เมตตาบารมี

วันที่ 10 กค. พ.ศ.2564

10-7-64-3-b.jpg

เมตตาบารมี

              บารมีอันดับต่อมาที่ท่านสุเมธดาบสบรมโพธิสัตว์ตรวจดูด้วยญาณทัสสนะอันเป็นทิพย์พบว่ามีที่ต้องบำเพ็ญให้ยิ่งขึ้นไปอีก คือ เมตตาบารมี1 ดังนี้

             ลำดับนั้น สุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลาย จะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ก็ได้เห็นเมตตาบารมีข้อที่ ๙ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเริ่มแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้เมตตาบารมีให้บริบูรณ์ ท่านพึงเป็นผู้มีจิตเป็นอย่างเดียวกัน ทั้งในสิ่งที่เป็นประโยชน์และในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เหมือนอย่างว่า ธรรมดาน้ำย่อมไหลแผ่ความเย็นเป็นเช่นเดียวกันทั้งแก่คนชั่ว ทั้งแก่คนดีฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีจิตเป็นอย่างเดียวด้วยเมตตาจิตในสัตว์ทั้งปวงอยู่ จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานเมตตาบารมีข้อที่ ๙ กระทำให้มั่นแล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า

           “ก็พุทธธรรมเหล่านี้จักไม่มีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่นๆ ที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ

            คราวนั้น เมื่อเราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นเมตตาบารมีข้อที่ ๙ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อนถือปฏิบัติเป็นประจำ

            ท่านจงสมาทานเมตตาบารมีข้อที่ ๙ นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงเป็นผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนด้วยเมตตา ถ้าท่านปรารถนาเพื่อจะบรรลุพระโพธิญาณ

             ธรรมดาน้ำย่อมแผ่ความเย็นไปให้คนดีและคนเลวโดยเสมอกันชะล้างมลทินคือธุลีออกได้ แม้ฉันใด

             แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญเมตตาให้สม่ำเสมอในชนที่เกื้อกูลและไม่เกื้อกูล ท่านถึงความเป็นเมตตาบารมีแล้วจักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้"

 

เมตตาคืออะไร

             เมตตา แปลว่า ความรักกัน ความเยื่อใย ความปรารถนาดีต่อกัน ความหวังดีต่อกันไมตรีจิต

             บารมี แปลว่าธรรมอันเลิศ ๑๐ ประการ ที่เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจังชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้วก่อให้เกิดบุญที่มีคุณภาพพิเศษที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติดีแล้วบรรลุพระโพธิญาณ

             เมตตาบารมี หมายถึง การทุ่มเทชีวิตจิตใจในการทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ คือ สวมหัวใจเป็นยอดกัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลก โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ว่าเขาคนนั้นจะดีหรือเลวเพียงใดก็ตาม

             เมื่อสุเมธดาบสท่านได้ปรารภเหตุดังนี้แล้ว ก็ตั้งความปรารถนาไว้ว่า จะต้องสร้างเมตตาบารมีอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง เพราะท่านตั้งความปรารถนาไว้แต่แรกแล้วว่า “หากวันใดเราสามารถพ้นจากคุกคือโลกนี้ไปได้ เราจะไม่ไปคนเดียว แต่จะนำพาชาวโลกข้ามฝั่งแห่งวัฏสงสารนี้ไปให้หมดสิ้น” ดังนั้นจะต้องพยายามรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าใครจะทำความเจ็บช้ำน้ำใจสักเพียงใด หรือมีความรักใคร่ปรารถนาดีต่อท่านก็ตาม ก็จะแผ่ความเมตตา แผ่ความปรารถนาดีให้กับทุกคนเสมอเหมือนกันหมด ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ความโกรธเคืองหรือความคิดประทุษร้ายไม่มีหลงเหลืออยู่ในใจเลย นี้คือน้ำใจของพระโพธิสัตว์

 

              สำหรับเราเล้ว เมื่อมีความปรารถนาที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ ก็ต้องสร้างเมตตาบารมีให้ได้อย่างท่าน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้เราสร้างเมตตาบารมี คือ มีความปรารถนาดีให้กับทุกๆ คน ไม่มีความคิดประทุษร้ายใครอยู่ในใจเลย แม้ว่าจะมีใครประพฤติไม่ดีกับเราก็ตาม ให้ทำใจเหมือนกับมารดาที่มีความปรารถนาดีต่อบุตรเสมอ แม้ลูกจะทำผิดทำพลาดอย่างไร แม่ก็พร้อมที่จะให้อภัยได้ มารดามีแต่ความรักและความเมตตาต่อลูกเสมอฉันใด นักสร้างบารมีก็ต้องมีความปรารถนาดีต่อทุกๆ คน ฉันนั้น

             

              จริงอยู่ที่ในบางครั้งความโกรธอาจเกิดขึ้นในใจของเรา แต่เราไม่ควรให้ความโกรธนั้นคุกรุ่นอยู่ในใจข้ามวันข้ามคืน ต้องพยายามลดระดับของโทสะกิเลสลงให้ได้เร็วที่สุด แล้วรีบแผ่เมตตาให้กันไป ส่วนบางคนที่ยังมีนิสัยชอบสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น แม้เราจะไม่โกรธตอบอยู่แล้วก็ตาม ควรอยู่ให้ห่างเข้าไว้ เพื่อจะได้ไม่เป็นการกระทบกระทั่งกัน

 

               อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติต่อความโกรธหรือความพยาบาทที่มีอยู่ในใจของเรานั้น อาจศึกษาได้จากคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า2

 

                “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากจะมีพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า เอาเลื่อยที่มีที่จับทั้งสองข้าง เลื่อยอวัยวะใหญ่น้อยของพวกเธอ แม้ในเหตุนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดมีใจคิดร้ายต่อโจรเหล่านั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้น ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น

                 ภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาที่ชั่ว เราจักอนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจักมีเมตตาจิต ไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจัก แผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่งหาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทไปตลอดโลกทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล"


วิธีระงับความพยาบาท3

๑. การเรียนเอาเมตตานิมิต คือ การแผ่เมตตาไปโดยเจาะจงทิศและไม่เจาะจงทิศความเคืองแค้นหรือความโกรธย่อมถูกระงับลงได้

๒. การเจริญเมตตาเป็นเนืองนิตย์ เพื่อให้ใจคุ้นอยู่กับความเมตตา ทำให้สามารถละความโกรธได้

๓. การพิจารณาว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน โดยพิจารณาอยู่เนืองนิตย์ว่า เราโกรธเขาแล้วจะทำอะไรได้ จะทำให้คุณธรรมต่างๆ เช่นศีลของเขาพินาศไปได้หรือ เราทำกรรมใดไว้ ก็ย่อมต้องรับผลกรรมนั้น แม้เขาโกรธเรา เขาจะทำอะไรเราได้ เขาจะสามารถทำคุณธรรมทั้งหลาย เช่นศีลของเราให้พินาศไปได้หรือ เมื่อเขาทำกรรมใดไว้ เขาก็ย่อมไปตามกรรมของเขา ผู้ใดโกรธอยู่ ความโกรธย่อมนำเขาไปสู่อบายเอง เมื่อคิดได้เช่นนี้ย่อมสามารถละความโกรธได้

๔. การหมั่นคบหากัลยาณมิตร

๕. การสนทนาถึงเรื่องเป็นที่สบาย คือเรื่องที่เกี่ยวเนื่องด้วยเมตตาในอิริยาบถต่างๆ

๖. การหมั่นทำสมาธิภาวนาเนืองนิตย์ ไม่ให้ความโกรธเข้ามาแทรกในใจได้

                  เมื่อเราปฏิบัติอย่างนี้เป็นประจำ ความโกรธเคืองต่อผู้อื่นย่อมบรรเทาลงได้ แม้โกรธแล้วก็จะโกรธไม่นาน อย่างนี้เมตตาบารมีของเราย่อมเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ

                  การแสดงออกถึงความเมตตานั้น นอกจากจะไม่มีความประทุษร้ายต่อผู้อื่นแล้ว ยังทำได้ด้วยการตักเตือนหรือชี้ขุมทรัพย์ให้กัน แต่ก็ใช่ว่าตักเตือนด้วยอาศัยเพียงความเมตตาแล้วจะเกิดผลดีทุกครั้งไป จำเป็นต้องมีคุณธรรมอย่างอื่นประกอบด้วย เช่น ความอดทน ความมีอุเบกขา เป็นต้น จึงจะได้ผลดี เพราะเมื่อใดที่เขาไม่รับฟังคำตักเตือนของเรา เราจะยังอดทนได้หรือไม่ จะเสียใจหรือไม่ที่เขาไม่รับความปรารถนาดีจากเรา นี้จึงต้องชั่งใจให้ดี ดังนั้น การเตือนจึงไม่ใช่เรื่องที่กระทำได้โดยง่ายนัก จำเป็นที่จะต้องมีศิลปะในการตักเตือนเข้าประกอบด้วย ดังนี้

๑) ต้องตรวจสอบว่าเป็นเรื่องจริง ให้แน่ใจว่าเราไม่ได้เข้าใจผิด

๒) เป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์

๓) เลือกจังหวะที่เหมาะสม เช่น ดูอารมณ์ของผู้ที่เราจะเตือนเสียก่อนว่าเขาพร้อมที่จะรับฟังหรือไม่ ตูว่าสถานที่นั้นเหมาะที่จะเตือนหรือไม่ อยู่ต่อหน้าคนหมู่มากหรือไม่เขาจะเสียหายหรือไม่ ต้องดูจังหวะให้ดี เป็นต้น

๔) ยิ้มก่อนแล้วค่อยเตือน เพื่อให้เขารู้ว่าเราเตือนมิได้คิดจับผิด แต่เตือนด้วยความหวังดี

๕) ชมก่อนแล้วค่อยเตือน เพื่อให้เขาเข้าใจก่อนว่าที่เราเตือนนั้นเป็นไปด้วยความเมตตา มิใช่แกล้งตำหนิติเตียน

                  เมื่อพิจารณาแล้ว แม้ว่าการเตือนอาจจะดูยากไปบ้าง แต่สำหรับผู้ที่มีความเมตตา หวังความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้อื่นแล้ว จึงตักเตือนกันในคราวที่ควรตักเตือน แม้ว่าผู้ที่เราเตือนอาจเกิดความรู้สึกไม่พอใจเราเท่าไรนักก็ตาม แต่พึงระลึกถึงภาษิตของพระโพธิสัตว์ที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า “ผู้ถูกตักเตือน จะแค้นเคืองหรือไม่แค้นเคืองก็ตามเถิด หรือจะเขี่ยทิ้งเหมือนโปรยแกลบทิ้งก็ตาม เมื่อเรากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ ขึ้นชื่อว่าบาปย่อมไม่เปรอะเปื้อนเรา"

 

                 เมื่อเราทำได้อย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่าได้บำเพ็ญเมตตาบารมี ดังที่บัณฑิตในกาลก่อนได้กระทำมาย่อมเกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและซาวโลกทั้งหลาย

 

อานิสงส์ของการบำเพ็ญเมตตาบารมี

                 การเจริญเมตตามีอานิสงส์มากมายมหาศาล ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า4

                 “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเช้า ผู้ใดจึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเที่ยง ผู้ใดพึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเย็น ผู้ใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเช้า โดยที่สุดแม้เพียงชั่วการหยดน้ำนมแห่งแม่โค หรือผู้ใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเที่ยง โดยที่สุดแม้เพียงชั่วการหยดน้ำนมแห่งแม่โค หรือผู้ใดพึ่งเจริญเมตตาจิตในเวลาเย็น โดยที่สุดแม้เพียงชั่วการหยดน้ำนมแห่งแม่โค การเจริญเมตตาจิตนี้มีผลมากกว่าทานที่บุคคลให้แล้ว ๓ ครั้งในวันหนึ่งนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญเมตตาเจโตวิมุตติ กระทำให้มาก กระทำให้เป็นประดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้งอาศัย ให้มั่นคง สั่งสม ปรารภด้วยดี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ"

สำหรับผู้ที่เจริญเมตตาเจโตวิมุติอยู่เสมอย่อมได้อานิสงส์ ๑๑ ประการ ดังต่อไปนี้5
๑. หลับเป็นสุข
๒. ตื่นเป็นสุข
๓. ไม่ฝันลามก
๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
๔. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
๖. เทวดาย่อมลงรักษา
๗. ไฟ ยาพิษ ศัสตรา ไม่อาจทำอันตรายได้
๘. จิตตั้งมั่นได้รวดเร็ว
๙. มีสีหน้าผ่องใส
๑๐ เป็นผู้ไม่หลงใหลทำกาละ (ละโลกไปอย่างผู้มีสติ)
๑๑. เมื่อยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ย่อมมีพรหมโลกเป็นที่ไป


เชิงอรรถอ้างอิง
1สุเมธกถา, พระสูตรและอรรถกถาแปล, ขุททกนิกาย อปทาน, เล่มที่ ๗๐, หน้า ๕๖.
2กกจูปมสูตร, พระสูตรและอรรถกถาแปล, มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่มที่ ๑๘, หน้า ๒๖๔.
3อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร, พระสูตรและอรรถกถาแปล, ทีฆนิกาย มหาวรรค,เล่มที่ ๑๔หน้า
4โอกขาสูตร, พระสูตรและอรรถกถาแปล, สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, เล่มที่ ๒๖, หน้า ๗๓๐.
5เมตตาสูตร, พระสูตรและอรรถกถาแปล, อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต เล่มที่ หน้า ๕๕๑

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.058627820014954 Mins