สัจจบารมี

วันที่ 08 กค. พ.ศ.2564

8-7-64-2-b.jpg

สัจจบารมี

                 บารมีอันดับที่แล้วชื่อว่า ขันติบารมี เป็นเรื่องของความอดทนอดกลั้นต่ออุปสรรคนานัปการทั้งที่เกิดขึ้นจากการได้รับความชื่นชมสรรเสริญหรือการดูหมิ่นไม่พอใจ โดยจะไม่ยอมก่อเวรกับใครแม้ด้วยเหตุแห่งชีวิต เพราะการไม่อดทนต่อค่าสรรเสริญชื่นชมอาจมีผลท่าให้ใจฟุ้งซ่าน จนเป้าหมายในการไปพระนิพพานเบี่ยงเบน ส่วนการไม่อดทนต่อการดูหมิ่นก็อาจเป็นเหตุให้ถูกด่าว่าหรือถูกทำร้ายจากผู้ที่ไม่ปรารถนาดีได้

                ดังนั้น ผู้มีเป้าหมายจะข้ามไปให้ถึงฝั่งพระนิพพานจึงต้องมี “สัจจะ” ไว้เป็นเกราะคุ้มครองป้องกันตนเอง โดยต้อง “จริง” ต่อทุกสิ่งที่เรากระทำ ไม่ว่าจะด้วยกาย วาจา หรือใจ ทั้งนี้เพื่อปิดกั้นโอกาสและป้องกันไม่ให้ใครๆ เกิดความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนต่อการสร้างบารมีของเรา

                ดังนั้น บารมีอันดับต่อมาที่สุเมธดาบสบรมโพธิสัตว์ตรวจดูด้วยญาณทัสสนะอันเป็นทิพย์พบว่า บารมีที่ต้องสร้าง ต้องกระทำอย่างยิ่งยวด ต้องกระทำอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน คือ สัจจบารมี เพราะเล็งเห็นว่าอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณอันดับต่อมา คือ ความเป็นคนโลเล ไม่กล้าสู้ความจริง แน่นอนว่าในขณะที่เรายังไม่หมดกิเลส ยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้นั้น การกระทำผิดพลาดจะด้วยความตั้งใจ ด้วยความพลั้งเผลอ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม เป็นเรื่องที่อาจเป็นไปได้ แต่สิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปมักเป็นกันคือ กลัวเสียหน้า เมื่อกลัวเสียหน้า ก็มักจะไม่ยอมรับความจริง สัจจะก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่มีสัจจะ การกระทำบาปอย่างอื่นย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้

               เมื่อเล็งเห็นอย่างนี้ ท่านสุเมธดาบสจึงตั้งใจไว้ว่าจะบำเพ็ญสัจจบารมีอย่างยิ่งยวด ด้วยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ดังแสดงไว้ใน ขุททกนิกาย อปทาน ว่า1

               ลำดับนั้น สุเมธดาบสจึงคิดว่าพุทธการกธรรมทั้งหลายจะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น แล้วใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ก็ได้เห็นสัจจบารมีข้อที่ ๗ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้สัจจบารมีให้บริบูรณ์ แม้เมื่ออสนีบาตจะตกลงบนกระหม่อมก็ตาม ท่านอย่าได้กล่าวมุสาวาททั้งรู้อยู่ ด้วยอำนาจฉันทะเป็นต้น เพื่อต้องการทรัพย์เป็นต้น เหมือนอย่างว่าธรรมดาดาวประกายพรึกในฤดูทั้งปวง หาได้ละวิถีโคจรของตนโคจรไปในวิถีอื่นไม่ ย่อมจะโคจรไปในวิถีของตนเท่านั้น ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน อย่าได้ละสัจจะกล่าวมุสาวาทเลย จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานสัจจบารมีข้อที่ ๗ กระทำให้มั่นแล้วด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า


“ก็พุทธธรรมทั้งหลายจะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้น
ธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ

คราวนั้น เราเลือกเฟ้นอยู่ก็ได้เห็นสัจจบารมีข้อที่ ๗ ที่ท่าน
ผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อนถือปฏิบัติเป็นประจำ

ท่านจงสมาทานสัจจบารมีข้อที่ ๗ นี้ กระทำให้มั่นก่อน มีคำพูดไม่
เป็นสองในข้อนั้น จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้

ธรรมดาดาวประกายพรึกเป็นดุจคันชั่ง คือ เที่ยงตรงในโลกพร้อม
ทั้งเทวโลก ไม่ว่าในสมัย ฤดู หรือปีก็ตาม ย่อมไม่โคจรและเวียนออก
นอกวิถีโคจร แม้ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ออกไปนอกทาง
สัจจะทั้งหลาย ถึงความเป็นสัจจบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้ "


สัจจะคืออะไร

สัจจะ แปลว่า แท้ ตรง จริง เที่ยง แน่ ถูก สัตย์ นิพพาน อริยมรรค

สัจจะ หมายถึง ความจริงใจ ความจริงจัง ความซื่อสัตย์ โดยสรุป คือ ความรับผิดชอบ

บารมี แปลว่าธรรมอันเลิศ ๑๐ ประการ ที่เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจังชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้ว ก่อให้เกิดบุญที่มีคุณภาพพิเศษที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติดีแล้วบรรลุพระโพธิญาณ

                สัจจบารมี หมายถึง ความทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อการทำความดีในทุกรูปแบบ ด้วยความ “จริง” “ตรง” และ “แท้” ต่อทั้งคำพูดและการกระทำ โดยมีพระนิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุด

คุณลักษณะของสัจจะ

๑. ความจริง คือ ทำอะไรทำจริง ทำอย่างทุ่มเท จริงจัง ไม่เล่น ไม่เหลาะแหละ
๒. ความตรง คือ ทำอย่างตรงไปตรงมา ไม่คด ไม่บิดพลิ้ว
๓. ความแท้ คือ ทำด้วยเจตนาสุจริต เป็นไปเพื่อกุศลความดีล้วนๆ


                  สัจจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์ทุกๆ คน คนเราจะมีทรัพย์สมบัติ ข้าวของ เงินทองมากมายเพียงใดไม่สำคัญ สำคัญว่ามีสัจจะหรือไม่ ถ้าไม่มีสัจจะเสียแล้ว ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่น่าระแวงทั้งสิ้น ไม่มีความน่าเชื่อถืออยู่ในตัวเอง เพราะไม่มีสิ่งใดในโลกที่จะเป็นเครื่องรับประกันได้ว่า คนเราจะไม่โกหกหลอกลวง ดังนั้น ถ้าหากจะทำให้ตนเองเป็นบุคคลที่ไม่น่าระแวง ชื่อเสียงไม่เสียแล้ว จะต้องมีคุณธรรมข้อสำคัญ คือ สัจจะ ลักษณะของสัจจะ คือ ความจริง ความตรง ความแท้นี้ เป็นพืชของความดี บุคคลใดหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งสัจจะลงไปแล้ว ผลที่ได้กลับมาย่อมเป็นความดีงามที่เขาจะได้รับเสมอ

สถานะของสัจจะ

๑. สัจจะต่อหน้าที่การงาน คือ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานของตนเองให้ครบถ้วนและทำงานที่อยู่ในความรับผิดชอบนั้นอย่างจริงจัง ไม่หลบเลี่ยง ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังวาจา และกำลังใจ จนกว่างานจะสำเร็จ โดยทำงานนั้นๆ เพื่อมุ่งหวังให้คุณธรรมความดีบังเกิดขึ้นทั้งแก่ตนเอง หมู่คณะ และสังคมส่วนรวม มิใช่เพื่ออามิสสินจ้างรางวัล หรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวที่ได้มาโดยมิชอบ

๒. สัจจะต่อวาจา คือ มีความรับผิดชอบต่อวาจาของตนเอง ให้วาจานั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น โดยในเบื้องต้นต้องพูดแต่คำจริง ไม่โกหกหลอกลวง ทำอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ไม่วกวน ไม่อ้อมค้อม ไม่ซ่อนเงื่อนงำ ฟังแล้วก็ทราบทันทีว่าอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ทำไม ทำให้ผู้ฟังสามารถรับข้อมูลข่าวสารตรงกับเจตนาของผู้พูดได้โดยง่าย

             การเป็นคนจริงต่อวาจา คือ พูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น กล่าววาจาใดไปแล้วก็ปฏิบัติตามนั้น อย่างจริงจัง ไม่เหลาะแหละโลเล โดยที่วาจานั้นๆ ต้องไม่ชักชวนโน้มน้าวไปสู่ความชั่วร้าย แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งต่อตัวเราเองและผู้อื่นจริงๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงเรื่องสัจจะไว้ว่า 2

“ตถาคตพูดอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด พูดอย่างนั้น เพราะตถาคต พูดอย่างใด ทำอย่างนั้น (ยถาวาที ตถาการี) ทำอย่างใด พูดอย่างนั้น (ยถาการี ตถาวาที) เพราะเหตุนั้นจึงได้ชื่อว่าตถาคต”


องค์ประกอบของวาจาสุภาษิต

(๑) ต้องเป็นคำจริง ไม่ใช่คำพูดที่ปั้นแต่งขึ้น เป็นคำพูดที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่บิดเบือนจากความจริง ไม่เสริมความ ไม่อำความ ต้องเป็นเรื่องจริง

(๒) ต้องเป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดไพเราะที่กลั่นออกมาจากน้ำใจที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นคำหยาบ คำด่า คำประชดประชัน คำเสียดสี

(๓) พูดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดผลดีทั้งแก่คนพูดและคนฟัง ถึงแม้คำพูดนั้นจะจริงและเป็นคำสุภาพ แต่ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรก็ไม่ควรพูด

(๔) พูดด้วยจิตเมตตา พูดด้วยความปรารถนาดี อยากให้คนฟังมีความสุข มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ในข้อนี้หมายถึงว่า แม้จะพูดจริง เป็นคำสุภาพ พูดแล้วเกิดประโยชน์ แต่ถ้าจิตยังคิดโกรธ มีความริษยา ก็ยังไม่สมควรพูด เพราะผู้ฟังอาจรับไม่ได้ ถ้อยคำที่กล่าวด้วยจิตขุ่นมัวแม้เพียงประโยคเดียว อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงอย่างไม่อาจประมาณได้

(๕) พูดถูกกาลเทศะ แม้ใช้คำพูดที่ดี เป็นค่าจริง เป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดที่มีประโยชน์ และพูดด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าผิดจังหวะ ไม่ถูกกาลเทศะ ผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะรับแล้วก็ควรจะนิ่ง ไม่อย่างนั้นอาจจะก่อให้เกิดผลเสียได้ เช่น กลายเป็นการประจานหรือจับผิดกันไป ดังนั้น คนฉลาดจึงไม่ใช่เป็นแต่พูดเท่านั้น ต้องนิ่งเป็นด้วย คนที่พูดเป็นนั้น ต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรพูดให้ยิ่งกว่าสิ่งที่ควรพูด

๓. สัจจะต่อบุคคล คือ มีความจริงใจต่อบุคคลที่เราคบหา เมื่อคบใครก็ไม่คิดคดทรยศหักหลัง คบกันเพื่อหมายใจว่าจะร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกันและมีเจตนาสุจริต คิดสนับสนุนบุคคลที่ตบด้วยให้มีคุณธรรมความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

๔. สัจจะต่อความดี คือ มีความรับผิดชอบต่อคุณธรรมความดีของตนเอง เมื่อทราบว่าอะไรคือคุณงามความดีแล้ว ก็พยายามฝึกฝนปฏิบัติให้คุณธรรมนั้นเกิดมีขึ้นในตนเองให้ได้ตรงตามพุทธประสงค์ โดยปฏิบัติธรรมนั้นๆ อย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำๆ หยุดๆ และทำเพื่อบุญกุศล มิใช่เพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ หรือสักการะใดๆ


วิธีฝึกสัจจบารมี

๑. ศึกษาประวัติการสร้างบารมีของนักสร้างบารมีทั้งในอดีตและปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนที่พระองค์ทรงปรารภความเพียรทรงกระทำสัจจกิริยาว่า หากไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณจะไม่ลุกจากที่ ในที่สุดพระองค์ก็ทรงบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ หรือพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านได้กระทำสัจจกิริยาในคืนวันเพ็ญเดือน ๑๐ หากไม่บรรลุธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ยอมลุกจากที่ ในที่สุดท่านก็สามารถค้นพบวิชชาธรรมกายกลับคืนมาได้ อย่างนี้เป็นต้น เมื่อเราได้ศึกษาประวัติการสร้างบารมีของท่านทั้งหลายเหล่านี้ จะทำให้เราเกิดกำลังใจในการบำเพ็ญสัจจบารมีได้ยิ่งๆ ขึ้นไป

๒. ฝึกทำงานทุกอย่างให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกิจวัตร กิจกรรม หรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายก็ดี ไม่ทำแบบขอไปที่ หรือเพียงให้เสร็จๆ ไป จะทำวัตร จะสวดมนต์ จะบริหารร่างกาย จะทำงานทุกอย่างก็ต้องทำอย่างดีที่สุด ไม่ปล่อยผ่านแม้เรื่องเล็กน้อย ท่าอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง เท่าที่ความสามารถของเราจะทำได้ อย่างนี้จะเป็นการฝึกสัจจบารมีของเรา

๓. ประหยัดคำพูด คือ “พูดเท่าที่จำเป็น พูดแต่คำที่เป็นประโยชน์ จริง ไพเราะ ถูกกาล เพราะการพูดมากก็มีโอกาสผิดมาก พูดน้อยก็มีโอกาสผิดน้อย แต่ก็ไม่ควรไม่พูดเอาเสียเลย เพราะจะไม่รู้เรื่อง สื่อสารกันไม่ได้ ฉะนั้น ก่อนพูดทุกครั้งต้องพิจารณาก่อนว่าสิ่งใดควรพูด สิ่งใดไม่ควรพูด แล้วสัจจบารมีของเราจะเพิ่มพูนขึ้น

๔. ฝึกยอมรับผิด ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าเรายังไม่หมดกิเลส โอกาสที่จะทำผิดทำพลาดนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่เมื่อกระทำไปแล้วต้องยอมรับผิด อย่ากลัวเสียหน้า เพราะหากกลัวเสียหน้าแล้ว เราจะไม่สบายใจเอง ต้องตามจดจำความผิดที่กระทำไว้ เมื่อเรายอมรับผิด แล้วตั้งใจแก้ไขตนเอง ผู้อื่นก็พร้อมจะให้อภัยอยู่แล้ว เราเองก็สบายใจ

๕. คบหากัลยาณมิตรที่รักความจริง คือ เป็นคนทำจริง พูดจริง เพราะกัลยาณมิตรจะคอยตักเตือนเราไม่ให้กระทำสิ่งที่ไม่ดี นอกจากนี้ การมีผู้ที่เราไว้ใจพอจะบอกกล่าวความผิดพลาดที่เราทำไว้ จะฝึกให้เราเป็นคนไม่ปิดบังความชั่วของตนเองได้ด้วย และกัลยาณมิตรจะได้ช่วยบอกหนทางแก้ไขให้กับเรา ไม่ให้เราต้องกระทำผิดซ้ำอีก

๖. หมั่นปฏิบัติธรรม หมั่นนั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะทำให้เรามีสติ สามารถควบคุมความประพฤติของเราได้อย่างดี

อานิสงส์ของการบำเพ็ญสัจจบารมี

๑. ไม่มีความเดือดร้อนใจ ไม่ต้องคอยระแวงหวาดกลัวว่าผู้อื่นจะรู้การกระทำความผิดของตนเอง เพราะเมื่อได้ยอมรับความจริงแล้ว ก็ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจที่ต้องคอยจดจำความผิดที่เคยกระทำมา

๒. เป็นที่เชื่อถือของชนเป็นอันมาก ไม่เป็นที่หวาดระแวงของผู้อื่น

๓. เป็นผู้ที่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ มีวาจาเป็นหนึ่ง เมื่อกล่าวอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่นไปได้

๔. มีความองอาจในที่ประชุมชน ไม่เก้อเขินในที่ทุกสถาน

๕. เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

๖. ย่อมทำความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรมให้เกิดขึ้นได้โดยง่าย

๗. ทำให้คุณธรรมต่างๆ เพิ่มพูน เจริญงอกงามได้โดยง่าย

๘. เมื่อละโลกไปแล้วย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

๙. สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย

สรุป

                  พระโพธิสัตว์แม้จะพลาดพลั้งกระทำผิด ทำให้ต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานในบางชาติ แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านไม่อาจกระทำได้ นั่นคือ การกล่าวเท็จทั้งๆ ที่รู้อยู่ ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานโอวาทแก่พระราหุลว่า “ดูก่อนราหุล เรากล่าวว่าบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่งไม่มี เพราะเหตุนั้นแหละ ราหุล เธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น ดูก่อนราหุล เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล”

                ท่านจึงดำริว่า ผู้ที่ละความสัตย์เสีย ย่อมไม่สามารถจะนั่งที่โพธิบัลลังก์บรรลุพระโพธิญาณได้เลย ด้วยเหตุแห่งความเป็นผู้มีวาจาเป็นสัตย์มาข้ามภพข้ามชาติ ทำอย่างไรก็กล่าวอย่างนั้น กล่าวอย่างไรก็ทำอย่างนั้น พระดำรัสของพระองค์จึงมีอานุภาพเป็นความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาในที่สุด


เชิงอรรถอ้างอิง
1สุเมธกถา, พระสูตรและอรรถกถาแปล, ขุททกนิกาย อปทาน, เล่มที่ ๗๐, หน้า ๕๔.
2โลกสูตร, พระสูตรและอรรถกถาแปล, อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต, เล่มที่ ๓๕, หน้า ๖๕


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015043338139852 Mins