ขันติบารมี
หลังจากที่เราได้ศึกษาทั้ง ๕ บารมีมาแล้ว หากพิจารณาให้ดีเราจะทราบว่า ๕ บารมีแรกนั้น ล้วนเป็นการบำเพ็ญเพื่อให้ได้มาซึ่งปัญญาทั้งสิ้น ตั้งแต่ทานบารมี เพื่อเก็บเสบียงไว้ใช้ในการแสวงหาปัญญา ได้สะดวก ศีลบารมี เพื่อให้เกิดมาได้อัตภาพเป็นมนุษย์ ซึ่งจะทำให้ได้โอกาสในการสร้างปัญญายิ่งๆ ขึ้นไป เนกขัมมบารมี บำเพ็ญเพื่อไม่ให้ตนเองต้องติดอยู่ในคุกทางใจ มีอิสระในการเพิ่มพูนปัญญาได้มากขึ้น ส่วนปัญญาบารมีนั้นชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว วิริยบารมีเป็นการสร้างปัญญาอันยิ่ง คือ ทำปัญญาชนิดรู้แจ้งให้เกิดขึ้น ดังนั้น บารมีทั้ง ๕ ก็มีเป้าหมายอยู่ที่ปัญญานั่นเอง แต่เนื่องจากระหว่างสร้างบารมีเราต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม ซึ่งอาจมีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจถึงเป้าหมายของเรา จึงจำเป็นต้องสร้างบารมีอื่นที่ยิ่งไปกว่านี้ด้วย
บารมีอันดับต่อมาที่สุเมธดาบสบรมโพธิสัตว์ตรวจดูด้วยญาณทัสสนะอันเป็นทิพย์ พบว่าบารมีที่ต้องสร้าง ต้องบำเพ็ญ ต้องกระทำอย่างยิ่งยวด นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีอีก นั่นคือ ขันติบารมี เพราะท่านเล็งเห็นว่า อุปสรรคสำคัญที่เป็นเครื่องขัดขวางการตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประการต่อมา คือ ความหวั่นไหว ความมีใจไม่มั่นคงต่อสิ่งที่มากระทบนั่นเอง ดังแสดงไว้ใน ขุททกนิกาย อปทาน
ว่า1
ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสนั้นคิดว่าพุทธการกธรรมทั้งหลายจะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ก็ได้เห็นขันติบารมีข้อที่ ๖ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้ขันติบารมีให้บริบูรณ์ ท่านพึงเป็นผู้อดทนทั้งในการยกย่องนับถือและในการดูถูกดูหมิ่น เหมือนอย่างว่า คนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็มิได้กระทำความ
รักและความขัดเคืองเพราะการกระทำอันนั้น ย่อมอด ย่อมทน ย่อมกลั้นไว้ได้ ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้อดทนได้ทั้งในการนับถือ ทั้งในการดูหมิ่น จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐาน ขันติบารมีข้อที่ ๖ กระทำให้มั่นแล้ว ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า
“ก็พุทธธรรมทั้งหลายจักไม่มีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ
ในคราวนั้นเราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นขันติบารมีข้อที่ ๖ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ชั้นก่อนๆ ถือปฏิบัติเป็นประจำ
ท่านจงสมาทานขันติบารมีข้อที่ ๖ นี้ กระทำให้มั่นก่อน มีใจไม่ลังเลในขันติบารมีนั้น จักบรรลุพระสัมโพธิญาณ
ธรรมดาแผ่นดินย่อมอดกลั้นสิ่งทั้งปวงที่เขาทิ้งลง สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง ไม่กระทำการขัดเคืองเพราะการกระทำนั้น แม้ฉันใด
แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้อดทนต่อการนับถือและการดูหมิ่นของคนทั้งปวง ถึงความเป็นขันติบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้ ''
ขันติคืออะไร
ขันติ แปลว่า ความทน, ความอดทน, ความอดกลั้น
ขันติ หมายถึง การรักษาปกติภาวะของตนไว้ได้ ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนา หรือไม่พึงปรารถนาก็ตาม มีความมั่นคงหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ซึ่งไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะมีคนเทของเสีย ของสกปรกหรือของหอมลงไปก็ตาม
บารมี แปลว่าธรรมอันเลิศ ๑๐ ประการ ที่เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจังชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้วก่อให้เกิดบุญที่มีคุณภาพพิเศษที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติดีแล้วบรรลุพระโพธิญาณ
ขันติบารมี หมายถึง การอดทนอดกลั้นเพื่อให้ได้ทำความดี โดยมีพระนิพพานเป็นเป้าหมาย ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆ ที่มาขัดขวาง แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต
งานทุกชิ้นในโลก ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานใหญ่ที่สำเร็จขึ้นมาได้ นอกจากจะอาศัยปัญญาเป็นตัวนำแล้ว ยังต้องอาศัยคุณธรรมข้อหนึ่งเป็นพื้นฐานจึงสำเร็จได้ คุณธรรมนั้น คือ ขันติ
ถ้าขาดขันติเสียแล้ว จะไม่มีงานชิ้นใดสำเร็จได้เลย เพราะขันติเป็นคุณธรรมสำหรับทั้งต่อต้านความท้อถอยหดหู ขับเคลื่อนเร่งเร้าให้เกิดความขยัน และทำให้เห็นอุปสรรคต่างๆ เป็นเครื่องท้าทายความสามารถ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของงานทุกชิ้นทั้งทางโลกและทางธรรม คือ อนุสาวรีย์ของขันติทั้งสิ้น
ความอดทนเป็นหัวใจของการทำความดี เป็นพื้นฐานของการสร้างบารมีทุกอย่างการละเว้นจากความชั่วต้องอาศัยความอดทน การทำความดีให้ได้ตลอดรอดฝั่งต้องอาศัยความอดทน และ การรักษาใจไว้ให้ผ่องใสอยู่เนืองนิตย์ ก็ต้องอาศัยความอดทน ยิ่งไปกว่านั้น การที่จะบรรลุพระนิพพานได้ก็ต้องอาศัยความอดทน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ว่า2
“ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
ความอดทน คือ ความอดกลั้น เป็นตบะเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
จะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเรื่องของความอดทนเป็นอันดับแรก เพราะชีวิตนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์เพราะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพิไรรำพัน ความพลัดพราก ความลำบากกาย และความทุกข์อื่นๆ อีกมากมาย ความอดทนเท่านั้น จึงจะสามารถบรรเทาความทุกข์เหล่านี้ลงได้
แต่การที่จะไปถึงพระนิพพานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องต่อสู้กับสิ่งที่มากระทบ ทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องไม่ดี ทั้งต่อผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย การที่จะเอาชนะสิ่งที่เป็นอุปสรรคเหล่านี้ได้ก็ต้องอดทน หากไม่อดทนเสียแล้ว การจะไปนิพพานนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย
ดังนั้น ความอดทนจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า “ผู้อดทน ชื่อว่าเป็นผู้ย่างขึ้นสู่หนทางสวรรค์และนิพพาน”
ลักษณะของขันติ
ผู้ที่มีขันติอยู่ในใจ จะมีลักษณะดังต่อไปนี้
๑. เมื่อถูกกระทบด้วยถ้อยคำ ทำเหมือนไม่ได้ยิน (หูไปนา)
๒. เมื่อเห็นอาการยั่วยุ ทำเหมือนไม่ได้เห็น (ตาไปไร่)
๓. ใส่ใจ สนใจแต่จะทำความเจริญ (กุศลธรรม) ให้ตนเอง
๔. ข่มความโกรธเสียได้
๕. เข้าไปสงบบาปธรรมเสียได้
๖. ไม่ดุร้าย หยาบคาย
๗. ไม่ก่อทุกข์ให้ใคร
๘. มีใจเบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิตย์
ลักษณะของขันติหรือความอดทนดังกล่าว เป็นลักษณะของความอดทนที่ถูกต้อง คือ เมื่อ อดทนไปแล้วได้บุญได้บารมี อดทนแล้วไม่เสียเปล่า ซึ่งสามารถขยายความได้ดังต่อไปนี้
มีความอดกลั้น คือ เมื่อถูกคนพาลด่าก็ทำราวกับว่าไม่ได้ยิน ทำหูเหมือนหูกระทะ เมื่อเห็นอาการยั่วยุก็ทำราวกับว่าไม่ได้เห็น ทำตาเหมือนตาไม้ไผ่ ไม่สนใจใยดี ไม่ปล่อยใจให้เศร้าหมองไปด้วย ใส่ใจ สนใจแต่ในเรื่องที่จะทำความเจริญให้แก่ตนเอง เช่น เจริญศีล สมาธิ ปัญญา ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
เป็นผู้ไม่ดุร้าย คือ สามารถข่มความโกรธไว้ได้ ไม่โกรธ ไม่ทำร้าย ไม่ทำอันตรายด้วยอำนาจแห่งความโกรธนั้น ผู้ที่โกรธง่ายแสดงว่ายังขาดความอดทนอยู่มาก
ไม่ปลูกน้ำตาให้แก่ใครๆ คือ ไม่ก่อทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือเจ็บแค้นใจจนน้ำตาไหล ด้วยอำนาจความเกรี้ยวกราดของเรา
มีใจเบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิตย์ คือ มีปีติอิ่มเอิบใจเสมอๆ ไม่พยาบาท ไม่โทษฟ้า โทษฝน โทษเทวดา โทษโชคชะตา หรือโทษใครๆ ทั้งนั้น พยายามอดทนทำการงานทุกอย่างด้วยใจเบิกบาน
ลักษณะของความอดทนนั้น โบราณท่านสอนลูกหลานไว้ย่อๆ ว่า “ปิดหูซ้ายขวา ปิดตา สองข้าง ปิดปากเสียบ้าง นอนนั่งสบาย”
คนบางคนขี้เกียจทำงาน บางคนขี้เกียจเรียนหนังสือ บางคนเกะกะเกเร พอมีผู้ว่ากล่าว ตักเตือนก็เฉยเสีย แล้วบอกว่าตนเองกำลังบำเพ็ญขันติบารมี อย่างนี้เป็นการเข้าใจผิด ตีความหมายของขันติผิดไป ขันติไม่ได้หมายถึงการตกอยู่ในสภาพใดก็ทนอยู่อย่างนั้น
ลักษณะที่สำคัญยิ่งของขันติ คือ ตลอดเวลาที่อดทนอยู่นั้น จะต้องมีใจผ่องใส ไม่เศร้าหมอง
เมื่อสรุปลักษณะเด่นของขันติโดยย่อแล้ว มีอยู่ ๓ ประการ คือ
๑. อดทนถอนตัวหรือหลีกเลี่ยงจากความชั่วให้ได้
๒. อดทนทำความดีต่อไป
๓. อดทนรักษาใจให้ผ่องใส ไม่เศร้าหมอง
ประเภทของขันติ
ความอดทนแบ่งตามเหตุที่มากระทบได้ ๔ ประเภท ดังนี้
๑. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ เป็นการอดทนต่อสภาพธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศความหนาว ความร้อน ฝนตก แดดออก ฯลฯ แม้สภาพแวดล้อมจะไม่เอื้ออำนวย ก็อดทนทำงานเรื่อยไปไม่โทษเทวดาฟ้าดิน หรืออ้างเหตุเหล่านี้แล้วเกียจคร้านไม่ยอมทำงาน
๒. อดทนต่อทุกขเวทนา เป็นการอดทนต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย ความไม่สบายกายของเราเองความปวด ความเมื่อย ผู้ที่ขาดความอดทนประเภทนี้ เวลาเจ็บป่วยจะร้องครวญคราง พร่ำเพ้อรำพันหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ผู้รักษาพยาบาลทำอะไรไม่ทันใจหรือไม่ถูกใจก็โกรธง่าย พวกนี้จึงต้องป่วยเป็น ๒ เท่า คือ นอกจากจะป่วยกายที่เป็นอยู่แล้ว ยังต้องป่วยใจเข้าไปอีก ทำตัวเป็นที่เบื่อหน่ายแก่ชนทั้งหลาย
ความอดทนต่อทุกขเวทนานี้เป็นความอดทนที่สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
๓. อดทนต่อความเจ็บใจ เป็นการอดทนต่อความโกรธ ความไม่พอใจ ความขัดใจ อันเกิดจากคำพูดที่ไม่ชอบใจ กิริยามารยาทที่ไม่งาม การบีบคั้นทั้งจากผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงานและลูกน้องความอยุติธรรมต่างๆ ในสังคม ระบบงานต่างๆ ที่ไม่คล่องตัว ฯลฯ
คนทั้งหลายในโลกแตกต่างกันมากโดยอัธยาศัยใจคอ โอกาสที่จะได้อย่างใจเรานั้นอย่าพึ่งคิด เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มเข้าหมู่คนหรือมีคนตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ให้เตรียมขันติไว้ต่อต้านความเจ็บใจ ความอดทนในระดับนี้ ถือว่าทำได้ยากกว่าความอดทนที่กล่าวมาแล้วทั้งสองข้อ
๔. อดทนต่ออำนาจกิเลส เป็นการอดทนต่ออารมณ์อันน่าใคร่ น่าเพลิดเพลินใจ อดทนต่อสิ่งที่เราอยากทำแต่ไม่สมควรทำ เช่น อดทนไม่เที่ยวเตร่ ไม่เล่นการพนัน ไม่เสพสิ่งเสพติด ไม่รับสินบนไม่คอร์รัปชั่น ไม่ผิดลูกเขาภรรยาเขา ไม่เหลิงยศ ไม่ลุแก่อำนาจ ไม่ขี้โอ่ ไม่ขี้อวด เป็นต้น การอดทนข้อนี้ทำได้ยากที่สุด โบราณท่านจึงกล่าวเปรียบไว้ว่า “เขาด่าแล้วไม่โกรธว่ายากแล้ว เขาชมแล้วไม่ยิ้มยากยิ่งกว่า”
เมื่อเราได้ทราบความสำคัญของความอดทนแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องทำให้เกิดมีขึ้นมาให้ได้ มิใช่เป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์เท่านั้น แม้เราเองก็ต้องทำและต้องทำแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพันด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้ว การไปถึงเป้าหมาย คือ บรรลุมรรคผลนิพพานหรือกระทั่งการสร้างบารมีเพื่อไปให้ถึง ที่สุดแห่งธรรม ย่อมเป็นไปไม่ได้
วิธีการฝึกให้มีความอดทน
การที่จะมีความอดทนได้นั้นมีวิธีการฝึกดังต่อไปนี้
๑. ต้องคำนึงถึงหิริโอตตัปปะให้มาก เพราะเมื่อไม่อดทนเผลอไปทำบาปในชาตินี้ย่อมต้องประสบความเดือดร้อนใจ ต้องพบกับความทุกข์ใหญ่หลวง หาความสุขมิได้ ในชาติต่อไปต้องตกไปสู่อบายรับทุกขเวทนาแสนสาหัส เมื่อมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปอย่างเต็มที่อย่างนี้แล้ว ความอดทนย่อมจะเกิดขึ้น
๒. ฝึกใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา ปัญหาส่วนใหญ่ของการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ หนีไม่พ้นการกระทบกระทั่ง หากการกระทบกระทั่งเกิดจากผู้ที่มีฐานะสูงกว่าเรา เราอาจทนได้ เพราะเกรงต่ออำนาจหรือผู้ที่เสมอกันก็อาจจะพอทนกันได้ แต่หากเกิดจากผู้ที่ต่ำกว่าเราทั้งด้านอายุ ฐานะ หรือศักดิ์ศรีนี้แหละเป็นสิ่งที่เราจะอดทนได้ยาก แต่สิ่งที่เราต้องกระทำ คือ การพิจารณาถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นว่าเพราะเหตุ
ใด ต้องอดทนฝึกชี้แจงเหตุผล ชี้แจงความเป็นจริง แรกๆ อาจต้องฝืนอยู่บ้าง แต่หากทำเป็นประจำแล้วเราจะไม่ต้องฝืนเลย เพราะส่วนใหญ่ปัญหามักมีความเข้าใจผิดเป็นสาเหตุ เมื่อเข้าใจถูกเรื่องก็จบ แต่หากใช้อารมณ์แทนเหตุผล เรื่องจะยาวและไม่จบ
การหมั่นใช้เหตุผลนอกจากจะได้ฝึกความอดทนแล้ว ยังเป็นการฝึกใช้ปัญญา ฝึกโยนิโสมนสิการได้เพิ่มพูนปัญญาบารมีอีกด้วย เมื่อเราสามารถอดทนต่อผู้ที่ต่ำกว่าได้แล้ว ต่อไปเรื่องการอดทนต่อผู้ที่เสมอกัน หรือผู้ที่สูงกว่าก็สามารถทำได้อย่างไม่ยากเย็นเลย
๓. ต้องฝึกสมาธิมากๆ เพราะทั้งขันติและสมาธิเป็นคุณธรรมที่เกื้อหนุนกัน ขันติจะหนักแน่นก็ต้องมีสมาธิมารองรับ สมาธิจะก้าวหน้าก็ต้องมีขันติเป็นพื้นฐาน ขันติอุปมาเหมือนมือซ้าย สมาธิ อุปมาเหมือนมือขวา เมื่อจะล้างมือ มือทั้งสองข้างจะต้องช่วยกันล้างจึงจะสะอาดดี ในเรื่องนี้คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ท่านปฏิบัติเป็นต้นแบบได้อย่างงดงาม เมื่อครั้งที่ท่านยังอยู่ที่ บ้านธรรมประสิทธิ์ มีผู้มายืนด่าท่านด้วยถ้อยคำที่ไม่น่าฟัง แต่คุณยายท่านกลับไม่ตอบโต้อะไรเลย ท่านนั่งฟังอยู่เฉยๆ สักครู่หนึ่ง แล้วท่านก็กล่าวว่า “หน้าที่เธอ เธอด่าไป หน้าที่ฉัน ฉันจะนั่งเข้าที่ฟัง” เพียงไม่กี่นาที คนผู้นั้นก็ล่าถอยกลับไป นี่คือตัวอย่างของผู้ที่มีความอดทนเป็นเยี่ยม เพราะความเป็นผู้มีสมาธิอันฝึกมาดีแล้ว จนกระทั่งมีใจหยุดนิ่งสนิทสมบูรณ์ จึงสามารถอดทนต่อถ้อยคำที่บริภาษท่านได้
อานิสงส์ของความอดทน
เมื่อเราได้ฝึกความอดทนตามอย่างพระโพธิสัตว์มาเป็นอย่างดีแล้ว ผลดีหรืออานิสงส์ที่จะเกิดขึ้นกับเรานั้นมีมากมาย ขอกล่าวเพียงสังเขปดังต่อไปนี้
๑. ป้องกันตนเองมีให้กระทำบาปอกุศล ทั้งยังป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกด้วย
๒. ทำให้กุศลธรรมทุกชนิดเจริญขึ้นได้
๓. ทำให้เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักของคนทั้งหลาย
๔. ตัดรากเหง้าแห่งความชั่วทั้งปวง
๕. ทำให้อยู่เย็นเป็นสุขทุกอิริยาบถ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง
๖. ทำให้ศีลและสมาธิตั้งมั่นไม่คลอนแคลน
๗. เมื่อละโลก ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
๘. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย
สรุป
การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ เพื่อบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณต้องมีความอดทน อย่างหาที่สุดมิได้ เพราะหากอดทนไม่ได้แล้วก็อย่าหวังที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เลย ฉะนั้น ความอดทนนี้เอง จึงเป็นคุณธรรมที่ช่วยประคับประคองให้นักสร้างบารมีทั้งหลายประสบผลสำเร็จ ได้เข้าถึงความสมบูรณ์ที่สุดของชีวิตตน
เชิงอรรถอ้างอิง
1สุเมธกถา, พระสูตรและอรรถกถาแปล, ขุททกนิกาย อปทาน, เล่มที่ ๗๐, หน้า ๕๓.
2 มหาปทานสูตร, พระสูตรและอรรถกถาแปล, ทีฆนิกาย มหาวรรค, เล่มที่ ๑๓ หน้า ๑๖๑