ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๗
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
“อนึ่ง คหบดีก็ดี คหปตานีก็ดี ผู้มิใช่ญาติ สั่งช่างหูกให้ทอจีวรเจาะจงภิกษุเท่านั้น ถ้าภิกษุนั้นเขามิได้ปวารณาไว้ก่อนเข้าไปหาช่างหูกแล้วกะเกณฑ์จีวรในสำนักของเขานั้นว่า จีวรผืนนี้เจาะจงอาตมา ขอท่านจงทำให้ยาว ให้กว้าง ให้แน่น ทอให้ดี ขึงให้ดี สางให้ดี และกรีดให้ดี ถ้ากระไร อาตมาเองก็จะให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัลแก่ท่าน ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัลโดยที่สุดแม้เพียงบิณฑบาต เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
“ถ้าคฤหัสถ์ที่มิใช่ญาติมิใช่ปวารณา สั่งให้ช่างหูกทอจีวรเพื่อจะถวายแก่ภิกษุ ถ้าภิกษุไปกำหนดให้เขาทำให้ ดีขึ้นด้วยจะให้รางวัลแก่เขา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
อธิบายความโดยย่อ
สิกขาบทนี้กิดจากการที่ชาวบ้านมอบด้ายให้แก่ช่างหูกไว้เพื่อทอเป็นจีวรเพื่อถวายภิกษุที่ตนนับถือ โดยกำหนดด้ายไว้พอ แล้วไปธุระที่อื่น ภิกษุทราบเรื่องจึงไปหาช่างหูกที่คุ้นเคยกันดีกะเกณฑ์ให้ทอจีวรที่กว้างที่ยาวกว่าที่เจ้าภาพกำหนด ด้ายจึงไม่พอ ช่างหูกได้ไปหาภรรยาเจ้าภาพเล่าเรื่องให้ทราบแล้วขอด้ายเพิ่ม ภรรยาก็จัดการให้จนกระทั่งทอเป็นจีวรสำเร็จตามที่ภิกษุกำหนดเมื่อสามีกลับมาแล้วภรรยาได้นำผ้ามาให้ดูและเล่าเรื่องให้ฟังสามีผู้เป็นเจ้าภาพได้ถวายจีวรแก่ภิกษุแล้วตำหนิโพนทะนาขึ้นว่า พระสมณะศากยบุตรมีความมักมาก ไม่สันโดษ จะถวายจีวรแก่ท่านเหล่านี้ก็ยุ่งยาก มิใช่ทำได้ง่าย
เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อรักษาศรัทธาของชาวบ้านไว้มิให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อนเพราะความไม่พอดีของภิกษุ ที่ไปกะเกณฑ์สิ่งของที่เขาจะถวายโดยไม่ได้รับการขอร้องหรือปวารณาไว้ก่อน และเพื่อป้องกันมิให้ภิกษุแสดงอาการมักมาก ไม่สันโดษออกมาโดยอาการเช่นนี้
อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
(๑) ภิกษุขอต่อญาติ
(๒) ภิกษุขอต่อปวารณา
(๓) ภิกษุขอเพื่อภิกษุอื่น
(๔) ภิกษุซื้อมาด้วยทรัพย์ของตนเอง
(๕) คหบดีต้องการจะให้ทอจีวรมีราคามาก ภิกษุให้ทอจีวรมีราคาน้อย
(๖) ภิกษุผู้วิกลจริต
(๗) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอุปนันทศากยบุตร