อุเบกขาบารมี
บารมีอันดับสุดท้ายที่สุเมธดาบสบรมโพธิสัตว์ตรวจดูด้วยญาณทัสสนะอันเป็นทิพย์ พบว่าอุเบกขาบารมีนี้เป็นสิ่งที่จะต้องกระทำอย่างยิ่งยวด เพราะเล็งเห็นถึงอุปสรรคสำคัญที่จะมาเป็นกำแพงขวางกั้นหนทางการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ นั่นคือความมีใจเอนเอียงต่อสิ่งที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นสุขหรือทุกข์ก็ตาม เมื่อท่านเล็งเห็นอย่างนี้แล้ว ก็ตั้งเป้าหมายปณิธานไว้เลยว่า ต่อจากนี้ไปไม่ว่าจะประสบกับความสุขหรือความทุกข์มากมายเพียงใด จะไม่ยอมให้ใจกระเพื่อม จะไม่ยอมให้ใจขึ้นๆ ลงๆ คือ เมื่อดีใจหรือเป็นสุขก็จะไม่แสดงออกมาอย่างออกหน้าออกตาหรือดีใจจนเกินงาม เมื่อประสบทุกข์หรือถึงคราวต้องเศร้าโศกเสียใจก็จะไม่คร่ำครวญ บ่นเพ้อพิไรรำพัน แต่จะคอยรักษาอารมณ์ให้สงบนิ่ง วางใจเป็นกลาง ให้ใจคงความราบเรียบ ไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งที่มากระทบ ให้ใจมั่นคงเหมือนกับแผ่นดิน ที่ไม่ว่าใครจะราดรดด้วยของที่สะอาดหรือไม่สะอาดก็ตาม แผ่นดินก็ยังคงเฉยต่อทุกการกระทำ ดังเนื้อความที่นำมาแสดงไว้นี้1
ลำดับนั้น สุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลาย จะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น จึงพิจารณาให้ยิ่งขึ้นไป ก็ได้เห็นอุเบกขาบารมีข้อที่ ๑๐ แล้วได้มีความคิดดังนี้ว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านจงบำเพ็ญแม้อุเบกขาบารมีให้บริบูรณ์ จึงวางใจเป็นกลางทั้งในสุขและทุกข์ เหมือนอย่างว่า ธรรมดาแผ่นดินเมื่อคนทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ย่อมทำใจเป็นกลางอยู่ ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน วางใจเป็นกลางอยู่ในสุขและทุกข์ ก็จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานอุเบกขาบารมี ข้อที่ ๑๐ กระทำให้มั่นแล้ว ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า
“ก็พุทธธรรมเหล่านี้จักไม่มีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องปมพระโพธิญาณ คราวนั้นเราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นอุเบกขาบารมีข้อที่ ๑๐ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อน ถือปฏิบัติเป็นประจำ ท่านจงสมาทานอุเบกขาบารมีข้อที่ ๑๐ นี้ กระทำให้มั่นก่อน ท่านเป็นผู้มั่นคงประดุจตราชู จักบรรลุพระสัมโพธิญาณ ธรรมดาแผ่นดินย่อมวางเฉยในของไม่สะอาดและของสะอาดที่คนทิ้งลง เว้นจากความโกรธและความยินดีทั้งสองนั้น ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเป็นประดุจตาชั่งในสุขและทุกข์ในกาลทุกเมื่อ ถึงความเป็นอุเบกขาบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้”
อุเบกขาคืออะไร
อุเบกขา แปลว่า ความเพ่ง ความเล็ง ความหวัง ความวางเฉย ความวางใจเป็นกลาง ความมีใจเฉยอยู่ ความเที่ยงธรรม
อุเบกขา มีความหมายกว้างๆ อยู่ ๓ นัยยะด้วยกัน
๑. อุเบกขา นัยยะแรก หมายถึง ความเป็นผู้มีใจเที่ยงธรรม ไม่เอนอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นั่นคือ ไม่มีอคติต่อผู้อื่น ให้ความเป็นธรรมกับทุกคนอย่างเสมอภาค ไม่ลำเอียงเพราะรัก เพราะชัง เพราะไม่รู้ หรือเพราะกลัว2 คือ ไม่มีอคตินั่นเอง แม้ว่าตนจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้อื่นก็ตามที แต่จะไม่ยอมเอนเอียงอย่างเด็ดขาด นี้เป็นการวางตัวต่อสังคม มีความรับผิดชอบต่อหมู่คณะ
๒. อุเบกขา นัยยะที่สอง หมายถึง การปล่อยวางหรือวางเฉยเมื่อไม่สามารถช่วยอะไรได้แล้ว อุเบกขาในระดับนี้ต้องประกอบด้วยความอดทนและความเมตตาเป็นพื้นฐาน เพราะมีความเมตตาจึงหวังประโยชน์สุขต่อผู้อื่น หากช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยกันไป หากไม่สามารถช่วยได้ก็ต้องปล่อยวาง แม้พระพุทธองค์บางครั้งก็ประสบกับผู้ที่พระองค์ไม่สามารถโปรดได้ เพราะบุญบารมีในตัวของผู้นั้นยังอ่อนอยู่มาก จึงต้องปล่อยวางและให้โอกาสเขาได้สั่งสมบุญบารมี บ่มอินทรีย์ให้แก่รอบไปก่อน
|
๓. อุเบกขา นัยยะที่สาม หมายถึง การวางเฉยในอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบ ทั้งสิ่งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ มีใจสงบนิ่งสม่ำเสมอ มีอารมณ์ไม่สุขไม่ทุกข์
บารมี แปลว่าธรรมอันเลิศ ๑๐ ประการ ที่เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจังชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้วก่อให้เกิดบุญที่มีคุณภาพพิเศษที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติดีแล้วบรรลุพระโพธิญาณ
อุเบกขาบารมี หมายถึง ความพยายามอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อฝึกให้ใจของตนหยุดนิ่งจนไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์หรืออุปสรรคใดๆ ทั้งที่น่าชอบใจและไม่น่าซอบใจ
สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออุเบกขา
สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์หรืออุปสรรคต่อความสงบนิ่งของใจ ทำให้ใจเอนเอียง หวั่นไหว ไม่สงบราบเรียบ ขึ้นๆ ลงๆ คือ โลกธรรม
โลกธรรม คือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นประจำโลก ใครๆ ก็ต้องพบ หลีกเลี่ยงไม่ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงประสบ ดังเช่นในครั้งที่พระนางมาคันทิยา จ้างคนให้ตามด่าบริภาษ พระพุทธองค์ 3 เป็นต้น โลกธรรมมีอยู่ ๒ ประการ แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
๑. ฝ่ายที่คนทั่วไปปรารถนาอยากได้ คือ
๑.๑) ได้ลาภ คือ การได้ผลประโยชน์ เช่น ได้ทรัพย์ ได้บุตร-ภรรยา ได้บ้าน ได้ที่ดิน ได้เพชรนิลจินดาต่างๆ เป็นต้น
๑.๒) ได้ยศ คือ การได้รับตำแหน่ง ได้รับฐานะ ได้อำนาจเป็นใหญ่เป็นโต
๑.๓) ได้สรรเสริญ คือ การได้ยินได้ฟังคำชมเชย คำยกยอ คำสดุดีที่คนอื่นให้เรา
๑.๔) ได้สุข คือ ได้รับความสบายกายสบายใจ ได้ความเบิกบานร่าเริง ได้ความบันเทิงใจ
๒. ฝ่ายที่คนทั่วไปกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับตน คือ
๒.๑) เสื่อมลาภ คือ ผลประโยชน์ที่ได้มาแล้วเสียไป เช่น เสียเงิน เสียที่อยู่ ลูกรักตายเสีย เมียรักตายจาก
๒.๒) เสื่อมยศ คือ ถูกลดความเป็นใหญ่ ถูกถอดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดอำนาจ
๒.๓) ถูกนินทา คือ ถูกตำหนิติเตียน ถูกด่าว่าในที่ต่อหน้าหรือลับหลัง
๒.๔) ตกทุกข์ คือ ได้รับความทุกข์ทรมานทางกายหรือทางใจ
ทั้ง ๘ ประการนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ประจำคู่โลก เราต้องประสบอย่างแน่นอน ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย ดังนั้น เราจึงต้องเตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้ให้ดี ให้มีใจที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว มีใจหนักแน่นมั่นคงดุจขุนเขา เมื่อถึงคราวต้องประสบกับโลกธรรมเข้าจริงๆ เราจะรู้เท่าทันว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่จีรังยั่งยืนอะไร ลาภมีได้ก็เสื่อมได้ ยศตำแหน่งใหญ่โตก็ไม่ใช่ของเราตลอดไป สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ ทุกคนต้องพบทั้งนั้น และในที่สุดต้องเสื่อมสลายไปเป็นธรรมตาตามกฎของไตรลักษณ์
ไตรลักษณ์
ไตรลักษณ์ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สามัญลักษณะ คือ ลักษณะประจำของทุกสรรพสิ่งในโลก
สิ่งของต่างๆ ในโลกมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป เช่น ทองก็มีสีออกเหลืองๆ สะท้อนแสง มีประกายแวววาว กระจกก็ใส เพชรก็แข็ง คนเราก็มีชีวิตจิตใจ รู้จักคิด แต่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่ก็ตาม ย่อมมีลักษณะ ๓ ประการที่เหมือนกันหมด คือ
๑. อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง ไม่หยุดอยู่กับที่ ต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เช่น บ้านเรือนก็ต้องเก่าคร่ำคร่าทรุดโทรมลงไป คนเราวันนี้กับเมื่อวานก็ไม่เหมือนกัน มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เป็นธรรมดา
๒. ทุกขัง คือ ความเป็นทุกข์ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเป็นทุกข์ร้องไห้น้ำตาตก แต่หมายถึงการคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องแตกดับ เพราะเมื่อมันไม่เที่ยง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้ว มันก็ต้องแตกดับ เช่น บ้านก็ต้องพัง คนเราก็ต้องตาย แม้โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และวันหนึ่งก็ต้องทำลายลง
๓. อนัตตา คือ ความเป็นของไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ไม่อยู่ในอำนาจ บังคับบัญชาไม่ได้ เช่น ตัวเราจะบังคับไม่ให้แก่ก็ไม่ได้ บังคับไม่ให้ป่วยไข้ก็ไม่ได้ บ้านบังคับไม่ให้เก่าก็ไม่ได้ และตัวของเราถ้ามาแยกธาตุกันจริงๆ แล้วจะพบว่าประกอบขึ้นด้วยเลือด เนื้อ กระดูก ฯลฯ เท่านั้น หาตัวตนจริงๆ ไม่เจอ เป็นเพียงการประชุมรวมแห่งธาตุ ประกอบกันขึ้นมาชั่วคราว พอตาย ธาตุต่างๆ ก็แยกสลายจากกันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง
คนทั้งโลกมองไม่เห็นไตรลักษณ์ จึงลุ่มหลงมัวเมา ยินดียินร้ายกับโลกธรรมทั้ง ๘ ต่างต้องตกอยู่ในห้วงทุกข์ตลอดมา โบราณท่านสอนไว้ว่า หากอยากรู้ว่าใครถึงคราวตกทุกข์ได้ยากแล้วจะพิลาปรำพันโอดครวญแค่ไหน ให้ดูอย่างนี้ ถ้าคนนั้นเวลาดีใจ ได้ของถูกใจก็หัวเราะร่า ให้รู้เลยว่าเมื่อถึงคราวเสียใจ เสื่อมลาภ เขาจะร้องไห้โฮๆ เป็นช้างร้องทีเดียว ตรงกันข้าม ถ้าเวลาตีใจเขาก็แค่ยิ้มๆ ให้รู้เลยว่าถึงตอนเสียใจ อย่างมากคงจะแค่กัดฟันหรือนิ่งไปสักพักแล้วก็หาย ท่านจึงให้ข้อเตือนใจไว้ว่า “ถ้าดีใจจงยิ้มเพียงมุมปากเดียว เมื่อถึงคราวเสียใจจะได้ไม่ถึงกับร้องไห้
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะต้องประสบกับโลกธรรมทั้งด้านดีหรือไม่ดีก็ตาม ให้เราวางอุเบกขาแล้วทำความดีต่อไป พระโพธิสัตว์ท่านเข้าใจความเป็นจริงอย่างนี้ จึงได้ตั้งใจอย่างยิ่งยวดที่จะสร้างอุเบกขาบารมีให้เต็มที่เต็มกำลัง เพื่อเอาไว้รองรับกันโลกธรรมทั้ง ๔ นี้ นี้เป็นนัยยะเพื่อการฝึกฝนอบรมตนเองให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
สำหรับเราผู้ปรารถนาที่จะสั่งสมอบรมบ่มบารมีให้แก่รอบ สร้างอุปนิสัยแห่งความเป็นผู้มีความเที่ยงธรรม ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน มีใจที่หนักแน่นมั่นคง ดังที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลายได้กระท่าไว้เป็นต้นแบบแล้ว เรามีความจำเป็นต้องบำเพ็ญอุเบกขาบารมีเช่นกัน เพื่อสั่งสมบุญให้มากยิ่งขึ้น และพัฒนาศักยภาพของใจให้มีอานุภาพยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะพุ่งทะยานไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน
วิธีรักษาใจให้เป็นกลาง
๑. พิจารณาให้เห็นความเป็นจริงของโลก ว่าธรรม ๘ ประการย่อมมีอยู่ประจำโลก นั่นคือ มีลาภ เสื่อมลาภา มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ ทั้ง ๔ ประการนี้ทุกคนย่อมต้องพบเจอ ไม่มีใครหลีกหนีได้พ้น เมื่อเราพิจารณาอยู่อย่างนี้เนื่องๆ ย่อมยอมรับความเป็นจริงของโลกได้ จะเป็นผู้เข้าใจโลกตามความเป็นจริง ใจก็ย่อมบรรเทาความหวั่นไหวในสิ่งเหล่านี้ลงได้
๒. วางใจเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการพิจารณาว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ใครทำกรรมใดไว้ย่อมได้รับผลกรรมนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ใจย่อมปราศจากความยึดมั่นหรือกังวลในสิ่งใดๆ
๓.พิจารณาถึงกฎไตรลักษณ์ มองว่าสิ่งทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และที่สุด
ก็ต้องถึงความเสื่อมสลายหายไปเป็นธรรมดา
๔. พึงเว้นบุคคลที่มีใจไม่เที่ยงธรรม อยู่ห่างจากบุคคลผู้ประกอบด้วยอคติ แล้วหมั่นคบหาแต่กัลยาณมิตรผู้มีใจเป็นกลางในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย
๕. มองประโยชน์ส่วนรวม สิ่งใดก็ตามที่เอื้อประโยชน์ต่อหมู่คณะ ก็แบ่งปันให้เสมอภาคกัน ไม่เอนเอียงเข้าข้างตนเองหรือใครคนใดคนหนึ่ง แม้ในบางครั้งเราอาจได้รับความลำบากบ้าง ก็ต้องยอมอย่างนี้อุเบกขาบารมีย่อมเพิ่มพูนขึ้นมาก
๖. หมั่นเจริญภาวนาเป็นเนืองนิตย์ เพราะการทำสมาธินั้นจะทำให้เรามีใจหนักแน่น ไม่ยึดติดในวัตถุสิ่งของต่างๆ ได้ง่าย มองเห็นสิ่งต่างๆ ไปตามความเป็นจริง และสามารถที่จะละความยินดียินร้าย ยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นได้ทุกเหตุการณ์
อานิสงส์ของการบำเพ็ญอุเบกขาบารมี
๑. เป็นผู้ที่ไม่เดือดร้อนใจ ไม่ว่าจะต้องประสบทุกข์สักเพียงใดก็ตาม
๒. มีผิวพรรณวรรณะที่ผ่องใส เพราะไม่ไปเกาะเกี่ยวอยู่กับเรื่องที่ทำให้ใจต้องเศร้าหมอง
๓. ป้องกันการกระทบกระทั่งกันได้เป็นอย่างดี
๔. ได้รับการสรรเสริญจากบัณฑิตทั้งหลาย
๖. เป็นที่พึ่งให้กับผู้อื่นในคราวที่เกิดปัญหา ไม่สามารถที่จะตัดสินชี้ขาดลงไปได้
๗. ป้องกันตนเองไม่ให้ทำความชั่วทั้งปวงได้
๘. มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน ไม่ตกต่ำ
๙. สามารถทำใจให้หยุดนิ่งได้โดยง่าย
๑๐. เมื่อละโลก ย่อมมีสุตติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
๑๑. สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย
เชิงอรรถอ้างอิง
1สุเมธกถา, พระสูตรเเละอรรถกถาเเปล, ขุททกนิกาย อปทาน, เล่มที่ ๗๐ หน้า ๕๗
2อคติ ๔ ได้แก่ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ
3เรื่องพระนางสามาวดี, พระสูตรและอรรถกถาแปล, ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, เล่มที่ ๔๐, หน้า ๒๘๔.