนี้
ตรง ต่อด้านการคบคน คือ คบใครไม่คิดคดทรยศหักหลัง
จริง ต่อด้านการคบคน คือ คบกันแล้ว มีใจร่วมสุขร่วมทุกข์ไปด้วยกัน
แท้ ต่อด้านการคบคน คือ มีเจตนาสุจริต สนับสนุนบุคคลที่คบด้วยให้มีคุณธรรม มีความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป


๑.๔ ด้านศีลธรรมความดี คือ ถือเอาธรรมเป็นใหญ่ ไม่ยอมทำในสิ่งที่ผิดศีล ผิดธรรม ผิดประเพณีและผิดกฎหมายของบ้านเมือง
ลักษณะสัจจะต่อด้านศีลธรรมความดี มีดังนี้
ตรง ต่อด้านศีลธรรมความดี คือ เมื่อเรียนรู้ถึงคุณธรรมความดีใดๆ แล้ว พยายามฝึกปฏิบัติคุณธรรมความดีนั้นให้ได้ตรงตามพุทธประสงค์
จริง ต่อด้านศีลธรรมความดี คือ ปฏิบัติตามคุณธรรมความดีนั้นๆ อย่างจริงจัง ไม่ทำๆหยุดๆ
แท้ ต่อด้านศีลธรรมความดี คือ ปฏิบัติตามคุณธรรมความดีนั้นๆ เพื่อบุญกุศล มีใช่เพื่อลาภยศสรรเสริญสักการะใดๆ

                บุคคลผู้มีสัจจะประจำใจ ย่อมเป็นคนจริง คนตรง เป็นคนซื่อสัตย์ ทำให้ไม่เป็นที่หวาดระแวงแก่ใครๆ เพราะคนส่วนมากในปัจจุบัน มีนิสัยชอบโกหก พูดไม่จริง เหลาะแหละ จนไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ การมีสัจจะจึงเป็นการแก้ปัญหาความหวาดระแวงกันและกัน และเป็นทางมาแห่งเกียรติยศ ชื่อเสียง ดังที่ตรัสไว้ว่า “คนย่อมได้ชื่อเสียง เพราะความสัตย์”


๒. ทมะ
แปลว่า รู้จักข่มจิตข่มใจตัวเอง
                ในทางปฏิบัติ ทมะ หมายถึง ความกระตือรือร้นในการเกี่ยวเข็ญฝึกตนเอง อย่างไม่มีข้อแม้เงื่อนไข เพื่อให้ตนเองมีความรู้ ความสามารถและความตีเพิ่มพูนขึ้นทุกวันๆ
                ในอีกความหมายหนึ่ง ทมะ จึงเรียกว่า รักการฝึกฝนตัวเอง ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองโง่
นั่นเอง สำหรับวิธีการที่จะเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ และความดีในเรื่องใดก็ตาม มีหลักปฏิบัติ ๔ ขั้นตอน คือ
๑) ต้องหาครูดี คือ หากปรารถนา สนใจในด้านใด ต้องหาคนที่มีความรู้ความสามารถในด้านนั้นให้ได้เสียก่อน มิฉะนั้น โอกาสที่จะล้มเหลวมีมาก แต่หากหายังไม่ได้ ก็ควรจะเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องนั้นมากที่สุดในภาวะนั้นเป็นอย่างน้อย
๒) ต้องฟังคำครู คือ ต้องตั้งใจฟังบ่อยๆ สงสัยสิ่งใด ก็สอบถามบ่อยๆ จนกระทั่งสามารถจับประเด็นสำคัญในสิ่งที่ครูสอนได้ ไม่ว่าจะเป็นหลักการ วิธีการ อย่างชัดเจน
๓) ต้องตรองดำครู คือ น่าแต่ละประเด็นที่ครูอธิบายจนเราทราบถึงประเด็นสำคัญแล้วมาพิจารณาทบทวน จนเกิดเป็นความเข้าใจในเหตุผล ทั้งในแง่ของความสำคัญ การนำมาใช้งาน ข้อควรระวัง ผลดีผลเสียต่างๆ ที่จะตามมาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
๔) ต้องทำตามคำครู คือ หลังจากพิจารณาอย่างถ้วนถี่ดีแล้ว จึงลงมือปฏิบัติตามด้วยสติรอบคอบ ไม่ประมาทไปตามความเข้าใจที่ครูสอน

                ด้วยวิธีการนี้ ย่อมทำให้ทมะเกิดขึ้นประจำใจได้ กล่าวคือ เป็นผู้มีความรู้ มีความสามารถ มีความดีเกิดขึ้นในตัวอย่างเต็มที่ สามารถแก้ปัญหาความโง่ที่ไม่รู้เท่าทันคน เท่าทันโลกและเท่าทันกิเลสในใจได้ไม่ถลำตนเองไปกระทำความชั่ว ข่มใจตัวเองได้ ความเป็นผู้มีทมะจึงเป็นทางมาแห่งปัญญา


๓. ขันติ
แปลว่า ความอดทน
หมายถึง การรักษาปกติภาวะของตนไว้ได้ ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งบีบคั้น ด้วยสิ่งไม่พอใจหรือยั่วยุเย้ายวนด้วยสิ่งที่น่าใคร่

 

                  การที่คนใดคนหนึ่งจะสามารถทำให้คุณความดีเกิดขึ้นมาแก่ตนเอง ล้วนต้องแลกมาด้วยความอดทน ซึ่งสรุปรวมสิ่งที่ต้องพยายามอดทนได้ ๔ ประการคือ


๓.๑ อดทนต่อความลำบากตรากตรำ คือ ความอดทนต่อธรรมชาติที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ทนแดด ทนลม ทนฝน เป็นต้น
๓.๒ อดทนต่อทุกขเวทนา คือ อดทนต่อสภาพสังขารร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ทนฝืนต่อความเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่คร่ำครวญจนเกินเหตุ เป็นต้น
๓.๓ อดทนต่อการกระทบกระทั่ง คือ อดทนคน ไม่ว่าจะเป็นความบกพร่อง ความไม่สมบูรณ์ของคน อันเป็นเหตุให้กระทบกระทั่งต่อกัน จนมีความเจ็บใจ เป็นต้น
๓.๔ อดทนต่ออำนาจกิเลส คือ อดทนต่อนิสัยไม่ดี อันเกิดจากกิเลสที่มาบังคับใจเรา หากทนต่ออำนาจกิเลสไม่ได้ ย่อมกลายเป็นคนมีนิสัยไม่ดีตามมาแทน

 

                    เพราะว่ากิเลสในใจมีผลต่อนิสัยของเรา สิ่งสำคัญที่ควรระมัดระวัง และต้องรู้จักอดทนต่ออำนาจกิเลส จึงมี ๒ เรื่อง คือ
๑. รู้จักควบคุมนิสัยไม่ดีของตัวเอง ไม่ให้ระบาดไปสู่คนอื่น
๒. อดทนต่ออบายมุข ๖ คือ การดื่มสุรา การเที่ยวกลางคืน การเที่ยวในสถานบันเทิง การเล่นพนัน การคบคนชั่วเป็นมิตร และความเกียจคร้านต่อหน้าที่การงาน

                     บุคคลที่มีความอดทนต่อความลำบากตรากตรำ อดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อการกระทบกระทั่ง และอดทนต่อความเย้ายวนจากอำนาจกิเลสได้ จึงเป็นคนที่สามารถทำการงานใหญ่ให้สำเร็จได้ เป็นที่มาของการได้ทรัพย์ สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้


๔. จาคะ
แปลว่า ความเสียสละ


แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. สละสิ่งของ
๒, สละความสะดวกสบาย
๓. สละอารมณ์ที่บูดเน่า ไม่เอามาเก็บฝังใจ อันเป็นพื้นฐานสำคัญไปสู่การทำสมาธิ

 

                    บุคคลที่มีจาคะประจำใจ ย่อมมีอารมณ์แจ่มใสเป็นปกติ มีความเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นเป็นนิจ ย่อมเป็นที่รักของหมู่ญาติ เพื่อนบ้าน เจ้านาย รวมถึงบุคคลรอบข้าง เป็นวิธีแก้ปัญหาความเห็นแก่ตัว และเป็นทางมาแห่งมิตรสหาย ดังที่กล่าวไว้ว่า “ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้”
 

อานิสงส์การบำเพ็ญฆราวาสธรรม
                    เมื่อปฏิบัติตามหลักฆราวาสธรรมทั้ง ๔ ประการ ย่อมเกิดความก้าวหน้าในชีวิต ทั้งในด้านการทำงาน ทั้งในด้านความสุขในครอบครัว สามารถตั้งหลักฐาน เลี้ยงครอบครัวได้ เพราะเป็นคนมีสัจจะ มุ่งพัฒนาความรู้ของตนเองให้เพิ่มพูนขึ้นไปอย่างไม่หยุดยั้ง สามารถปิดนรกให้กับตัวเอง เพราะอดทนไม่ยอมปล่อยตนเองให้พ่ายแพ้ต่อกิเลสในใจ จนก่อบาปอกุศลกรรมในขณะประสบปัญหาอุปสรรคต่างๆ
สามารถเปิดหนทางไปสวรรค์ด้วยการทำความดี เพราะความเป็นผู้ให้ ความเป็นผู้เสียสละจนกลายเป็นนิสัยประจำตัว ยิ่งกว่านั้น หากขวนขวาย แก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ย่อมมีโอกาสหมดกิเลส เข้าถึงพระนิพพานได้ไม่ยากจนเกินไป

                     นอกจากนี้ ฆราวาสธรรมยังถือเป็นหัวใจสำคัญของความเป็นนักสร้างบารมี และเป็นหัวใจของการเป็นผู้นำในการทำงานเป็นทีมอีกด้วย กล่าวคือ

 

                    สิ่งแรกที่นักสร้างบารมีและผู้นำต้องมีประการแรก คือ สัจจะ มีความตรงไปตรงมา โดยเริ่มต้นต้องฝึกให้มีในตัวเองก่อน โดยเฉพาะฝึกให้มีความตรงต่อพระธรรมวินัย ส่วนในด้านการทำงาน ก็ต้องฝึกทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด รวมไปถึงมีความจริงใจกับเพื่อนร่วมงานทุกคน ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ก็ช่วยกันแก้ไขอย่างตรงไปตรงมา ไม่เพ่งโทษต่อกัน
 

                    ประการถัดมา คือ ทมะ มีความรัก มีความกระตือรือร้นที่จะฝึกตัว หมั่นค้นคว้า แสวงหาความรู้อยู่เสมอ แม้จะมีความตั้งใจจริง ปรารถนาทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดก็ตาม แต่หากขาดความรู้ในงานนั้น ย่อมจะประสบความสำเร็จได้ยาก จึงต้องอาศัยการค้นคว้าจากตำรับตำราบ้าง อาศัยความรู้จากคนที่มีประสบการณ์ในอาชีพนั้นๆ บ้าง ล้วนต้องมีสัจจะเป็นคุณธรรมประจำใจด้วย เพราะหากเป็นคนมีสัจจะ ย่อมมีความจริงใจไม่บิดเบือนคำพูด ทำให้ไม่เกิดความหวาดระแวงต่อกัน ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับความรู้ ได้รับประสบการณ์ดีๆ โดยไม่อำพรางปิดบังแต่อย่างใด


                   ประการต่อมา คือ ขันติ มีความอดทน เนื่องจากพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลาย ขณะยังบำเพ็ญบุญบารมีเพื่อการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่นั้น ล้วนต้องทำบุญด้วยตนเองและชักชวนผู้อื่นให้ทำ ใช้เวลาสั่งสมบุญบารมีเช่นนี้มายาวนานจนบารมีเต็มเปี่ยม ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด ส่วนผู้ที่ท่านชักชวนสร้างบารมีด้วยกัน ก็บรรลุธรรมไปตามส่วนของการสั่งสมบุญในแต่ละท่าน เช่น เป็นอัครสาวกบ้าง เป็นมหาสาวกบ้าง เป็นพระอริยบุคคลชั้นต่างๆ บ้าง เป็นต้น กว่าที่ท่านเหล่านี้จะมาบรรลุธรรม ย่อมต้องสร้างบุญบารมีร่วมกันมาก่อน กล่าวคือ มีอัธยาศัยในการทำงานเป็นทีมติดตัวมา และมีความอดทนต่อกันและกันได้อย่างดี ทั้งทนต่อความบกพร่องของตนเอง ความบกพร่องของคนอื่น ความมีขันติ มุ่งที่จะสั่งสมบุญและรักษาหมู่คณะ เพื่อสร้างบารมีไปพระนิพพาน จึงเป็นคุณธรรมสำคัญที่ละเลยไม่ได้
 

                    ประการสุดท้าย คือ จาคะ ความเป็นผู้เสียสละ เป็นผู้ให้ เมื่อจะชักชวนคนมาสร้างบุญบารมี ชักชวนมาทำงานร่วมกัน ต้องให้ความดูแล เอาใจใส่ ทั้งให้ความสะดวกในเรื่องอาหาร ที่พักอาศัยให้ความสะดวกสบายพอสมควร เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข รวมไปถึงการให้คำชื่นชม ชี้อานิสงส์ในการทำงานนั้นๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนจัดเป็นจาคะ ที่จะช่วยส่งเสริมกำลังใจในการสร้างบารมี การทำงานเป็นทีม
สำหรับนักสร้างบารมีได้เป็นอย่างดี


สำหรับอานิสงส์โดยย่อ พอสรุปได้ ดังนี้
๑. ย่อมได้รับชื่อเสียง มีเกียรติยศ
๒. เกิดความรอบรู้แตกฉาน ทั้งด้านความรู้และด้านคุณธรรมภายในตน มีฐานะการเงินมั่นคงไม่ลำบากยากจน
๔. มีเพื่อนสนิทมิตรสหายมาก เป็นที่ยอมรับนับถือของมหาชน
๕. เมื่อละอัตภาพแล้วย่อมไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์

 

เชิงอรรถอ้างอิง

1พระสูตรและอรรถกถาแปล, สังยุตตนิกาย สคาถวรรค, มก.ล. ๒๕/๔๒๓ - ๔๒๖.
2ธรรมในที่นี้ หมายถึง กุศลธรรม ๑๐ ประการ อีกนัยหนึ่ง หมายถึง ธรรมมีทานและศีล เป็นต้น
3 โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ คือ กิเลส มี ๔ อย่าง คือ ๑.กาโมฆะ (โอฆะ คือ กาม) ๒.ภโวฆะ (โอฆะ คือ ภพ) ๓. ทิฏโฐฆะ (โอฆะคือ ทิฏฐิ) ๔.อวิชโชฆะ (โอฆะ คือ อวิชชา) โอฆะ ในที่นี้ หมายถึง ทิฏโฐฆะ ส่วนอรรณพ หมายถึง ภโวฆะ

4ธรรมะและทมะ ในที่นี้ อรรถกถากล่าวความหมายเหมือนกันว่าคือ ปัญญา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.039199050267537 Mins