Agile เเนวคิดการทำงานขององค์กรยุคใหม่
Agile คือ ความหมาย-หลักการ-แนวคิดในการทำงานแบบใหม่ เน้นด้านการสื่อสาร และการปรับปรุงพัฒนาระบบ คือ
“ทีมงานต้องรับฟังข้อเสนอแนะ หรือผลตอบรับจากผู้ที่เกี่ยวข้องให้เร็วที่สุด” แล้วเร่งนำมาปรับปรุงระบบ ถ้าชักช้าจะไม่ทันคู่แข่ง
ยกตัวอย่างหลายบริษัทจะออกซอฟต์แวร์เวอร์ชันทดลองใช้ก่อน เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งได้ทดลองใช้ แล้วรอผลตอบรับว่าควรปรับปรุงเพิ่มเติมตรงจุดใดบ้าง
เรียกได้ว่า ไม่ต้องรอให้เสร็จสมบูรณ์แบบไร้ที่ติก่อนจึงออกสู่ท้องตลาด แต่ออกก่อนเพื่อให้ได้รับกระแสตอบรับแล้วพัฒนาต่อได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด
“ทีมงานต้องเปิดใจยอมรับข้อผิดพลาดและข้อเสนอแนะเสมอ” บางคนอาจจะตั้งใจทำงานเต็มที่ พอมีคนมาตำหนิว่าผลงานของตนเองไม่ตอบโจทย์ ก็อาจจะรู้สึกผิดหวังได้ แต่ก็ต้องยอมรับข้อผิดพลาด แล้วนำไปปรับปรุงแก้ไขตามความต้องการของผู้บริโภคต่อไป
ทีมงานร่วมกันใช้ต้นทุนให้น้อยที่สุดเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ซึ่ง Agile เน้นการทำงานแบบรวดเร็ว ผลิตผลิตภัณฑ์ออกมาบุกตลาด ดังนั้น ต้องใช้ต้นทุนมาก อาจมีบ้างที่ติดปัญหาเรื่องการระดมทุนในระหว่างการทำงานลองผิดลองถูก ถ้าใช้ทุนมากเกินไปก็ยากที่จะเดินหน้าต่อ
ทีมงานต้องหมั่นพัฒนาระบบเดิมอยู่เสมอ
ไม่ใช่ทำแต่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพียงเท่านั้น บางครั้งทีมงานพึงพอใจในระบบเดิมที่ดีอยู่แล้วมานาน จนเผลอละเลยไปในการพัฒนาระบบ มัวแต่ทุ่มเวลาไปกับการสร้างระบบใหม่ๆ ดังนั้น อะไร ๆ ที่คนรุ่นเก่าทำไว้ดีอยู่แล้ว เราไม่ควรละทิ้ง แต่ควรนำไปพัฒนาต่อยอดให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
ทีมต้องรู้ว่าตนเองทำงานเพื่ออะไร
ไม่ใช่ทำตามคำสั่งหัวหน้าทีมเท่านั้น ซึ่งการที่หัวหน้าทำให้ลูกทีมรับรู้ถึงความสำคัญของตนเองว่าเขาทำงานไปเพื่ออะไร จะทำให้ลูกทีมมีกำลังใจอยากทำงาน เพราะทำแล้วมีประโยชน์ ผลงานถูกนำไปใช้จริง สร้างกำลังใจให้เกิดแก่คนทำงาน
นอกเหนือจากจะมีกำลังใจแล้ว ถ้าสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เขาจะรู้วัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่า ควรทำอย่างไรต่อไป และสามารถตัดสินใจปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานได้ทันท่วงที
การทำงานแบบ Agile ที่องค์กรระดับผู้นำในโลกดิจิทัลใช้กัน คือ การทำงานแบบทีละก้าวเล็ก ๆ โดยเน้นผลลัพธ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก
ทุกคนในทีมงานร่วมมือร่วมใจกัน สื่อสารกันอย่างทั่วถึง เพื่อผลิตชิ้นงานมาให้ได้อย่างรวดเร็ว การทำงานเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ แล้วทำงานให้สำเร็จโดยเร็ว เป็นการประหยัดต้นทุน ไม่ต้องลองผิดลองถูกด้วยเงินจำนวนมหาศาล
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการทำงานระบบ Agile คือ ความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างคนทำงานด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูง ระดับกลาง หรือผู้ปฏิบัติการระดับล่าง
ในทางโลก มีการจัดการกับวิธีการบริหารใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทั้งสถาบันด้านธุรกิจที่หมั่นคิดค้นวิจัยรูปแบบการบริหารให้เหมาะกับยุคสมัยและได้ผลดี รวมถึงสถาบันการศึกษา ครูอาจารย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจ ก็ร่วมกันคิดค้นรูปแบบการบริหารที่ได้ผลและเข้ากับยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง สิ่งแวดล้อมทางเทคโนโลยีก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นระยะ
แต่หลักการบริหารที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วไม่เคยเปลี่ยนตลอดระยะเวลา ๒,๕๐๐ กว่าปี เพราะสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้นั้นคือสัจธรรม เป็นความจริงที่อยู่คู่โลก มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ “หลักธรรมาธิปไตย” คือ ยึดถือธรรมและความถูกต้องเป็นใหญ่
สิ่งบั่นทอนที่จะทำให้เราไม่สามารถยึดถือธรรม หรือความถูกต้องเป็นหลักได้ ได้แก่ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า “ปปัญจธรรม ๓” แปลว่า “ธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า” ซึ่งเป็นตัวถ่วงความเจริญ เหตุที่ทำให้ผู้บริหารไม่ยึดถือธรรมเป็นใหญ่เกิดจาก
“ตัณหา” คือ ความอยาก เช่น อยากได้ประโยชน์ส่วนตน เกิดผลประโยชน์แอบแฝง การตัดสินใจจึงเบี่ยงเบนเพื่อเอาประโยชน์เข้าตัวหรือหมู่คณะ
“มานะ” คือ ความถือตัว เรามักจะเรียกคู่กับคำว่า “ทิฏฐิ” แต่ตัวมานะจริง ๆ คือ ความถือตัว ยิ่งโตเป็นผู้ใหญ่ ความถือตัวก็จะยิ่งมีมากขึ้น พอมีอำนาจมาก ความถือตัวนี้จะยิ่งเกิดขึ้นมาก เกิดโอกาสผิดพลาดสูง ผู้นำที่ยังใช้ตาดูหูฟัง ยอมรับความคิดเห็นจากผู้คนรอบข้าง ถ้ามองในแง่ธุรกิจย่อมรอด
“ทิฏฐิ” คือ ความดื้อดึง ถึงจะรู้ว่าตนเองผิดพลาดแต่กลัวเสียหน้า ใครขัดไม่ได้ ดึงดัน ยืนกรานว่าตนเองถูกต้อง แล้วผลเสียก็เกิดตามมามากขึ้น
ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว รับรองว่าจะผ่านวิกฤติการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไปได้อย่างแน่นอน
เจริญพร
พระมหาสมชาย ฐานวุฒฺโฑ