อธิษฐานบารมี

วันที่ 09 กค. พ.ศ.2564

9-7-64-1-b.jpg

อธิษฐานบารมี

                บารมีอันดับต่อมาที่สุเมธดาบสบรมโพธิสัตว์ได้ตรวจดูด้วยญาณทัสสนะอันเป็นทิพย์ ก็พบว่า อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งที่เป็นเครื่องขัดขวางการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ นั่นคือการลดเป้าหมายที่จะสร้างความดี

                คนปกติทั่วไปเมื่อต้องกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว แรกๆ ก็มักตั้งเป้าหมายเอาไว้สูง แต่พอพบอุปสรรค เป้าหมายที่เคยตั้งเอาไว้ก็มักจะลดลง เช่น เบื้องต้นในการสร้างบารมี ผู้มีใจใหญ่ก็ตั้งความปรารถนาจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่ง ต่อมาเมื่อพบอุปสรรคหนักหนาสาหัสมากเข้า ก็เกิดความท้อถอย เปลี่ยนใจ เป้าหมายเปลี่ยนแปลง จากที่เคยตั้งใจจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็กลายเป็นว่าขอสร้างบารมีเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแทน ต่อมาที่ตั้งใจจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ลดลงเหลือเพียงเป็นพระอัครสาวก ลดลงเหลือเป็นพระอสีติมหาสาวก ที่สุดก็ลดลงเหลือเป็นพระอรหันต์ธรรมดา เป้าหมายการสร้างบารมีลดลงอย่างนี้

                  หรือแม้ในปัจจุบันก็เช่นกัน แรกๆ เมื่อเริ่มสร้างบารมีก็ตั้งใจไว้ว่าจะสร้างบารมีไปตลอดรอดฝั่ง ตั้งใจจะไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม ตั้งใจจะเป็นกัลยาณมิตรให้กับทุกคน แต่เมื่อพบปัญหาอุปสรรคต่างๆ ความตั้งใจเดิมก็เริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยคิดว่าจะสร้างบารมีให้ได้ตลอดชีวิต ก็อาจคิดเป็นว่าสร้างบารมีแค่นี้ก็พอแล้วสำหรับชาตินี้ ที่เหลือเอาไว้ทำต่อชาติหน้า หรือจากที่เคยตั้งใจไว้ว่าจะปฏิบัติธรรมทุกวันสม่ำเสมอ พอนานเข้าอาจจะมีภารกิจหน้าที่การงานมากขึ้น ก็คิดว่า ๒-๓ วันนั่งสมาธิครั้งหนึ่งก็พอแล้ว หรือนั่งสัปดาห์ละครั้งก็มากแล้ว เป็นต้น

                 นี่คือปัญหาที่คนทั่วไปประสบกัน แต่สำหรับพระโพธิสัตว์แล้ว เมื่อท่านตั้งเป้าหมายไว้แล้ว จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการลดเป้าหมายอย่างเด็ดขาด เมื่อตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ได้ ก็ต้องทำให้ได้ ตั้งหลักฐานที่แสดงไว้ใน ขุททกนิกาย อปทาน ดังนี้1

                 ลำดับนั้น สุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลาย จะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ก็ได้เห็นอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านจงบำเพ็ญแม้อธิษฐานบารมีให้บริบูรณ์ ท่านจึงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานที่ได้อธิษฐานไว้ เหมือนอย่างว่า ธรรมดาภูเขาถูกลมพัดในทิศทั้งปวง ไม่หวั่นไหว ไม่เขยื้อน คงตั้งอยู่ในที่ของตน ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่หวั่นไหวในการอธิษฐาน คือ การตั้งใจมั่นของตน จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานซึ่งอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ กระทำให้มั่นแล้ว ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า

“ก็พุทธธรรมทั้งหลายจักไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้น
ธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ

ในคราวนั้นเราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ ที่ท่าน
ผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อนถือปฏิบัติเป็นประจำ

ท่านจงสมาทานอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ นี้ กระทำให้มั่นก่อน ท่าน
จงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานบารมีนั้น จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้

ภูเขาหินไม่หวั่นไหว คงตั้งอยู่ตามเดิม ไม่สะเทือนเพราะลม
แรงกล้า คงตั้งอยู่ในที่ของตนเอง แม้ฉันใด

แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานใน
กาลทั้งปวง ถึงความเป็นอธิษฐานบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้”

               

                    เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ตั้งเป้าไว้แล้วว่าจะต้องเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ได้ ก็ต้องทำให้สำเร็จ ไม่ว่าจะต้องพบกับอุปสรรคหนักหนาสักเพียงใด จะมีคนไม่เข้าใจหรือคิดต่อต้าน คิดทำลายหรือทำร้ายก็ไม่หวาดหวั่น ท่านอดทนอธิบายชี้แจงให้ผู้ที่ไม่เข้าใจได้ตรองตาม ท่านไม่ท้อแท้หรือเปลี่ยนแปลงเป้าหมายอย่างเด็ดขาด เพราะหากว่าเปลี่ยนแปลงเสียแล้ว ตนเองก็จะรอดเพียงคนเดียว สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เฝ้ารอคอยการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกนับภาพนับชาติไม่ถ้วน ต้องทนทุกข์ทรมานอีกนานแสนนานฉะนั้น เมื่ออาศัยความเมตตาอย่างนี้แล้ว จึงมิได้เปลี่ยนเป้าหมาย นั่นคือ การสร้างอธิษฐานบารมี

 

อธิษฐานคืออะไร

อธิษฐาน แปลว่า ตั้งมั่น จงใจ พึ่งตั้งไว้ ความตั้งจิตทับ ความตั้งใจมั่น ความตั้งจิตปรารถนา คุณชาติเครื่องตั้งไว้ซึ่งจิตยิ่ง

บารมี แปลว่าธรรมอันเลิศ ๑๐ ประการ ที่เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจังชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้วก่อให้เกิดบุญที่มีคุณภาพพิเศษที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติดีแล้วบรรลุพระโพธิญาณ

อธิษฐานบารมี หมายถึง ความตั้งใจมั่นอย่างไม่หวาดหวั่นต่ออุปสรรคอันใด และถึงแม้ต้องใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน ก็จะไม่มีวันยอมเปลี่ยนใจหรือยอมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมาเบี่ยงเบน หรือทำให้ความมุ่งมั่นต่อหนทางพระนิพพานคลอนแคลนไปได้เลย

                     กล่าวในทางปฏิบัติ อธิษฐานบารมี คือ การวางแผนขั้นตอนการทำงานอย่างชัดเจนรัดกุมแล้วกำหนดระยะเวลาที่จะต้องทำงานนั้นให้สำเร็จด้วย จากนั้นจึงลงมือทำให้ได้ตามแผนที่วางเอาไว้ หากทำได้ดีและเสร็จทันตามที่กาหนดไว้อธิษฐานบารมีก็เป็นอันสำเร็จ ถ้าหากทำได้ทั้งดีและเสร็จก่อนเวลาที่กำหนดก็ยิ่งดี อธิษฐานบารมีที่ได้จะเข้มข้นทับทวียิ่งขึ้น ในการสั่งสมอธิษฐานบารมี เมื่อพระองค์ตั้งใจอะไรไว้แล้ว เป็นต้องทำให้สำเร็จทุกครั้งไป อุปมาดังนักวาดภาพที่ดี ย่อมต้องมีภาพที่จะวาดชัดเจนอยู่ในใจก่อนลงมือวาดฉันใด นักสร้างบารมีที่ดีย่อมต้องมีเป้าหมายและวิธีการที่ชัดเจนในการสร้างความดี เพื่อมุ่งไปสู่จุดหมาย คือ พระนิพพานฉันนั้น

                    นั่นเป็นการตั้งเป้าหมาย คือ อธิษฐานบารมีของพระโพธิสัตว์ สำหรับเราแล้ว อธิษฐานบารมีเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นที่เราต้องสั่งสมเช่นกัน เพราะเป็นสิ่งสำคัญต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน เนื่องจากกระแสกิเลสหรือบาปอกุศลนั้น ไม่ใช่เรื่องพอดีพอร้าย ประมาทไม่ได้ ถ้าหากเป้าหมายไม่ชัดเจน หรือไม่มั่นคงเสียแล้ว พอสร้างบารมีไปได้สักช่วงหนึ่ง พบกับอุปสรรคก็จะพาลหมดกำลังใจไปเสียเปล่าดังนั้น เมื่อตั้งใจอะไรลงไปแล้ว วางแผนการทำงานแล้ว ประมาณกำลังของตนเองแล้ว ก็ทุ่มเททำลงไปอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ทำให้สำเร็จ ไม่เปลี่ยนแปลงเป้าหมายอย่างเด็ดขาด อย่างนี้แหละคือการอธิษฐานบารมีของเรา

 

วิธีรักษาเป้าหมายชีวิตให้มั่นคง

๑. ฝึกให้เป็นคนมีศรัทธา คือ เป็นคนมีเหตุผล เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ การเชื่อมี ๒ แบบ คือ
๑.๑) เชื่ออย่างมีเหตุผล ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่า “ศรัทธา”
๑.๒) เชื่ออย่างไร้เหตุผล ปราศจากปัญญา เรียกว่า “งมงาย”

ศรัทธาขั้นพื้นฐาน มี ๔ ประการ คือ

(๑) เชื่อกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง เมื่อทำอะไรแล้วย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความชั่วความดีขึ้นในตน การกระทำไม่ว่างเปล่า

(๒) เชื่อในผลของกรรม คือ เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว โดยการทำดีนั้นจะต้องทำให้ครบองค์ประกอบ ๓ ประการ จึงจะได้ดี คือ ต้องทำให้ “ถูกดี” คือ มีปัญญาสามารถทำถูกวัตถุประสงค์ของงานนั้น “ถึงดี” คือ มีความพยายามที่จะทำงานนั้นให้เต็มตามความสามารถ และ “พอดี” คือ มีสติดี ไม่ทำจนเลยเถิดไป เผื่อเหนียวมากไปจนเกิดความเสียหาย

(๓) เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน คือ เชื่อว่าบุญและบาปอันเป็นผลของกรรมดีและกรรมชั่ว ย่อมติดตามบุคคลผู้ทำนั้นตลอดไป

(๔) เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง เชื่อในพระปัญญาการตรัสรู้ของพระองค์

 

๒. ฝึกให้เป็นคนมีศีล อย่างน้อยรักษาศีล ๕ ให้มั่นคง และฝึกเรื่องมารยาทต่างๆ ระมัดระวัง ป้องกันความไม่งามของตนไม่ให้ไปกระทบผู้อื่น การรักษาศีลและมารยาท จะเป็นเกราะป้องกันการกระทบกระทั่งกันได้เป็นอย่างดี เพราะการกระทบกระทั่งกันนี่เอง ที่ทำให้กำลังใจในการสร้างความดีลดน้อยถอยลงอย่างรวดเร็ว

๓. ฝึกให้เป็นคนมีความรู้ เป็นพหูสูต หมั่นศึกษาหาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เมื่อเราได้ศึกษามากเข้า จะทำให้เราสามารถมองเห็นหนทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้

๔. ฝึกให้มีโยนิโสมนสิการ พิจารณาหาเหตุผลในแต่ละเรื่องที่ผ่านมาในชีวิต ไม่ปล่อยผ่านไปเปล่า และที่สำคัญ คือ ต้องจับแง่คิดเพื่อให้กำลังใจแก่ตนเองให้ได้

๕. ฝึกเสียสละ ทั้งเสียสละทรัพย์ สิ่งของต่างๆ เพื่อกำจัดความตระหนี่ถี่เหนียวให้ออกไปจากใจ และเสียสละอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เช่น สละอารมณ์โกรธให้เป็นอภัยทาน สละความเคียดแค้นต่างๆทำให้จิตใจเบิกบาน แจ่มใส ไม่ขุ่นมัว

๖. หมั่นคบหากัลยาณมิตรผู้มีใจมั่นคงไม่คลอนแคลน เพราะในยามที่เราต้องพบกับอุปสรรค กำลังใจเริ่มถดถอย กัลยาณมิตรจะคอยให้กำลังใจแก่เรา ทำให้ความตั้งใจของเรากลับบรรลุผลสำเร็จได้

๗. หมั่นนั่งสมาธิอยู่เนืองนิตย์ เป็นข้อที่สำคัญที่สุด เพราะจะเห็นได้ว่า สาเหตุที่ทำให้เป้าหมายชีวิตของเราคลอนแคลนนั้น เป็นเพราะใจของเราขาดความมั่นคง ทนต่อความยั่วยุไม่ได้ แต่การฝึกสมาธิภาวนา เป็นการฝึกใจโดยตรง ทำให้ใจของเรามีพลัง มีความหนักแน่นเข้มแข็งในการรักษาเป้าหมายชีวิตไว้ได้โดยสมบูรณ์ และมีปัญญารู้จักวางเป้าหมายชีวิตได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งสามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่วางไว้ดีแล้วนั้นได้

 

วิธีฝึกให้มีอธิษฐานบารมี

                   การฝึกให้มีอธิษฐานบารมีนั้น กระทำได้ด้วยการฝึกให้เป็นคนไม่มีข้อแม้ ข้ออ้าง หรือเงื่อนไข เมื่อมีงานมาถึงเรา ขอให้รีบรับทันที เมื่อเรารับงานใดก็ตามที เริ่มด้วยการวางแผนว่างานที่จะทำนี้ วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายคืออะไร ต้องทำอย่างไรจึงจะสำเร็จ และจะให้สำเร็จได้ตามระยะเวลาที่กำหนดได้อย่างไร ในช่วงแรกๆ อาจต้องใช้เวลาคิดค่อนข้างนานจึงจะมองออกว่างานนี้จะสำเร็จได้อย่างไร แต่เมื่อทำมากๆ เข้า จากที่เคยใช้เวลานาน ก็ใช้เวลาสั้นลง จากที่ใช้เวลาเป็นปี ก็เหลือเป็นเดือน จากที่เป็นเดือน ก็เหลือเพียงไม่กี่วัน จากเพียงไม่กี่วัน ก็เหลือเพียงวันเดียวหรือไม่ถึงวัน ที่สุดเมื่อทำอย่างนี้มากเข้า เพียงแค่คิดก็มองเห็นภาพของความสำเร็จของงานแล้ว คนที่จะทำอย่างนี้ได้คือคนที่ไม่มีข้อแม้ในการทำงาน ไม่มีข้ออ้างในการทำความดี อย่างนี้จึงจะเรียกว่าการบำเพ็ญอธิษฐานบารมี

                   ในการทำบุญสร้างความดีทุกครั้งจึงไม่ควรละเลยที่จะอธิษฐานกำกับให้ไปถึงเป้าหมาย คือพระนิพพานด้วย ดังที่คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เคยสอนไว้ว่า “อธิษฐานอะไรก็ตาม ให้เหนี่ยวพระนิพพานเอาไว้ทุกครั้ง เพราะว่าการที่เราเอาใจเหนี่ยวกับพระนิพพานไว้ พระนิพพานจะสอนเราให้เราทำแต่ความดี ไม่ให้เราตกต่ำกว่านี้อีก เมื่อเราเหนี่ยวพระนิพพานทุกวันๆ ใจเราก็จะสูงขึ้นๆ ทุกวัน เมื่อสูงขึ้นทุกๆ วัน เราจะเห็นทางหลุดทางพ้นได้ เพราะฉะนั้นเราอธิษฐานอะไร ก็เอาใจเหนี่ยวกับพระนิพพานไว้เสมอ”

 

อานิสงส์ของการบำเพ็ญอธิษฐานบารมี

๑. เป็นผู้ไม่มีความเดือดร้อนใจในการทำกิจการงานต่างๆ อันเนื่องมาจากการวางแผนงานที่รัดกุม และสามารถทำการงานนั้นได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
๒. มีกำาลังใจในการสร้างบารมีอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
๓. สามารถทำการงานของตนเองที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
๔. มีฤทธิ์ทางใจเกิดขึ้น เพียงนึกคิด ทุกอย่างก็สำเร็จได้ตามความต้องการทันที
๕. มีใจที่หยุดนิ่งได้โดยง่าย เพราะไม่ห่วงกังวลในเรื่องการงานที่คั่งค้างอยู่
๖. ได้รับการสรรเสริญจากชนเป็นอันมาก ได้รับความไว้วางใจในการทำงานอย่างดีเยี่ยม
๗. เมื่อละโลกไปแล้วย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
๘. สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย

 

สรุป

                 อธิษฐานบารมี หากจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือการสร้างภาพแห่งความสำเร็จนั่นเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาทรงอธิษฐานอะไร ความสำเร็จก็บังเกิดขึ้นทันที การอธิษฐาน คือ การสร้างภาพอย่างนี้ การสร้างภาพแห่งความสำเร็จจึงดูตัวอย่างของการสร้างบ้าน เมื่อคิดจะสร้างบ้าน ภาพของบ้านที่คิดไว้ก็เกิดขึ้นในใจ จากนั้นก็วาดลงบนกระดาษ กลายเป็นรอยขีดเขียน และเมื่อลงมือสร้าง ก็สำเร็จออกมาเป็นบ้านให้ได้อยู่อาศัยกัน นี่คือตัวอย่างของการสร้างภาพแห่งความสำเร็จที่เป็นลำดับ การสร้างอธิษฐานบารมีก็เช่นเดียวกัน เมื่อสร้างภาพแห่งความสำเร็จมากๆ เข้า ความสำเร็จก็บังเกิดขึ้นทันทีที่ปรารถนา เรียกว่ามีฤทธิ์ทางใจเกิดขึ้น

                 การอธิษฐานบารมีเริ่มต้นด้วยการสร้างมโนภาพ แล้วพยายามทำให้ภาพนั้นปรากฏเป็นจริงเมื่อฝึกทำจนเกิดความชำนาญมากเข้า ก็นึกเป็นโครงการขึ้นมาทันที บวกกับอำนาจบุญที่เคยสั่งสมมาทุกอย่างก็จะสำเร็จได้ดังใจปรารถนาทันที ฉะนั้น ในการทำงานอะไรก็ตาม ทั้งงานในอาชีพหรืองานสร้างบารมี ให้ใช้อธิษฐานบารมนี้ คือ ไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขในงานใดๆ สมัครใจทำงานนั้นโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน มุ่งมั่นทำงานนั้นด้วยสติและปัญญาจนกระทั่งงานสำเร็จ อย่างนี้จึงเรียกว่าการสร้างอธิษฐานบารมี


เชิงอรรถอ้างอิง
1สุเมธกถา, พระสูตรและอรรถกถาแปล, ขุททกนิกาย อปทาน, เล่มที่ ๗๐, หน้า ๕๖.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.051569966475169 Mins