จักรวาล คือ กรงขังสัตว์

วันที่ 23 สค. พ.ศ.2565

24-8-65-3-br.jpg

บทที่ ๔   จักรวาล คือ กรงขังสัตว์

            จักรวาลเป็นที่ตั้งของภพภูมิทั้ง ๓๑ เราสามารถรู้เห็นได้ด้วยการทำจิตให้มีคุณภาพตามที่กล่าวไว้ข้างต้น หรือถ้าแม้ยังไม่มีศรัทธาความเชื่อที่จะทำ ก็สามารถประมวลจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่รู้เห็นกันอยู่ เช่น เราเห็นสัตว์ดิรัจฉานมากมายหลายชนิดอยู่ทั่วไปในโลกของเรา เราได้ยินได้ฟังเรื่องของสัตว์บางภูมิที่ไม่ใช่มนุษย์เหมือนเรา เช่นเรื่องผี เรื่องเปรต อสุรกาย พระภูมิเจ้าที่ ชาวเมืองลับแล ซึ่งบางทีไม่ใช่เพียงคำบอกเล่า แต่ตัวเราเองกลับมีประสบการณ์นั้นเสียเองก็มี เช่นได้พบเห็นด้วยตนเองหรือถ่ายภาพ สถานที่บางแห่ง เมื่ออัดภาพออกมากลับมีภาพคนที่ตายแล้วติดอยู่บ้าง หรือเป็นรูปร่างของผู้อื่นที่ไม่รู้จักและไม่ได้อยู่ในสถานที่นั้นบ้าง

             สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่า นอกจากสัตว์ที่เป็นมนุษย์อย่างเราแล้วสัตว์ประเภทอื่นๆ มีอยู่ และถ้าเราได้พิสูจน์ทางจิต เราจะสามารถรู้เห็นถึงสัตว์ในภูมิอื่นๆตรงตามคำตรัสสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีอยู่ในตำรับตำราต่างๆ ทุกประการ

            ไม่ว่าจะประมวลจากความรู้ทางตำราหรือจากการรู้เห็นทางจิต ก็จะพบความจริงอยู่ข้อหนึ่งว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีอยู่เดิม เหมือนเป็นชีวิตพื้นฐานของจักรวาลสัตว์ภูมิอื่นๆ ล้วนไปจากมนุษย์ทั้งสิ้น การจะกลายจากมนุษย์เป็นสัตว์ภูมิต่างๆ เหล่านั้น เพราะมีสาเหตุจาก

กิเลสประเภทต่างๆ บีบใจมนุษย์

ใจเมื่อถูกบีบ ก็จะทำกรรม

กรรมเมื่อกระทำไปแล้ว ก็จะเกิดวิบากตามมา

วิบากมีอำนาจนำมนุษย์ เมื่อตายไปแล้วให้ไปเกิดตามภพภูมิต่างๆ เช่น

ทําความชั่วด้วยอำนาจ โลภะ มักไปเกิดเป็น เปรต

ทำความชั่วด้วยอำนาจ โทสะ มักไปเกิดเป็น สัตว์นรก

ทำความชั่วด้วยอำนาจ โมหะ มักไปเกิดเป็น สัตว์ดิรัจฉาน

ถ้าทำความดีพอสมควร เช่น รักษาศีล ๕ เป็นปกติ มักเกิดเป็นมนุษย์อย่างเดิม

ถ้าทำความดี ให้ทาน รักษาศีล และละอายเกรงกลัวบาป ตายแล้วไปเกิดในเทวโลก

ถ้าทำความดี ให้ทาน รักษาศีล ละอายเกรงกลัวบาปแล้ว ยังเพิ่มการทำจิต

ภาวนา กระทั่งมีอารมณ์แน่วแน่ เรียกว่าได้ ฌาน ย่อมสามารถไปเกิดเป็นพรหมชั้นต่ำ หรือสูงตามระดับของฌานจิต

            หลักฐานจากเรื่องการกำเนิดของจักรวาลหรือโลกธาตุ ก็ยืนยันไว้แน่นอนว่าเมื่อ จักรวาลอุบัติมีแผ่นดินในชมพูทวีปเกิดขึ้น พรหมในชั้นอาภัสสราภูมิที่หมดบุญหรือหมด อายุขัย ได้ลงมาเกิดเป็นมนุษย์ในยุคต้นกัป

             และถ้าจะย้อนถามว่า เหล่าอาภัสสราพรหมเหล่านั้น แต่เดิมมาจากไหน ก็ตอบได้ ว่ามาจากมนุษย์ที่บำเพ็ญเพียรทางจิตจนได้ฌาน

             มนุษย์จึงนับเป็นสัตว์พื้นฐานของจักรวาลจริงๆ

             แต่มนุษย์มีปัญญาความรอบรู้อยู่ในเขตจำกัด มักรู้เฉพาะในประสบการณ์ชีวิตของ ตนที่ผ่านมาในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น ไม่รู้ไปถึงชาติในอดีตและชาติต่อไปในอนาคต มีบ้าง บางรายเช่น ฤาษีชีไพร บำเพ็ญเพียรทางจิตพอรู้ได้บ้าง ก็ไม่ถึงสภาวะที่เรียกว่ารอบรู้ เพราะระลึกชาติย้อนหลังหรือไปข้างหน้าได้มีจำนวนชาติจำกัด ความรู้ที่ได้ไม่กว้างขวาง ถ่องแท้ ไม่ถูกต้องเต็มที่

             หรือสัตว์บางภูมิ เช่น สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เทวดา พรหม เหล่านี้ เวลาเกิด ขึ้นไม่ได้เกิดในครรภ์มารดาเหมือนเหล่ามนุษย์ แต่เกิดผุดเป็นตัวโตเต็มที่ทันที สัตว์เหล่านี้ สามารถจำเหตุการณ์ในชาติเก่าของตนได้ ก็จะจำได้เพียงชาติเดียว ที่เพิ่งตายมาหรือ ไม่กี่ชาติย้อนหลัง ไม่รู้ถึงอนาคต

             เมื่อเป็นเช่นนี้ เหล่ามนุษย์หรือแม้สัตว์ในสุคติภูมิอื่น เช่นเทวดาหรือพรหม ย่อม ไม่สามารถรู้ได้ว่าภพสามเป็นที่คุมขังพวกตน ให้วนเวียนตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายไม่มี วันจบสิ้น เกิดครั้งใดไม่มีทางรอดพ้นจากความทุกข์เลยแม้แต่ครั้งเดียว ความทุกข์เป็น สภาพที่ทนได้ยาก รู้จักกันดีก็จริง แต่ไม่รู้วิธีดับทุกข์

             กระทั่งถึงยุคสมัยที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติตรัสรู้ขึ้นในโลกมนุษย์ชมพูทวีป พระปัญญาคุณของพระองค์กว้างขวาง ไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่มีประมาณ ทรงทราบความ เป็นไปของสรรพสิ่งและสรรพชีวิตทั้งปวง ทรงรู้แจ้งเห็นแจ้งพระนิพพาน ซึ่งอยู่นอกสามภพ เป็นที่ไม่มีเกิดไม่มีตาย ตลอดถึงทรงทราบวิธีปฏิบัติเพื่อการเลิกเวียนว่ายตายเกิด

              ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นั้น เหล่าเวไนยสัตว์ สัตว์ที่พอรับคำสอนได้ จึงได้ มีโอกาสปฏิบัติตาม และได้พบความหลุดพ้นจากที่คุมขังอันกว้างใหญ่นี้ ถึงความสิ้นทุกข์

ทุกข์ใหญ่ๆ ของสรรพสัตว์ในภูมิต่างๆ คือ

สัตว์นรก ทุกข์เพราะถูกลงโทษ ทรมานด้วยประการต่างๆ เช่น ศาสตราวุธ ไฟกรด น้ำกรด นายนิรยบาลประหาร สุนัขนรก กานรก(นกชนิดหนึ่ง) ฯลฯ

เปรต ทุกข์เพราะความหิวโหย ความห่วงใยในคนที่ยังอยู่

อสุรกาย ทุกข์เพราะความหวาดกลัว ไม่มีที่อยู่ ที่กิน

ดิรัจฉาน ทุกข์เพราะเรื่องหาอาหารใส่ท้องเป็นสําคัญ

มนุษย์ ทุกข์เพราะต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เศร้าโศกเสียใจด้วยเรื่องราวต่างๆ

เทวดา ทุกข์เพราะมีสมบัติทิพย์ไม่เท่าเทียมผู้อื่น (ติดอยู่ในกามคุณอารมณ์)

พรหมทุกข์เพราะต้องแข่งว่าใครจะมีรัศมีสว่างไสวกว่ากัน (มีสักกายทิฏฐิและมานะ)

              อย่างไรก็ดี สรรพสัตว์ทุกชีวิต ไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิใดๆ มักจมอยู่กับทุกข์ในภพ ที่ตนอยู่จนเป็นความเคยชิน มองทุกข์ไม่พบ เมื่อไม่พบก็ไม่คิดจะหลีกหนี ทั้งยังแก้ไขไป ผิดวิธียิ่งขึ้น เหมือนป่วยเป็นไข้ไม่รู้ว่าป่วย ก็ยิ่งหาแต่ของแสลงโรคให้ตนเอง อาการของ โรคจึงเพียบหนัก

             เมื่อใดมนุษย์มีปัญญาเห็นทุกข์ รู้จักทุกข์ เมื่อนั้นก็จะรู้จักพยายามหาต้นเหตุ ของทุกข์ให้พบแล้วกำจัดเสีย ปัญญาชนิดนี้เกิดเองได้ยาก ถ้ามีผู้ที่มีปัญญาเหนือกว่า ชี้แจงแนะนำ บอกหนทางให้ก็จะทำตามได้ง่ายและสะดวก เหล่าพระอริยเจ้าทั้งปวงเป็น ผู้มีปัญญาพิเศษดังนี้ จึงมีพระคุณอันยิ่งใหญ่ สามารถชี้นำสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้

              คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้เพื่อให้ผู้ปฏิบัติตามบรรลุมรรคผล นิพพานเลิกเวียนว่ายตายเกิดนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ตาม ก็ ทรงสอนเหมือนกันทั้งสิ้น โดยมิได้ทรงสอนความรู้ทั้งหมดที่พระองค์ทรงรู้แจ้งหรือรอบรู้ แต่สอนเฉพาะข้อที่จำเป็นจริงๆ ที่ให้เป็นประโยชน์เท่านั้น พระองค์ทรงเปรียบเทียบว่า ความรู้ที่ทรงมีอยู่มากเหมือนใบประดู่ลายทั้งป่า แต่นำมาสอนเพียงเท่าใบประดู่ลายเพียง กำมือเดียว

             หลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ มีใจความสำคัญว่า ๑. ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๒. ทำแต่ความดีให้เต็มที่ และ ๓. ทำจิตของตนให้ ผ่องใสบริสุทธิ์

และขันติ ความอดทน อดกลั้น) เป็นตบะ ความเพียรเผากิเลส) อย่างยิ่ง

พระนิพพาน(การเลิกเรียนว่ายตายเกิด) เป็นบรมธรรม (ธรรมที่ยิ่งใหญ่)

ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต (นักบวช) ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าสมณะ (ผู้สงบปฏิบัติเพื่อเป็นพระอริยบุคคล สิ้นกิเลส)

การไม่กล่าวร้าย การไม่ทําร้าย ความสำรวมในปาติโมกข์ ข้อห้ามที่พระพุทธเจ้า ทรงบัญญัติ) การรู้จักประมาณในการบริโภค การรู้จักนอน นั่งสมาธิในที่สงัด นี้เป็น คําสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

             ส่วนใหญ่แล้วเราถือ ๓ ข้อต้น เป็นใจความสำคัญของคำสอน คำสอนต่างๆ ที่ พบว่ามีมากมายนอกจากนั้น เป็นการสอนขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น

              ความชั่วทั้งปวงมีอะไร ขยายความเป็น ชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ เรียก ว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐

             ความดีเต็มที่ ขยายความเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐

             ทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส ขยายความเป็นเรื่องการทำความเพียรทางจิต ด้วยการ ทําสมาธิและวิปัสสนา

              หลักคําสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นหัวใจดังที่กล่าวนี้ก็จริง แต่วิธีการสอน พระองค์ทรงมีหลายวิธีตามความเหมาะสม เช่น

              สําหรับผู้ที่มีคุณงามความดีเป็นพื้นฐานของใจอยู่แล้ว ทรงสอนเรื่องการปฏิบัติ ทำความเพียรทางจิตเลย และการสอนเรื่องภาวนา ทรงสอนให้พอเหมาะพอดีกับอุปนิสัย และวาสนาบารมีทั้งชาตินี้และชาติก่อนของผู้นั้น

               สำหรับผู้ที่ยังมีข้อข้องใจสงสัย ทรงมีพุทธานุญาตให้ไต่ถามจนสิ้นสงสัยแล้วจึง ตรัสสอน

               สำหรับผู้มีทุกข์ร้อนเศร้าโศกไม่ว่าเรื่องอะไร ทรงสอนหรือมีอุบายวิธีให้ผู้นั้นปลง ได้เสียก่อนจึงตรัสสอน

                สำหรับผู้มีอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า คือยังมีบุญน้อยอยู่ ไม่สามารถเป็นพระอริยบุคคล ในชาตินี้ ทรงสอนให้สะสมความดี สร้างบารมีด้านต่างๆ เพื่อประสบความสําเร็จในชีวิต และพ้นทุกข์ในอนาคตเบื้องหน้า

               ถ้าสอนรวมกันในที่ผู้คนมีหลายชนิด มักตรัสสอนเรียงลำดับจากง่ายไปหายาก ที่เรียกว่า อนุปุพพิกถา ฟอกหรือขัดเกลาอัธยาศัยให้หมดจดเป็นขั้นๆ เพื่อเตรียมจิต ของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟัง ขั้นแรกทีเดียว สอนเรื่องทาน ขั้นที่สอง สอนเรื่องศีล

ขั้นที่สาม อธิบายเรื่องสวรรค์ คือผลของการทำความดีจะมีความสุขที่พรั่งพร้อมด้วยกาม ขั้นที่สี่ พรรณนาโทษของกามคุณ ขั้นที่ห้า พรรณนาอานิสงส์ของการออกจากกาม

               คำตรัสสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่ว่าจะขึ้นต้นด้วยเรื่องใดๆ ก็ตาม จะทรงสรุปท้ายด้วยเรื่องอริยสัจ ๔ เสมอไป เพราะเรื่องนี้เป็นความจําเป็นอันยิ่งยวด ที่มนุษย์ควรทราบและปฏิบัติตาม เพื่อความสิ้นทุกข์ เลิกเวียนว่ายตายเกิด

                อริยสัจ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการนั้น พระพุทธองค์ทรงสอนให้รู้ ดังนี้

๑. ความทุกข์ ซึ่งเป็นสภาพที่ทนได้ยาก มีทุกข์กาย ทุกข์ใจ เป็นต้น

๒. เหตุให้ทุกข์เกิด คือ ตัณหา ความทะยานอยาก ความดิ้นรนเป็นอำนาจของ โลภะบีบคั้น

๓. สภาพความปลอดทุกข์ คือพระนิพพาน ดับตัณหาสิ้นเชิง เรียกว่า นิโรธ

๔. ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ต้องทำพร้อมกันทั้ง ๘ ประการ เรียกว่า อริยมรรคมี องค์ ๘ คือทำถูกต้องเรื่องความคิดเห็น ความดำริ วาจา การงานทางกาย การเลี้ยงชีพ ความเพียร มีสติระลึกได้ มีสมาธิจิตตั้งมั่น

              นี่คือคำตรัสสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ไม่ว่าจักรวาลใด กัปใด ทรงสอนเหมือนกันหมดทั้งสิ้น

              ความคิดเห็นถูกต้อง คือ เห็นถูกต้องในอริยสัจ ๔ เห็นตามหลักกฎของกรรม ทำ ดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มารดาบิดามีคุณ การทำบุญมีผลดี ชาตินี้ชาติหน้ามี ตายแล้วต้องเกิด ถ้ายังไม่หมดกิเลส สัตว์ที่เกิดโดยโตเป็นตัวเต็มที่ เช่น สัตว์นรก เปรต เทวดา พรหม มีจริง สมณพราหมณ์ รู้แจ้งโลกหน้ามีอยู่ ขันธ์ ๕ คือ ร่างกายและจิตใจไม่เที่ยงแท้ แน่นอนเป็นต้น

             ความดำริถูกต้อง คือ ดำริออกจากกาม ออกจากความโลภ ดำริออกจากความ พยาบาท ดำริไม่เบียดเบียนใคร

            วาจาถูกต้อง คือ เว้นจากการพูดปด พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ

            การงานถูกต้อง คือ เว้นจากการฆ่าหรือเบียดเบียน การลักขโมยคดโกง การ ประพฤติผิดในกาม

              อาชีพถูกต้อง คือ ประกอบอาชีพที่เว้นจากวจีทุจริต และการงานทุจริต

ความเพียรถูกต้อง คือ เพียรกำจัดความชั่วที่มี ไม่ให้ความชั่วใหม่เกิด รักษา ความดีที่มี ทําความดี เพิ่มขึ้น

             มีสติถูกต้อง คือ ระลึกในการปฏิบัติภาวนา เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิต ในจิต และธรรมในธรรม

            สมาธิถูกต้อง คือ ตั้งใจมั่นในการให้อารมณ์เป็นหนึ่ง จนเกิดฌานจิตตั้งแต่ขั้น ที่ ๑-๔

             ความดีต่างๆ เหล่านี้ แม้จะลงมือกระทำจนเต็มความสามารถในชาตินี้แล้ว ก็ยัง ไม่สามารถบรรลุคุณวิเศษเป็นพระอริยบุคคล แต่จะเป็นการสั่งสมบุญ เมื่อบุญมากเข้า บุญก็จะกลั่นเป็นบารมีทั้งสิบ บารมีสิบมีเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ในภพชาติใด เมื่อนั้นฟังคำ ตรัสสอนหรือคำสอนของพระพุทธศาสนา ก็สามารถปฏิบัติตามบรรลุเป็นพระอริยบุคคล ทันที บารมีทั้งสิบได้แก่

            ทาน ศีล เนกขัมมะ(ออกจากกาม) ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา

            บารมี มี ๓ ระดับ ขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นสูงสุด

           ถ้ามนุษย์ธรรมดา สะสมบารมีขั้นธรรมดาครบสิบ เพียงพอต่อการบรรลุธรรม

แต่ถ้าเป็นการสร้างสมบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องสร้าง ทั้ง ๓ ระดับ เรียกว่า บารมีสามสิบทัศ และมหาบริจาค ๕ อย่าง

อุบาสิกาถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.040122465292613 Mins