อธิกรณสมถะ ๗ ธรรมเป็นเครื่องระงับอธิกรณ์

วันที่ 13 มีค. พ.ศ.2566

660323_01.jpg

อธิกรณสมถะ ๗

        อธิกรณสมถะ แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องระงับอธิกรณ์ คือข้อปฏิบัติสำหรับระงับอธิกรณ์วิธีดำเนินการที่จะระงับอธิกรณ์
        อธิกรณ์ หมายถึง เรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว สงฆ์จะต้องต้องดำเนินการต้องจัดต้องทำให้ดีและให้ถูกต้อง มี ๔ ประการ คือ
        (๑) วิวาทาธิกรณ์ ได้แก่ การโต้เถียงกันว่า สิ่งนี้เป็นธรรมเป็นวินัยสิ่งนี้ไม่ใช่ธรรมใม่ใช่วินัย การโต้เถียงกันในเรื่องอื่นนอกจากธรรมวินัย ไม่จัดเป็นวิวาทาธิกรณ์
        (๒) อนุวาทาธิกรณ์ ได้แก่ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัตินั้นๆ เช่นภิกษุรูปหนึ่งกล่าวหาภิกษุอีกรูปหนึ่งว่าต้องปฐมปาราชิก เป็นต้น
        (๓) อาปัตตาธิกรณ์ ได้แก่ การที่ภิกษุต้องอาบัติหรือถูกปรับอาบัติแล้ว จะต้องทำคืนคือทำให้พ้นโทษ
        (๔) กิจจาธิกรณ์ ได้แก่ กิจที่เกิดขึ้น สงฆ์จะต้องจัดทำ
        อธิกรณ์ ๔ ประการจะระงับได้ด้วยอธิกรณสมถะ ธรรมเป็นเครื่องระงับอธิกรณ์
        อธิกรณสมถะนั้นมี ๗ ประการ คือ

๑. สัมมุขาวินัย

        สัมมุขาวินัย แปลว่า ระเบียบอันพึงทำในที่พร้อมหน้า ได้แก่ การระงับอธิกรณ์ในที่พร้อมหน้า มี๔ คือ
        (๑) พร้อมหน้าสงฆ์ คือ ภิกษุประชุมครบองค์กำหนด
        (๒) พร้อมหน้าบุคคล คือ โจทก์จำเลย พยาน
        (๓) พร้อมหน้าวัตถุ คือ ยกเรื่องที่เกิดขึ้นวินิจฉัย
        (๔) พร้อมหน้าธรรม คือ พิจารณาตัดสินด้วยความเป็นธรรมไม่ลำเอียง
        พระบาลี : “ดูก่อนอานนท์ ก็สัมมุขาวินัยเป็นอย่างไร
        คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ย่อมวิวาทกันว่าเป็นธรรมหรือมิใช่ธรรม เป็นวินัยหรือมิใช่วินัย ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดพึงพร้อมเพรียงกันประชุมพิจารณาแบบแผนแห่งธรรม ครั้นพิจารณาแล้วพึงให้อธิกรณ์นั้นระงับไป อย่างที่เรื่องจะลงกันได้ในแบบแผนแห่งธรรมนั้น ดูก่อนอานนท์ อย่างนี้แลเป็นสัมมุขาวินัย ก็แหละการระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยสัมมุขาวินัยอย่างนี้” (สามคามสูตร ๑๔/๔๗)

๒. สติวินัย

        สติวินัย แปลว่า ระเบียบการยกสติขึ้นเป็นหลัก ได้แก่กิริยาที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติแก่พระอรหันต์ว่าเป็นผู้มีสติเต็มที่ เพื่อระงับอนุวาทาธิกรณ์ที่มีผู้โจทท่านด้วยศีลวิบัติ
        พระบาลี : “ดูก่อนอานนท์ ก็สติวินัยเป็นอย่างไร
        คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้กล่าวหาภิกษุด้วยอาบัติหนักปานนี้คือปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกว่า ท่านผู้มีอายุระลึกได้หรือไม่ว่าท่านต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ ฯลฯ ภิกษุนั้นตอบอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย กระผมระลึกไม่ได้เลยว่าเราต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ สงฆ์ต้องให้สติวินัยแก่ภิกษุนั้นแล ดูก่อนอานนท์ อย่างนี้แลเป็นสติวินัย ก็แหละการระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยสติวินัยอย่างนี้” (สามคามสูตร ๑๔/๔๗๙)

๓. อมูฬหวินัย

        อมูฬหวินัย แปลว่า ระเบียบที่ให้แก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้ว ได้แก่ กิริยาที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติแก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้วเพื่อระงับอนุวาทาธิกรณ์ที่มีผู้โจทเธอด้วยความละเมิดที่เธอทำในเวลาเป็นบ้า
        พระบาลี : “ดูก่อนอานนท์ ก็อมูฬวินัยเป็นอย่างไร
        คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้กล่าวหาภิกษุด้วยอาบัติหนักเห็นปานนี้คือปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกว่า ท่านผู้มีอายุระลึกได้หรือไม่ว่าท่านต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ ฯลฯ ภิกษุผู้กล่าวหานั้นปลอบโยนเธอผู้กล่าวแก้ว่าเอาเถอะ ท่านผู้มีอายุจงตรองให้ดีเถิด เผื่อจะระลึกได้ ฯลฯ ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย กระผมเป็นบ้า ใจฟุ้งซ่านแล้ว กรรมอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก กระผมผู้เป็นบ้าได้ประพฤติล่วงละเมิดแล้ว กระผมระลึกไม่ได้เลยว่าเราหลงทำกรรมนี้ไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ สงฆ์ต้องให้อมูฬหวินัยแก่ภิกษุนั้นแล ดูก่อนอานนท์ อย่างนี้แลเป็นอมูฬหวินัย ก็แหละการระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยอมูฬหวินัยอย่างนี้” (สามคามสูตร ๑๔/๕๐)

๔. ปฏิญญาตกรณะ

        ปฏิญญาตกรณะ แปลว่า ทำตามรับ ได้แก่ ปรับตามปฏิญญาของจำเลยผู้รับเป็นสัตย์การแสดงอาบัติก็จัดว่าทำปฏิญญา ท่านนับเข้าในข้อนี้ด้วย
        พระบาลี : “ดูก่อนอานนท์ ก็ปฏิญญาตกรณะเป็นอย่างไร

        คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ถูกกล่าวหาหรือมิได้ถูกกล่าวหาก็ตาม ย่อมระลึกได้และจะเปิดเผยอาบัติ เธอพึงเข้าไปหาภิกษุผู้แก่กว่า ห่มจีวรเฉวียงบ่า แล้วกราบเท้า นั่งกระหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว ขอแสดงคืนอาบัตินั้น ฯลฯ ดูก่อนอานนท์ อย่างนี้แลเป็นปฏิญญาตกรณะ ก็แหละการระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยปฏิญญาตกรณะอย่างนี้” (สามคามสูตร ๑๔/๕๑)

๕. เยภุยยสิกา

        เยภุยยสิกา แปลว่า ตัดสินเอาตามคำของคนมากเป็นประมาณ วิธีนี้สำหรับใช้ในเมื่อความเห็นของคนทั้งหลายเป็นอันมากแตกต่างกัน ให้ฟังเสียงข้างมาก
        พระบาลี : “ดูก่อนอานนท์ ก็เยภุยยสิกาเป็นอย่างไร
        คือ ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจระงับอธิกรณ์นั้นในอาวาสได้ พึงพากันไปยังอาวาสที่มีภิกษุมากกว่า ภิกษุทั้งหมดพึงพร้อมเพรียงกันประชุมในอาวาสนั้น ครั้นแล้วพึงพิจารณาแบบแผนแห่งธรรม ครั้นพิจารณาแล้วพึงให้อธิกรณ์นั้นระงับอย่างที่เรื่องจะลงกันได้ในแบบแผนแห่งธรรมนั้น ดูก่อนอานนท์ อย่างนี้แลเป็นเยภุยยสิกา ก็แหละการระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยเยภุยยสิกาอย่างนี้” (สามคามสูตร ๑๔/๔๘)

๖. ตัสสปาปิยสิกา

        ตัสสปาปิยสิกา แปลว่า กิริยาที่ลงโทษแก่ผู้ผิด คือกรรมอันสงฆ์พึงทำ แก่ภิกษุผู้ชื่อว่าเลวทรามอย่างแท้จริงเพราะสั่งสมความชั่วหยาบไว้มากเป็นวิธีการระงับอธิกรณ์ที่สงฆ์ใช้กับภิกษุที่ต้องอาบัติแล้วถูกซักถามในท่ามกลางสงฆ์ให้การกลับไปกลับมา เดี๋ยวปฏิเสธ เดี๋ยวสารภาพ พูดถลากไถล พูดกลบเกลื่อนข้อถูกซัก พูดเท็จซึ่งหน้า สงฆ์จึงทำกรรมนี้เป็นการลงโทษตามความผิดของภิกษุนั้นแม้จะไม่รับ หรือเพื่อเพิ่มโทษจากอาบัติที่ต้อง
        พระบาลี : “ดูก่อนอานนท์ ก็ตัสสปาปิยสิกาเป็นอย่างไร
        คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้กล่าวหาภิกษุด้วยอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกว่า ท่านผู้มีอายุระลึกได้หรือไม่ว่าเราต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ ฯลฯ ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า อันที่จริงกระผมต้องอาบัตินี้เพียงเล็กน้อย ไม่ถูกใครถาม ยังได้รับแลย ไฉนกระผมต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ ถูกถามแล้วจักไม่รับเล่า ฯลฯ ภิกษุผู้กล่าวหานั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ ก็ท่านต้องอาบัติเพียงเล็กน้อยชื่อนี้ ยังไม่ถูกถาม จึงได้ไม่รับ ไฉนท่านต้องอาบัติหนักเป็นปานนี้ ไม่ถูกถามเข้าจึงรับเล่า เอาเถอะ ท่านผู้มีอายุ จงตรองให้ดีเถิด เผื่อจะระลึกได้ว่าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้คือปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย กระผมกำลังระลึกอยู่ว่าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คำที่ว่า กระผมระลึกไม่ได้ว่าเราต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้นั้น กระผมพูดเล่น พูดพล่ามไป ดูก่อนอานนท์ อย่างนี้แลเป็น ตัสสปาปิยสิกา ก็แหละการระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยตัสสปาปิยสิกาอย่างนี้” (สามคามสูตร ๑๔/๕๒)

๗. ติณวัตถารกะ

        ติณวัตถารกะ แปลว่า ระเบียบดังกลบไว้ด้วยหญ้า, กรรมอันสงฆ์พึงทำดุจใช้หญ้ากลบไว้ เป็นวิธีระงับอธิกรณ์ในลักษณะประนีประนอมกันทั้งสองฝ่าย ไม่ชำระสะสางหาความเดิม เพราะถ้าจะสืบสวนสอบสวนให้ละเอียดก็จะทำให้อธิกรณ์รุนแรงลุกลามบานปลายยิ่งขึ้น จึงให้ใช้วิธีนี้เพื่อตัดตอนยกเลิกเสีย ไม่สะสางความหลังกันอีก เหมือนคูถหรือมูตรที่เมื่อปล่อยทิ้งไว้ก็รังแต่จะส่งกลิ่นเหม็นและดูไม่สบายตา หากใช้หญ้าต่างๆ กลบไว้เสียก็จะทำให้หายเหม็นและสบายตาขึ้น
        พระบาลี : “ดูก่อนอานนท์ ก็ติณวัตถารกะเป็นอย่างไร
        คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้เกิดบาดหมางกัน เกิดการทะเลาะ ถึงวิวาทกันอยู่ ได้ประพฤติล่วงละเมิดและได้พูดล่วงเกินอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดพึงพร้อมเพรียงกันประชุม ครั้นแล้วบรรดาภิกษุที่เป็นพวกเดียวกัน ภิกษุผู้ฉลาดพึงลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประนมมือประกาศให้สงฆ์ทราบว่า
        “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เราทั้งหลายในที่นี้เกิดบาดหมางกัน เกิดการทะเลาะ ถึงวิวาทกันอยู่ ได้ประพฤติล่วงละเมิดและได้พูดล่วงเกินอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าพึงแสดงอาบัติของท่านผู้มีอายุเหล่านี้และของตน ยกเว้นอาบัติที่มีโทษหนักและอาบัติเนื่องกับคฤหัสถ์ ด้วยติณวัตถารกวินัย ในท่ามกลางสงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้มีอายุเหล่านี้และแก่ตน”
        ต่อจากนั้น บรรดาภิกษุที่เป็นพวกเดียวกันอีกฝ่ายหนึ่ง ภิกษุผู้ฉลาดพึงลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประนมมือประกาศให้ทรงทราบว่า ฯลฯ
        ดูก่อนอานนท์ อย่างนี้แลเป็นติณวัตถารกะ ก็แหละการระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยติณวัตถารกะอย่างนี้” (สามคามสูตร ๑๔/๕๓)

เรื่องเดิมมีว่า

        ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายเกิดบาดหมาง เกิดทะเลาะ ถึงวิวาทกันอยู่ ได้ประพฤติละเมิดกิจอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก ทั้งที่กล่าวด้วยวาจาและพยายามทำด้วยกาย พวกเธอคิดว่าพวกตนทำการล่วงละเมิดอย่างนี้ถ้าจักปรับอาบัติกัน บางทีอธิกรณ์นั้นจะพึงเป็นไปเพื่อความรุนแรง เพื่อความร้ายกาจเพื่อความแตกกันก็ได้จะพึงปฏิบัติกันอย่างไรดี จึงนำความไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ระงับอธิกรณ์เห็นปานนั้นด้วยติณวัตถารกะ โดยให้ภิกษุทุกรูปประชุมร่วมกัน แล้วให้ภิกษุผู้ฉลาดประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ให้ระงับอธิกรณ์ด้วยติณวัตถารกะ เว้นอาบัติที่มีโทษหนัก (คือปาราชิกและสังฆาทิเสส) และอาบัติที่เกี่ยวเนื่องด้วยคฤหัสถ์ (สมถขันธกะ จุลลวรรค ๖/๒๑๒)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010580499966939 Mins