ปัญญา

วันที่ 05 กค. พ.ศ.2564

055r.jpg

ปัญญาบารมี
                ปัญญาบารมี เป็นพุทธการกธรรมประการที่ ๔ ที่พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์จะต้องบำเพ็ญให้บริบูรณ์ จึงจะบรรลุพระโพธิญาณได้ ดังแสดงไว้ใน ขุททกนิกาย อปทาน1 ดังนี้

 

                ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธทารกธรรมทั้งหลาย จะไม่พึงมีเพียงเท่านี้ จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ก็ได้เห็นปัญญาบารมีข้อที่ ๔ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้ปัญญาบารมีให้บริบูรณ์ ท่านอย่าได้เว้นใครๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นต่ำ ชั้นกลาง และชั้นสูง พึงเข้าไปหาบัณฑิตแม้ทั้งหมด ไต่ถามปัญหา เหมือนอย่างว่า ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรไม่ละเว้นตระกูลไรๆ ไม่ว่าจะเป็นตระกูลชั้นต่ำเป็นต้น เที่ยวไปบิณฑบาตตามลำดับ ได้อาหารพอยังชีพโดยพลัน ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้น เข้าไปหาบัณฑิตทั้งปวง ไต่ถามปัญหา จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานปัญญาบารมีข้อที่ ๔ กระทำให้มั่นแล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า

                 “ก็พุทธธรรมเหล่านี้จักไม่มีเพียงเท่านี้ เราจักเฟ้นหาธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ

                 เราเมื่อค้นหาอยู่ในคราวนั้น ก็ได้เห็นปัญญาบารมีข้อที่ ๔ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่ก่อนๆ ถือปฏิบัติเป็นประจำ

                 ท่านจงสมาทานปัญญาบารมีข้อที่ ๔ นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นปัญญาบารมี ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ

                ภิกษุเมื่อขออยู่ ไม่เว้นตระกูลต่ำ สูง และปานกลาง ย่อมได้อาหารเป็นเครื่องยังชีพ ด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด

                ท่านเมื่อไต่ถามชนผู้รู้อยู่ตลอดกาลทั้งปวง ถึงความเป็นปัญญาบารมี จักได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน"

 

                 การสร้างสมปัญญาบารมีของพระโพธิสัตว์นั้นกระทำโดยการท่องเที่ยวแสวงหาครูบาอาจารย์ที่เป็นทั้งบัณฑิต นักปราชญ์ และผู้รู้ทั้งหลาย ที่จะสามารถแนะนำหนทางแก่พระองค์ได้ โดยไม่เลือกว่าเขาจะมีศักดิ์ศรีสูงหรือต่ำกว่า เมื่อต้องการความรู้ ก็กราบเป็นอาจารย์ได้ทุกคน ไม่รังเกียจเลย ท่านกระทำเช่นนี้มาเป็นระยะเวลายาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วน นี่คือลักษณะการสร้างบารมีของท่าน

 

ปัญญาคืออะไร
 

                ปัญญา แปลว่า ความรู้ ความรู้ทั่ว ความรู้ข้างหน้า ความรู้ก่อน ความรู้ออก ความรู้ยิ่ง ความรู้ชัด

 

                บารมี แปลว่าธรรมอันเลิศ ๑๐ ประการ ที่เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจังชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้ว ก่อให้เกิดบุญที่มีคุณภาพพิเศษที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติดีแล้วบรรลุพระโพธิญาณ

 

                ปัญญาบารมี หมายถึง การเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อการได้มาซึ่งปัญญาอันยิ่ง(อธิปัญญา) ที่จะเป็นเหตุให้หลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการของชีวิตอย่างแท้จริง

 

                เมื่อกล่าวถึงปัญญาโดยภาพกว้างๆ แล้ว เราสามารถแบ่งปัญญาออกเป็น ๒ ระดับ ได้แก่ ปัญญาทางโลกและปัญญาทางธรรม

ปัญญาทางโลก หรือความรู้ที่เป็นศาสตร์ในทางโลกทั้งหมด

ปัญญาทางธรรม หรือความรู้ในทางธรรม เป็นความรู้ที่เป็นไปเพื่อการสร้างความดี เพื่อให้เกิดบุญกุศล เพื่อการบำเพ็ญบารมี อันจะน่าไปสู่เป้าหมายสูงสุดของการเกิด นั่นคือการหลุดพ้นจากกองทุกข์ บรรลุมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด

 

ประเภทของปัญญา2

ปัญญาแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่

๑. สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง การอ่าน ปัญญาชนิดนี้เป็นปัญญาที่เกิดได้ด้วยการจำเท่านั้น เรียกง่ายๆ ว่า “รู้จำ”

๒. จินตามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการคิด การพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุผล เกิดจากประสบการณ์ กระทำจนชำนาญ อย่างนี้เรียกว่า “รู้จริง”

๓. ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการภาวนา อบรมจิตจนกระทั่งมีความสามารถมองเห็นทุกสิ่งไปตามความเป็นจริง สามารถที่จะกำจัดกิเลสและบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ อย่างนี้เรียกว่า “รู้แจ้ง”

 

                  ปัญญาทั้งสามระดับนี้ บัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญภาวนามยปัญญาว่าประเสริฐสุด เพราะสามารถนำผู้กระทำให้เจริญ นั้นจากห้วงทุกข์แห่งวัฏสงสารได้ แต่ถึงกระนั้นการแสวงหาปัญญาในแต่ละระดับก็มีความจำเป็นทั้งสิ้น การที่เราศึกษาหาความรู้จากการอ่าน การเรียน การได้ยินได้ฟังก็เป็นการเพิ่มพูนวิสัยทัศน์ ในการมองโลกให้กว้างมากขึ้น และยังเป็นพื้นฐานให้เกิด โยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยแยบคายอีกด้วย

 

วิธีการสร้างปัญญาบารมี3

๑. หมั่นเข้าไปหากัลยาณมิตร (หาครูดี) เข้าหาครูบาอาจารย์ ผู้ที่มีความรู้ มีความชำนาญในเรื่องนั้นๆ โดยเริ่มจากการสนทนา แลกเปลี่ยนความรู้ จนกระทั่งเข้าไปรับใช้อุปัฏฐาก ยิ่งมีความใกล้ชิดการถ่ายทอดความรู้ก็จะมีมากขึ้น กัลยาณมิตรในที่นี้อาจมิใช่คนเพียงอย่างเดียว สิ่งใดที่สามารถให้ความรู้แก่เราได้ สิ่งนั้นก็เป็นกัลยาณมิตรเช่นกัน เช่น หนังสือ สื่อการศึกษา เป็นต้น

๒. ตั้งใจฟังคำสั่งสอนของท่าน (ฟังคำครู) เมื่อเข้าไปหาแล้วต้องศึกษาด้วยความเคารพกำหนดจดจำคำที่ท่านสอน ซักถามข้อสงสัยต่างๆ สิ่งที่เราต้องการรู้ มีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาอยู่ตลอด ไม่เป็นคนเฉื่อยชา

๓. ตริตรองพิจารณาคำสั่งสอนของท่านโดยแยบคาย (ตรองคำครู) หมั่นพิจารณาไตร่ตรองถึงความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาด้วยปัญญา ให้รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร เป็นต้น ไม่ปล่อยผ่านแม้เรื่องเล็กน้อย พิจารณาให้ได้ทุกแง่มุม ทุกนัยยะที่สัมพันธ์กัน ไม่คิตโต้แย้ง ไม่ดูหมิ่นหัวข้อธรรม ไม่ดูหมิ่นผู้ที่ให้ความรู้แก่ตน

๔. นำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติ (ทำตามครู) เมื่อได้พิจารณาคำสั่งสอนของท่านโดยแยบคายแล้ว ต้องนำไปปฏิบัติให้สมควรแก่ตน แก่ฐานะ แก่หน้าที่ แก่เพศ แก่วัย หรือตามที่ตนได้ตรองเห็นแล้วเพื่อให้เกิดความชำนาญ เพราะการนำเอาความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติจะทำให้เรายิ่งแตกฉาน เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนที่สุด

 

                   อีกประการหนึ่ง การเพิ่มพูนปัญญาบารมีนั้น สามารถทำได้โดยผ่านการทำงาน งานใดก็ตามที่เราให้ความสำคัญเอาใจใส่ หมั่นพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น ยิ่งงานใดที่ไม่เคยทำมาก่อน เราต้องค้นคว้าศึกษา ทำความเข้าใจก็จะยิ่งพัฒนาฝีมือ เพิ่มพูนปัญญาบารมีของเราไปด้วย

 

                   ที่สุดแห่งการได้มาซึ่งปัญญา คือ การปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมจะทำให้ใจสงบเกิดความสว่างขึ้นในใจ ความรู้เกิดขึ้นได้จากการเห็น ยิ่งสว่างยิ่งเห็นได้ชัดเจน ความรู้ยิ่งเกิดมากขึ้น หากสามารถปฏิบัติจนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายภายในได้ จะยิ่งสามารถมองเห็นความเป็นจริงได้มากขึ้น ยิ่งมองเห็นมากขึ้นเท่าไร ปัญญาก็จะเกิดมากขึ้นเท่านั้น

 

คุณสมบัติของพหูสูตหรือนักศึกษาที่ดี

๑. พหุสสุตา (อ่านมาก ฟังมาก) คือ มีนิสัยชอบฟัง ชอบอ่าน ชอบค้นคว้า ยึดหลักที่ว่า “เรียนจากครู ดูจากตำรับ สดับปาฐะ”

๒. ธตา (จำแม่น) คือ มีความจำดี รู้จักจับสาระสำคัญ จับหลักให้ได้ แล้วจำได้แม่นยำ คนที่ความจำไม่ดีเพราะภพในอดีตชอบพูดปด ดื่มสุรามาก ฯลฯ ดังนั้น ถ้าในชาตินี้เลิกดื่มสุรา เลิกพูดปดและพยายามท่องบ่อยๆ หมั่นจดหมั่นเขียนบ่อยๆ ไม่ช้าก็จะเป็นผู้มีความจำดี

๓. วจสา ปริจิตา (คล่องปาก) คือ ต้องฝึกท่องให้คล่องปาก ไม่ต้องพลิกตำรา โดยเฉพาะพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความจริงแท้แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง ควรท่องไว้ให้ขึ้นใจทุกข้อกระทงความให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่วนวิชาการทางโลกยังมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เพราะยังไม่มีใครรู้จริง จึงควรท่องเฉพาะที่สำคัญและหมั่นคิดหาเหตุผลด้วย

๔. มนสานุเปกขิตา (ขึ้นใจ) คือ ใส่ใจนึกคิดตรึกตรอง สาวเหตุสาวผลให้เข้าใจตลอดพิจารณาให้เจนจบ นึกถึงครั้งใดก็เข้าใจปรุโปร่งหมด

๕. ทิฏฐิยา สุปฏิวิทธา แทงตลอดด้วยปัญญา คือ เข้าใจแจ่มแจ้ง ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ความรู้กับใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คุณสมบัติข้อนี้จะเกิดเต็มที่ได้ ต้องฝึกสมาธิอย่างจริงจังจนเกิดปัญญาสว่างไสว รู้เห็นสิ่งต่างๆ ไปตามความเป็นจริง


                     การฟังธรรมจะทำให้เกิดความดีที่เป็นทุนหรือเป็นพื้นอยู่ในใจเรา แล้วเป็นเครื่องอุดหนุนให้เรามีความเจริญรุ่งเรือง และเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ผู้ที่หมั่นฟังธรรมแล้วพยายามศึกษาทำความเข้าใจ ถึงไม่เข้าใจก็พยายามจำ จะได้รับอานิสงส์ ๔ ประการ คือ

๑. เมื่อละจากโลกนี้ไป ย่อมเกิดในเทวโลก มีปัญญารู้ธรรมได้รวดเร็ว สามารถระลึกถึงธรรมได้ด้วยตนเองและปฏิบัติตามธรรมนั้น บรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็ว

๒. เมื่อละจากโลกนี้ไป ย่อมเกิดในเทวโลก เมื่อมีภิกษุผู้มีฤทธิ์ขึ้นไปแสดงธรรม ก็จะระลึกถึงธรรมได้ และบรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็ว

๓.เมื่อละจากโลกนี้ไป ย่อมเกิดในเทวโลก แม้ไม่มีภิกษุผู้มีฤทธิ์ขึ้นไปแสดงธรรม แต่เมื่อได้ฟังเทพบุตรแสดงธรรมก็จะระลึกถึงธรรมได้ และบรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็ว

๔. เมื่อละจากโลกนี้ไป ย่อมเกิดในเทวโลก แม้ไม่มีภิกษุผู้มีฤทธิ์หรือเทพบุตรมาแสดงธรรม แต่เมื่อได้ยินคำตักเตือนจากเพื่อนเทพบุตรด้วยกันก็สามารถระลึกถึงธรรมได้ และบรรลุมรรคผล นิพพานได้เร็ว


นอกจากนี้ ยังมีอานิสงส์ของการฟังธรรมอีก ๕ ประการ คือ

๑.เป็นการเพิ่มพูนความรู้ใหม่ เพราะผู้แสดงธรรมย่อมจะศึกษาค้นคว้าขบคิด นำข้อธรรมะต่างๆ มาแสดง ทำให้เราได้ยินได้ฟังธรรมะที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน

๒. เป็นการทบทวนความรู้เดิม คือ ถ้าหัวข้อธรรมที่ผู้แสดงนำมาแสดงนั้น ตรงกับสิ่งที่เราเคยศึกษามาแล้ว ก็จะทำให้เราได้ทบทวนความรู้เดิมให้เกิดความเข้าใจแตกฉาน และสามารถจดจำได้แม่นยำยิ่งขึ้น

๓. เป็นการปลดเปลื้องความสงสัยเสียได้ คือ ถ้าผู้ฟังยังมีความลังเลสงสัยในการละความชั่วบางอย่าง หรือการทำความดีบางอย่าง เมื่อได้ฟังธรรมะเพิ่มเติมแล้ว จะทำให้ความลังเลสงสัยนั้นหมดไปตัดสินใจละความชั่ว ทำความดีง่ายขึ้น

๔. เป็นการปรับความเห็นให้ตรง คือ ในระหว่างการดำเนินชีวิตสู่จุดหมายของคนเรานั้นเราจะถูกมาร คือ กิเลสและสิ่งแวดล้อมไม่ดีต่างๆ ทำให้มีความเห็นผิดๆ เกิดขึ้นได้ แล้วทำให้การดำเนินชีวิตวกวนเฉไฉผิดเป้าหมายไป การฟังธรรมจะช่วยให้เราเกิดความสำนึกตัวว่า ความคิดเห็นของเราได้บิดเบือนไปอย่างไร แล้วจะได้เลิกความเห็นที่ผิดเสีย ประคองความเห็นที่ถูกไว้

๕. เป็นการฝึกอบรมจิตใจให้สูงขึ้น เพราะการฟังธรรมจะเป็นเครื่องเตือนสติเรา ทำให้ใจของเราเลิกละจากความคิดฟุ้งซ่านในเรื่องกาม ความคิดพยาบาทอาฆาต ความคิดเบียดเบียนผู้อื่น และสอดส่องชี้ให้เราเห็นถึงจุดอ่อน ข้อบกพร่องในตัว ซึ่งจะต้องปรับปรุงแก้ไข ยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้นๆจนกระทั่งสามารถขจัดข้อบกพร่องได้เด็ดขาด บรรลุมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด

 

อานิสงส์ของการบำเพ็ญปัญญาบารมี

               เมื่อเราได้แสวงหาปัญญาอย่างเต็มที่เต็มความสามารถ ย่อมมีอานิสงส์ มีผลดีของการได้มาซึ่งปัญญาดังต่อไปนี้
๑. เป็นที่พึ่งของตนเอง รู้เท่าทันทุกอย่างตามเหตุตามผลที่เกิดขึ้น สามารถที่จะแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี
๒. ทำให้ได้ความเป็นผู้นำ เป็นที่พึ่ง กำจัดความสงสัยให้แก่ผู้อื่นได้
๓. ทำให้แกล้วกล้าองอาจในที่ทุกสถาน ไม่เก้อเขินในที่ประชุมชน
๔. ทำให้บริบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
๕. ทำให้ได้รับคำชมเชย ได้รับการยกย่องเกรงใจ ไม่มีใครดูหมิ่นได้
๖. เป็นพื้นฐานในการสร้างบารมีอื่นได้อย่างดีเยี่ยม
๗. ไม่มีใครแย่งชิงได้ เป็นสหชาติปัญญาติดตัวข้ามภพข้ามชาติ
๘. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย


เชิงอรรถอ้างอิง
1สุเมธกถา, พระสูตรและอรรถกถาแปล, ขุททกนิกาย อปทาน เล่มที่ ๗๐, หน้า ๕๑.
2สังคีติสูตร, พระสูตรและอรรถกถาแปล, ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค, เล่มที่ ๑๖, หน้า ๗๓.
3สังคีติสูตร, พระสูตรและอรรถกถาแปล, ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค, เล่มที่ ๑๖, หน้า ๑๘๗.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012809991836548 Mins