เนกขัมมบารมี
เนกขัมมบารมี คือ การออกบวช เป็นบารมีอันดับที่ ๓ ที่สุเมธดาบสบรมโพธิสัตว์ได้ตรวจดูด้วยญาณทัสสนะเป็นทิพย์ พบว่าไม่เพียงเเต่ความตระหนี่ ความหยาบคาย ความดุร้ายเท่านั้นที่เป็นเครื่องขัดขวางหนทางการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ยังมีอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นคือ ความอาลัยในกาม ความผูกพันในกาม การที่จะบรรลุพระโพธิญาณได้นั้นต้องหลีกออกจากกามให้ได้
เนกขัมมบารมี เป็นพุทธการกธรรมประการที่ ๓ ที่พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์จะต้องบำเพ็ญให้บริบูรณ์ จึงจะถึงฝั่งแห่งพระโพธิญาณ คือ การตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ดังแสดงไว้ใน ขุททกนิกาย อปทาน1 ดังนี้
ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลายจะไม่พึงมีประมาณเท่านี้เลยจึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ก็ได้เห็นเนกขัมมบารมีข้อที่ ๓ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิตจำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้เนกขัมมบารมีให้บริบูรณ์ เหมือนอย่างว่าบุรุษผู้อยู่ในเรือนจำมาเป็นเวลานาน มิได้มีความรักใคร่ในเรือนจำนั้นเลย โดยที่แท้รำคาญอย่างเดียว ไม่อยากอยู่ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงทำภพทั้งปวงให้เป็นเช่นกับเรือนจำ รำคาญ อยากจะพ้นไปจากภพทั้งปวง มุ่งหน้าต่อ เนกขัมมะ คือ การออกจากกามเท่านั้น ท่านจักได้เป็นพระพุทธเจ้าด้วยอาการอย่างนี้ แล้วได้อธิษฐาน เนกขัมมบารมีข้อที่ ๓ กระทำให้มั่นแล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
“ความจริง พุทธธรรมเหล่านี้จักไม่มีเพียงเท่านี้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ
คราวนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นเนกขัมมบารมีข้อที่ ๓ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่ในก่อนถือปฏิบัติเป็นประจำแล้ว
ท่านจงสมาทานเนกขัมมบารมีข้อที่ ๓ นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นเนกขัมมบารมี หากท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ
บุรุษอยู่มานานในเรือนจำ ลำบากเพราะความทุกข์ มิได้ทำความยินดีให้เกิดในเรือนจำนั้น แสวงหาความพ้นออกไปอย่างเดียว ฉันใด
ท่านจงเห็นภพทั้งปวงเหมือนเรือนจำ เป็นผู้มุ่งหน้าออกบวชเพื่อพ้นจากภพนั้นเถิด”
คุกมี ๒ ประเภท คือ คุกทางกายอย่างหนึ่ง คุกทางใจอย่างหนึ่ง คุกทางกาย คือ เรือนจำที่ใช้สำหรับกักขัง ลงโทษผู้กระทำความผิด คุกนี้มักมองกันออกว่าเป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว เป็นสิ่งที่พึ่งหลีกเลี่ยงให้ไกล เพราะน่ามาซึ่งความทุกข์แสนสาหัส บางคนถึงกับยอมตายแต่ไม่ยอมติดคุกก็มี
ส่วนคุกประเภทที่ ๒ คือ คุกทางใจ คนทั่วไปมักมองไม่ออกว่าเป็นคุกได้อย่างไร แม้บางคนมองออก แต่ไม่แน่ว่าจะหาวิธีที่จะหลุดพ้นออกไปหรือไม่ ยิ่งผู้ที่ไม่รู้ยิ่งน่ากลัว ทรัพย์สมบัติที่มีก็ต้องคอยเฝ้ารักษา สามีภรรยาหรือลูกหลานของตนก็เป็นเหมือนเครื่องพันธนาการ ที่คอยมัดมือ มัดเท้า มัดคอให้ดิ้นไม่หลุต เป็นเครื่องผูกมัดที่หย่อนๆ แต่แก้ยากอย่างยิ่ง จะไปไหนมาไหนก็เป็นห่วง อย่างนี้ที่เรียกว่า เป็นคุกทางใจ
ฉะนั้น หากจะสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป สร้างความปลอดภัยให้แก่ชีวิต ก็ต้องพาตนให้พ้นออกไปจากคุกด้วยการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี เพราะเนกขัมมบารมีนี้แหละจะแก้นิสัยที่หลงติดอยู่ในกามไม่ให้เราต้องตกไปเป็นทาสของกาม และรอดพ้นจากการบีบบังคับของกามได้
เนกขัมมะคืออะไร
เนกขัมมะ แปลว่า การออก การก้าวออก การออกจากกาม การออกบวช นอกจากนี้ยังหมายถึง ปฐมฌาน อรหัตตผล วิปัสสนา นิพพาน และกุศลธรรมความดีทั้งปวง ความหมายที่สำคัญ คือ การออกบวชประพฤติพรหมจรรย์เพื่อหลีกออกจากกาม
บารมี แปลว่าธรรมอันเลิศ ๑๐ ประการ ที่เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจังชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้ว ก่อให้เกิดบุญที่มีคุณภาพพิเศษที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติดีแล้วบรรลุพระโพธิญาณ
เนกขัมมบารมี หมายถึง การแสวงหาหนทางหลุดพ้น ด้วยการออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
ความมุ่งหวังของเนกขัมมะ คือ การพรากใจออกจากกาม ให้หลุดพ้นจากอำนาจการบีบบังคับของกาม โดยตัดโลกียวิสัย ตัดเยื่อใยทุกๆ อย่าง เพื่อมุ่งหน้าสู่โลกุตตรภูมิ ซึ่งอย่างแรกที่ต้องทำก่อนคือ การปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ เพื่อตัดกามารมณ์ รูปารมณ์ และอรูปารมณ์ไปตามลาดับ สำหรับปุถุชนทั่วๆ ไป สิ่งสำคัญที่เหนี่ยวรั้งจิตไม่ให้ก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม และทำให้กิเลสฟูกลับขึ้นมาได้ง่ายที่สุดก็คือ กามารมณ์ ผู้ที่สามารถตัดกามารมณ์ได้ ก็มีโอกาสก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมได้อย่างรวดเร็ว สามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตได้
แรงจูงใจและเป้าหมายในการบวช2
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ฆราวาสเป็นทางคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง” หมายความว่า การครองชีวิตเป็นฆราวาสนั้น ย่อมมีโอกาสปฏิบัติกุศลธรรมได้น้อยกว่า การเป็นนักบวช ทั้งนี้เพราะการเป็นฆราวาสต้องเสียเวลาไปกับการทำมาหากิน มีโอกาสในการทำความดีน้อย แต่ชีวิตของนักบวชมีโอกาสมากกว่า เพราะมีทั้งเวลาและไม่ต้องกังวลกับการหาปัจจัย ๔ มากนัก
จึงอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้กุลบุตรตัดสินใจออกบวชในพระพุทธศาสนา มีอยู่ด้วยกัน ๓ ประการ คือ
(๑) มีศรัทธาในพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
(๒) มีปัญญาตรองเห็นโทษภัยในชีวิตฆราวาสว่า ทั้งคับแคบและเป็นทางมาของกิเลส
(๓) มีปัญญาตรองเห็นคุณของชีวิตนักบวชว่า มีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ได้เต็มที่
เมื่อบวชแล้ว ก็มุ่งตรงต่อเป้าหมายของการบวชได้อย่างเต็มที่ โดย
(๓.๓) พยายามละบาปอกุศลทั้งปวง หรือบวชเพื่อละกามนั่นเอง
(๓.๒) ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ และสั่งสมบุญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
ประเภทของกาม
กาม มี ๒ อย่าง คือ กิเลสกามอย่างหนึ่ง วัตถุกามอย่างหนึ่ง
๑. กิเลสกาม คือ กิเลสที่ทำให้ใคร่ ความอยากที่เป็นตัวกิเลส
๒. วัตถุกาม คือ วัตถุอันน่าใคร่ สิ่งที่น่าปรารถนา ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
กามนั้นมีโทษมากแต่มีคุณน้อย ที่มีคุณเพราะนำมาซึ่งความสุข แต่เป็นสุขเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับโทษที่จะได้รับจากกามซึ่งมากมายนัก เพราะกามนี่เองที่ทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายต้องทนทุกข์ทรมาน ต้องทำความชั่ว เพราะมีกามเป็นเหตุ ต้องประสบทุกข์ภัยนานัปการ เพราะมีกามเป็นที่ตั้ง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสอุปมาโทษของกามไว้หลายประการ เช่น กามเปรียบเหมือนท่อนกระดูก (เพราะมีความน่ายินดีน้อย), เหมือนชิ้นเนื้อ (เพราะเป็นของสาธารณะ), เหมือนคบเพลิง (เพราะตามเผาลนให้ทุกข์), เหมือนหลุมถ่านเพลิง (เพราะทำให้เร่าร้อน), เหมือนความฝัน (เพราะปรากฏเพียงครู่หนึ่ง ไม่ใช่ของจริงจัง) เป็นต้น
วิธีหลีกออกจากกาม
๑. พิจารณาให้เห็นโทษของกาม กามนั้นมีโทษมากแต่มีคุณน้อย แม้ว่าจะมองไม่เห็นอย่างชัดเจนก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาอยู่เนืองๆ พิจารณาอยู่เป็นประจำ ความอยากออกจากกามก็จะเพิ่มพูนขึ้นและติดเป็นนิสัยในที่สุด
๒. สำรวมอินทรีย์ คือ การสำรวมระวังตนโดยอาศัยสติเป็นตัวกำกับ ป้องกันระวังไม่ให้บาปอกุศลเกิดขึ้น ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงธรรมชาติของอายตนะทั้ง ๖ ดังกล่าว โดยทรงอุปมาไว้ดังนี้
(๑) ตาคนเรานี้เหมือนงู งไม่ชอบที่เรียบๆ แต่ชอบที่ที่ลึกลับซับซ้อน ตาคนเราก็เหมือนกัน ไม่ชอบดูอะไรเรียบๆ ชอบดูสิ่งที่มีลวดลายวิจิตรสวยงาม ยิ่งสิ่งที่เขาปกปิดไว้ยิ่งชอบดู แต่อะไรที่เปิดเผยออกแล้ว ไม่ลับแล้ว ความอยากดูกลับลดลง
(๒) หูคนเรานี้เหมือนจระเข้ คือ ชอบที่เย็นๆ อยากฟังคำพูดเย็นๆ ที่เขาชมตัว หรือคำพูดเพราะๆ ที่เขาพูดกับเรา
(๓) จมูกคนเรานี้เหมือนนก คือ ชอบโผขึ้นไปในอากาศ พอได้กลิ่นอะไรถูกใจก็มักจะตามดมว่ามาจากไหน
(๔) ลิ้นคนเรานี้เหมือนสุนัขบ้าน คือ ชอบลิ้มรสอาหาร ชอบกินของอร่อยๆ
(๕) กายคนเรานี้เหมือนสุนัขจิ้งจอก คือ ชอบที่อุ่นๆ ที่นุ่มๆ ชอบสัมผัสที่นุ่มนวล
(๖) ใจคนเรานี้เหมือนลิง คือ ชอบซน คิดโน่นคิดนี่ไม่หยุด บ้างก็คิดถึงอดีต บ้างก็คิดถึงอนาคต ไม่ยอมอยู่นิ่ง ไม่ยอมสงบ
สำรวมอินทรีย์ที่ว่านี้ก็คือ สำรวมระวังตัว ระวังช่องทางทั้ง ๖ นี้ โดยใช้สติเข้าช่วยกำกับสิ่งใดที่ดูแล้วทำให้บาปอกุศลเกิดขึ้น ก็ไม่ควรดู สิ่งใดไม่ควรฟังก็อย่าไปฟัง สิ่งใดไม่ควรดมก็อย่าไปดมสิ่งใดไม่ควรลิ้มรสก็อย่าไปลิ้มรส สิ่งใดที่ไม่ควรสัมผัสก็อย่าไปสัมผัส สิ่งใดไม่ควรคิดก็อย่าไปคิดการสำรวมอินทรีย์นี้แหละจะช่วยให้เราไม่หลงติดอยู่ในกามได้
๓. สละสิ่งของที่เกินความจำเป็น โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เป็นเครื่องเพิ่มพูนความหล่อความสวยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ เครื่องสำอาง เป็นต้น
๔. รู้จักประมาณในการบริโภค เพราะการบริโภคมากเกินไป อาหารที่เป็นส่วนเกินความจำเป็นของร่างกายจะถูกใช้ไปเพื่อกระตุ้นกามให้กำเริบ การประมาณในการบริโภคนี้มีวิธีการ คือ อีก ๔-๕ คำจะอิ่ม ให้ดื่มน้ำตาม เท่านี้ก็เพียงพอสำหรับความเป็นอยู่อย่างสบาย เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และการบำเพ็ญเพียรแล้ว
๕. ลดละเลิกสิ่งบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ ที่ทำให้ใจเกาะเกี่ยวอยู่ในกาม
๖. รักษาศีล ๕ ให้มั่นคง และรักษาศีล ๘ ในโอกาสที่สำคัญต่างๆ เช่น วันพระ, วันเกิด, วันหนึ่งในรอบสัปดาห์ เช่น วันอาทิตย์ เป็นต้น หรือหากสามารถทำได้ ให้รักษาศีล ๘ ไปตลอดชีวิต เพราะศีล ๘ นี่แหละ จะเป็นเครื่องส่งเสริมให้บำเพ็ญเนกขัมมบารมีได้อย่างเต็มที่
๗. หมั่นคบหากัลยาณมิตรผู้รักในการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี เพราะกัลยาณมิตรจะคอยชี้แนะหนทางการปฏิบัติ และคอยเป็นกำลังใจให้เราบำเพ็ญเนกขัมมะได้อย่างเต็มที่
๘. หาโอกาสในการบวช สำหรับผู้มีโอกาส หากสามารถที่จะบวชได้ตลอด นั่นเป็นการดีอย่างยิ่ง แต่หากไม่สามารถทำได้ด้วยภารกิจยังผูกพันอยู่ ก็ควรบวชสักระยะหนึ่ง เพราะนอกจากจะมีโอกาสได้ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังเป็นการสร้างอุปนิสัยแห่งเนกขัมมะให้ติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ และเมื่อสิกขาลาเพศแล้ว ยังเป็นกำลังช่วยสนับสนุนพระพุทธศาสนาอีกด้วย
๙. การประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นข้อที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยตั้งใจทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา โดยเฉพาะการเจริญภาวนานั้น เป็นการทำให้ใจสงบ ยิ่งใจสงบเป็นสมาธิมากเท่าไร ยิ่งสงัดจากกามมากเท่านั้น
อานิสงส์ของการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี
๑.ทำให้ใจปลอดโปร่ง ไม่ต้องกังวลใจหรือระแวงภัยแต่ที่ไหน เพราะมีชีวิตอยู่ด้วยการไม่เบียดเบียนผู้อื่น
๒. มีเวลามาก สามารถทำความดีได้อย่างเต็มที่
๓. มีอิสระเหมือนนกน้อยในอากาศที่มีเพียงหางและปีกเป็นภาระ ไปไหนมาไหนได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องห่วงกังวลถึงทรัพย์สมบัติ ญาติพี่น้อง ครอบครัว
๔. ทำให้เป็นที่สรรเสริญของบัณฑิตทั้งหลาย เป็นที่คบหาของคนดี
๕. ทำให้ศีล สมาธิ ปัญญา เจริญรุดหน้าได้อย่างรวดเร็ว และไม่ถอยกลับ
๖. ทำให้สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย
สรุป
พระโพธิสัตว์และนักสร้างบารมีทั้งหลายในกาลก่อน เมื่อปรารภเหตุในการออกบวชแล้วก็มิได้ย้อนกลับมายินดีในกามอีกเลย และยังเห็นกามเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสอีกด้วย นี่คือแบบอย่างของนักสร้างบารมีทั้งหลาย หากเราปรารถนาที่จะเป็นอย่างท่าน ก็ต้องทำอย่างท่าน คือ พยายามดึงทั้งกายและใจหลีกออกจากกามให้ได้ เพราะถ้าหากใจยังไม่ออกจากกามเสียแล้ว เรื่องการบรรลุธรรมเข้าสู่พระนิพพาน
นั้นก็จะเป็นไปได้ยากยิ่ง
เชิงอรรถอ้างอิง
1สุเมธกถา, พระสูตรและอรรถกถาแปล, ขุททกนิกาย อปทาน เล่มที่ ๗๐, หน้า ๕๑.
2พระแท้ (พิมพ์ครั้งที่ ๓) พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว), หน้า ๕-๖.