ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างไม่ประมาท
ความไม่ประมาท คือ มีสติ มีความระมัดระวัง ส่วนความไม่ประมาทในธรรมนั้นมีนัยยะแอบแฝงมากมาย
คำว่า “ธรรม” ในพระไตรปิฎก หากนำแล้วมาวิเคราะห์ความหมายในแต่ละที่ ในพจนานุกรมที่สมาคมบาลีปกรณ์รวมไว้แล้ว มีความหมายของคำว่า “ธรรม” มากถึง ๕๙ ความหมาย
เพราะฉะนั้น ความหมายของความว่าธรรมนั้นมีมากมาย แต่คำว่า “ไม่ประมาทในธรรม” นี้ มีความหมายโดยรวม คือ "ไม่ประมาทในชีวิต"
เวลาผ่านไปทุกวัน ๆ ใครที่ยังคิดว่าตนเองยังเป็นหนุ่มสาว มีเวลาอีกยาวไกลนัก ทำตัวสบาย ๆ เที่ยวเล่นกินดื่มก่อน คิดว่าอีกสักสิบปีค่อยขยันทำงานก็ได้ ถ้าใครคิดอย่างนี้ เรียกได้ว่า “ประมาทแล้ว”
ประมาทในเวลา ประมาทในวัย รวมกันทั้งหมดคือ “ประมาทในชีวิต” ความจริงเวลาผ่านไปเร็วมาก ผ่านไปแล้วเรียกกลับมาไม่ได้ พอผ่านไปแล้วก็คือเรื่องของเมื่อวาน เอากลับมาไม่ได้แล้ว ต่อให้เป็นมหาเศรษฐี ก็เอาเวลากลับคืนมาไม่ได้
“เวลา” คือ สิ่งที่คนจน คนรวย คนมีอำนาจ คนธรรมดา ชนชั้นล่างมีเท่า ๆ กัน กล่าวได้ว่า คนเรามีต้นทุนความเป็นมนุษย์ คือ ร่างกายของเราเหมือน ๆ กัน ที่สำคัญเรามีเวลาเท่า ๆ กัน
ดังนั้น ทุกคนย่อมมีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน เราอย่าดูเบาชนชั้นกลาง คนธรรมดา ๆ หรือคนใช้แรงงาน จับกัง กรรมกรที่กลายเป็นมหาเศรษฐีมีถมไป
คนเคยทำงานใช้แรงงานมาก่อน ประสบความสำเร็จก็มีให้เห็นมากมาย เพราะฉะนั้น ทุกคนมีโอกาสเป็นผู้ชนะ เป็นที่หนึ่ง เป็นคนที่ประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้น
สมัยก่อน พอเรียนถึงระดับมัธยมปลาย มีการสอบแข่งขันจัดอันดับในประเทศไทย ใครติดอันดับ 1-50 คน รู้สึกว่าเยี่ยมมาก ยิ่งใครเป็นที่ 1 ในประเทศไทย ถือว่าเป็นเกียรติยศตลอดชีวิต ซึ่งในประเทศไทยมีเด็กเกิดมาปีหนึ่งประมาณหนึ่งล้านคน
แต่เรารู้หรือไม่ว่า ทุกคนเคยเป็นที่ 1 มาก่อน ตั้งแต่ตอนที่เกิดมา เราคือสิ่งมีชีวิต ที่แข็งแรงที่สุด แข็งแกร่งที่สุด จึงได้เกิดมาเป็นคนอย่างในทุกวันนี้
เพราะฉะนั้น ทุกคนไม่ธรรมดา ทุกคนเคยชนะเป็นที่ 1 มาก่อน ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว ให้เรามองตนเองรวมทั้งคนอื่น ๆ ใหม่ อย่าไปดูเบาเขาว่าเขาจน เขาไม่เก่ง เขาไม่มีความรู้
ทุกคนเก่งมาก่อนทั้งนั้น ทุกคนมีศักยภาพเหมือนกัน ที่สำคัญทุกคนก็มีโอกาสที่จะใช้ศักยภาพตนเองในการทำความดี ปฏิบัติธรรม มีโอกาสเข้าถึงธรรม บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ด้วยกันทั้งนั้น
สมัยพุทธกาล คนที่เกิดมาเป็นจัณฑาล จะถูกตราหน้าว่าเป็นเสนียด ใครไปเผลอมองต้องเอาน้ำมาล้างตา แต่สุดท้ายจัณฑาลมาบวชได้เป็นพระอรหันต์ก็มีมากมาย
เพราะฉะนั้น ทุกคนล้วนมีศักยภาพในตนเองทั้งนั้น เราจะไปดูเบาใครไม่ได้เลย ที่สำคัญเราอย่าดูเบาตนเอง ขอเพียงเราไม่ประมาทในธรรม คือ ไม่ประมาทในชีวิตเท่านั้น
ตอนที่เรายังมีร่างกายแข็งแรงอยู่ ยังทำอะไรตามใจชอบได้ก็ให้รีบทำ เพราะเราจะป่วยไข้ไม่สบายตอนไหนไม่รู้ ตอนที่ยังดีอยู่ ยังมีกำลังอยู่ ก็ให้ใช้กำลังนั้นในการทำความดีให้ได้มากที่สุด นี้คือความไม่ประมาท
“ความดี” ขยายตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ “บำเพ็ญประโยชน์ตน” ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา เจริญสมาธิ
และ “บำเพ็ญประโยชน์ท่าน” คือ ช่วยแนะนำผู้อื่นให้ปฏิบัติอย่างนี้ด้วย และทำทุกอย่างด้วยความไม่ประมาท นี้เองคือการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องและสมบูรณ์ ตามปัจฉิมโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สรุปว่าวิธีการแก้ไขความประมาทนั้นง่ายดาย คือ ไม่ประมาทเท่านั้น เพราะความไม่ประมาทจะทำให้ร่างกายเราตื่นตัวทำงานได้อย่างเต็มที่
ส่วนจิตใจของเราก็จะสามารถเชื่อมต่อกับบุญภายในตัวของเรา ทำให้บุญนั้นถูกกระตุ้น แล้วทำงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ดีถูกขจัดออกไป แล้วมลายหายสูญไปในที่สุด
“สติ” เปรียบเสมือนยามที่คอยเฝ้าระวังภัยไม่ให้มาถึงตัวเรา ไม่ประมาทในวัย ไม่ประมาทในเวลา เพราะจะทำให้เราห่างไกลจากการสั่งสมบุญบารมี
ให้หมั่นระลึกนึกถึงบุญ และสร้างบุญทวียิ่งขึ้นไป เพื่อเอาไว้เป็นเสบียงบุญติดตามตัวเราไปด้วย
เจริญพร
พระมหาสมชาย ฐานวุฒฺโฑ