บริหารเชิงพุทธให้ใจอยู่ในสุข
ในทางโลก มีการจัดการกับวิธีการบริหารใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทั้งสถาบันด้านธุรกิจที่หมั่นคิดค้นวิจัยรูปแบบการบริหารให้เหมาะกับยุคสมัยและได้ผลดี รวมถึงสถาบันการศึกษา ครูอาจารย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจ ก็ร่วมกันคิดค้นรูปแบบการบริหารที่ได้ผลและเข้ากับยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง สิ่งแวดล้อมทางเทคโนโลยีก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นระยะ
แต่หลักการบริหารที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วไม่เคยเปลี่ยนตลอดระยะเวลา ๒,๕๐๐ กว่าปี เพราะสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้นั้นคือสัจธรรม เป็นความจริงที่อยู่คู่โลก มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ “หลักธรรมาธิปไตย” คือ ยึดถือธรรมและความถูกต้องเป็นใหญ่
ผู้บริหารควรยึดถือตามหลักความจริง เพราะหากยึดถือเพียงประโยชน์ส่วนตนหรือหมู่คณะเป็นหลัก การตัดสินใจก็จะผิดเพี้ยน นำพาองค์กรไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด
ผู้บริหารควรยึดถือตามหลักความจริง เพราะหากยึดถือเพียงประโยชน์ส่วนตนหรือหมู่คณะเป็นหลัก การตัดสินใจก็จะผิดเพี้ยน นำพาองค์กรไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด
สิ่งบั่นทอนที่จะทำให้เราไม่สามารถยึดถือธรรม หรือความถูกต้องเป็นหลักได้ ได้แก่ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ
ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า “ปปัญจธรรม ๓” แปลว่า “ธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า”
ซึ่งเป็นตัวถ่วงความเจริญ เหตุที่ทำให้ผู้บริหารไม่ยึดถือธรรมเป็นใหญ่เกิดจาก
“ตัณหา” คือ ความอยาก เช่น อยากได้ประโยชน์ส่วนตน เกิดผลประโยชน์แอบแฝง การตัดสินใจจึงเบี่ยงเบนเพื่อเอาประโยชน์เข้าตัวหรือหมู่คณะ
“มานะ” คือ ความถือตัว เรามักจะเรียกคู่กับคำว่า “ทิฏฐิ” แต่ตัวมานะจริง ๆ คือ ความถือตัว ยิ่งโตเป็นผู้ใหญ่ ความถือตัวก็จะยิ่งมีมากขึ้น พอมีอำนาจมาก ความถือตัวนี้จะยิ่งเกิดขึ้นมาก เกิดโอกาสผิดพลาดสูง ผู้นำที่ยังใช้ตาดูหูฟัง ยอมรับความคิดเห็นจากผู้คนรอบข้าง ถ้ามองในแง่ธุรกิจย่อมรอด
“ทิฏฐิ” คือ ความดื้อดึง ถึงจะรู้ว่าตนเองผิดพลาดแต่กลัวเสียหน้า ใครขัดไม่ได้ ดึงดัน ยืนกรานว่าตนเองถูกต้อง แล้วผลเสียก็เกิดตามมามากขึ้น
พระสัมมาสัมพุทธตรัสว่า “ทิฏฐิ” เป็นหนึ่งใน “ปปัญจธรรม” ที่ถ่วงความเจริญ ถ้าเราอยากให้องค์กรเจริญรุ่งเรือง ก็ต้องถือธรรมเป็นใหญ่ ระมัดระวังตัณหา มานะ ทิฏฐิ อย่าปล่อยให้ ๓ ตัวนี้กำเริบ
ผู้นำองค์กรยังมีกิเลส แม้แต่คณะสงฆ์ซึ่งไม่ใช่พระอรหันต์ทั้งหมดก็ยังไม่หมดกิเลส พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตรัสไว้ว่า “ให้ตัดสินโดยหมู่คณะ” เกิดเรื่องใดแล้วให้ประชุมสงฆ์ ตั้งญัตติ แล้วลงมติ ๓ วาระ เหมือนกับระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องมีการลงมติถึง ๓ วาระในรัฐสภาก่อนจึงจะผ่าน
การบวชพระที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ในปัจจุบัน เรียกว่า “ญัตติจตุตถกรรมวาจา”
คือ มีการตั้งญัตติ ๑ ครั้ง แล้วพระคู่สวดสวดถาม ๓ รอบว่าบุคคลผู้นี้จะขอบวชโดยมีพระอุปัชฌาย์ชื่อนี้ สงฆ์เห็นควรประการใด เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติพื้นฐานผ่านแล้วโดยไล่มาตามพระวินัย
ถ้าคณะสงฆ์เห็นชอบ ก็ขอให้นิ่ง วาระที่ ๑ วาระที่ ๒ และวาระที่ ๓ ถ้าเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จึงผ่าน ซึ่งระบบรัฐสภาทั่วโลกเลียนแบบมาจากหลักการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางไว้ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว
เมื่อมนุษย์ยังไม่หมดกิเลส หากให้อำนาจอยู่กับบุคคลเดียว อาจจะเกิดความเสียหายได้ เพราะฉะนั้น ดีที่สุดต้องให้โปร่งใส
โดยตัดสินด้วยหมู่คณะ ใช้หลัก “โลกาธิปไตย” โดยหมู่คณะ เน้นเสียงส่วนใหญ่ ยึดหลักประชาธิปไตยดีที่สุด
ถ้าบุคคลมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถตรวจสอบได้บุคคลนั้นย่อมมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจ ใช้อำนาจอย่างไม่ระมัดระวัง อยากทำอะไรก็ทำ เพราะตัดสินทุกอย่างได้เอง คนอื่นตรวจสอบไม่ได้
แต่ถ้ามีการตรวจสอบได้ บุคคลนั้นก็จะระมัดระวังในการใช้อำนาจตัดสินใจมากขึ้น ธรรมชาติของมนุษย์ที่ยังไม่หมดกิเลสเป็นอย่างนี้เอง เพราะฉะนั้น ต้องยึดหลักการตัดสินด้วยหมู่คณะ แล้วทำทุกอย่างให้โปร่งใส
ถ้าอย่างนี้ก็จะเป็นตัวช่วยให้ตัณหา มานะ ทิฏฐิอ่อนแรงลง ควบคุมอยู่ แล้วทำให้องค์กรเจริญก้าวหน้าต่อไปได้
เจริญพร
พระมหาสมชาย ฐานวุฒฺโฑ