พูดผิดชีวิตเปลี่ยน

วันที่ 19 มค. พ.ศ.2565

พูดผิดชีวิตเปลี่ยน

                ไม่ว่าจะในสังคมครอบครัว สังคมในที่ทำงาน ตลอดจนสังคมที่ใหญ่ขึ้นก็ตาม คนเราล้วนมีโอกาสถูกใส่ร้ายมาก มีเจตนาดีแท้ๆ แต่ถูกบิดเบือนก็มีให้เห็นทั่วไป เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในสังคม

                  บางครั้งถูกบิดเบือนเป็นกระแสสังคมจนกู่ไม่กลับ ภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ให้เราตระหนักว่า การสื่อสารนั้นสำคัญมาก

19-1-65---2-b1.jpg

                   หากกล่าวถึงในระดับบุคคล ความหวังดีอย่างเดียวนั้นไม่พอ เราควรคิดให้ละเอียดถี่ถ้วน โดยใช้หลักคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า ควรสื่อสารด้วยถ้อยคำที่คนฟังเข้าใจง่ายและรับได้ เพื่อลดการเกิดความบิดเบือนและเข้าใจผิด

                    เราควรไตร่ตรองให้ดีก่อนสื่อสารออกไป โอกาสที่จะเกิดข้อบกพร่องย่อมมีน้อย ถึงข้อความนั้นจะไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ข้อบกพร่องที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดย่อมลดน้อยลง

                    ยิ่งถ้าได้เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองด้วยแล้ว การจะสื่อสารอะไรออกไปยิ่งต้องคิดให้มาก เพราะในคนหมู่มาก เรื่องราวต่างๆ ยิ่งมีความซับซ้อนสื่อสารยาก คนเรามักจะคิดแบบชั้นเดียว คิดทางเดียว แล้วฟันธงง่ายๆ

                    พอเกิดกระแสสังคมขึ้นแล้ว การจะไปต้านทานก็ยิ่งยาก เพราะฉะนั้น เราควรใคร่ครวญให้ดีก่อนลงมือทำ เพื่อลดโอกาสเกิดความผิดพลาดให้น้อยลง

                     มีผู้นำประเทศของไทยเคยกล่าวอมตะวาจาไว้ว่า

                     “ก่อนพูดเราเป็นนายคำพูด แต่ถ้าพูดไปแล้ว คำพูดนั้นจะกลายเป็นนายเรา”

                     คือ คำพูดนั้นจะผูกมัดเรา ยิ่งในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวล้ำนำสมัย

19-1-65---2-b2.jpg

                   พอเราพูดสื่อสารออกไปแล้ว ข้อความเหล่านั้นจะถูกบันทึกไว้ชั่วกาลนาน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอีกกี่ร้อยปี ข้อความเหล่านั้นก็พร้อมจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาได้เสมอ ไม่มีทางที่จะปิดกั้นได้ เราจึงควรใคร่ครวญให้ละเอียดถี่ถ้วนจริงๆ ก่อนจึงจะสื่อสารออกไป ดังคำกล่าวที่ว่า “ พูดผิดชีวิตเปลี่ยน”

                   หลักสำคัญในการตักเตือนคือคำพูด ดั่ง “วาจาสุภาษิต 5 ประการ” ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้หลักคำสอนไว้นั้นเป็นประโยชน์มาก

                   ถ้าเราไม่ต้องการให้เกิดผลร้าย เราควรลดทิฐิมานะในใจ แล้วปรับปรุงแก้ไขตนเอง ก็จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น

                   พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยที่พระองค์เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้เป็นว่าที่กษัตริย์ มีวิถีชีวิตเพียบพร้อมทั้งหน้าที่การงาน รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ แต่สุดท้ายพระองค์ทรงตระหนักรู้ว่า จริงๆ แล้วคุณค่าของพระองค์นั้นอยู่ที่การแสวงหาทางพ้นทุกข์ นำไปสู่หนทางของพระนิพพานนั่นเอง

เจริญพร
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015066862106323 Mins