วิริยบารมี

วันที่ 06 กค. พ.ศ.2564

6-7-64-3-b.jpg

วิริยบารมี

           วิริยบารมี เป็นบารมีประการที่ ๕ ต่อจากปัญญาบารมี เราได้ทราบแล้วว่าปัญญาบารมีนั้น มุ่งไปที่การแสวงหาความรู้ยิ่งเห็นจริงจากครูบาอาจารย์ต่างๆ ทั้งที่เป็นบัณฑิต นักปราชญ์ และผู้รู้ทั้งหลาย เมื่อได้รับความรู้แล้ว สิ่งที่ต้องกระทำต่อไป คือ การเพียรพยายามนำความรู้ที่ได้นั้นมาปฏิบัติตามวิธีการที่ ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าจะบรรลุผลสำเร็จ คือ การได้ปัญญาอันยิ่งสำหรับกำจัด กิเลสอาสวะได้อย่างสมบูรณ์

           สุเมธดาบสบรมโพธิสัตว์ได้ตรวจดูด้วยญาณทัสสนะพบว่า ต้องบ่าเพ็ญวิริยบารมีเป็น ประการที่ ๕ จึงจะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ เพราะอุปสรรคที่สำคัญในการบรรลุธรรมก็คือ ความท้อแท้ท้อถอย ความขลาดกลัวไม่กล้าสู้เมื่อพบอุปสรรค ดังแสดงไว้ใน ขุททกนิกาย อปทาน ว่า1

             ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลายจะไม่พึงมีเพียงเท่านั้น จึง ใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ได้เห็นวิริยบารมีข้อที่ ๕ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้วิริยบารมีให้บริบูรณ์ เหมือนอย่างว่าพญาราชสีห์มฤคราชเป็นผู้มีความเพียรมั่นใน อิริยาบถทั้งปวง ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้น เป็นผู้มีความเพียรมั่นในอิริยาบถทั้งปวงในภพทุกภพ เป็นผู้มีความ เพียรไม่ย่อหย่อน จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานวิริยบารมีข้อที่ ๕ กระทำให้มั่นแล้ว ด้วย เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า

“ก็พุทธธรรมทั้งหลาย จักไม่มีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเฟ้นหาธรรม แม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ

ครั้งนั้นเราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นวิริยบารมีข้อที่ ๕ ที่ท่าน ผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อนๆ ถือปฏิบัติเป็นประจำ

ท่านจงสมาทานวิริยบารมีข้อที่ ๕ นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความ เป็นวิริยบารมี ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ

พญาราชสีห์มฤคราชเป็นผู้มีความเพียรไม่ย่อหย่อนในการนั่ง การยืน และการเดิน ประคองใจไว้ในกาลทุกเมื่อ แม้ฉันใด

ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงประคองความเพียรไว้ให้มั่นตลอดทุก ภพ ถึงความเป็นวิริยบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้”

เมื่อท่านได้ตั้งความปรารถนาจะสร้างบารมีแล้ว ก็ตั้งปณิธานไว้อย่างแน่วแน่ว่า แม้จะต้อง ตายก็จะไม่ยอมหยุดสร้างบารมีอย่างเด็ดขาดไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะต้องพบกับอุปสรรคขวากหนาม มากมายเพียงใด ก็จะมุ่งหน้าสั่งสมบารมีต่อไป ตราบวันที่บารมีเต็มเปี่ยมได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

วิริยะคืออะไร

               วิริยะ มาจากคำว่า วีระ แปลว่า เพียร, พยายาม, ความกล้าหาญ, ความเข้มแข็ง, ความบาก บั่น, ความอดทน, เดช, กำลัง, อานุภาพ, ปราศจากความครั่นคร้าม

               วิริยะในทางปฏิบัติ หมายถึง ความกล้าที่จะปรับปรุงตัวเอง กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองไป ในทางที่ดีขึ้น กล้าเอาชนะอุปสรรคที่มาขวางกั้นอย่างไม่ย่อท้อ เพียรที่จะปรับปรุงตนเองทั้งเรื่องหยาบและ เรื่องละเอียด เรื่องหยาบ คือ การปรับปรุงแก้ไขนิสัย ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่ไม่ดีต่างๆ ให้ดีขึ้น ส่วนเรื่องละเอียด คือ การเพียรประคับประคองใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดอย่างตลอดต่อเนื่องเป็น ประจำสม่ำเสมอ

             บารมี แปลว่าธรรมอันเลิศ ๑๐ ประการ ที่เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจังชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แล้วก่อให้เกิดบุญที่มีคุณภาพพิเศษที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติดีแล้วบรรลุพระโพธิญาณ

              วิริยบารมี หมายถึง ความกล้าเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ในการเคี่ยวเข็ญฝึกฝนอบรมกาย วาจา ใจ ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์อย่างต่อเนื่องจริงจัง จนกระทั่งเกิดปัญญาที่สามารถนำมากำจัดกิเลสอวิชชา ให้หมดสิ้นไปได้ในที่สุด


ทำไมจึงต้องทำความเพียร

            เมื่อถึงคราวที่นำความรู้จากการบำเพ็ญปัญญาบารมีมาปฏิบัติจริง เราจะพบว่านิสัยหรือ ความประพฤติที่ไม่ดีของเราที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นนั้นยังมีอยู่อีกมาก บางอย่างที่เราได้พยายาม แก้ไขปรับปรุงแล้ว เช่น เคยมักโกรธ เห็นแก่ตัว ขี้อิจฉา ฯลฯ ก็ดีขึ้นมาแล้วโดยลำดับ แต่อีกหลายๆ อย่าง ทั้งที่พยายามแก้ไขแล้วก็ยังไม่หายไป เช่น ความรักสวยรักงาม รักความสะดวกสบายจนเกินเหตุ ง่วงเหงา ซึมเซา ท้อถอย ฟุ้งซ่าน ร่าคาญใจ ฯลฯ เราจึงต้องหาวิธีการที่รัดกุมยิ่งๆ ขึ้นไปมาจัดการแก้ไข แต่สิ่งที่ควร จำไว้ก่อน คือ

๑. เหตุแห่งความประพฤติไม่ดีทั้งหลาย ล้วนเกิดมาจากกิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ในใจเรา

๒. เหตุที่กำจัดกิเลสได้ยาก เพราะ

๒.๑) เรามองไม่เห็นตัวกิเลส อย่างมากก็เพียงแค่เห็นอาการของกิเลส ทำให้ไม่รู้จัก กิเลสดี บางคราวถูกกิเลสโจมตีเอาแล้วก็ยังไม่รู้ตัว

๒.๒) ใจของเราคุ้นเคยกับกิเลสมาก เหมือนเสือคุ้นป่า ปลาคุ้นน้ำ ปลาพอถูกจับพ้นน้ำ แล้วมันจะดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อหาทางกลับลงน้ำให้ได้ คนส่วนใหญ่ก็เหมือนกัน รู้สึกว่าการมีกิเลสเป็นของธรรมดา รักกิเลส พวกขี้เมาติดเหล้าเสียแล้ว ใครก็ ห้ามไม่อยู่ บางคนใครทำอะไรขัดใจหน่อยก็โกรธ พูดจาโผงผางไปแล้วก็ภูมิใจ ภูมิใจในความมีกิเลสของตัวเอง เป็นต้น

๒.๓) เรายังขาดวิธีที่เหมาะสมไปกำจัดกิเลส ตราบใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ บังเกิดขึ้น เราก็ยังไม่รู้วิธีกำจัดกิเลส แม้อาจจะรู้ว่ากิเลสมี แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แก้ไม่ตก และอาจหาทางออกที่ไม่ถูกต้อง เช่น บูชาไฟบ้าง กราบไหว้อ้อนวอน เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์บ้าง

                 พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนวิธีกำจัดกิเลสที่เหมาะสมและได้ผลเด็ดขาดเฉียบพลัน ให้กับเราไว้แล้ว โดยถือหลักว่า “หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง" การที่เราจะขับไล่สิ่งใด เราก็จะต้องทำทุก อย่างที่ฝืนความต้องการของสิ่งนั้น เหมือนการไล่คนออกจากบ้าน เขาอยากได้เงินเราก็ต้องไม่ให้ อยากกินก็ ไม่ให้กิน อยากนอนก็ไม่ให้นอน คือ ต้องฝืนใจเขาจึงจะออก การไล่กิเลสออกจากใจก็เหมือนกัน หลัก ปฏิบัติที่สำคัญ คือ ต้องฝืนความต้องการของกิเลส โดยการทำความเพียรเพื่อทำลายหรือกำจัดกิเลสความ ชั่วร้ายทั้งหลายให้หมดไปจากใจของเรา

ลักษณะของความเพียร

ลักษณะของความเพียร2 มี ๔ ประการ ได้แก่

ประการที่หนึ่ง เพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ความชั่วหรือความไม่ดี ต่างๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนก็จะไม่ทำ หรือนิสัยที่ไม่ดีอันใดที่ไม่เคยมี ก็จะไม่ให้เกิดมีขึ้น

ประการที่สอง เพียรกำจัดบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เพียรแก้ไขนิสัยที่ไม่ดีของตนเองให้หมดสิ้นไปจากกมลสันดาน สิ่งใดที่เป็นความชั่ว เป็นความไม่ดี จะไม่ทำ อีก

ประการที่สาม เพียรสร้างกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น คือ บุญกุศล คุณความดีที่ยังไม่เคย ทำ ก็เพียรพยายามทำให้เกิดขึ้น หรือสร้างนิสัยที่ดีๆ ที่ไม่เคยทำ ให้เกิดมีให้ได้

ประการที่สี่ เพียรสร้างกุศลที่มีอยู่แล้วให้เพิ่มพูน บุญกุศล คุณความดีที่เคยทำมาแล้ว ก็ พยายามทำให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เพิ่มพูนให้ยิ่งๆ ขึ้นไปกว่าเดิม

             กล่าวโดยสรุป ความเพียร คือ การหมั่นพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่จมอยู่กับ นิสัยหรือความคิดเดิมๆ นี้เป็นความเพียรที่ถูกต้อง ซึ่งเรียกว่าความเพียรชอบ (สัมมาวายามะ) และที่ สำคัญต้องเพียรเพื่อให้หลุดพ้นจากทุกข์


เหตุแห่งความเกียจคร้าน

              พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงเหตุที่ทำให้พระภิกษุเกียจคร้าน ไม่ปรารภความเพียร เมื่อ เราได้ศึกษาแล้วอาจนำมาเป็นข้อคิดหรือเปรียบเทียบกับตัวเราเอง เพื่อปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาตนเองให้ ยิ่งๆ ขึ้นไป เหตุที่ภิกษุไม่ปรารภความเพียรมีดังต่อไปนี้

๑. รู้ว่างานมีอยู่ แต่กลัวว่าทำแล้วจะเหนื่อย จึงนอนเสียก่อน คิดว่าควรนอนเอาแรงไว้ ทำงาน เพราะเมื่อทำงานร่างกายจะไม่ได้พัก จึงไม่ปรารภความเพียรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ

๒. งานได้ทำเสร็จแล้ว คิดว่าทำงานมาแล้วเหนื่อยนัก ควรจะนอนพักผ่อน จึงไม่ปรารภ ความเพียร

๓.รู้ว่าทางที่จะต้องไปมีอยู่ คิดว่าขณะเดินทางร่ายกายจะเหนื่อย จึงควรนอนพักเพื่อเอา แรงก่อน ไม่ปรารภความเพียร

๔. ได้เดินทางแล้ว คิดว่าเมื่อเดินทางถึงแล้วร่างกายเหนื่อย ควรพักผ่อนก่อน ไม่ปรารภ ความเพียร

๕. บิณฑบาตไปไม่ได้อาหารมากตามความต้องการ คิดว่าได้อาหารน้อยไม่พอแก่การ บริโภค ทำให้ไม่มีเรี่ยวแรง ถึงทำความเพียรคงไม่ได้ดี อย่ากระนั้นเลย เราควรจะพักผ่อนดีกว่า จึงนอน ไม่ ปรารภความเพียร

๖. บิณฑบาตได้อาหารมาก คิดว่าได้ฉันจนอิ่ม เนื้อตัวหนัก ไม่ควรแก่การงาน ควรรอให้ อาหารย่อยเสียก่อน อย่ากระนั้นเลย เราควรนอนดีกว่า จึงนอน ไม่ปรารภความเพียร

๗. เจ็บป่วยเล็กน้อย คิดว่าพอมีเหตุจะอ้างได้แล้วว่ากลัวโรคจะกำเริบ ควรพักผ่อนก่อนให้ หาย แล้วค่อยทำความเพียร

๘. หายป่วยแล้ว คิดว่าเพิ่งหายจากอาการป่วยไข้ ควรจะพักให้อาการป่วยหายสนิท เสียก่อน เดี๋ยวโรคจะกำเริบ จึงนอน ไม่ปรารภความเพียร


เหตุแห่งความเพียร

              ในทางตรงกันข้าม ภิกษุผู้ปรารภความเพียรอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อย่างไร เกิดขึ้น ก็ต้องปรารภความเพียรทุกครั้งไป เหตุต่างๆ มีนัยตรงกันข้ามดังต่อไปนี้

๑. รู้ว่างานรออยู่ คิดว่าเวลาทำงานจะทำสมาธิหรือทำความเพียรก็ไม่สะดวก ตอนนี้ยังพอ มีเวลา จึงรีบปรารภความเพียรเพื่อเข้าถึงคุณวิเศษที่ตนยังไม่เข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ เพื่อทำ ให้แจ้งธรรมซึ่งตนยังไม่ได้ทำให้แจ้ง

๒. ทำงานเสร็จแล้ว คิดว่าเมื่อตอนขณะทำงาน การทำสมาธิปรารภความเพียรก็ทำได้ไม่ เต็มที่ ตอนนี้เสร็จงานแล้ว จึงรีบปรารภความเพียร

๓.รู้ว่าทางที่จะต้องไปมีอยู่ คิดว่าเวลาเดินทางจะทำสมาธิก็ไม่สะดวก ตอนนี้ยังไม่ได้ เดินทาง ต้องรีบเอาเวลาไปปรารภความเพียร

๔. เดินทางเสร็จแล้ว คิดว่าในขณะที่เดินทางอยู่ไม่ได้ปรารภความเพียร หรือทำความเพียร ได้ไม่สะดวก ตอนนี้เดินทางถึงที่หมายแล้ว ต้องรีบปรารภความเพียร

๕. บิณฑบาตได้อาหารมาน้อย คิดว่าวันนี้ฉันน้อย เนื้อตัวกำลังเบาสบาย เหมาะแก่การทำ ความเพียร จึงรีบปรารภความเพียร

๖. บิณฑบาตได้อาหารมามาก คิดว่าได้ฉันอาหารอิ่มแล้ว กำลังมีเรี่ยวแรง ต้องรีบปรารภ ความเพียร

๗. เจ็บป่วยเล็กน้อย คิดว่าต่อไปอาการป่วยอาจจะหนักขึ้นอีก ต้องรีบฉวยโอกาสที่ยังป่วย น้อยอยู่นี้ปรารภความเพียร

๘. เพิ่งหายป่วย คิดว่าเราเพิ่งหายป่วย โอกาสที่อาการป่วยจะกำเริบยังมีอยู่ ต้องรีบฉวย โอกาสที่หายป่วยแล้วนี้ทำความเพียร จึงรีบปรารภความเพียร

               ทั้งหมดนี้คือเหตุที่ผู้มีความเพียรได้พิจารณาเห็นว่า เมื่อมีโอกาสต้องรีบทำความเพียร ไม่ ว่าจะมีเหตุอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ต้องรีบปรารภความเพียรทั้งสิ้น หมั่นทำใจให้หยุดนิ่งตลอดเวลาทุกอิริยาบถ แต่ก็มีปัญหาอยู่ว่า ในเมื่อเราเองก็รู้ว่า อะไรดี อะไรไม่ดี อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรเป็นบุญ อะไร เป็นบาป แต่ก็มักไม่สามารถทำความดีได้ตลอดทุกครั้งไป นั่นก็เพราะเราขาดความเพียรนั่นเอง ดังนั้น จะมี วิธีการอย่างไรที่จะฝึกให้เกิดความเพียรขึ้นได้

วิธีฝึกให้เกิดความเพียร

๑. พิจารณาถึงความตายอยู่เนืองนิตย์ เพราะชีวิตของเรามีเวลาอยู่ในโลกไม่นานเลย เดี๋ยว ก็วันเดี๋ยวก็คืน วันเวลาผ่านไปเร็วยิ่งนัก การทำความเพียรจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อร่างกายเรายังอยู่เท่านั้น เรา จึงต้องเร่งรีบทำความเพียร อย่าไปท้อแท้ท้อถอย ดังที่คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกายได้สอนไว้ว่า3

“เกิดเป็นคนมันต้องสู้ สู้ด้วยการทำความดี อยู่ที่ไหนก็ตายเหมือนกัน สู้ก็ตาย ไม่สู้ก็ตาย จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ เราต้องสู้ ไม่สบายเมื่อไรแล้วถึงนอน ยายสู้มาตลอดตอนสร้างวัด จนเป็นโรคขาดอาหาร เรายังแข็งแรงอยู่ ต้องสู้ มีอะไรก็ทำไป อย่าขี้เกียจ ไม่ไหวเมื่อไรแล้วถึงนอน"

๒. พิจารณาถึงทุกข์ภัยในอบายภูมิ ๔ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ซึ่ง หากพลาดพลั้งต้องตกไปสู่อบายอย่างนี้ ก็ต้องรับทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสและเป็นเวลายาวนานอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ประมาท ผู้ที่เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน อาจมีโอกาสไปเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ที่ไปสวรรค์มีน้อยเหลือเกิน ผู้ที่ไปนรกหรือเกิดในอบายภูมิมีมากจนมิอาจ ประมาณได้

๓.หมั่นพิจารณาถึงอานิสงส์ของการปรารภความเพียร เพราะผู้ที่มีความเพียรเท่านั้นจึง จะกระทำการงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ผู้ที่มีความเพียรเท่านั้นจึงจะกระทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งได้ ส่วน ผู้ที่เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน ย่อมหาความสำเร็จมิได้เลย

๔. ศึกษาแบบอย่างของผู้ที่ประสบผลสำเร็จในชีวิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่ พระองค์ได้ตั้งความเพียรไว้อย่างเด็ดเดี่ยวที่ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ ในเวลาเย็นแห่งราตรีที่จะตรัสรู้ มีความว่า

“แม้เลือดเนื้อในกายของเราทั้งหมด จักแห้งเหือดหายไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตาม ที่ หากยังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ที่พึงบรรลุด้วยเรี่ยวแรง ด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่นของ บุรุษแล้ว เราจะไม่หยุดความเพียร”4

๕. หมั่นคบหากัลยาณมิตรผู้ปรารภความเพียรอยู่เสมอ เพราะกัลยาณมิตรจะเป็นผู้ให้ กำลังใจ ทำให้เราสามารถทำความเพียรได้ตลอดรอดฝั่ง

อานิสงส์ของการบำเพ็ญวิริยบารมี

               เมื่อเราหมั่นปรารภความเพียรอย่างสม่ำเสมอไม่ขาดแล้ว ผลดีหรืออานิสงส์อันไพบูลย์ย่อม บังเกิดขึ้นมากมาย ดังมีตัวอย่างต่อไปนี้

๑. เป็นผู้มีความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา ไม่เป็นคนเฉื่อยชา เป็นคนไม่เอาแต่ใจตนเอง
๒. ย่อมหวังความสำเร็จได้เสมอ
๓. เป็นผู้ที่ไม่มีวันตกต่ำ มีแต่การพัฒนาตนเองขึ้นไปเรื่อยๆ
๔. แม้มนุษย์ เทวดา มาร พรหม ก็ไม่อาจที่จะติเตียนผู้มีความเพียรได้เลย
๕. เป็นผู้ที่อาจหาญเข้าสู่ที่ชุมชน ไม่เก้อเขิน
๖. กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดก็บังเกิดขึ้น กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญเพิ่มพูน
๗. ปิดประตูอบาย มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
๘. สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย


สรุป

              ฉะนั้น คนเราต้องมีความเพียร เมื่อมีความเพียร ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้ ดังสุภาษิตที่ว่า “ความเพียรพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น" พระโพธิสัตว์จึงมีความเพียรในการสร้างบารมีอย่างไม่ลดละ แม้จะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม ขอเพียงได้สู้อย่างเต็มที่แล้ว ใครๆ ก็ไม่อาจติเตียนท่านได้เลย ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดเกียจคร้าน มีความเพียรเลว พึงเป็นอยู่ตั้งร้อยปี แต่ผู้ปรารภความเพียรมั่นคง มีชีวิตอยู่แค่วันเดียวประเสริฐกว่า”

เชิงอรรถอ้างอิง
1สุเมธกถา, พระสูตรและอรรถกถาแปล, ขุททกนิกาย อปทาน, เล่มที่ ๗๐, หน้า ๕๒.
2ปธานสูตร, พระสูตรและอรรถกถาแปล, อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต, เล่มที่ ๓๕, หน้า ๒๑๙.
3คำสอนของยาย ฉบับรวมเล่มและภาพ, หน้า ๓๒๒.
4คุณของธรรม ๒ อย่าง, พระสูตรและอรรถกถาแปล, อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต, เล่มที่ ๓๓, หน้า ๒๔๗.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018540898958842 Mins