จุดตั้งต้นของหายนะ
หลายท่านคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย” ไม่มีใครอยากเดือดร้อน แต่เชื่อไหมว่าความหายนะที่เกิดจากความประมาทนั้น เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เพียงชั่วพริบตา แล้วอยู่ในทุก ๆ เรื่อง ซึ่งส่วนมากก็มักจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตประจําวันของเราเอง โดยเฉพาะ "เรื่องเล็ก ๆ” ที่หลายคนไม่ให้ความสําคัญ แต่ไม่น่าเชื่อว่าอาจจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงได้
หากต้องทําการใหญ่ เรามักจะระมัดระวังเป็นพิเศษเสมอ แต่ถ้าเป็นเรื่องเล็ก ๆ เรื่องทั่ว ๆ ไป เราก็มักจะเผลอประมาท
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงความประมาทว่า “ปมาโท มจฺจุโน ปทํ” แปลว่า “ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย” และ “อปฺปมาโท อมตํ ปทํ" แปลว่า
."ความไม่ประมาท เป็นทางอมตะ"
ปัจฉิมโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นโอวาทครั้งสุดท้ายก่อนพระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”
ความไม่ประมาทนั้นสําคัญมากในแง่การดำเนินชีวิตของคนทั่วไป ยกตัวอย่าง
สมมุติว่าเราเดินอยู่ในที่มืด พื้นไม่เรียบอย่างบนสนามหญ้า มีหลุมมีบ่อบ้าง หาก เราเดินอย่างระมัดระวัง
เราก็จะปลอดภัย พอรู้สึกว่าพื้นตรงไหนเอียงหน่อย ก็เกร็งขาไว้ ค่อย ๆก้าวไปอย่างระวัง แต่ถ้าเราเดินในที่มืดอย่างไม่ระวัง เจอหลุมบ่อก็มีโอกาสล้ม ขาแพลงได้
คนที่ไม่ประมาท กับคนที่ประมาท แตกต่างกันมาก เพราะร่างกายเกิดความกระตือรือร้นในการเตรียมความพร้อมไม่เท่ากัน ถ้ามีการเตรียมความพร้อม มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นนิดเดียว ก็ยับยั้งทันท่วงที เพราะใจจดจ่อตื่นตัวตลอดเวลาอยู่แล้ว
แต่คนที่ประมาท ใจไม่ได้คิดจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ตนเองกำลังหาอยู่ พอเผลอไปแล้ว กว่าจะดึงใจกลับมาจดจ่อตรงนั้น ก็ไม่ทันให้ริ้งกล้ามเนื้อขึ้นมาแล้ว
คนขับรถ ถ้ามีความระมัดระวัง ให้ใจจดใจจ่อกับทางที่กำลังไป หากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น มีสุนัขวิ่งตัดหน้ารถ ก็อาจจะเหยียบเบรกทัน เพราะขับด้วยความระวังอยู่แล้ว จึงทำทุกอย่างได้ทันท่วงที
คนที่มัวใจลอย คิดเรื่องอื่น กว่าใจจะกลับมาจดจ่อกับเรื่องตรงหน้า กว่าสมองจะตัดสินใจสั่งการอะไร มันก็ช้าไปแล้ว ไม่ทันการณ์เสี้ยวแล้ว เพียงแค่เสี้ยววินาทีเท่านั้น เหล่านี้คือความแตกต่างระหว่างคนที่ไม่ประมาทกับคนที่ประมาท
เจริญพร
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ