วรรคที่ ๙ รตนวรรค ว่าด้วยรัตนะ

วันที่ 09 มีค. พ.ศ.2566

วรรคที่ ๙ รตนวรรค ว่าด้วยรัตนะ

วรรคที่ ๙ รตนวรรค
ว่าด้วยรัตนะ

 

รตนวรรค สิกขาบทที่ ๑
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
     “อนึ่ง ภิกษุใดไม่ได้รับแจ้งให้รู้ก่อน ก้าวล่วงธรณีเข้าไปในห้องพระบรรทมของพระราชามหากษัตริย์ผู้ทรงได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ที่พระราชายังมิได้เสด็จออก ที่รัตนนารียังมิได้เสด็จออก เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุไม่ได้รับอนุญาตก่อน เข้าไปในห้องที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จอยู่กับพระมเหสีต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
     คำว่า มิได้รับแจ้งให้รู้ก่อน คือ ไม่มีใครนิมนต์ไว้ล่วงหน้า
     คำว่า ทรงได้รับมูรธาภิเษกแล้ว คือ ทรงได้รับบรมราชาภิเษกสถาปนาขึ้นครองราชย์โดยผ่านพิธีถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
     คำว่า รัตนนารี หมายถึงพระมเหสีของพระราชา ผู้ทรงเป็นนางแก้วคู่ควรแก่พระราชา
     สิกขาบทนี้หมายถึง ภิกษุผู้ยังมิได้รับนิมนต์หรือมิได้รับอนุญาตล่วงหน้า ห้ามเข้าไปในห้องพระบรรทมหรือในห้องที่ปิดบังด้วยม่าน ที่พระมหากษัตริย์และพระมเหสีประทับอยู่ เมื่อผ่านธรณีประตูเข้าไป เป็นอาบัติทั้งนี้เพราะเป็นพระราชฐานส่วนพระองค์ไม่ควรล่วงเกิน เว้นไว้แต่ได้รับนิมนต์และได้รับอนุญาตล่วงหน้าในกรณีพิเศษ เช่นเข้าไปเยี่ยมเมื่อทรงพระประชวร

     พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษในการเข้าไปยังพระราชฐานชั้นในไว้ ๑๐ ประการ เช่น เมื่อเข้าไป พระมเหสีทรงยิ้มพรายให้ พระราชาอาจทรงระแวงได้ หรือหากมีรัตนะบางอย่างในเขตพระราชฐานชั้นในนั้นหายไป พระราชาอาจทรงระแวงภิกษุได้ว่า ไม่มีคนนอกที่ไหนเข้าไปได้ นอกจากภิกษุที่ไว้วางพระราชหฤทัย เป็นต้น

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
     สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุสำรวมระวัง มีสติรู้สึกตัวอยู่เสมอไม่ประมาท เมื่อเข้าไปในเขตพระราชฐาน เป็นการป้องกันมิให้เกิดความหวาดระแวงจากพระราชา และจากบุคคลอื่นได้ และเป็นการป้องกันอันตรายรอบด้านแก่ภิกษุ เพราะในเขตพระราชวัง มักพลุกพล่านไปด้วยผู้คน ด้วยช้างม้า รถและมีอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดีมากมายซึ่งไม่สมควรแก่ภิกษุ

อนาปัตติวาร
     ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
     (๑)  เมื่อภิกษุได้รับแจ้งให้รู้แล้ว 
     (๒) ไม่ใช่กษัตริย์
     (๓) ไม่ได้รับอภิเษกโดยการอภิเษกเป็นกษัตริย์
     (๔) พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกจากห้องพระบรรทมแล้ว
     (๕) พระมเหสีเสด็จออกจากห้องพระบรรทมแล้ว 
     (๖) ทั้งสองพระองค์เสด็จออกจากห้องพระบรรทม 
     (๗) ไม่ใช่ห้องพระบรรทม 
     (๘) ภิกษุผู้วิกลจริต 
     (๙)  ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ หรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอานนท์


รตนวรรค สิกขาบทที่ ๒
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
     “อนึ่ง ภิกษุใดเก็บก็ดี ให้เก็บก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ของที่สมมติว่าเป็นรัตนะก็ดี เป็นปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ในวัด ที่อยู่หรือในที่พัก และภิกษุเก็บเองก็ดี ให้เก็บก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ของที่สมมติ ว่าเป็นรัตนะก็ดี ในวัดที่อยู่หรือ ในที่พักได้แล้ว พึงเก็บไว้ด้วยหมายใจว่า เป็นของผู้ใด ผู้นั้นจะได้นำไป นี้เป็นการปฏิบัติชอบในเรื่องนั้น”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุเห็นเครื่องบริโภคของคฤหัสถ์ตกอยู่ ถือเอาเป็นของเก็บได้เองก็ดีให้ผู้อื่นถือเอาก็ดีต้องปาจิตตีย์เว้นไว้แต่ของนั้นตกอยู่ในวัดหรือในที่อาศัย ต้องเก็บไว้ให้แก่ เจ้าของ ถ้าไม่เก็บ ต้องทุกกฏ”

อธิบายความโดยย่อ
     คำว่า รัตนะ หมายถึง นพรัตน์ หรือ นวรัตน์ หรือ แก้ว ๙ ประการ คือ เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย ไพฑูรย์
     คำว่า ของที่สมมติว่าเป็นรัตนะ หมายถึงเครื่องอุปโภคบริโภคของ มวลมนุษย์ทุกอย่าง และเครื่องประดับที่ตกแต่งดัดแปลงเป็นรูปแบบต่างๆ แล้วใช้เป็นอาภรณ์รวมไปถึงของเทียมที่ทำเลียนแบบชนิดต่างๆ ก็นับเข้าเป็นรัตนะตามสิกขาบทนี้

     สิกขาบทนี้มุ่งถึงว่า เมื่อภิกษุไปพบเห็นรัตนะและของที่สมมติว่าเป็นรัตนะซึ่งเขาทำตกหล่นไว้ จึงเก็บเอามาด้วยคิดว่าเป็นของหาเจ้าของมิได้หรือ ให้คนอื่นเก็บไปก็ดีเป็นอาบัติแต่ถ้าของเช่นนั้นเขาทำตกหรือลืมไว้ในวัดหรือ ในที่อยู่ของตน ท่านให้เก็บไว้เพื่อรอเจ้าของเขามารับคืนไป ถ้าไม่เก็บ ท่านปรับ ทุกกฏ เพราะถ้าไม่เก็บไว้ของเกิดหายไป เจ้าของอาจสงสัยว่าภิกษุเอาไปก็ได้จึงให้เก็บไว้คืนเจ้าของ เพื่อแสดงว่าเป็นผู้ไม่นิ่งดูดาย รู้จักรักษาของให้คนอื่นซึ่งเป็นผู้มาที่วัดหรือมายังที่พักของตน

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
     สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุได้เก็บของมีค่าอันเป็นสมบัติ ของชาวบ้านที่ลืมหรือทำตกหล่นไว้ในวัดหรือในที่อยู่อาศัย เพื่อให้เจ้าของมารับคืน ป้องกันมิให้ของนั้นสูญหายไป และป้องกันมิให้ภิกษุถูกตำหนิได้ว่าเป็นผู้นิ่งดูดาย ไม่มีน้ำใจแม้จะเก็บรักษาสิ่งของอันมีราคาไว้คืนให้แก่เจ้าของ

อนาปัตติวาร
     ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
     (๑)  ภิกษุเก็บก็ดีให้เก็บก็ดีซึ่งรัตนะก็ดีของที่สมมติว่าเป็นรัตนะก็ดีในวัดที่อยู่หรือ ที่พักอาศัยได้แล้วพึงเก็บไว้ด้วยหมายใจว่า เป็นของผู้ใด ผู้นั้นจะได้นำไป 
     (๒)  ภิกษุถือวิสาสะของที่สมมติว่าเป็นรัตนะ 
     (๓) ภิกษุถือเป็นของขอยืม 
     (๔) ภิกษุสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล
     (๕) ภิกษุผู้วิกลจริต
     (๖) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุรูปหนึ่ง


รตนวรรค สิกขาบทที่ ๓
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
     “อนึ่ง ภิกษุใดไม่บอกลาภิกษุที่มีอยู่แล้วเข้าหมู่บ้านในเวลาวิกาล เป็นปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็นรีบด่วนเห็นปานนั้น”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุไม่บอกลาภิกษุอื่นที่มีอยู่ในวัดก่อน เข้าไปบ้านในเวลาวิกาล ต้องปาจิตตีย์เว้นไว้แต่กาลด่วน”

อธิบายความโดยย่อ
     คำว่า เวลาวิกาล หมายถึง เวลาตั้งแต่เที่ยงวันแล้วไปจนถึงอรุณขึ้นเหมือนเวลาการขบฉันอาหาร
     คำว่า เหตุจำเป็นเร่งด่วน หมายถึง เมื่อมีความจำเป็นต้องรีบไป เช่น ภิกษุถูกงูกัด ภิกษุอาพาธ จำต้องรีบไปหาหมอ หรือเกิดไฟไหม้หรือเหตุจำเป็นอื่นๆ
     สิกขาบทนี้หมายถึง การที่ภิกษุจะออกจากวัดไปโดยที่ไม่มีผู้ใดรู้ว่าไปไหน ไปเมื่อไร จะกลับเมื่อไร ทำให้ไม่รู้เหนือรู้ใต้ได้มีเหตุจำเป็นก็ไม่อาจตามตัวได้และผู้ออกจากวัดไปเช่นนั้นเหมือนกับอยู่ตามลำพังในวัด ไม่มีพวกไม่มีเพื่อน ทั้งที่มีอยู่

     การออกจากวัดโดยไม่ต้องบอกลานั้นสามารถทำได้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนหรืออยู่รูปเดียว ไม่มีภิกษุอื่นที่จะบอกลา หรือเดินผ่านหมู่บ้านไปเฉยๆ ไม่ได้แวะ หรือไปยังวัดอื่น เช่นนี้สามารถไปโดยไม่ต้องบอกลาได้

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
     สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุได้บอกลาก่อนที่จะไป ทำให้มีพยานรู้เห็นว่าไปไหน กลับเมื่อไร เมื่อจำเป็นก็สามารถตามตัวได้เป็นการป้องกันมิให้ภิกษุท่องเที่ยวไปตามใจชอบแม้ในเวลาวิกาลตอนที่เป็นค่ำคืน

อนาปัตติวาร
     ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
     (๑)  เข้าหมู่บ้านเพราะมีเหตุจำเป็นรีบด่วนเห็นปานนั้น 
     (๒) บอกลาภิกษุที่มีอยู่แล้วเข้าไป 
     (๓) ภิกษุไม่มีจึงไม่บอกลาเข้าไป 
     (๔) ไปยังอารามอื่น 
     (๕) ภิกษุไปยังที่พำนักภิกษุณี
     (๖) ภิกษุไปยังสำนักเดียรถีย์
     (๗) ไปยังโรงฉัน 
     (๘) เดินไปตามทางที่ผ่านหมู่บ้าน 
     (๙) ไปเมื่อมีอันตราย 
     (๑๐) ภิกษุผู้วิกลจริต 
     (๑๑) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

รตนวรรค สิกขาบทที่ ๔
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
     “อนึ่ง ภิกษุใดให้ทำกล่องเข็มด้วยกระดูกก็ดี ด้วยงาก็ดี ด้วยเขาก็ดี เป็นปาจิตตีย์ มีอันให้ทำลายเสียเป็นวินัยกรรม”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุทำกล่องเข็ม ด้วยกระดูกก็ดีด้วยงาก็ดีด้วยเขาก็ดีต้องปาจิตตีย์ต้องต่อยกล่องนั้นเสียก่อน จึงแสดงอาบัติตก”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
     สิกขาบทนี้เป็นการห้ามภิกษุมิให้ใช้ของหรูหราเกินงาม ซึ่งการทำหรือให้ช่างทำก็เป็นความเดือดร้อนเป็นพิเศษ เพราะต้องใช้ฝีมือและต้องใช้เวลาทำ

     ภิกษุทำเองก็ดีใช้ผู้อื่นท ำก็ดีซึ่งกล่องเข็มเช่นนั้น เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นทุกกฏ

     ภิกษุได้กล่องเข็มเช่นนั้นที่คนอื่นทำไว้สำเร็จแล้วมาใช้สอยเป็นทุกกฏ

     สิกขาบทนี้เรียกว่าเภทนกปาจิตตีย์มีอันให้ทำลายเสียเป็นวินัยกรรมเป็นไปตามข้อบัญญัติ

อนาปัตติวาร
     ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
     (๑)  ทำลูกดุม 
     (๒) ทำตะบันไฟ (กระบอกสำหรับติดเชื้อไฟ) 
     (๓) ทำลูกถวิน (ห่วงร้อยสายรัดประคด) 
     (๔) ทำกลักยาตา 
     (๕) ทำไม้ป้ายยาตา 
     (๖) ทำฝักมีด 
     (๗)  ทำธมกรก (เครื่องกรองน้ำ) 
     (๘) ภิกษุผู้วิกลจริต 
     (๙) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุหลายรูป


รตนวรรค สิกขาบทที่ ๕
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
     “อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำเตียงหรือตั่งใหม่ พึงให้ทำมีเท้าสูงเพียง ๘ นิ้ว โดยนิ้วสุคตนอกจากแม่แคร่ด้านล่าง เธอทำให้เกินประมาณนั้นไป เป็นปาจิตตีย์ มีอันให้ตัดเสียเป็นวินัยกรรม”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุทำเตียงหรือตั่ง พึงทำให้มีเท้าเพียง๘นิ้วพระสุคตเว้นไว้แต่แม่แคร่ ถ้าทำให้เกินกำหนดนี้ต้องปาจิตตีย์ต้องตัดให้ได้ประมาณเสียก่อน จึงแสดงอาบัติตก”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
     คำว่า เตียง หมายถึง ที่สำหรับนอน ที่มีความยาวพอนอนได้มี ๔ ขา รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
     คำว่า ตั่ง หมายถึง ที่สำหรับนั่ง ไม่มีพนัก อาจมีขาหรือไม่มีขาก็ได้
     ทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้เตียงและตั่งมีเท้าสูงเพียง ๘ นิ้ว โดยนิ้วสุคตยกเว้นแม่แคร่ด้านล่าง

     สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันอันตรายในกรณีที่นอนบนเตียงหรือนั่งบนตั่งที่สูงเกินประมาณ ซึ่งอาจพลัดตกลงมาได้และการนอนการนั่งบนเตียงตั่งที่สูงเกินประมาณ ดูไม่งามสำหรับภิกษุ

     สิกขาบทนี้เรียกว่า เฉทนกปาจิตตีย์ ต้องตัดเท้าเตียงหรือตั่งให้ได้ประมาณเสียก่อน จึงจะแสดงอาบัติตก

อนาปัตติวาร
     ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
     (๑)  ภิกษุทำเตียงตั่งได้ประมาณ 
     (๒) ภิกษุทำเตียงตั่งต่ำกว่าประมาณ 
     (๓) ภิกษุได้เตียงตั่งที่ผู้อื่นทำเกินประมาณมาตัดแล้วใช้สอย
     (๕) ภิกษุผู้วิกลจริต
     (๖) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอุปนันทศากยบุตร

รตนวรรค สิกขาบทที่ ๖
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
     “อนึ่ง ภิกษุใดให้ทำเตียงก็ดี ตั่งก็ดี หุ้มด้วยนุ่น เป็นปาจิตตีย์มีอันให้รื้อเสียเป็นวินัยกรรม”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุทำเตียงหรือตั่งหุ้มนุ่น ต้องปาจิตตีย์ต้องรื้อเสียก่อน จึงแสดงอาบัติตก”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
     สิกขาบทนี้มุ่งมิให้ภิกษุใช้เตียงหรือตั่งที่หรูหรา นอนหรือนั่งได้สุขสบายเพราะมีความนิ่ม เหมือนอย่างพวกคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนเขามีกัน

     สิกขาบทนี้เรียกว่า อุททาลนปาจิตตีย์ ต้องรื้อนุ่นออกก่อนจึงจะแสดงอาบัติตก

อนาปัตติวาร
     ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
     (๑)  ภิกษุทำสายรัดเข่า 
     (๒) ทำประคดเอว 
     (๓) ทำสายโยกบาตร 
     (๔) ทำถุงบาตร
     (๕) ทำผ้ากรองน้ำ 
     (๖) ทำหมอน 
     (๗) ได้เตียงตั่งที่คนอื่นทำไว้แล้วมารี้อแล้วใช้สอย 
     (๘) ภิกษุผู้วิกลจริต 
     (๙) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

รตนวรรค สิกขาบทที่ ๗
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
     “อนึ่ง ภิกษุให้ทำผ้านิสีทนะสำหรับรองนั่ง พึงให้ทำให้ได้ขนาด ขนาดผ้านั้นดังนี้คือ โดยยาว ๒ คืบ โดยกว้างคืบครึ่ง ชายคืบหนึ่ง โดยคืบสุคต เธอทำให้เกินขนาดนั้นไป เป็นปาจิตตีย์ มีอันให้ตัดเสียเป็นวินัยกรรม”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุทำผ้าปูนั่ง พึงทำให้ได้ประมาณ ประมาณนั้นยาว ๒ คืบพระสุคต กว้างคืบครึ่ง ชายคืบหนึ่ง ถ้าทำให้เกินกำหนดนี้ต้องปาจิตตีย์ต้องตัดให้ได้ประมาณเสียก่อนจึงแสดงอาบัติตก”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
     คำว่า นิสีทนะ คือ ผ้าปูนั่ง หรือผ้าสำหรับรองนั่งที่มีชาย

     ผ้านิสีทนะนี้ทรงอนุญาตเป็นบริขารพิเศษ เพื่อประโยชน์เป็นผ้ารักษากาย รักษาจีวร และรักษาเสนาสนะ เป็นผ้าที่ต้องอธิษฐาน ทรงอนุญาตให้ภิกษุมีใช้ได้เพียงผืนเดียว เมื่อทำ ก็ต้องทำให้ได้ประมาณคือ ยาว ๒ คืบ สุคต กว้างคืบครึ่ง ที่ทรงอนุญาตขนาดไว้เช่นนี้เป็นการป้องกันมิให้ภิกษุทำผ้านิสีทนะผืนใหญ่เกินขนาด ซึ่งเมื่อปูบนเตียงหรือตั่งแล้วผ้าจะได้ไม่ห้อยลงข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ทำให้ดูรุงรัง ไม่งามตา

     สิกขาบทนี้เรียกว่า เฉทนกปาจิตตีย์ ต้องตัดให้ได้ประมาณเสียก่อนจึงจะแสดงอาบัติตก

อนาปัตติวาร
     ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
     (๑)  ภิกษุทำผ้านิสีทนะได้ประมาณ 
     (๒) ภิกษุทำผ้านิสีทนะต่ำกว่าประมาณ 
     (๓)  ภิกษุได้ผ้านิสีทนะที่ผู้อื่นทำเกินประมาณมาตัดเสียแล้วใช้สอย 
     (๔) ทำเป็นผ้าเพดานก็ดีทำเป็นผ้าปูพื้นก็ดีทำเป็นผ้าม่านก็ดีทำเป็นเปลือกฟูกก็ดีทำเป็นปลอกหมอนก็ดี
     (๕) ภิกษุผู้วิกลจริต
     (๖) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิ-กัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

รตนวรรค สิกขาบทที่ ๘
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
     “อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำผ้าปิดฝี พึงทำให้ได้ขนาด ขนาดในผ้านั้นดังนี้คือโดยยาว ๔ คืบ โดยกว้าง ๒ คืบ โดยคืบสุคต เธอทำให้เกินขนาดนั้นไป เป็นปาจิตตีย์ มีอันให้ ตัดเสียเป็นวินัยกรรม”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุทำผ้าปิดแผล พึงทำให้ได้ประมาณ ประมาณนั้นยาว ๔ คืบพระสุคต กว้าง ๒ คืบ ถ้าทำให้เกินกำหนดนี้
ต้องปาจิตตีย์ต้องตัดให้ได้ประมาณเสียก่อน จึงแสดงอาบัติตก”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
     คำว่า ผ้าปิดฝี ได้แก่ ผ้าที่ทรงอนุญาตแก่ภิกษุอาพาธเป็นฝีเป็นอีสุกอีใสเป็นโรคมีน้ำเลือดน้ำเหลืองไหลเปรอะเปื้อน หรือเป็นฝีดาษที่ใต้สะดือลงไป เหนือหัวเข่าขึ้นมา เพื่อจะได้ใช้ปิดอาพาธนั้น

     สิกขาบทนี้เรียกว่า เฉทนกปาจิตตีย์ ต้องตัดให้ได้ประมาณเสียก่อนจึงจะแสดงอาบัติตก
     สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุใช้ผ้าปิดฝีที่ได้ขนาด เมื่อใช้ผ้าที่ไม่ได้ขนาดเช่นใหญ่เกินไป ก็ทำให้เลื้อยไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ทำให้ดูรุงรัง ไม่งามตา

อนาปัตติวาร
     ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
     (๑)  ภิกษุทำผ้าปิดฝีได้ขนาด 
     (๒) ทำผ้าปิดฝีให้ต่ำกว่าขนาด 
     (๓) ได้ผ้าปิดฝีที่ผู้อื่นทำไว้เกินขนาดมาตัดแล้วใช้สอย
     (๔) ทำเป็นผ้าเพดานก็ดีทำเป็นผ้าปูพื้นก็ดีทำเป็นผ้าม่านก็ดีทำเป็นเปลือกฟูกก็ดีทำ เป็นปลอกหมอนก็ดี
     (๕) ภิกษุผู้วิกลจริต
     (๖) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ หรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

รตนวรรค สิกขาบทที่ ๙
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
     ​​​​​​​“อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำผ้าอาบน้ำฝน พึงให้ทำให้ได้ขนาด ขนาดในผ้านั้นดังนี้คือโดยยาว ๖ คืบ โดยกว้าง ๒ คืบครึ่ง โดยคืบสุคต เธอให้ทำเกินขนาดนั้นไป เป็นปาจิตตีย์ มีอันให้ตัดเสียเป็นวินัยกรรม”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุทำผ้าอาบนำฝน พึงทำให้ได้ประมาณ ประมาณนั้นยาว ๖ คืบพระสุคต กว้าง ๒ คืบครึ่ง ถ้าทำให้เกินกำหนดนี้ต้องปาจิตตีย์ต้องตัดให้ได้ประมาณเสียก่อนจึงแสดงอาบัติตก”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
     ​​​​​​​คำว่า ผ้าอาบน้ำฝน คือผ้าที่ใช้นุ่งในเวลาสรงน้ำ หรือในเวลาอาบน้ำตอนฝนตก เรียกว่า ผ้าวัสสิกสาฎก
     ในสิกขาบทนี้แสดงเรื่องผ้าอาบน้ำฝนเพิ่มเติมจากสิกขาบทที่ ๔ แห่งปัตตวรรค นิสสัคคิยปาจิตตีย์โดยในสิกขาบทนั้นแสดงถึงการทำและการแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน แต่ในสิกขาบทนี้แสดงถึงขนาดของผ้าอาบน้ำฝน ภิกษุต้องให้ทำผ้าอาบน้ำฝนให้ได้ขนาดที่กำหนด คือ ยาว ๖ คืบสุคตกว้าง ๒ คืบครึ่ง หากเกินกว่านั้นต้องตัดทิ้ง จึงจะแสดงอาบัติตก

     สิกขาบทนี้จึงเรียกว่า เฉทนกปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
     ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
     (๑)  ภิกษุทำผ้าอาบฝนได้ขนาด
     (๒) ทำผ้าอาบน้ำฝนต่ำกว่าขนาด
     (๓) ได้ผ้าอาบน้ำฝนที่ผู้อื่นทำเกินขนาดมาตัดแล้วใช้สอย 
     (๔) ทำเป็นผ้าเพดานก็ดีทำเป็นผ้าปูพื้นก็ดีทำเป็นผ้าม่านก็ดีทำเป็นเปลือกฟูกก็ดีทำเป็นปลอกหมอนก็ดี
     (๕)  ภิกษุผู้วิกลจริต 
     (๖) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์


รตนวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
     ​​​​​​​“อนึ่ง ภิกษุใดให้ทำจีวรมีขนาดเท่าสุคตจีวรหรือยิ่งกว่า เป็นปาจิตตีย์ มีอันให้ตัดเป็นวินัยกรรม ขนาดแห่งสุคตจีวรของสุคตในคำนั้นดังนี้คือ โดยยาว ๙ คืบ โดยกว้าง ๖ คืบ โดยคืบสุคต นี้เป็นขนาดแห่งสุคตจีวร ของสุคต”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุททำจีวรให้เท่าจีวรของพระสุคตก็ดีเกินกว่านั้นก็ดีต้องปาจิตตีย์ ประมาณจีวรพระสุคตนั้น ยาว ๙ คืบ     พระสุคต กว้าง ๖ คืบ ต้องตัดให้ได้ประมาณเสียก่อนจึงแสดงอาบัติตก”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
     สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุใช้สอยจีวรขนาดเท่าพระพุทธองค์ซึ่งเท่ากับเป็นการตีเสมอและป้องกันมิให้ผู้ไม่เคยเห็นพระพุทธองค์เข้าใจผิดว่าภิกษุที่ตนเห็นซึ่งนุ่งห่มผ้าที่มีขนาดใหญ่เป็นพระพุทธองค์ดังมูลเหตุที่ทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้เนื่องจากพระนันทะผู้มีรูปร่างงดงามและมีร่างกายต่ำกว่าพระพุทธเจ้าเพียง ๔ นิ้ว แต่นุ่งห่มผ้าขนาดเท่าพระพุทธเจ้าทำให้พระเถระทั้งหลายเข้าใจผิด เมื่อพระนันทะเดินมา จึงพากันลุกขึ้นยืนรับโดยเข้าใจว่าพระพุทธองค์กำลังเสด็จมา
     สิกขาบทนี้เรียกว่า เฉทนกปาจิตตีย์ ต้องตัดให้ได้ขนาดเสียก่อน จึงจะแสดงอาบัติตก

อนาปัตติวาร
     ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
     (๑)  ภิกษุทำจีวรต่ำกว่าขนาด 
     (๒) ภิกษุได้จีวรที่ผู้อื่นทำเสร็จแล้วมาตัดเสียแล้วใช้สอย 
     (๓) ภิกษุทำเป็นผ้าเพดานก็ดีทำเป็นผ้าปูพื้นก็ดีทำเป็นผ้าม่านก็ดี ทำเป็นเปลือกฟูกก็ดีทำเป็นปลอกหมอนก็ดี
     (๔) ภิกษุผู้วิกลจริต 
     (๕) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระนันทะ

​​​​​​​

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021571246782939 Mins