ว่าด้วยภิกษุปัญจวัคคีย์

วันที่ 17 มีค. พ.ศ.2564

17-3-64-4-b.jpg

๓. ว่าด้วยภิกษุปัญจวัคคีย์

เรื่องอาฬารดาบสกาลามโคตร


           (๑๐) ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า “เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจัก
รู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน” แล้วทรงดำริต่อไปว่า “อาฬารดาบส กาลามโคตรนี้แล เป็นบัณฑิต ฉลาด
เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในตาน้อยเป็นปกติมานาน ถ้ากระไร เราจะพึงแสดงธรรมแก่อาฬารดาบส
กาลามโคตรก่อน เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน"


             ลำดับนั้น เทวดาอันตรธานมากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “พระองค์ผู้เจริญ
อาฬารดาบส กาลามโคตร ทำกาละได้ ๗ วันแล้ว"


            แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้เกิดทรงทราบว่า “อาฬารดาบส กาลามโคตร ทำกาละได้ ๗ วัน
แล้ว” จึงทรงดำริว่า “อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้มีความเสื่อมนานหนอ1 เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้
ก็จะพึงรู้ทั่วถึงได้ฉับพลัน”


เรื่องอุททกดาบส รามบุตร


              ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า “เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึง
ธรรมนี้ได้ฉับพลัน” จึงทรงดำริต่อไปว่า “อุททกดาบส รามบุตรนี้แล เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม
มีปัญญา มีธุลีในตาน้อยเป็นปกติมานาน ถ้ากระไร เราจะพึงแสดงธรรมแก่อุททกดาบส รามบุตรก่อน
เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน”


              ลำดับนั้น เทวดาอันตรธานมากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “พระองค์ผู้เจริญ
อุททกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละเมื่อวานนี้”


               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงทราบว่า “อุททกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละเมื่อวานนี้”
จึงทรงดำริว่า “อุททกดาบส รามบุตร เป็นผู้มีความเสื่อมนานหนอ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ทั่วถึง
ได้ฉับพลัน”


               ต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงดำริดังนี้ว่า “เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจัก
รู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน” จึงทรงดำริว่า “ภิกษุปัญจวัคคีย์ มีอุปการะแก่เรามาก ได้เฝ้าปรนนิบัติเรา
ผู้มุ่งหน้าบำเพ็ญเพียรมา ถ้ากระไร เราจะพึงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อน” แล้วทรงดำริต่อไปว่า
“บัดนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ” ก็ได้ทรงเห็นภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุง
พาราณสี ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์


               ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลาตามควรแก่พุทธาภิรมย์แล้ว ได้เสด็จ
จาริกไปทางกรุงพาราณสี


เรื่องอุปกาชีวก


               (๑๑) อาชีวกชื่ออุปกะได้พบพระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินทางไกล ณ ระหว่างแม่น้ำคยากับ
ต้นโพธิพฤกษ์ ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “อาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่าน
บริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร”


                เมื่ออุปกาชีวกทูลถามดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถาตอบอุปกาชีวกว่า


            "เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง2 รู้ธรรมทั้งปวง3
             มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง4 ละธรรมทั้งปวงได้สิ้นเชิง5 หลุดพ้น
เพราะสิ้นตัณหา ตรัสรู้ยิ่งเองแล้วจะพึงกล่าวอ้างใครเล่า
             เราไม่มีอาจารย์6 เราไม่มีผู้เสมอเหมือน เราไม่มีผู้ทัดเทียมในโลกกับทั้ง
เทวโลกเพราะเราเป็นอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเองเพียง
ผู้เดียว เป็นผู้เยือกเย็นดับกิเลสได้แล้วในโลก
             เราจะไปเมืองหลวงแห่งชาวกาสี ประกาศธรรมจักรตีกลองอมตธรรมไปใน
โลกอันมีความมืดมน”


             อุปกาชีวกทูลว่า “อาวุโส ท่านสมควรเป็นพระอนันตชินะตามที่ท่านประกาศ”


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
            “ชนเหล่าใดได้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว ชนเหล่านั้นย่อมเป็นพระชินะเช่นเรา
อุปกะ เราชนะความชั่วได้แล้วเพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่าพระชินะ”


             เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้แล้ว อุปกาชีวกจึงทูลว่า “อาวุโส ควรจะเป็นอย่างนั้น”
โคลงศีรษะแล้วเดินสวนทางหลีกไป

 

เชิงอรรถ

1 มีความเสื่อมนานหนอ หมายถึง มีความเสื่อมมาก เพราะเสื่อมจากมรรคและผลที่จะพึงบรรลุ เพราะเกิดในอักขณะ คือ
อาฬรดาบสตายไปเกิดในอากิญจัญญายตนภพ ส่วนอุททกดาบสตายไปเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนภพ

2 ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึง ธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓
3 ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึง ธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔
4 ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึง ธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓
5 ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึง ธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓
6 เราไม่มีอาจารย์ ในที่นี้หมายถึง ไม่มีอาจารย์ในระดับโลกุตตรธรรม

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0069032510121663 Mins